“เต้นรำกับพระเจ้าด้วยความรัก” วิถีแห่งเพลงดนตรี เพื่อเข้าถึง “ลีลา” ของพระเจ้าในศาสนาฮินดู

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

สมัยก่อนอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ท่านเล่าให้ผมฟังว่า ในอินเดีย ที่มาของเพลงที่เขานิยมฟังกันออกมาจากสองแหล่งเท่านั้น

แหล่งแรกคือโรงภาพยนตร์ คนอินเดียชอบชมภาพยนตร์มากจนมีนักสร้างภาพยนตร์เก่งๆ และมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ

แต่เนื่องจากแต่ละเมืองในอินเดียมีภาษาต่างกัน แม้จะมีไวยากรณ์ใกล้ๆ กัน (ภาษาต่างๆ ในอินเดียต่างกันทั้งตัวเขียนและตัวภาษาพูด ผิดกับจีนที่ตัวเขียนเดียวกันแต่พูดคนละแบบ) ดนตรีจึงเข้ามามีบทบาทมากในภาพยนตร์ เพราะนอกจากจะเป็นธรรมเนียมเดิมจากวัฒนธรรมละครของเขา (คือมีการขับ เต้นรำและจับเรื่อง) ยังช่วยให้คนดูต่างภาษาสามารถเข้าถึงอารมณ์ของเรื่องราวในภาพยนตร์ผ่านบทเพลงได้ แม้จะฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็ตาม

จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมในภาพยนตร์อินเดีย เพลงและการเต้นถึงได้เยอะนัก

 

อีกแหล่งที่มาของเพลงดนตรีคือ “วัด” หรือเทวสถาน พูดง่ายๆ คือดนตรีศาสนานั่นเอง

ถ้าเราเข้าร้านขายเทปหรือซีดีในพาหุรัดก็จะเห็นว่า ในชั้นวางมีแต่เพลงศาสนากับเพลงจากหนังจริงๆ วงดนตรีดังๆ ที่ไม่ได้ร้องเพลงหนังหรือเพลงวัดนั้นมีน้อยกว่า และเพิ่งมานิยมกันทีหลัง

ดนตรีไม่ว่าจะบรรเลงหรือขับร้องมีบทบาทมากในศาสนา ก็เพราะมันมีที่มาจากศาสนานั่นแหละ คือเพลงขับร้องมันพัฒนามาจากการสวด (ซึ่งก็คือการร้องเพลงเสียงสูงๆ ต่ำๆ ไม่กี่เสียง) และต่อมาก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเสียงที่ซับซ้อนกว่าเดิม

ถ้าเราเห็นพัฒนาการของการสวดพระเวทในศาสนาฮินดู จะพบว่าจากคัมภีร์ฤคเวทที่เก่าสุดไปจนถึงสามเวท ระบบเสียงในการสวดมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือ การสวดฤคเวทมีเพียงเสียงสูง-ต่ำ ส่วนในยชุรเวทเริ่มมีเสียงพิเศษต่างๆ และเมื่อพัฒนามาถึงสามเวท ก็กลายเป็นระบบโน้ตเจ็ดตัวบริบูรณ์ เหมือนระบบดนตรีคลาสสิคของอินเดีย

 

ชาวฮินดูเชื่อว่าเสียงมีความสัมพันธ์กับจักรวาลและอารมณ์ความรู้สึกของคนเรา เพราะมันเป็น “คลื่น” ในความถี่ต่างๆ กัน เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของจักรวาล การสวดที่ถูกต้องย่อมมีผลต่อจิตใจอย่างแน่นอนจนอาจนำเราไปสู่สภาวะใหม่ๆ ของจิตได้

ระบบนี้เรียกว่า “นาทะโยคะ” (โยคะของเสียง) ซึ่งอธิบายว่า “นาทะ” (nada) ซึ่งแปลว่า “เสียง” จะปรากฏในสองแบบ อย่างแรกคือเสียงที่เราได้ยินด้วยหู เกิดจากความสั่นสะเทือนของวัตถุ (อาหตะ)

อย่างที่สองคือเสียงซึ่งเราไม่อาจได้ยินด้วยหู (อนาหตะ) เช่น ความสั่นสะเทือนภายในตัวเรา เสียงของฤดูกาล การขึ้น-ลงของพระอาทิตย์ หรือเสียงจักรวาล

