จรัญ พงษ์จีน : ถึงวาระผลัดใบผู้นำเหล่าทัพ

จรัญ มะลูลีม

“มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ ส่งท้ายเดือนกันยายน เริ่มนับหนึ่งปีงบประมาณใหม่ วันอำลายุทธจักรของข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรม ใครก็ตามที่อายุครบ 60 ปี ไม่ว่าปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือ “แม่บ้าน-คนกวาดบันได” ไม่มียกเว้น สถานะเสมอกัน “เกษียณอายุ”

“โจโฉ” ว่าไว้ว่า “แม้มังกรย่อมเปลี่ยนแปรตามสถานการณ์ ยามใหญ่ฟ้อนเมฆเหินหาว ยามเล็กซ่อนตัวตน ยามปรากฏก็ผงาดกลางฟ้า ยามเร้นกายก็แทรกบังอยู่ในคลื่น”

พูดถึงกฎและข้อบังคับแห่งความไม่เที่ยง ซึ่งไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ระนาบหัวขบวน กอดคอเกษียณอายุราชการต้องโฟกัสไปที่ “กองทัพไทย” เพราะพักยกในวันที่ 30 กันยายน 2563 กันอย่างพร้อมเพรียง ประกอบด้วย

1. “พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 2. “พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ผู้บัญชาการทหารบก 3. “พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์” ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ 4. “พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์” ผู้บัญชาการทหารเรือ

ซึ่งปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้นายทหารรับราชการ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารรับราชการ สนองพระเดชพระคุณ จำนวนทั้งสิ้น 792 นาย

ตำแหน่งของแต่ละเหล่าทัพ เรียงลำดับจาก “กองทัพไทย” โผไม่พลิก “พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์” เสนาธิการทหาร ตท.21 เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด “พล.ท.สุพจน์ มาลานิยม” รองเสนาธิการทหารบก เป็นเสนาธิการทหาร “พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ” รอง ผบ.ทร. เป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุด

“กองทัพเรือ” คลื่นลมสงบ “พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน” ตท.20 ผู้ช่วย ผบ.ทร. เป็น ผบ.ทร. โดยคู่ชิง “พล.ร.อ.ช่อฉัตร” ถูกเตะโด่งไปนั่งรอง ผบ.ทหารสูงสุด ดัน “พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม” เป็นรอง ผบ.ทร. “พล.ร.ท.ธีรกุล กาญจนะ” ตท.21 เป็น เสธ.ทร. “พล.ร.ท.ทรงวุฒิ บุญอินทร์” ตท.22 เป็นผู้ช่วย ผบ.ทร. และ “พล.ร.ท.สุทธินันท์ สมานรักษ์” ตท.22 เป็นผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ

“กองทัพอากาศ” ต้องร้องเพลง “พลิกล็อกกันน่าดู” คนคำนวนณฤๅจะสู้ฟ้าลิขิต เมื่อม้ามืดนอกสายตา “พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ” ผู้ทรงวุฒิกองทัพอากาศ จาก ตท.20 ผงาดมาหยิบชิ้นปลามัน เป็น “แม่ทัพฟ้า-ผู้บัญชาการทหารอากาศ” ตัวเต็ง “พล.อ.อ.ธรินทร์ ปุณศรี” ถูกเบียดพ้นวงโคจรไปติดดอย เป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม

ไฮไลต์ของการโยกย้ายประจำฤดูกาลนี้ จริงๆ แล้วน่าจะอยู่ที่ “กองทัพบก” ไม่เพียงแต่ 1. “พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้” ตท.22 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เต็งหนึ่งตลอดกาล จะเข้าป้ายแบบสบายแฮ เป็น ผบ.ทบ.

แต่ฤดูกาลนี้ “กองทัพบก” จัดแถวใหม่แบบยกยวง ถ้าเป็นเมื่อสี่ซ้าห้าปีก่อน ถือว่าน่าเกาะติด เพราะนอกจาก “5 เสือ ทบ.” แล้ว ยังแถมพ่วง “4 แม่ทัพภาค” ล้วนเปิดซิงกันหมด

ตามด้วย 2. “พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์” ตท.19 ขยับจาก เสธ.ทบ. เป็นรอง ผบ.ทบ. 3. “พล.ท.พรศักดิ์ พูนสวัสดิ์” ตท.20 แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. 4. “พล.ท.ธรรมนูญ วิถี” ตท.22 แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. 5. “พล.ท.วรเกียรติ รัตนานนท์” ตท.20 รอง เสธ.ทบ. เป็น เสธ.ทบ.

