จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 25 ก.ย. – 1 ต.ค. 2563

จดหมาย

 

0 คิดฮอด-บ่เขียนถึง

กราบสวัสดีคุณพี่ บ.ก.มติชนสุดสัปดาห์ ที่เคารพรัก

คิดถึงอ้าย บ.ก.หลายเด้อ

บักหำน้อย เขากระโดง อีสานใต้ ได้แต่ติดตามอ่านด้วยความเซ็งในระบอบประเทศเป็นที่ยิ่ง

นับแต่รัฐประหารมาก็ตั้งใจจะไม่เขียนจอมอมา จนกว่าประชาธิปไตยจะกลับคืน

แต่ช้าแต่ ได้แค่รอ

แต่ก็ดีใจมากที่มติชนสุดเสัปดาห์ยืนหยัดเป็นที่พึ่งของฝ่ายประชาธิปไตย

ได้แต่คันปากคันมือ ดู๊ ดูมันทำ

ยึดมาแล้ว เอ็งเก่งก็ไม่มีใครว่านะคุณพี่นะ

จะบอกให้ว่า ไม่อ่านคอลัมน์เชียร์รัฐบาลนี้

ก็ไม่ว่ากัน ต่างคนต่างชอบ มีความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ

แต่ความเห็นต่างที่ข้างน้อยเป็นใหญ่ เหยียดหยามดูถูกข้างมาก

นี่มันไม่ใช่ประชาธิปไตย นิอ้ายนิ

ด๊อกเตอร์บางคนโง่กว่า ป.4 ก็มี เรียนเก่งเรียนสูงในทางวิชาการ แต่อาจเป็นโรคจิตวิปริตในทางชีวิต

ส่วน ป.4 ดำเนินชีวิตได้ดี อย่างนี้จะว่าใครเก่ง

แม่นบ่อ้าย

คนต้องเท่าเทียมกันในการออกเสียงนิ

เมื่อลุแก่โทสะ ทุกฝ่ายก็หยาบคายร้ายกาจพอๆ กัน

แล้วข้างน้อยจะมาตะแบงเอาชนะเขาได้ยังไง

เก่งกว่าที่ไหน ดูผลงานซิ

แล้วดูเถอะ ดู…ดูนายกรัฐมนตรีจาก รปห. อยากถามคนเดียว เจ้าตำรับทุนสามานย์

คืออยากถามว่า ทุกวันนี้ทุนสามานย์มั้ยคุณพี่

อ่านมติชนสุดสัปดาห์ทุกฉบับ แม้จะไม่ได้เขียนจดหมายมาคุย เพราะเขียนแล้วอ้ายก็ส่งลงตะกร้า

ฉบับนี้อยากลงพิมพ์ ด่านิดเดียว เดี๋ยวอ้ายอ่านคนเดียว ไม่คุ้มค่าเขียน ฮิฮิ

อยากทราบว่า 6 ปี 3 ป.เราจะรอดบ่อ้าย

ทำไมมันเป็นอย่างนี้

ทำไมมองไปไม่เห็นคนดีศรีสยามเป็นความหวังสักคน

เห็นแต่คนรวยๆ สหบาทาระบอบทักษิณ จนเรียบร้อย

แล้วฝ่ายสหสามัคคี รวยกันระเบิดเถิดเทิง แต่รวยหยิบมือเดียว อ้อๆ กห.ทั้งก๊ก

หนังสือก็ล้มหายตายจากเกือบเกลี้ยงแล้ว หวังว่ามติชนสุดสัปดาห์จะไม่ตายง่ายๆ ถ้าไม่ได้อ่านก็คงไม่มีอะไรให้รอ

เอาใจช่วยเหล่าอ้ายเสมอ อ่านตลอดๆ

แต่ไม่อยากเขียนมา ชอบรัฐบาลเลือกตั้งอ่าฮับ

เคารพและศรัทธาเหล่าอ้ายเสมอ

เขากระโดง อีสานใต้

 

เขากระโดง อีสานใต้ เล่นประเภทไม่ชอบทางโน้น

เลยไม่เขียน (จอมอ) มาถึงทางนี้

ก็ใจเสียสิบักหำ

นึกว่า “ทิ้ง” กันแล้ว

ปล่อยให้เฮายืนสู้โด่เด่อยู่ฝ่ายเดียว

ไผล่ะจะไม่เสยีวว…อิอิ

จะสู้ จะถอย จะเห็นด้วย เห็นต่าง ก็ว่ากันมา

อย่าสิ “เท” เฮาเด้อ บักหล่าเด้อ

 

