ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 กันยายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ธรรมลีลา |
เผยแพร่ |
บนเส้นทางภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย (17)
ทายิกาคนสำคัญ
ในการที่ผู้หญิงจะออกบวช นับตั้งแต่ขั้นแรก คือการออกบรรพชาเป็นสามเณรี บุคคลที่มีความสำคัญมากคือทายก หรือทายิกา ถ้าแปลตรงๆ ตัวตามศัพท์ ทายกคือผู้ให้ ทายิกา คือผู้ให้ที่เป็นหญิง
มากกว่าความหมายของการให้ คือเป็นบุคคลที่เข้ามาติดต่อจัดการเรื่องต่างๆ ให้
นับตั้งแต่การเลือกหาวัดที่จะออกบวช นิมนต์อุปัชฌาย์ และปวัตตินี ลงไปในรายละเอียดของการซื้ออัฏฐบริขารที่จำเป็นต่อการออกบวช เลยไปจนถึงที่พัก ดูแลปัจจัยถวายสงฆ์ ฯลฯ
ในบทความนี้ อยากจะเก็บบันทึกรายละเอียดของการบรรพชาของท่านธัมมนันทาและทายิกาที่เป็นคนรับผิดชอบขั้นตอนต่างๆ ในการบวชให้ท่าน
สตรีไทยคนแรกที่ออกบวชในสายเถรวาท
กระบวนการเตรียมการเรื่องการบวชของภิกษุณีนั้นเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2530 (ค.ศ.1987) เมื่อผู้เขียนจับมือกับภิกษุณีกรรมะเล็กเชโสโม พระภิกษุณีชาวอเมริกันที่ออกบวชในสายทิเบต ตอนนั้นท่านเรียนอยู่ที่ธารัมศาลาในประเทศอินเดีย และท่านอัยยาเขมา ชาวเยอรมันที่สอนธรรมะเป็นที่รู้จักกันดีในศรีลังกา ตอนนั้นท่านยังเป็นทศศีลมาตา
เราทั้งสามคนจัดงานประชุมนานาชาติเรื่องนักบวชสตรี เมื่อ พ.ศ.2530 ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นการเปิดตัวภิกษุณีครั้งแรกในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา
ผู้เขียนยังเป็นฆราวาส มีความคล่องตัวกว่าในการบริหารจัดการการเงินเพื่อให้การประชุมเป็นไปได้ จากการประชุมครั้งนั้น ขยับมาเป็นการประชุมนานาชาติเรื่องสตรีชาวพุทธ จัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน ค.ศ.1991 และถัดมาครั้งที่ 3 ที่ศรีลังกา ใน ค.ศ.1993
มาดามรันชนี เดอ ซิลวา ผู้ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นทายิกาของท่านธัมมนันทาได้เข้าร่วมประชุมตั้งแต่ ค.ศ.1987 และเมื่อมาร่วมประชุมที่ประเทศไทย ค.ศ.1991 ได้มาเยี่ยมวัตรทรงธรรมกัลยาณี ได้พบกับภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ มารดาของผู้เขียน
เธอเห็นวิธีการที่เราจัดการประชุมที่ประเทศไทย ทำให้เธอเกิดประกายทางความคิด นำไปสู่การขอรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมศากยธิดาครั้งที่ 3 ที่ศรีลังกาใน ค.ศ.1993
เราย้อนกลับไปเรียกการประชุมที่พุทธคยาว่าศากยธิดาครั้งที่ 1 และการประชุมที่ประเทศไทย ว่าเป็นศากยะธิดาครั้งที่ 2
ใน ค.ศ.1993 ผู้เขียนในฐานะประธานของศากยธิดา ได้เดินทางไปศรีลังกาก่อนเวลางานเพื่อช่วยรันชนีเตรียมงาน การทำงานด้วยกัน เป็นที่มาของการรู้จักกันดีมากขึ้น
เราติดต่อกันตลอดเวลา แลกเปลี่ยนข้อมูลในการเกิดขึ้นของภิกษุณีในศรีลังกาในเวลาต่อมา เวลาที่ผู้เขียนติดต่อกับเธอทางอินเตอร์เน็ต เธอจะตอบกลับทุกครั้ง ไม่ข้ามวัน เป็นสิ่งที่น่ายกย่องมาก
