นิธิ เอียวศรีวงศ์ | การสนทนาทางสังคม

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หลังจากที่นักเรียน-นักศึกษาเคลื่อนไหวทางการเมือง มีข้อเสนอจากสื่อบางแหล่งหรือแม้แต่นักวิชาการบางคนว่า นายกรัฐมนตรีควรเปิดการเจรจากับแกนนำความเคลื่อนไหว

แต่แกนนำเป็นตัวแทนของใครในผู้ร่วมชุมนุม และของแนวความคิดอะไร

ผมถามอย่างนี้ไม่ได้ต้องการจะลดความน่าเชื่อถือของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “แกนนำ” แต่ผู้สังเกตการณ์หลายคนตั้งข้อสังเกตตรงกันว่า ความเคลื่อนไหวของนักเรียน-นักศึกษาครั้งนี้ ไม่มี “ผู้นำ” จากบุคคลใดหรือกลุ่มใด เพราะเป็นความพร้อมใจของนักเรียน-นักศึกษาที่มีความคิดความเห็นหลากหลายมาก เพียงแต่อาจตรงกันในเรื่องเดียว คือ “จะไม่ทนอีกต่อไป” และ “ให้มันจบที่รุ่นเรา”

อันที่จริง การชุมนุมประท้วงทางการเมืองขนาดใหญ่ในเมืองไทย เป็นการชุมนุมของผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองที่หลากหลาย ไม่ใช่เรื่องใหม่ งานวิจัยเรื่องจากมือตบถึงนกหวีดของอาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ชี้ให้เห็นว่า แม้แต่ม็อบ พธม.ก็เริ่มขึ้นโดยกลุ่มคนที่มีความเห็นทางการเมืองอันแตกต่างกันอย่างมาก เพียงแต่เห็นภยันตรายของ “ระบอบทักษิณ” เหมือนกันเท่านั้น

ส่วนม็อบเสื้อแดงนั้น เห็นกันมานานแล้วว่า ประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความคิดทางการเมืองอันหลากหลายเช่นกัน

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีลักษณะผนวกรวมเอากลุ่มคนที่หลากหลายทางการเมืองเข้ามาร่วมกัน ดูเหมือนจะเป็นปรกติในการเคลื่อนไหวทางการเมืองสมัยปัจจุบัน ม็อบนักเรียน-นักศึกษา เยาวชน จนถึงประชาชน ก็มีลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน

ดังนั้น ถึงแม้พอจะหมายตัวได้ว่าใครบ้างที่เป็นแกนนำ เขาก็ไม่อาจเป็นตัวแทนให้แก่ความคิดทางการเมือง (และสังคม, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม) ของคนทุกกลุ่มในขบวนการได้

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงว่า นักเรียน-นักศึกษาไม่ใช่คนกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ไม่พอใจรัฐบาล มีอีกหลายกลุ่มในหมู่ผู้ใช้แรงงาน, คอปกน้ำเงิน, คอปกขาว, ผู้ประกอบการรายย่อย, กลุ่มวิชาชีพ, การเงิน, ธุรกิจหลากหลายประเภท ฯลฯ ที่ไม่พอใจรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทำไมพวกเขาจึงไม่ได้รับโอกาสคุยกับหัวหน้ารัฐบาล อย่างเดียวกับนักเรียน-นักศึกษาบ้าง?

และในท้ายที่สุด การกันโควต้าให้นักเรียน-นักศึกษาได้เข้าไปนั่งในสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่ง ก็อยู่ในข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย (แต่ก็เช่นเคย ในความคิดของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ไม่มีแรงงานทุกประเภท, ไม่มีชาวนาผู้เช่าที่ดิน, ไม่มีผู้หญิง, ไม่มี LGBTQ, ไม่มีคนด้อยโอกาสนานาชนิด ฯลฯ)

ความคิดเรื่องการแสวงหาความปรองดองและสันติภาพด้วยการ “จับเข่าคุยกัน” นั้น เป็น “ภาพลักษณ์” ทางสังคมที่ครอบงำคนไทยมานานมาก เพราะมันให้ภาพของการเปิดอกทั้งสองฝ่ายและความเท่าเทียมกัน ซ้ำมือที่จับเข่าของกันและกันยังทำให้รู้สึกถึงการต่อรองฉันมิตร แต่กลไกแก้ไขความขัดแย้งเช่นนั้นไม่อาจทำงานได้จริงในสังคมปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากสังคมหมู่บ้านโบราณไปไกลสุดกู่แล้ว (แม้แต่ในสังคมหมู่บ้านโบราณนอกอุดมคติ ผมก็ให้สงสัยว่านี่เป็นกลไกที่เคยทำงานได้จริงหรือ)