0 เท่าเทียม-ไม่เท่าเทียม

เรียนบรรณาธิการ มติชนสุดสัปดาห์

ความเข้าใจผิดมักจะทำให้เสียเงินเสียเวลาอย่างมากมายมหาศาล

เช่น การให้ประชาชนลงทะเบียนรับเงินเยียวยาจากภัยโควิด-19 ผ่านทางมือถือ

เพราะเข้าใจผิดคิดว่าประชาชนมีมือถือทุกคน ใช้มือถือเป็นหมดทุกคน

ปรากฏว่าประชาชนหลายล้านคนขาดโอกาส เพราะไม่มีมือถือ หรือมีแต่ติดต่อไม่เป็น

ด้านการเมือง รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนอายุ 18 ปีมีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.

เพราะเข้าใจผิดคิดว่าประชาชนทุกคนรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ

แต่ปรากฏว่าประชาชนส่วนมากไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร

ไม่ทราบว่าเมื่อมีการแจกเงินแล้วเลือกเขาไปเป็น ส.ส. จะเกิดผลเสียหายอย่างไร

เวลามีงานก็ส่งหนังสือไปร่วมงานเพื่อหวังให้ ส.ส.เอาเงินใส่ซองมาช่วย โดยไม่ทราบว่าจะเกิดผลเสียอย่างไร

ด้านการศึกษา แต่ก่อนผู้บริหารโรงเรียน ทำงานธุรการ พิมพ์หนังสือเอง ครูมีหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว

คณะผู้จัดการเรื่องการศึกษา เข้าใจผิดคิดว่าการทำเช่นนั้นเป็นการรวบงานไว้คนเดียว ต้องการกระจายงานออกไปให้ช่วยกันทำ

ผลปรากฏว่าครูไม่ค่อยมีเวลาสอน ทำให้นักเรียนอ่อนทางด้านการอ่าน ทางด้านความรู้

เมื่อเห็นว่าการศึกษาไม่มีคุณภาพ คิดว่าเป็นเพราะครูเงินเดือนน้อย

ก็เลยเพิ่มเงินเดือนให้ครูคนละหลายหมื่นบาท

คิดว่าเป็นเพราะงบประมาณน้อย ก็เพิ่มงบประมาณอีกปีละ 5 แสนล้านบาท

ปรากฏว่าก็ไม่ได้ผล

สำหรับแนวทางการแก้ไขให้ดีขึ้น

ควรเป็นดังนี้

ข้อ 1 ให้หัวหน้าชุมชน หรือผู้ใหญบ้านเป็นผู้คัดเลือกรายชื่อส่งไปเพราะเป็นผู้ที่รู้ดีกว่าใคร ว่าใครเดือดร้อน ใครไม่เดือดร้อน

ข้อ 2 ถึงเวลาพิจารณาใหม่ได้แล้วคือคนที่จะเลือก ส.ส. จะต้องจบมัธยมศึกษาปีที่ 6

ถ้าต่ำกว่า ต้องมีการเลือกตัวแทนไปเลือก ส.ส. เลิกคิดว่า 1 เสียง 1 สิทธิเท่ากันหมด เพราะคนไม่เท่ากัน

ข้อ 3 ต้องแก้ไขให้ผู้บริหารโรงเรียนกลับไปทำงานธุรการ พิมพ์หนังสือตามเดิม เพื่อให้ครูมีเวลาสอน

ขอแสดงความนับถือ

ชาญชัย

 

ข้อ 1 ข้อ 2

ขออนุญาตเห็นต่าง

เพราะไม่อยากให้ไปมองว่า “ชาวบ้าน” จัดการอะไรเองไม่ได้

ต้องพึ่งคนอื่นตลอด

หรือต้องมีความรู้ จึงจะใช้สิทธิใช้เสียงได้มีคุณภาพ

เราควรเชื่อมั่น “คนต้องเท่ากัน”!

ส่วนข้อ 3 เห็นด้วย ครูต้องกลับเข้าห้องเรียน

และควรพิจารณาข้อเสนอของ “เด็กเลว” อย่างเปิดกว้าง