ข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการตัดสินใจต่อเส้นทางชีวิตของผู้เขียนในช่วงนั้น
ไม่ผิดเลยที่จะกล่าวว่า การประชุมศากยธิดาที่เริ่มต้น ค.ศ.1987 นั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดความตื่นตัวเรื่องการบวชภิกษุณีขึ้นในสายเถรวาท
ช่วงทศวรรษนั้นเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ
เมื่อข่าวการอุปสมบทภิกษุณี ค.ศ.1998 ปรากฏออกมาทางสื่อ ซึ่งยังจำกัดอยู่มาก ข่าวสารที่ผู้เขียนได้รับมักผ่านมาทางมาดามรันชนี และเมื่อผู้เขียนตัดสินใจออกบวช และตัดสินใจที่จะไปศรีลังกา รันชนีเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น
มาดามรันชนีเป็นหญิงชาวศรีลังกาผิวคล้ำแบบชาวศรีลังกาทั่วไป รูปร่างท้วม เป็นคนพูดตลอดเวลา แต่สิ่งที่เธอพูดนั้น เป็นการให้ข้อมูลบางทีก็ค่อนข้างเยอะ แต่ผู้เขียนเริ่มคุ้น และรับได้ ไม่มีการพูดใส่ร้ายคนอื่น
ช่วงที่ไปบวชสามเณรีนั้น เธอเป็นคนติดต่อดำเนินเรื่องให้ทั้งหมด ติดต่อวัดที่จะบวช ติดต่ออุปัชฌาย์ แม้กระทั่งบาตรสีดำจากพม่า เธอก็เป็นคนจัดการหาซื้อมาถวาย เราตกลงกันว่า ผู้เขียนขอให้เธอจัดการให้ แต่ขอมอบเงินสดให้เธอได้จับจ่ายใช้สอยแทน
ภิกษุผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุนให้สตรีออกบวชสมัยนั้นมีเพียงสองแห่ง แห่งหนึ่งคือ หลวงปู่ธัมมโลก วัดตโปทานรามยะ ตั้งอยู่ชานเมืองกรุงโคลอมโบ หลวงปู่เป็นพระภิกษุผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพในวงการพระสงฆ์ของศรีลังกา ท่านสังกัดสายอมรปุระ
อีกแห่งหนึ่งคือวัดพระทอง ดัมบุลละ เจ้าอาวาสชื่อท่านศรีสุมังคโล จริงๆ แล้วผู้เขียนพยายามติดต่อไปที่นี่ แต่ท่านไม่ตอบ มาดามรันชนีจึงไปติดต่อให้ที่หลวงปู่ธัมมโลกแทน ในความเป็นจริง สะดวกกว่าในการเดินทาง เพราะอยู่ในเมืองโคลอมโบ
หลวงปู่ธัมมโลกเป็นพระภิกษุผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุนการบวชภิกษุณีโดยการเขียนหนังสือออกมาตอบโต้ข้อคิดที่ไม่ยอมรับการบวชภิกษุณี ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ผู้เขียนตั้งใจจะบวชวันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 แต่พระภิกษุในสายสยามวงศ์ 5 รูปที่เราอยากนิมนต์ล้วนติดภารกิจในวัดของตนเอง ตกลงหลวงปู่จึงกำหนดเลื่อนวันขึ้นมาเป็นวันที่ 6 กุมภาพันธ์
คุณรันชนีเป็นแม่งานให้ทั้งหมด รวมทั้งจัดการค่าใช้จ่ายที่ผู้เขียนมอบเงินสดให้เธอเป็นผู้ดูแล
สำหรับปวัตตินี คือภิกษุณีที่เป็นอาจารย์ คือท่านสัทธาสุมนานั้น คุณรันชนีก็เป็นผู้ติดต่อให้ทั้งสิ้น
ลืมเล่าไปนะคะ ผู้เขียนเดินทางไปจากประเทศไทยลำพังคนเดียว การออกบวชของท่านธัมมนันทาจึงต้องมีคุณรันชนีดูแลทุกขั้นตอนและรายละเอียด โดยไม่ลืมว่าเมื่อกลับมาเมืองไทยอาจจะเจอมรสุมใหญ่ เธอติดต่อให้มีการเก็บบันทึกการบวชทั้งที่เป็นภาพและวิดีโอ รอบคอบมาก จำได้ว่าเสียค่าจ้างตากล้องไป 5,000 รูปี
สองปีผ่านไป เราติดต่อกันเป็นระยะๆ ท่านธัมมนันทาเป็นสามเณรีครบตามเงื่อนไข
