เพ็ญสุภา สุขคตะ : Corrado Feroci นักมนุษยนิยมจากฟลอเรนซ์ สู่บิดาวงการศิลปะสมัยใหม่ของสยาม ในนาม “ศิลป์ พีระศรี”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ซึมซับศิลปะเรอเนซองส์
ณ ศูนย์กลางมหานครฟลอเรนซ์

สุภาพบุรุษอิตาเลียนผู้ที่ดิฉันกำลังจะกล่าวถึงนี้ เป็นชายหนุ่มที่มีใบหน้าโดดเด่น คิ้วดกหนา หน้าผาก-คางคมสัน แววตาเป็นมิตร ผมสีน้ำตาลเข้มเป็นลอนข้างขมับและท้ายทอย จมูกโด่งใหญ่ปลายหนาเล็กน้อย ริมฝีปากบางเฉียบเกือบตัดตรง เวลายิ้มส่อแววใจดีและเป็นกันเองกับทุกคนอยู่เสมอ

เขามีชื่อเดิมว่า Corrado Feroci อ่าน “คอร์ราโด เฟโรชิ” ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2435 ในมหานคร Firenze (ฟีเรนเซ่) หรือที่เรียกกันในโลกสากลว่า “ฟลอเรนซ์” เมืองแห่งศูนย์กลางศิลปสถาปัตยกรรมสมัยเรอเนซองส์ของประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นยุคทองของโลกศิลปะตะวันตก

ต่อมาบุรุษผู้นี้ คนไทยรู้จักกันภายใต้ชื่อ “ศิลป์ พีระศรี” ในฐานะผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นบิดาแห่งวงการศิลปะสมัยใหม่ในสยามผู้นำแนวคิดแบบ “มนุษยนิยม” มาสถาปนาในวงการศิลปกรรมไทย

ฟลอเรนซ์บ้านเกิดของอาจารย์ศิลป์ เป็นนครที่รุ่มรวยศิลปะ เป็นมาตุคามของศิลปินระดับโลก อาทิ นักเขียนอมตะอย่าง Dante (ดังเต้), Petrach (เปตร๊าช), Boccaccio (บ๊อกคาชโช)

ประติมากรระดับพระกาฬอย่าง Michelangelo (มิเคลันเจโล หรือที่คนไทยออกเสียงเป็นไมเคิลแองเจโล), Leonardo da Vinci (เลโอนาร์โด ดาวินชิ), Sandro Botticelli (ซานโดร บ๊อตติเชลลิ) ฯลฯ

หรือนักวิทยาศาสตร์ เช่น Galileo (กาลิเลโอ) และนักสำรวจ เช่น Amerigo Vespucci (อเมริโก เวสปุสชิ) ผู้ค้นพบทวีปอเมริกา

อาจารย์ศิลป์มักเล่าถึงบรรยากาศวัยเยาว์สมัยที่ท่านใช้ชีวิตในกรุงฟลอเรนซ์ ให้เหล่าลูกศิษย์ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่าท่านฝันอยากเป็น “ประติมากร”

ดังที่ “นิพนธ์ ขำวิไล” หรือ “พี่ได๋” ของน้องๆ หนึ่งในลูกศิษย์ก้นกุฏิได้บันทึกความทรงจำไว้ในคำนำของหนังสือเรื่อง “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์” (พิมพ์ครั้งแรกปี 2527 และพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2542 ครั้งหลังนี้พิมพ์ในนามสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งดิฉันดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการของสมาคม จึงทำหน้าที่ช่วยอ่านต้นฉบับร่วมกับพี่ได๋ด้วย) ว่า

“ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ไปวิ่งเล่นหน้าวิหาร Santa Maria del Fiore เขา (อาจารย์ศิลป์) จะเพ่งพินิจงานประติมากรรมนูนต่ำที่ประดับบนบานประตูทั้ง 3 ประตูของพระวิหารใหญ่ และบานประตูสีทองด้านหน้าของ Baptistery สถานที่เจิมน้ำมนต์ที่ตั้งอยู่ตรงข้าม อันเป็นฝีมือประติมากรของ Ghiberti เขามักจะบอกกับตัวเองเสมอว่า วันหนึ่งเขาจะใช้ทั้งสองมือของเขาสร้างประติมากรรมเช่นนี้ขึ้นมาบ้าง”

