มองบ้านมองเมือง/ ปริญญา ตรีน้อยใส/ถนนพหลโยธิน

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

ถนนพหลโยธิน

 

หลายคนคงแปลกใจ ถ้ามีคนบอกว่า บ้านอยู่ถนนพหลโยธิน ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ หากอยู่ที่เชียงรายกำแพงเพชร หรือลพบุรี

มองบ้านมองเมือง เลยต้องพาไปมองถนนพหลโยธิน เพื่อจะได้ไม่แปลกใจ

คงต้องย้อนกลับไปไกลถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในตอนนั้นอาณาเขตของพระนคร จะมีแนวชัดเจน ตามคลองต่างๆ

เริ่มต้นจากคลองคูเมืองเดิม ที่มีมาแต่ครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ต่อมามีคลองคูเมืองที่ขุดขึ้นใหม่ เมื่อย้ายราชธานีมาฝั่งกรุงเทพฯ

เมื่อบ้านเมืองสงบ เริ่มมีผู้คนตั้งถิ่นฐานนอกคลองคูเมือง มาจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม ที่ขุดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 4

 

พอถึงรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ผู้คนยิ่งกระจายออกไปทั่ว ทั้งในและนอกแนวคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นไปตามพระราโชบายชี้นำการพัฒนาพระนคร ทางด้านทิศเหนือ มีพระราชวังสวนดุสิต เป็นแกนนำ และทางด้านทิศตะวันออก มีวังใหม่ หรือวังวินเซอร์ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นแกนนำ

ขอบเขตพระนครในรัชสมัยนี้ จึงไม่ได้มีแนวคลองกำหนด หากเป็นแนวถนนหลายสายที่ยาวต่อเนื่องกัน เริ่มจากถนนสีลม ที่เป็นย่านการค้าและชุมชนชาวต่างชาติ ทางทิศใต้ ขึ้นเหนือตามถนนราชดำริ ถนนราชประสงค์ และถนนราชปรารภ มาจนถึงถนนราชวิถี แนวเขตพระราชวังสวนดุสิตทางทิศเหนือ ที่คู่ขนานกับคลองสามเสน

นอกจากนี้ เพื่อเชื่อมพระราชฐานทั้งสอง ทรงโปรดให้ตัดถนนที่ผ่านที่นา ที่เรียกขานกันว่า ทุ่งพระยาไทย เดิมทีจะใช้ชื่อถนนวชิรุณหิศ แต่ต่อมากลายเป็นถนนพญาไท

ถนนสายนี้เริ่มจากถนนพระรามสี่ทางทิศใต้ ตัดตรงขึ้นเหนือผ่านเขตวังใหม่ ผ่านถนนรองเมือง และถนนพระรามหนึ่ง คลองประแจจีน (ปัจจุบันคือถนนเพชรบุรี) ไปจนถึงถนนราชวิถี

ในเวลานั้นบริเวณดังกล่าว ยังคงสภาพเป็นที่ลุ่ม มีผู้คนอาศัยอยู่เบาบาง โดยเฉพาะพื้นที่ตรงปลายสุดของถนนพญาไท ยังเป็นที่เปลี่ยว จึงใช้เป็นสนามยิงปืน และที่มาของการเรียกขาน สนามเป้า

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อเครื่องบินจากประเทศฝรั่งเศส เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพของกองทัพไทย และเอื้ออำนวยประโยชน์อื่น เช่น การไปรษณีย์ การแพทย์ และอื่นๆ จึงจำเป็นต้องจัดหาสนามบิน โรงเก็บเครื่องบิน และที่ทำการ

โดยเลือกเอาพื้นที่ทางทิศเหนือชานพระนคร ที่มีสภาพเป็นที่ดอน เป็นที่ตั้งสนามบินแห่งแรกของไทย คือท่าอากาศยานดอนเมือง

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตัดถนนไปยังดอนเมือง เริ่มจากปลายถนนพญาไท ตรงจุดตัดถนนราชวิถี บริเวณสนามเป้า ไปจนถึงสนามบินดอนเมือง มีความยาว 22 ก.ม. ในปี พ.ศ. 2479

และมีประกาศให้เรียกขานถนนสายนี้ว่า ถนนประชาธิปัตย์

 

แผนพัฒนาเมืองลพบุรี ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมีการต่อขยายถนนจากดอนเมืองไปอยุธยา ผ่านสระบุรี จนถึงลพบุรีรวม 162 ก.ม. ในปี พ.ศ.2483

รวมทั้งเมื่อรัฐบาลประกาศแผนก่อสร้างทางหลวงเชื่อมกรุงเทพกับหัวเมืองต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค สำหรับสายเหนือให้ใช้แนวถนนเดิมจากกรุงเทพฯ ถึงลพบุรี ต่อเนื่องไปเชียงราย

โดยให้ชื่อว่า ถนนพหลโยธิน เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

ถนนพหลโยธิน จึงกลายเป็นทางหลวงหมายเลข 1 เริ่มจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผ่านจังหวัดต่างๆ ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก ลำปาง เชียงราย จนถึงด่านพรมแดนแม่สาย เชียงราย

รวมระยะทาง 994.741 กิโลเมตร

 

ถนนพหลโยธิน ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เมื่อมีการตัดทางหลวงไฮเวย์ตามมาตรฐานสากล โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอเมริกัน คือในปี พ.ศ.2500 โดยถนนมิตรภาพ แยกจากถนนพหลโยธิน ที่สระบุรี ไปยังนครราชสีมา และเมืองอื่นในภาคอีสาน

ปัจจุบัน บางส่วนของถนนพหลโยธิน ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเอเชียที่มีอยู่สองสาย สายแรกจากญี่ปุ่นถึงอิสตันบูล ช่วงที่ผ่านไทยคือ จากเขมรที่อรัญประเทศ ถึงพม่าที่แม่สอด ที่ซ้อนทับกับถนนพหลโยธิน ช่วงบ้านหินกอง-บางปะอิน และชัยนาท-ตาก

สายที่สองจากอินโดนีเซีย ถึงอิหร่าน ช่วงที่ผ่านไทย คือ จากพรมแดนพม่า ที่แม่สาย เชียงราย ลงมาจนจรดชายแดนบ้านจังโหลน สงขลา ที่ซ้อนทับกับถนนพหลโยธิน คือช่วงนครสวรรค์-เชียงราย

ต่อไปนี้ คงไม่ต้องแปลกใจ ใครๆ ก็มีบ้านอยู่บนถนนพหลโยธิน เพราะถนนสายนี้ยาวไกลยิ่งนัก อีกทั้งมีเรื่องราวต่างๆ มากมาย ที่เกี่ยวโยงกับบ้านเมือง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และน่าจะต่อไปอนาคต