6. “พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์” ตท.23 แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 7. “พล.ท.ธเนศ วงศ์ชอุ่ม” ตท.21 เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 8. “พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์” ตท.21 รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 และ 9. “พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์” ตท.22 รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นแม่ทัพภาคที่ 4

 

ในจำนวนโผโผกย้าย 3 เหล่าทัพ “กองทัพอากาศ” ถือว่าสะเทือนทุ่งดอนเมืองมากที่สุด เมื่อ “พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ” จากผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ขยับเข้าไลน์เสียบในตำแหน่ง “แม่ทัพฟ้า”

มีการแกะรอยย้อนปูมหลังกันอุตลุด “บิ๊กแอร์” หรือ “บิ๊กแอร์บูล” เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2504 จบเตรียมทหารรุ่น 21 นายเรือ หรือเสืออากาศรุ่น 40 วิทยาลัยการทัพอากาศรุ่น 44 เป็นนักบินลำเลียงซี-130 อดีต ผบ.ฝูงบิน 601 ผู้การกองบิน 6 ดอนเมือง

ผู้ช่วยทูตทหารอากาศ ประเทศสิงคโปร์ ปลัดบัญชีทหารอากาศ ครองยศอัตรา พล.อ.ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพอากาศ

เป็นครอบครัวทหารอากาศ บิดาเป็นทหารอากาศ เข้าร่วมการฝึกร่วมทางอากาศของกองทัพไทยและสหรัฐอเมริกาในปี 2504 ภายใต้ชื่อ “แอร์บูล” ผู้เป็นบิดามีความประทับใจ จึงนำชื่อของการฝึกร่วม มาตั้งชื่อลูกชายว่า “แอร์บูล” ที่เกิดในปีเดียวกันนั้น

“พล.อ.อ.แอร์บูล” เป็นผู้บัญชาทหารอากาศ คนที่ 27

ย้อนกลับมาที่ “กองทัพบก” ชั่วโมงนี้ถือว่า “บูรพาพยัคฆ์” เริ่มคลายมนต์ขลังลงไปมาก ถ้าเป็น “ลมพายุ” ก็ลดระดับเหลือแค่ “ดีเปรสชั่น” ความรุนแรง ร้อนแรงน้อยลง กลุ่มนายทหารกองทัพบกที่รับราชการในกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ มีอำนาจชื่อเสียงมาก เป็นกำลังหลักมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 และ 2557

“บูรพาพยัคฆ์” จากกองพลทหารราบที่ 2 และกรมทหารราบที่ 21 ครองอำนาจ มีหัวขบวน “พี่น้อง 3 ป.” ได้แก่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” สืบทอดอำนาจ ต่อยอดกันมายาวนานในกองทัพบก

เวลาผ่านไปอย่างเงียบเชียบ บัดนี้ บารมีเริ่มอัสดง เป็นธรรมชาติ เรี่ยวแรงย่อมหมดไปตามอายุขัย ไม่มีใครวิ่งเต็มฝีเท้าได้ตลอดเส้นทาง “อำนาจ” ไม่ได้หมายถึงความมั่นคง ต้องมีวันเปลี่ยนแปลง

“บูรพาพยัคฆ์” หนีสัจธรรมนี้ไม่พ้น

“พล.อ.ณรงค์พันธ์” ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ แม้จะได้ชื่อว่า “ลูกผสม” ระหว่าง “บูรพาพยัคฆ์” กับ “วงศ์เทวัญ” ก็จริง เพราะชีวิตเริ่มต้นรับราชการยศร้อยตรีสังกัดราบที่ 2 รอ.

แต่เติบโตในค่าย “วงศ์เทวัญ” จากกรมทหารราบที่ 1 รอ. ก่อนเข้าสู่ไลน์ ฉายแววเป็นผู้นำกองทัพตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง ผบ.พล.1 รอ. รองแม่ทัพภาคที่ 1 แม่ทัพภาคที่ 1 และขึ้น “5 เสือ ทบ.” ในตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ทบ.

ย้ำอีกครั้งว่า “บิ๊กบี้” ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ ถึงจะ “ลูกผสม” มีความเป็น “บูรพาพยัคฆ์” แต่ความผูกพันกับ “3 ป.” ไม่ว่าจะ “ป.ป้อม-ป.ป๊อก-ป.ประยุทธ์” มีช่องว่าง “ระหว่างวัย” มากอยู่พอประมาณ

“ในทางปฏิบัติ รัฐบาลกับกองทัพ จะไม่เหมือนเดิม”