กับอีกหนึ่งแรงบันดาลใจวัยเยาว์ของอาจารย์ศิลป์ที่พี่ได๋บันทึกไว้ก็คือ

“รูปสลักหินอ่อน David ฝีมือ Michelangelo และประติมากรรมหลากหลายในพิพิธภัณฑ์ Bagello ก็ได้สร้างความประทับใจและความดื่มด่ำในรสของศิลปะไว้ในตัวเขาอย่างมากมาย”

บิดามารดาของ “คอร์ราโด เฟโรชิ” ทำอาชีพค้าขาย แต่ตัวคอร์ราโดกลับไม่รู้สึกไยดีในอาชีพของพ่อ-แม่ เขาดื่มด่ำซาบซึ้งในงานศิลปะชั้นเยี่ยมยอดของโลก ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่ากลางมหานครฟลอเรนซ์เท่านั้น คอร์ราโดจึงปฏิเสธครอบครัวที่ชักจูงให้เขาเอาดีทางค้าขาย

เขาหนีไปขลุกตัวช่วยงานเป็นลูกมือเรียนรู้การสร้างประติมากรรมให้กับประติมากรอาวุโสหลายท่านตามสตูดิโอต่างๆ ทั่วเมืองฟลอเรนซ์ ทุกยามเย็นเมื่อกลับจากโรงเรียน และทุกเสาร์-อาทิตย์ยามว่าง โดยไม่กลับบ้านพ่อ-แม่

เมื่อมีพื้นฐานผ่านการเป็นลูกมือศิลปินใหญ่มานับคนไม่ถ้วน ในไม่ช้าคอร์ราโดก็สามารถสอบเข้าศึกษาในสถาบันศิลปะแห่งกรุงฟลอเรนซ์ได้โดยง่าย ด้วยวัยเพียง 16 ปี และอีก 7 ปีหลังจากนั้น คอร์ราโดก็สามารถเรียกตัวเองว่า “ประติมากร” ได้อย่างเต็มปาก สนองความฝันวัยเยาว์อย่างเต็มภาคภูมิ

ศิลปะเรอเนซองส์แห่งนครฟลอเรนซ์ทิ้งมรดกอะไรไว้ให้แก่โลกนี้บ้างล่ะหรือ และสิ่งนั้นอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ส่งผ่านมันมาสู่สยามสำเร็จสมประสงค์ไหม?

 

Humanism ลัทธิมนุษยนิยม
ความสะเทือนใจในมนุษย์คือสิ่งสูงค่า

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้อธิบายไว้ว่า เพราะเหตุไร “ศิลปะยุคเรอเนซองส์” จึงได้ชื่อว่าเป็นศิลปะยุคทองของโลก เป็นศิลปะสกุลช่างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมี

เหตุเพราะศิลปะลัทธินี้มีแนวคิดแบบ “มนุษยนิยม” หรือ Humanity / Humanism มีแนวคิดที่เคารพยกย่องจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นใหญ่ เหนือกว่าเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจเหนือธรรมชาติที่มองไม่เห็น

ยุคก่อนนั้น งานศิลปะมีแต่ขึ้นเพื่อบวงสรวงเซ่นไหว้บัตรพลีถวายแด่เทพ เทพี พระแม่มารี พระเยซู จักรพรรดิ ผู้มีอำนาจ

ทว่าแนวคิดแบบมนุษยนิยม เปิดทางให้โลกได้รังสรรค์งานศิลปะที่คนเดินดินกินข้าวแกงมีโอกาสแจ้งเกิด มีโอกาสผงาดเคียงบ่าเคียงไหล่กับเทพเจ้า ด้วยความคิดที่ว่า ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดมีคุณค่ายิ่งไปกว่าความเป็นมนุษย์