อันที่จริงคติเรื่อง “ตัวแทน” ต้องเผชิญปัญหานี้เสมอ ไม่ว่า “ตัวแทน” ดังกล่าวนั้นจะเลือกมาอย่างไร ให้พระอรหันต์เลือก, เผด็จการเลือก, เงินเลือก หรือประชาชนแต่ละคนเลือกได้อย่างอิสระเสรี “ตัวแทน” ก็ไม่อาจแทนใครหรือแทนอะไรได้ครบสักที แม้กระนั้นระบบตัวแทนก็มีความสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ใช่สำคัญในตัวของมันเอง หากสำคัญเพราะระบบตัวแทนเป็นสะพานให้แก่ความต้องการอันหลากหลายได้ผ่านเข้าไปสู่การตัดสินใจระดับรัฐ เมื่อใดก็ตามที่มีแต่ระบบตัวแทน แต่หวงห้ามมิให้คนอื่นได้ส่งเสียงเรียกร้องตามความต้องการ เมื่อนั้นระบบตัวแทนก็ไร้ความหมาย

ถึงจะหันไปหา “ประชาธิปไตยทางตรง” ก็ไม่แก้ปัญหาอะไรได้จริง ถ้าข้อเรียกร้อง “ประชาธิปไตยทางตรง” ไม่กระทำด้วยความเหลวไหลอย่างที่ผ่านมา ต้องเข้าใจด้วยว่า สังคมที่ใช้ “ทางตรง” ดังกล่าว เช่น นครรัฐกรีกโบราณ ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เพราะเปิดโอกาสการตัดสินใจให้คนส่วนน้อยในสังคมที่เป็น “เสรีชน” เท่านั้น ทาสและคนต่างชาติซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมลงคะแนนเสียงแต่อย่างไร

นอกจากนี้ ในสังคมที่ตั้งข้อจำกัดเสรีภาพหลากหลายด้าน (โดยเฉพาะทางศาสนา) ดังเช่นสังคมของชาวสวิสสมัยกลาง การลงมติอย่างใดอย่างหนึ่งของทุกคนถูก “กำกับ” ทางเลือกอยู่แล้วว่า จะเลือกได้ไม่กว้างเท่าไรนัก ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงอำนาจ, ทรัพยากร และความสามารถในการอุปถัมภ์ซึ่งเหลื่อมล้ำกันอย่างยิ่ง ย่อมมีส่วนกำหนด “ทางเลือก” ของบุคคลไว้จำกัดเป็นธรรมดา

ดังนั้น แม้แต่นำเอา “ประชาธิปไตยทางตรง” ที่เหลวไหลเช่นนั้นมาใช้ในหมู่บ้านไทย ซึ่งก็ไม่ได้ไร้ความเหลื่อมล้ำแต่อย่างไร มันก็จะเหลือแต่ “ทางตรง” เท่านั้น หาได้มีประชาธิปไตยจริงไม่

เมื่อ “จับเข่าคุยกัน” ก็ตาม หรือระบบ “ตัวแทน” ก็ตาม ไม่อาจสะท้อนความต้องการอันหลากหลายของสมาชิกในสังคม ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจของรัฐ สิ่งที่ขาดไปอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ “การสนทนาทางสังคม” หรือ social dialogue

การสนทนาทางสังคมนี่แหละที่นำเอามุมมองและความต้องการของคนหลากหลายกลุ่ม ซึ่งหลายครั้งก็มักจะขัดแย้งกันเอง ให้กลายเป็นญัตติสาธารณะ ส.ส.ถูกบังคับโดยระบบเลือกตั้งให้สนับสนุนและลงคะแนนเสียงให้แก่ญัตติสาธารณะที่เขาเก็งว่า จะเป็นที่พอใจแก่ผู้เลือกตั้งจำนวนมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้า ตัวแทนที่ไม่ได้มาจากการแต่งตั้งทั้งหลาย ก็ต้องทำงานในลักษณะนี้ทั้งสิ้น

