การศึกษา / เสียงแตก เกณฑ์รับเด็ก ปี 2564 บิ๊กเขต-ร.ร. ชี้เหมาะสมแต่สร้างปัญหา

การศึกษา

 

เสียงแตก เกณฑ์รับเด็ก ปี 2564

บิ๊กเขต-ร.ร. ชี้เหมาะสมแต่สร้างปัญหา

 

ถึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็เป็นประเด็นให้ต้องคิด

หลังคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีมติเห็นชอบร่างนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีการศึกษา 2564

โดยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม.4 ปีการศึกษา 2564 กำหนดรับนักเรียนไม่เกิน 40 คนต่อห้อง และห้ามขยายห้องเรียนเด็ดขาด

ส่วนการรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ห้ามใช้วิธีการสอบแข่งขัน ให้ใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์แทน…

เหตุที่น่าคิดเพราะเกือบทุกปีเกณฑ์รับนักเรียนของ สพฐ.จะกำหนดจำนวนรับเด็กอยู่ที่ประมาณ 40 คนต่อห้องอยู่แล้ว แต่จะเปิดให้มีการขยายห้องเรียนเพิ่ม ไม่เกิน 50 คนต่อห้อง โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง

ดังนั้น ในทางปฏิบัติ การกำหนดจำนวนรับเด็กตายตัว อาจไม่สามารถทำได้จริง

 

โดยนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ. อธิบายแนวทางดังกล่าวว่า ถ้าปล่อยให้โรงเรียนดังรับนักเรียนเกิน 40 คนต่อห้อง โรงเรียนที่อยู่รอบๆ จะไม่มีเด็กเข้าเรียน และการสอนในอนาคตจะใช้หลักสูตรสมรรถนะ

ฉะนั้น จำนวนนักเรียนที่ลดลงอาจจะเป็นประโยชน์ต่อครูที่จัดการเรียนการสอนด้วย

และที่ประชุมมองว่าในปีการศึกษา 2565 อาจจะลดจำนวนนักเรียนเหลือ 35 คนต่อห้อง

อีกทั้งจะมีประโยชน์ต่อโรงเรียนเอกชนที่จะรับเด็กได้ด้วย

“โรงเรียนแข่งขันสูงต้องเข้าใจและเสียสละ ไม่ใช่ว่าจะรับนักเรียนจำนวนมากเท่านั้น เพราะถ้ารับเต็มจำนวนและขอขยายจำนวนนักเรียนต่อห้องอีก โรงเรียนสังกัด สพฐ.ที่อยู่รอบข้างอาจจะตายได้ ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติดังกล่าว เพราะปัจจุบันโรงเรียนดังไม่สนใจว่าโรงเรียนสังกัด สพฐ.รอบข้างจะเป็นอย่างไร ขอแค่โรงเรียนมีเด็กก็พอแล้ว เชื่อว่าถ้าพูดด้วยเหตุผล โรงเรียนจะรับฟัง”

“ส่วนการห้ามสอบเข้า ป.1 นั้นส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนเป็นห้องเรียนหลักสูตร English Program (อีพี) จึงต้องสอบเข้า แต่ในความจริงแม้จะเป็นห้องเรียนอีพี ก็ไม่ควรสอบ เพราะเมื่อมีการสอบก็จะเกิดการติว การจับสลากถือเป็นวิธีการเสมอภาคและเท่าเทียมมากที่สุด โดยเร็วๆ นี้ สพฐ.จะขอความร่วมมือกับโรงเรียนสังกัดอื่นๆ ไม่ให้มีการสอบเข้า ป.1 ด้วย”

นายเอกชัยกล่าว

 

ยังมีความเห็นต่างที่น่าสนใจจากนายธนารัชต์ สมคเณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กทม. เขต 1 รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สพม. กทม. เขต 1 ที่มองว่า เรื่องนี้จะมีปัญหาแน่นอน ตามจริงแล้วไม่อยากให้มีการกำหนดหรือสั่งการหลักเกณฑ์การรับเด็กที่ตายตัวลงมาจาก ศธ. แต่ควรสอบถามโรงเรียนว่ามีความต้องการอย่างไร เพราะบริบทแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน

อย่างบางโรงเรียนมีครูไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน จะให้กำหนดอยู่ที่ 40 คนต่อห้อง ก็จะทำให้รับเด็กเข้าเรียนได้ไม่เต็มที่ หรือหากจะให้ผู้ปกครองส่งเด็กไปเรียนที่อื่น ก็คงไม่มีใครยอม สุดท้ายก็จะมาร้องเรียนที่ ศธ. มีการเปิดให้ขยายห้องเรียน เป็นการบริหารกลับไปมา ทำให้เกิดความสับสน

ส่วนการยกเลิกสอบเข้า ป.1 นั้น ตนเห็นด้วย เพราะเด็กจะได้ไม่ต้องเครียด

ขณะที่นายสุพจน์ หล้าธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์ มองคล้ายกันว่า ควรเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ขยายห้องเรียนได้มากกว่า 40 คนต่อห้อง เพราะเชื่อว่ามีศักยภาพพัฒนานักเรียนได้ และเป็นความต้องการของผู้ปกครองและนักเรียนที่ต้องการเข้าเรียนในโรงเรียนเหล่านี้

 

ปิดท้ายด้วยนักวิชาการอย่างนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยกับการยกเลิกสอบเข้า ป.1 เพราะเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) แต่ตอนนั้นยังไม่สามารถปฏิบัติได้ และหากจะทำจริง สพฐ.ควรขอความร่วมมือจากโรงเรียนสังกัดหน่วยงานอื่นด้วย มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดการลักลั่น

ส่วนเกณฑ์การรับนักเรียน 40 คนต่อห้องโดยที่ไม่ให้มีการขยายห้องเรียนเพิ่มนั้น เป็นเรื่องที่ดี เพราะตามจริงแล้วจำนวนนักเรียนต่อห้องที่จะทำให้การจัดการศึกษามีคุณภาพอย่างแท้จริงควรอยู่ที่ 30-35 คนต่อห้อง แต่ในสภาพที่การศึกษาระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบทมีความเหลื่อมล้ำกันมากกว่า 2-3 เท่า ศธ.ควรแก้ปัญหาเรื่องนี้ก่อน เพื่อทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนมีความเชื่อมั่นในโรงเรียนใกล้บ้าน ไม่เช่นนั้นก็จะยังคงนิยมให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนดังเช่นเดิม

เพราะใครๆ ก็อยากให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพอย่างแท้จริง

 

ต้องรอดูว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่!!

เพราะแม้จะรู้กันดีว่า จำนวนนักเรียนต่อห้องที่เหมาะสม กับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพจะอยู่ที่ 35-40 คนต่อห้อง แต่ในสภาพที่โรงเรียนยังมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง แนวทางการรับเด็กก็อาจต้องพิจารณาบริบทอื่นๆ ประกอบด้วย

ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับการตัดเสื้อตัวเดียวให้ทุกคนใส่

     ไม่มีความพอดี สุดท้ายต้องมาปรับ มาแก้กันภายหลัง จะได้ไม่คุ้มเสีย… เหมือนอย่างที่ผ่านมา