สิ่งล้ำค่าที่แท้จริงในโลก หาใช่ปราสาทราชวัง ป้อมปราการอันโออ่า กองทัพนักรบอันเกรียงไกร หาใช่การบ่นพร่ำ แซ่ซ้องสรรเสริญพระเป็นเจ้าอย่างบ้าคลั่งไร้เหตุผล

หากแต่คุณค่าอันสูงสุดที่ได้เกิดมาคือ ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มนุษย์ที่มีเสรีภาพในการแสดงออก มีความเท่าเทียม มีพุทธิปัญญา ไม่ปล่อยให้ใครจูงจมูก มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีอิสระในการใช้ชีวิต และมีสิทธิ์ในการเดินทางค้าขาย หรือเลือกเมืองที่ต้องการตั้งหลักแหล่ง

นอกจากแนวคิดเรื่อง “มนุษยนิยม” ที่อาจารย์ศิลป์ได้ซึมซาบมาจากกลิ่นอายของศิลปะเรอเนซองส์กลางมหานครฟลอเรนซ์แบบเต็มๆ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่อาจารย์ศิลป์ตอกย้ำเสมอเวลาสอนลูกศิษย์คืออย่ามองข้าม “ความสะเทือนใจ”

หากปราศจาก “แรงสะเทือนใจ” แล้ว งานชิ้นใดๆ ก็ตาม ต่อให้สวยสดงดงามหยาดฟ้ามาดิน ก็แสนจะไร้ค่า เป็นแค่เพียงคนฉลาดเจ้าเล่ห์ที่รู้จักการเล่นแร่แปรธาตุ หยิบเล็กผสมน้อยจัดวางองค์ประกอบศิลป์ได้เก๋ไก๋ โปรดจำเอาไว้ว่า งานศิลปะที่สมบูรณ์จะขาดไม่ได้เลยซึ่งความสะเทือนใจ

เพราะความสะเทือนใจเป็นเส้นด้ายเส้นสุดท้ายที่ช่วยฉุดรั้งดึง “คุณธรรม และมนุษยธรรม” ของคนบอดใบ้บ้าปัญญาทึบ แหวะหัวอกให้เขาเข้าถึงหัวใจของเพื่อนมนุษย์ผู้ถูกกระทำ

งานศิลปะชิ้นใดดูแล้วแค่สวยๆ งามๆ ถือว่ายังสอบไม่ผ่าน หากไม่สามารถกระตุ้นต่อมความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงให้กลับคืนมาสู่โลกได้สำเร็จ

 

จมูกจอมอหังการ์ของ “ดาวิด”
รูปปั้นมนุษย์ต้องมีกระดูกข้างใน

ความหลงใหลในประติมากรรมลอยตัวรูป David หรือดาวิดพิชิตโกไลแอต ของอาจารย์ศิลป์ที่มีต่องานประติมากรรมหินอ่อนชิ้นเยี่ยมของมิเคลันเจโล ยังคงตกค้างผ่านเรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่น

อาจารย์ศิลป์ได้เล่าถ่ายทอดความทรงจำ “สิ่งละอันพันละน้อย” จากอิตาลีตั้งแต่สมัยที่ท่านเป็นนักเรียนศิลปะที่กรุงฟลอเรนซ์ ให้ลูกศิษย์ลูกหาที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ฟังอย่างสนุกสนาน แต่มีแง่คิด

ตอนที่ลอเรนโซ เดอเมดิชิ ตระกูลคหบดีผู้สนับสนุนศิลปิน คนที่จ้างให้มิเคลันเจโลสร้างประติมากรรมรูปดาวิดนั้น เข้ามาตรวจงานในสตูดิโอ เขาได้วิจารณ์ว่า งานดาวิดชิ้นนี้ทุกอย่างเยี่ยมหมด รูปร่างสง่าผ่าเผย แววตาทระนง ทรวดทรงองค์เอวสมบูรณ์แบบ เว้นเสียแต่ “จมูก” เพียงจุดเดียวเท่านั้นที่ค่อนข้างใหญ่เทอะทะไปสักหน่อย อยากขอให้มิเคลันเจโอช่วยตอกสกัดออกสักนิด