มีเพียงผู้ฤษี มุนีผู้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุเท่านั้นที่อาจเข้าถึงเสียงที่เราไม่อาจได้ยินด้วยหูได้

รูปเคารพพระศิวนาฏราช ในมือหนึ่งถือกลองสองหน้า (ฑมรุ) หรือที่ไทยเรียกบัณเฑาะว์แกว่งไปมา ที่จริงคือสัญลักษณ์แทนเสียงที่เราไม่ได้ยิน หรือ “จังหวะ” ในจักรวาล

จักรวาลนี้หมุนวนไปอย่างมีจังหวะ ฤดูกาล การเกิด-ตาย พระอาทิตย์ขึ้น-ตก วิถีโคจรของดวงดาว ฯลฯ ทั้งหมดคือจังหวะที่พระเจ้า (อีศวร) สร้างขึ้น โดยแกว่งกลองสองด้าน แล้วพระองค์ก็นวยนาดนาฏลีลาในจังหวะของจักรวาลนั้น

ลีลาของพระเจ้าเป็น “มายาการ” ที่เราหลงคิดไปว่า สุขทุกข์และภาวะที่เราประสบเป็นความจริง ทั้งๆ ที่มันเป็นเพียง “ลีลา” ที่พระเจ้าใช้เป็นอาการสรรค์สร้างโลกนี้ขึ้น โลกภายนอกที่เราประสบและโลกภายในที่เราสร้างขึ้น

ทว่าพระองค์เป็น “มายากร” ที่เก่งกาจเสียจนกระทั่งพวกเราหลงคิดไปว่า ลีลาเหล่านั้นคือความจริง

ใครล่วงรู้ว่าทั้งหมดในชีวิตเราเป็นนาฏกรรมของพระเจ้า ผู้นั้นย่อมไปสู่ความหลุดพ้นได้แน่แท้

 

ที่สนุกคือฝ่ายไศวะของฮินดูเขาอธิบายอาการสร้างโลกของพระเจ้าด้วยการร่ายรำ ผิดกับศาสนาฝั่งเอกเทวนิยมอย่างยูดาห์ คริสต์ อิสลาม ที่อธิบายอาการสร้างโลกของพระเจ้าดุจนายช่างที่ต้องทำงานปั้นและเหนื่อยจนต้องพัก

ส่วนฝ่ายไวษณวะนิกาย หรือนิกายที่นับถือพระวิษณุ เมื่อกล่าวถึงลีลาของพระเจ้า เขามักกล่าวถึงลีลาอีกแบบหนึ่ง คือเป็นความรื่นรมย์ระหว่างจิตวิญญาณมนุษย์กับพระเจ้า ไม่ใช่อาการสร้างโลกดุจพระศิวะร่ายรำ เพราะโลกเกิดจากโยคนิทรา หรือมายาการที่เกิดจากการหลับใหลของพระเจ้า นิทราของพระวิษณุผู้บรรทมอยู่ในเกษียรสมุทร ชีวิตจึงเป็นดั่งความฝัน เป็นภาพลวงตา

กระนั้น ภายในภาพลวงตานี้ เราก็ไม่ควรที่จะเศร้าโศก ทว่าควรที่จะแสวงหาความหลุดพ้นด้วยความชื่นชมลีลาของพระเจ้าที่สำแดงผ่านพระอวตารต่างๆ

พระกฤษณะคือเจ้าแห่งลีลา ชีวิตของพระองค์เต็มไปด้วยสีสัน มีวัยเด็กที่สนุกสนานแวดล้อมด้วยนางโคปี หรือสาวๆ เลี้ยงโค

วันดีคืนดี พระองค์ก็ชวนสาวๆ เลี้ยงโคไปเต้นรำกันที่ป่าพฤณทาวัน พระองค์เป่าขลุ่ยเล้าโลมใจสาวๆ พวกนั้นภายใต้แสงจันทร์นวล แล้วชวนสาวๆ โคปีเต้นรำเป็นวงกลม ทว่าสาวๆ ก็พากันฉุดทึ้งแย่งพระกฤษณะมาเป็นคู่เต้นของตัว

