ต่างประเทศ : FinCEN ไฟล์ เอกสารหลุดที่สั่นสะเทือนวงการการเงินอีกครั้ง

ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ในแวดวงการเงินโลกเกิดขึ้น เมื่อมีการเปิดเผยเอกสารหลุดที่เรียกกันว่า “FinCEN” ไฟล์เอกสารจากหน่วยงานต่อต้านอาชญากรรมทางการเงินของสหรัฐอเมริกาจำนวนหลายพันชิ้นถูกปล่อยออกมาสู่มือสื่อมวลชน

ในเอกสารหลุดเหล่านี้เป็นการเปิดเผยให้เห็นธุรกรรมทางการเงินในธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลกหลายแห่งในช่วงเวลาหนึ่ง มีมูลค่ารวม 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในจำนวนนี้เปิดเผยให้เห็นถึงเส้นทางการเงินสกปรกที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นของกลุ่มอาชญากร ถูกถ่ายโอนไปทั่วโลก

ยิ่งกว่านั้นยังแสดงให้เห็นถึงวิธีการที่บุคคลระดับสูงของรัสเซียบางรายใช้ในการหลีกเลี่ยงการถูกมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินจากชาติตะวันตกได้ด้วย

เรื่องนี้นับเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากการทำธุรกรรมต้องสงสัยเหล่านั้นจำนวนมากเกิดขึ้นกับธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลกหลายแห่ง

 

FinCEN ย่อมาจาก US Financial Crimes Enforcement Network เครือข่ายเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังสหรัฐ ที่ทำหน้าที่กวาดล้างอาชญากรรมทางการเงิน

โดยธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ในสหรัฐอเมริกามีหน้าที่ในการส่ง “Suspicious Activity Report” (SARs) หรือรายงานธุรกรรมต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางการเงิน แม้ธุรกรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นในต่างประเทศก็ตาม

เอกสาร FinCEN ถูกมือดีปล่อยออกมาทั้งสิ้น 2,657 ชิ้น ในจำนวนนี้ 2,121 ชิ้นเป็นเอกสาร SARs ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2000 จนถึงปี 2017

SARs เป็นเอกสารลับสำหรับธนาคารระดับนานาชาติที่จะรายงานให้ FinCEN รับรู้ถึงธุรกรรมของลูกค้าที่ต้องสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงรายงานพฤติการณ์ต้องสงสัยเท่านั้น ไม่ได้เป็นหลักฐานพิสูจน์การกระทำผิดแต่อย่างใด

เอกสาร SARs เหล่านี้เองก็แสดงให้เห็นว่าธนาคารและสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ปล่อยให้เงินสกปรกไหลผ่านระบบไปยังจุดหมายปลายทางทั่วโลกเป็นจำนวนมหาศาล

 

เอกสารหลุดจำนวนมากถูกปล่อยออกสู่เว็บไซต์ Buzzfeed News ก่อนเป็นที่แรก ก่อนจะถูกส่งต่อให้กับกลุ่มเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) เครือข่ายนักข่าวจาก 108 สำนักใน 88 ประเทศ ที่เคยได้รับเอกสารหลุดสำคัญๆ ก่อนหน้านี้มาแล้วหลายครั้ง

นักข่าวนับร้อยคนตรวจสอบเอกสารทางเทคนิคจำนวนมากและพบว่ามีบางอย่างที่ธนาคารหลายแห่งไม่ต้องการให้สาธารณะรับรู้

ไม่ว่าจะเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ของอังกฤษอย่าง HSBC ที่เปิดทางให้เงินสกปรกหลายล้านดอลลาร์ถูกโอนถ่ายไปทั่วโลก แม้ว่าธนาคารเองจะได้รับแจ้งแล้วว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่ได้มากลุ่มอาชญากรก็ตาม

นอกจากนี้ เอกสารยังชี้ให้เห็นว่า บริษัทเจพีมอร์แกน สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ เปิดทางให้บริษัทแห่งหนึ่งโอนเงินมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านบัญชีในกรุงลอนดอน โดยเจพีมอร์แกนเองไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของบัญชีดังกล่าว ก่อนจะมาพบในภายหลังว่าบริษัทดังกล่าวอาจมีอาชญากรที่อยู่ในรายชื่อ 1 ใน 10 อาชญากรที่สำนักงานสืบสวนสอบสวนกลาง หรือ FBI ต้องการตัวมากที่สุดเป็นเจ้าของ

นอกจากนี้ เอกสารยังเปิดเผยให้เห็นว่า หนึ่งในคนใกล้ชิดนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ใช้ธนาคาร Barclays ในกรุงลอนดอนหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรในการใช้เงินซื้องานศิลปะในประเทศตะวันตก