บางคนอาจผิดหวังที่นักการเมืองคิดได้ไกลสุดแค่การเลือกตั้งครั้งหน้า แต่เพราะนักการเมืองคิดอย่างนี้นี่แหละ ที่ทำให้อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะประชาชนสามารถกำกับควบคุมนักการเมืองได้ ไม่ใช่ผ่านหีบบัตรเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผ่าน “การสนทนาทางสังคม” ที่ดังและมีพลังเพียงพอ หากทำได้ สองวินาทีที่ใช้ในการกาบัตรเลือกตั้งในคูหา ก็จะควบคุมนักการเมืองไปได้ตลอดสี่ปีนี้ และสี่ปีข้างหน้า

นักการเมืองที่อยากเป็น “รัฐบุรุษ” นั่นแหละที่ควรระวัง เพราะคนพวกนี้มักไม่อนุญาตให้มี “การสนทนาทางสังคม” ถึงจำเป็นต้องปล่อยให้มี ก็หาทางทำให้การสนทนานั้นไร้เสียงและไร้พลัง

อาจเป็นเพราะเมืองไทยมีคนอยากเป็นรัฐบุรุษมากเกินไป ผ่านหรือไม่ผ่านการเลือกตั้งก็อยากเป็นรัฐบุรุษ ผู้ปกครองไทยจึงไม่เปิดให้ “การสนทนาทางสังคม” ได้พัฒนาไปเต็มศักยภาพของมัน

สื่อสาธารณะทั้งหมดตกอยู่ในความควบคุมของรัฐ แม้แต่หนังสือพิมพ์ซึ่งมีอิสระมากกว่าสื่อชนิดอื่น ก็ยังตกอยู่ในการกำกับควบคุมของรัฐทั้งทางตรงและอ้อมตลอดมา ไม่ด้วยอำนาจทางกฏหมาย ก็ด้วยอำนาจของเงินโฆษณา

การสื่อสารผ่านการสอนทุกชนิด หากมีผู้เรียนเกิน 4-6 คน รัฐก็จะเข้ามากำหนดเนื้อหามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

จนถึงที่สุด แม้แต่การสื่อสารบนไซเบอร์ รัฐก็ออกกฎหมายและตั้งหน่วยงานออกมาควบคุม ด้วยสมรรถภาพที่ต่ำกว่าเอกชนอย่างมาก จึงทำให้การควบคุมได้ผลน้อยลง

แม้แต่การสนทนาบนเครื่องมือสื่อสารที่เป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง เช่น โทรศัพท์มือถือ รัฐก็ยังถืออำนาจที่จะเรียกตรวจสอบ ทั้งจากเจ้าของโทรศัพท์และผู้ให้บริการสัญญาณ

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าการสนทนาทางสังคมไม่มีเสียเลย สื่อหรือผู้คนอาจแสดงความไม่พอใจอย่างพร้อมเพรียงกันในเรื่องที่ผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรง หรือความทารุณโหดร้ายของอาชญากร หรือชัยชนะ-ปราชัยของทีมชาติ ฯลฯ ตราบเท่าที่เป็นเรื่องใน “กรอบ” เช่นนั้น การสนทนาทางสังคมก็จะดังอื้ออึง และนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหารก็มักพยายามโผล่หน้าเข้ามาในการสนทนานั้นจนได้

ความโด่งดังของ “คดีน้องชมพู่” นอกจากถูกผลักดันด้วยผลประโยชน์ของบริษัทสื่อแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็มาจากความไร้บทสนทนาของสังคมไทยเองด้วย นับเป็นบทสนทนาที่สนุกมากในกรอบแคบๆ ที่อนุญาตไว้ให้

และเพราะการสนทนาทางสังคมในสังคมไทยถูกควบคุมไว้ให้แคบเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาที่หากใครต้องการ “สนทนา” ประเด็นที่อยู่นอกกรอบทั้งหลาย จึงต้องทำในลักษณะประท้วง แม้กระนั้นก็ยังอาจไม่ได้รับความปลอดภัยหรือประสบความสำเร็จในการสื่อสารกับสังคม เช่น ผู้ที่สวมเสื้อที่มีตรา “สาธารณรัฐ” นอกจากถูกจับกุมดำเนินคดีแล้ว ยังไม่มีสื่อสักรายที่เข้าไปสัมภาษณ์บุคคลเหล่านี้ จึงกลายเป็นการสนทนาที่ไร้เสียง แต่กลับมีโทษ