กลับไปอีกครั้ง ทายิกาคนเดิม คือมาดามรันชนี ความจริงอยากจะอุปสมบทกับสายสยามวงศ์ที่วัดดัมบุลละ แต่ท่านไม่ตอบจดหมาย มาดามรันชนีจึงจัดการให้เป็นที่วัดตโปทานรามยะตามเดิม
หลวงปู่ธัมมโลกขอให้ท่านธัมมนันทาไปบวชร่วมกับงานอุปสมบทครั้งใหญ่ที่หลวงปู่จะจัดในปี ค.ศ.2004
แต่ท่านธัมมนันทายืนยันขออุปสมบทเมื่อเป็นสามเณรีครบสองปี ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2003 (พ.ศ.2546)
ที่ไม่ทราบล่วงหน้าก็คือ หลวงปู่มรณภาพในเดือนธันวาคม ปีนั้นเอง
อีกทั้งภิกษุณีวรมัย มารดาของผู้เขียนก็มรณภาพในเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน
การยืนยันที่จะอุปสมบทเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 จึงลงตัวอย่างยิ่ง
ตราบเท่าที่คณะสงฆ์ไทยยังไม่อนุญาตให้พระภิกษุไทยมีส่วนในการที่จะให้การอุปสมบทภิกษุณี ตลอดจนไม่อนุญาตให้จัดการอุปสมบทภิกษุณีในประเทศไทยนั้น บังคับให้สตรีไทยที่แสวงหาการอุปสมบทอย่างถูกต้อง ต้องเดินทางออกไปต่างประเทศเพียงอย่างเดียว
ในการจัดการอุปสมบทมีความยุ่งยากที่ลำพังภิกษุณีหรือผู้ที่แสวงหาการอุปสมบทเองจัดการในรายละเอียดไม่ได้ บทบาทของทายิกาจึงจำเป็นและสำคัญมาก
ที่นิยมไปจัดการอุปสมบทที่ศรีลังกาเพราะที่นั่นมีคณะสงฆ์พร้อมทั้งสองฝ่าย ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์
บทบาทของทายิกาหากเป็นชาวพื้นเมืองจะสะดวกมาก เพราะภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่ แม้จะเป็นมหานายก ก็มีเพียงน้อยรูปที่จะสามารถติดต่อกันเป็นภาษาอังกฤษได้สะดวก ทายกทายิกาพื้นเมืองจึงจำเป็นมาก
และทายกทายิกาที่ว่านี้ ก็ยังต้องเป็นคนที่อยู่ในบริบทของพุทธศาสนา รู้เรื่องขั้นตอนพิธีกรรมทางพุทธศาสนาด้วย ยิ่งจำกัดตัวบุคคลลงไปอีก
ศรีลังกาอยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติยาวนานถึง 400 ปี ผู้ที่มีความสามารถพูดภาษาอังกฤษได้มีหลายคน แต่บางทีทำหน้าที่ทายิกาให้ไม่ได้ เพราะไม่รู้ขนบประเพณีของพุทธ ไม่รู้จักการเข้าพบพระภิกษุผู้ใหญ่ บางทีไม่รู้แม้ภาษาอังกฤษที่เหมาะสมกับพระ
และที่สำคัญ ทายิกาต้องรู้จักสังคมของพระภิกษุท้องถิ่นของศรีลังกาอย่างดี
มาดามรันชนีจึงเป็นบุคคลที่ทำหน้าที่ดูแลขั้นตอนต่างๆ ในการบวชให้ท่านธัมมนันทาได้เต็มที่ตั้งแต่ต้น และเป็นผู้ที่มีศรัทธาแรงกล้า พยายามติดต่อหาช่องทางที่ดีที่สุด โดยที่ในตอนแรกนั้น มีพระภิกษุสงฆ์เป็นส่วนน้อยที่จะมีความพร้อมที่จะให้ความอนุเคราะห์การอุปสมบทภิกษุณี
เรียกว่าท่านธัมมนันทาได้ทำบุญมาดีที่ได้ทายิกาดูแลในการบวชทั้งสองระดับ คือทั้งบรรพชาและอุปสมบท และแม้การอุปสมบทสองครั้งของท่านก็มีมาดามท่านนี้จัดการให้ทั้งสิ้น
บทบาทของทายิกาจึงสำคัญอย่างยิ่งในการอุปสมบทของภิกษุณีในสมัยแรก
ในสมัยต่อมา การอุปสมบทภิกษุณีโดยเฉพาะที่ไปจากประเทศไทยก็สะดวกมากขึ้น เพราะสามารถติดต่อกับภิกษุณีท้องถิ่นในศรีลังกาให้ท่านช่วยเตรียมการให้
แต่แม้กระนั้น งานบางลักษณะก็ยังต้องอาศัยทายิกาอยู่ดี
บทบาทของทายกทายิกาจึงเป็นบทบาทที่สำคัญต่อการก้าวย่างของภิกษุณีไทย