เอกสารดังกล่าวยังชี้ให้เห็นด้วยว่า สามีของหญิงคนหนึ่งที่บริจาคเงินให้กับพรรคอนุรักษนิยม พรรครัฐบาลของอังกฤษนั้น เป็นผู้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากคนใกล้ชิดของประธานาธิบดีปูตินอีกด้วย

 

จากเอกสาร SARs ทั้งหมดทำให้อังกฤษถูกเรียกว่าเป็นขอบเขตอำนาจเสี่ยงสูง เทียบเท่ากับประเทศไซปรัส ที่เกิดธุรกรรมต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับเงินสกปรกมากที่สุดแห่งหนึ่ง เนื่องจากมีบริษัทอังกฤษจำนวนมากกว่า 3,000 บริษัทที่ถูกเอ่ยถึงในเอกสาร FinCEN ที่หลุดออกมา

นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวยังพบพฤติการณ์ต่างๆ ในประเทศอื่นๆ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ล้มเหลวในการตอบสนองต่อคำเตือนที่ระบุว่ามีบริษัทในประเทศกำลังช่วยเหลืออิหร่านเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐ

รวมถึงธนาคาร Deutsche Bank ถูกใช้เป็นทางผ่านในการฟอกเงินของกลุ่มอาชญากร กลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มลักลอบขนยาเสพติด เป็นต้น

 

การเปิดเผยเอกสารลับ FinCEN ครั้งนี้ถูกมองว่าแตกต่างจากเอกสารหลุดก่อนหน้านี้เนื่องจากไม่ได้เป็นเอกสารที่หลุดออกมาจากบริษัทจำนวน 1 หรือ 2 บริษัทเท่านั้น อย่างกรณี Panama Papers นั้นเป็นเอกสารของบริษัทกฎหมาย Mossack Fonseca บริษัทเดียว เปิดเผยให้เห็นการเลี่ยงภาษีครั้งมโหฬารด้วยการตั้งบริษัทนอกอาณาเขต

แต่เอกสาร FinCEN นั้นเป็นเอกสารที่มาจากธนาคารและสถาบันการเงินระดับนานาชาติจำนวนมาก และเอกสารเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า เพราะเหตุใดธนาคารและสถาบันการเงินเหล่านี้จึงไม่ดำเนินการใดๆ กับธุรกรรมต้องสงสัยทั้งๆ ที่รู้ว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงก็คือ เมื่อธนาคารและสถาบันการเงินเหล่านี้ส่งรายงานให้กับทางการสหรัฐแล้ว จะเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะเอาผิดกับธนาคาร หรือแม้แต่ผู้บริหาร แม้ธนาคารจะยังคงให้การสนับสนุนให้เกิดธุรกรรมต้องสงสัยนั้น และเก็บค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมด้วยก็ตาม

การเปิดเผยดังกล่าว ICIJ ระบุว่า เป็นการทำให้เห็นว่าธนาคารรู้เบื้องลึกเกี่ยวกับกระแสการเงินสกปรกทั่วโลกมากแค่ไหน และเอกสารดังกล่าวสะท้อนจำนวนเงินมหาศาลที่ถูกโอนไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเอกสารที่ถูกปล่อยออกมาครั้งนี้เป็นเพียงเอกสารส่วนน้อยของ SARs ที่มีการรายงานในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

 

ข่าวใหญ่ในครั้งนี้แน่นอนว่าจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นโดยเฉพาะ FinCEN ที่แม้จะระบุว่าเอกสารที่รั่วไหลจะส่งผลกระทบกับความมั่นคงของชาติ กระทบกับการสืบสวนสอบสวน และเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยกับสถาบันทางการเงินและบุคคลที่เป็นผู้ส่งรายงานเอง

แต่ FinCEN ปฏิเสธไม่ได้ถึงช่องโหว่ที่เกิดขึ้นและประกาศแผนที่จะยกเครื่องโครงการต่อต้านการฟอกเงินใหม่ทั้งหมด

เช่นเดียวกับทางการอังกฤษ ที่ก็เพิ่งเปิดเผยแผนที่จะปฏิรูปการเก็บข้อมูลบริษัทต่างๆ เพื่อกวาดล้างการทุจริตและการฟอกเงินในประเทศให้หมดไปด้วยเช่นเดียวกัน

แต่จะมีประสิทธิภาพและได้ผลมากน้อยแค่ไหนคงต้องติดตามดู

ที่มาภาพ : ICIJ