การประท้วงผ่านการสนทนาทางสังคมที่จะเกิดเสียงดังได้ จึงจำเป็นต้องมีผู้คนเข้าร่วมมาก มากเสียจนรัฐไม่อาจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมได้ แต่นั่นก็มิได้ปลอดภัยจากการถูกกล่าวโทษและกลั่นแกล้งในภายหลัง ดังเช่นการประท้วงของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม บทสนทนาของเขาแทบไม่มีเสียงดังเข้าไปในระบบการเมืองที่เป็นทางการเลย ส.ส.ฝ่ายค้านเองให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบัน แต่ไม่พูดว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแต่ละข้อของนักศึกษาอย่างไร และเพราะอะไร รวบรัดเอาง่ายๆ ว่า “ก้าวล่วง” บ้าง “จาบจ้วง” บ้าง ซึ่งเป็นคำตัดสินที่ไม่ต้องมีเหตุผลใดๆ รองรับ

ส่วนองค์กรในกระบวนการยุติธรรมเช่นตำรวจ ทันทีที่การชุมนุมสิ้นสุดลง สิ่งแรกที่ตำรวจทำคือนับยี่ต๊อกว่าบทสนทนาของนักศึกษาผิดกฎหมายอาญามาตราอะไรบ้าง แต่ไม่ตั้งใจฟังบทสนทนาของผู้ชุมนุมเลย จนแม้แต่องค์กรที่ไม่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เช่น กรมศิลปากร ก็รีบยื่นความผิดเข้าไปในยี่ต๊อกของตำรวจเพิ่มขึ้น โดยไม่ฟังบทสนทนาของนักศึกษาที่ว่า โบราณสถานอย่างสนามหลวงซึ่งแตกต่างจากซากอิฐซากปูน จะต้องได้รับการดูแลปฏิบัติอย่างไร จึงจะเป็นได้ทั้งสนามหลวงและสนามราษฎร์ไปพร้อมกัน

นี่คือบทสนทนากับกรมศิลปากรโดยตรงไม่ใช่หรือ? แต่กรมศิลปากรก็ไม่ใส่ใจจะฟัง

โดยสรุปก็คือ การสนทนาทางสังคมเป็นกระบวนการทางสังคม ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างผู้พูดและผู้ฟังเท่านั้น แต่มีองค์กรทางสังคมอีกมากที่ทำให้การสนทนาโต้ตอบกันนั้น กลายเป็นการสนทนาทางสังคม เช่นมีเสรีภาพที่จะสนทนา, พูดแล้วเป็นที่ได้ยิน, ใครๆ ก็สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้, มีพื้นที่ปลอดภัยอยู่มากมายในการโต้แย้งถกเถียงกันในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสนทนา, ทุกฝ่ายมีโอกาสจะแสดงเหตุผลสนับสนุนหรือคัดค้านข้อเสนอได้อย่างไม่มีอะไรขวางกั้น, หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีปฏิกิริยาตอบรับในทางใดทางหนึ่ง ฯลฯ

การเอากฎหมายจราจรมาขวางกั้นการสนทนาทางสังคม คือการบอกประชาชนว่า “เอ็งอยู่เฉยๆ อย่าส่งเสียงอะไร”

ประชาธิปไตยทำงานได้ไม่ใช่เพราะการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเพียงอย่างเดียว แต่การสนทนาทางสังคมที่อิสระเสรี ก็เป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ด้วย อำนาจของประชาชนในการกำกับควบคุมรัฐมีอยู่นอกคูหาเลือกตั้ง ก็เพราะการสนทนาทางสังคมที่เป็นอิสระเสรีนี่แหละ แต่ทั้งสองอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

หากจำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ทอมัส เจฟเฟอร์สัน เลือกเสรีภาพในการสนทนาทางสังคม (ในนามของ free press หรือสื่อหนังสือพิมพ์เสรี) แทนการเลือกตั้ง (ในนามของรัฐธรรมนูญ)