ความอหังการ์ของศิลปินนี่ไม่เข้าใครออกใคร มิเคลันเจโลเป็นคนอีโก้จัด เขาเป็นคนไม่ยอมคน ไม่เคยเปิดโอกาสให้ใครมาแตะต้องวิจารณ์ เขาเชื่อมั่นว่าทุกสัดส่วนที่เขาเสกสร้างนั้นล้วนแล้วแต่ลงตัว ไม่เคยผิดเพี้ยน แต่ด้วยความที่ไม่อยากต่อล้อต่อเถียงกับผู้กุมถุงเงิน ค่าจ้างของเขาอยู่ในอุ้งมือของลอเรนโซผู้อุปถัมภ์ศิลปิน

มิเคลันเจโลจึงแอบกำเศษฝุ่นหินอ่อนชิ้นเล็กๆ ใส่มือ ปีนนั่งร้านขึ้นไป แสร้งทำท่ายกสิ่วตอกจมูกของดาวิดพอเป็นพิธี พร้อมๆ กับโปรยเศษหินอ่อนในมือร่วงลงมา ให้ลอเรนโซเห็น ประหนึ่งว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงปลายจมูกของดาวิดแล้วตามคำแนะนำของลอเรนโซ ซึ่งแท้จริงแล้วเขาไม่ได้แตะต้องอะไรเลย

ปรากฏว่าลอเรนโซพยักหน้า กล่าวแก่มิเคลันเจโลว่า “งามกว่าเก่ามากเลย ขอบใจที่ท่านยอมแก้ไขในส่วนของจมูกจนเป็นที่พอใจแก่ข้าพเจ้ายิ่งนัก” ว่าแล้วลอเรนโซก็จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่มิเคลันเจโลโดยไม่ลังเล

เพียงแค่ลอเรนโซคล้อยหลัง มิเคลันเจโลก็ตะโกนกับตัวเองว่า

“ไอ้งั่งเอ๊ย! โลกนี้จะมีใครหน้าไหนอาจหาญมากำกับความงามในงานศิลปะที่ข้ากำหนดจนลงตัวไว้แล้วได้บ้างโว้ย!”

นี่คือมุขปาฐะที่เล่าสืบต่อๆ กันมา จากรุ่นสู่รุ่นในคณะจิตรกรรม มัณฑนศิลป์ และคณะโบราณคดี จนถึงรุ่นของดิฉัน ซึ่งถือว่าห่างไกลไม่ทันตอนที่อาจารย์ศิลป์เสียชีวิตด้วยซ้ำ (ท่านเสียชีวิตตอนดิฉันอายุได้ 2 ขวบเท่านั้น)

สมัยที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกกับอาจารย์สน สีมาตรัง และอาจารย์สุมน ศรีแสง ทั้งสองท่านต่างก็เล่าเรื่อง “จมูกจอมอหังการ์ของดาวิด” ช็อตนี้ตรงกัน

สาระที่แทรกอยู่ในเรื่องเล่า “จมูกของดาวิด” นั้น อันที่จริง อาจารย์ศิลป์ต้องการสื่อสารกับลูกศิษย์ว่า ศิลปินที่แท้ต้องกล้ายืนหยัดต่อกรต่อความถูกต้องของกายวิภาค (Anatomy)

ลองจินตนาการดูว่า หากมีการสกัดปลายจมูกของดาวิดออกจริงๆ ตามคำแนะนำของลอเรนโซ เพียงเพื่อให้นายจ้างพอใจเพราะเห็นแก่น้ำเงินนั้น ความเสียหายจะเกิดขึ้นมหาศาลเพียงใดเล่า

เมื่อดาวิดผู้รูปหล่อ ต้องแบกรับจมูกที่ผิดสัดส่วนนานกว่า 500 ปีเสมือนคนไม่มีกระดูกในโพรงจมูก อันเป็นสิ่งที่อาจารย์ศิลป์ย้ำกับลูกศิษย์สายประติมากรรมเสมอเวลาตรวจงานว่า

“นี่นาย! รูปปั้นมนุษย์ของนายเนี่ย ทำไมมันดูเหมือนไม่มีกระดูกอยู่ข้างในเอาเสียเลย”