พระกฤษณะจึงจำแลงกายแยกร่างเต้นกับสาวโคปีทุกคนอย่างสนุกสนาน การร่ายรำนี้เรียกว่า “รสลีลา” หรือลีลาแห่ง “รส”

รสหมายถึงสิ่งหรือสภาวะทางใจอันเกิดแต่อารมณ์ความรู้สึกภายใน เช่น รสรัก รสเศร้า หรือจะแปลว่า สิ่งอันเกิดขึ้นเมื่อเสพกามก็ได้ บางครั้งก็ใช้คำ “เสพรส” หรืออย่างบ้านเราใช้ สมรส คือมีรสเสมอกัน

การร่ายรำของคู่รักย่อมทำให้รสปรากฏขึ้น และคู่รักก็เพลิดเพลินในรสนั้น ไวษณวะนิกายที่นับถือพระกฤษณะ ถือว่าเป้าหมายของการหลุดพ้นมิใช่เรื่องของการตัดกิเลสตัณหาให้หมดสิ้น หรือสละโลกโดยไม่ไยดี

ทว่าความหลุดพ้นหรือโมกษะ คือการที่ดวงจิตวิญญาณได้อยู่ร่วมกับพระเจ้าและซาบซึ้งดื่มด่ำในความรักระหว่างพระเจ้าและจิตวิญญาณหรืออาตมันของเราชั่วนิรันดร

พระเจ้าคือพระกฤษณะ ส่วนบรรดาชีวาตมันหรืออาตมันของแต่ละดวงชีวิตก็คือนางโคปี นางโคปีปรารถนาจะเต้นรำกับพระกฤษณะฉันใด อาตมันของทุกชีพก็ปรารถนาจะเต้นรำกับพระเจ้าฉันนั้น

 

โมกษะหรือนิพพานคือการเต้นรำด้วยความรักอยู่ชั่วนิรันดร ฟังดูสุนทรีย์ดีนะครับ แต่นี้คือทัศนะของบางนิกาย มิใช่ทัศนะทั้งหมดของฮินดู

ทั้งนี้ ก่อนที่เราจะได้ร่วมเต้นรำชั่วนิรันดรใน “ไวกุณฑะ” “พฤณทาวัน” หรือ “โคโลก” ของพระเจ้า เราก็ต้องเพลิดเพลินดื่มด่ำกับบทเพลงสรรเสริญพระเจ้าในโลกนี้ก่อน ในฐานะเครื่องมือให้เราเข้าถึงสภาวะแห่งความรักภักดี

ยิ่งในกลียุคที่การปฏิบัติธรรมเสื่อมถอย คนมีผิวพรรณทรามและอายุสั้น เชื่อกันว่าไม่มีหนทางเพื่อเข้าถึงความหลุดพ้นใดจะดีไปกว่าการร้องเพลงสรรเสริญและสวดขับพระนามพระเจ้าด้วยความรักอีกแล้ว

เป็นวิธีที่แสนง่ายและเข้าถึงทุกชั้นชน ไม่ต้องอธิบายให้มากความ

ด้วยเหตุนี้ นับแต่ก่อนยุคกลาง วิถีแห่งบทเพลงและการร่ายรำได้กลายเป็นวัฒนธรรมหลักของศาสนาฮินดู ภายใต้นาม “สังกีรตัน” (sankritan) การสรรเสริญ (ด้วยบทเพลง) หรือ “นามสังกีรตัน” (การสรรเสริญพระนาม) และภชัน (การบูชา แต่คำนี้มักหมายถึงเพลงสวดขับ) แพร่ไปในทุกๆ นิกาย

กลายเป็นกิจกรรมทางศาสนาหลักที่สำคัญในวิถีชีวิตคนฮินดู

 

เสียดายที่วัฒนธรรมบทเพลงฮินดู เมื่อเกิดในเมืองไทยภายใต้ชื่อ “สวดโซฮา” กลายเป็นเรื่องความบันเทิงเริงใจและเรื่องหน้าตาของเจ้าภาพตำหนักต่างๆ มากกว่าอะไรอื่น

จึงมีเพียงรูปแบบที่ปรากฏ แต่พลาดเนื้อหาสาระ เพราะบ้านเราใช้ศาสนพิธีไปเน้นความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์

มากกว่าเพิ่มเติมมิติสุนทรียะ

และความละเอียดอ่อนของจิตใจ