เทศมองไทย : รหัสนัยแห่งสงคราม?

Japan's Maritime Self Defense Forces helicopter carrier Izumo sails out its Yokosuka Base in Kanagawa prefecture on May 1, 2017. Japan on May 1 dispatched its biggest warship since World War II to protect a US supply ship, one of the country's military roles expanded under Prime Minister Shinzo Abe, as tensions mount in the region over North Korea. / AFP PHOTO / JIJI PRESS / STR / Japan OUT

หากเป็นไปได้ ก็อยากเป็นมนุษย์กลายพันธุ์ที่มีศักยภาพเหนือคน อย่างในภาพยนตร์ “เอ็กซ์ เม็น” หรือจำพวก “อินฮิวแมน” ในซีรี่ส์ดัง “เอเย่นต์ ออฟ ชีลด์” แล้วเปลี่ยนตัวเองเป็นแมลงวันหัวเขียว ไปเกาะเพดาน “ห้องรูปไข่” ของทำเนียบขาวสักตัวนึง แยกอีกร่างเป็นจิ้งจกไปเกาะบนผนังที่ “รยองซอง” หรือ “ทำเนียบเลขที่ 55” ในกรุงเปียงยาง

ได้ฟังความคิดความอ่านและการสั่งการของทั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ กับ คิม จอง อึน ไปพร้อมๆ กันในช่วงเวลานี้ คงสนุกดีพิลึก

แต่ได้แค่อยาก เพราะเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง ก็เลยต้องอาศัยอ่าน “นัย” จากคำพูดและพฤติกรรมของทั้งสองฝ่ายในช่วงแห่งความตึงเครียดจากการเผชิญหน้าที่ไม่ยอมลดราวาศอกซึ่งกันและกันนี้แทน

 

“สงคราม” โดยเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แบบปุบปับก็เกิด ต้องเตรียมการ เตรียมความพร้อมและแสวงหาทั้งจังหวะเวลาและเหตุผลที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจตกเป็นฝ่ายแพ้ ถูกประณามไปทั่วโลกได้ง่ายๆ ไม่ว่าผลในสมรภูมิจะเป็นอย่างไรก็ตาม

ความเคลื่อนไหวหลายๆ อย่างของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงกับลงทุนโทรศัพท์ “สายตรง” เมื่อวันที่ 30 เมษายน มาถึง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับผู้นำอาเซียนอีกบางคน ที่ทำเอาหลายๆ คน “สะดุ้ง” ไปตามๆ กัน ถือว่าเป็นการแสดง “รหัสนัยแห่งสงคราม” หรือไม่? บางคนบอกว่าใช่ แต่อีกหลายคนบอกว่าไม่น่า

ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ทรัมป์ให้สัมภาษณ์พิเศษรอยเตอร์ เนื่องในวาระครบรอบ 100 วันแรกในการดำรงตำแหน่ง ทรัมป์บอกว่า “ความขัดแย้งครั้งใหญ่ ใหญ่มาก” กับเกาหลีเหนือนั้น “เป็นไปได้” เมื่อถูกซักต่อเพื่อให้เจาะจงลงไปอีก คำตอบของผู้นำอเมริกันก็คือ

“อีกไม่นานก็รู้กัน”

 

ลําพังเพียงคำให้สัมภาษณ์อย่างเดียวคงไม่กระไรนัก ถ้าข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ตอนนี้กองเรือโจมตี ที่นำโดย “ซูเปอร์แคร์ริเออร์” อย่าง ยูเอสเอส คาร์ล วินสัน พร้อมเรือพิฆาตอีกอย่างน้อย 6 ลำที่ทำหน้าที่เป็นเรือคุ้มกัน และเรือดำน้ำจู่โจม ติดตั้งจรวดโทมาฮอว์กอีกอย่างน้อย 2 ลำ ไม่ไปเผยโฉมอยู่ใน “ระยะโจมตี” นอกคาบสมุทรเกาหลี และเริ่มต้น “ซ้อมรบร่วม” กับกองกำลังเกาหลีใต้ “เพื่ออวดแสนยานุภาพ” มาตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน

“โทมาฮอว์ก” รู้กันทั่วไปว่าเป็นจรวดนำวิถี แต่ที่ไม่ค่อยรู้กันก็คือ ข้อมูลจำเพาะทางด้านการทหารที่บอกว่า มีโทมาฮอว์กอย่างน้อย 2 รุ่น ที่ “ติดหัวรบนิวเคลียร์” ได้ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ บีจีเอ็ม109-เอ ที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์รุ่น “ดับเบิลยู 80” เทอร์โมนิวเคลียร์ มีรหัสจำแนกว่าเป็น “ทีแอลเอเอ็ม-เอ็น” ที่บ่งบอกถึงการเป็นโทมาฮอว์กติดหัวรบนิวเคลียร์สำหรับการโจมตีภาคพื้นดินโดยเฉพาะ

การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของทรัมป์ เกิดขึ้นหลังจากวุฒิสมาชิกทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรีพับลิกันหรือเดโมแครต ได้รับคำเชิญเข้าทำเนียบขาว เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเรื่องนี้โดยเฉพาะ

 

(FILES) This file photo taken on April 7, 2017 shows US President Donald Trump (L) and Chinese President Xi Jinping (R) at the Mar-a-Lago estate in West Palm Beach, Florida.
US President Donald Trump said April 11, 2017 that the United States is ready to solve the North Korean “problem” without China if necessary.”North Korea is looking for trouble,” Trump wrote on Twitter. “If China decides to help, that would be great. If not, we will solve the problem without them! U.S.A.”
/ AFP PHOTO / JIM WATSON

วันสองวันถัดมา ทรัมป์ถึงต่อสายมาพูดคุยกับทั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ไทยและสิงคโปร์ ที่เล่นเอาหลายคนตกใจว่า เป็นการเตือนให้เตรียมตัวล่วงหน้าก่อนการโจมตีหรือเปล่า?

ที่สำคัญก็คือ ซีบีเอสรายงานในวันที่ 1 พฤษภาคมต่อมาว่า ไมก์ ปอมปิโอ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ของสหรัฐอเมริกา เดินทางมาโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้แบบเงียบๆ แหล่งข่าวของซีบีเอสยืนยันได้เพียงว่า มีกำหนดพบกับเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐและกองบัญชาการกองกำลังอเมริกันในเกาหลีใต้ แต่นัดหมายอื่นๆ ไม่อาจยืนยันได้

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน มีรายงานข่าวว่า เรือพิฆาตโอซูโมะ เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น ออกเดินทางจากท่าเรือโยโกซุกะ ทางใต้ของโตเกียว เพื่อทำหน้าที่ “คุ้มกัน” เรือส่งกำลังบำรุงของกองทัพอเมริกัน ที่มุ่งหน้าสู่น่านน้ำใกล้คาบสมุทรเกาหลี “คาดกันว่า” เรือส่งกำลังบำรุงดังกล่าวเดินทางไป “เติมเชื้อเพลิง” และส่งกำลังบำรุงให้กองเรือโจมตี คาร์ล วินสัน

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กองเรือโจมตีที่ว่านั้น จะปักหลักอยู่ในน่านน้ำใกล้เกาหลีเหนือ ไม่ไปไหนต่ออีกแล้ว

 

การพูดคุยกับผู้นำหลายๆ คนในย่านนี้ อาจมองได้ว่าเป็นความพยายามแสวงหาพันธมิตรเพื่อ “โหมกดดันทางการทูต” ต่อเกาหลีเหนือก็ได้ หรือจะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมเพื่อการโจมตี “ป้องปราม” ต่อเกาหลีเหนือ ก็ได้อีกเหมือนกัน

เอช.อาร์. แม็กมาสเตอร์ ที่ปรึกษาความมั่นคงของทรัมป์ บอกกับ “ฟอกซ์นิวส์” เหมือนๆ กันว่า “เรา (สหรัฐอเมริกา) จำเป็นต้องทำอะไรสักอย่าง” เพื่อยับยั้งเกาหลีเหนือ เมื่อถูกขอให้ขยายความให้เจาะจง อดีตนายพลอย่างแม็กมาสเตอร์ย้ำว่า มันอาจหมายถึงการเพิ่มแรงกดดันทางการทูตผ่านสหประชาชาติก็ได้ หรืออาจหมายถึงการเตรียมการให้พร้อมสำหรับ “ปฏิบัติการทางทหาร” ก็ได้อีกเหมือนกัน

เยนส์ เดวิด โอห์ลิน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศจากคอร์เนล ลอว์ สคูล เชื่อไปในทางที่ดีว่า สหรัฐอาจเพียงแค่พยายามดึงพันธมิตรเข้ามาร่วมเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนือให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เท่านั้น เพราะเป็นทางเลือกเดียวที่ทำได้ นั่นคือ ทำในนามของนานาชาติ ไม่ใช่แบบ “ข้าฯ มาคนเดียว”

แต่ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ทรัมป์จะบอกอะไรอีกบางอย่างนอกเหนือจากการเน้นความสัมพันธ์แนบแน่นยาวนานระหว่างกันและแสดงความกังวลต่อนิวเคลียร์เกาหลีเหนือกับ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว? อะไรบางอย่างที่เปิดเผยในตอนนี้ยังไม่ได้? คำตอบย่อมคือ “เป็นไปได้” อีกเช่นกัน

เอ…หรือว่าผมควรไปเป็นจิ้งจกบนโคมไฟตึกไทยคู่ฟ้าดีกว่าไหมนะ?!