พิษของ “รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

ยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง

ในที่สุด “รัฐธรรมนูญ” ที่ผู้มีอำนาจบอกว่า “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ก็เริ่มพ่นพิษ

เป็นพิษที่เกิดจากการเสพติดวาสนาของ “นักการเมืองที่ชะเง้อรอการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจ”

ประเด็นหนึ่งของรูปธรรม “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ที่ชัดเจนที่สุด คือ “วุฒิสภา”

ปกติของระบอบประชาธิปไตย อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาจะอยู่ในฐานะผู้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ “สภาผู้แทนราษฎร”

เป็น “สภาของผู้ทรงคุณวุฒิ” มีไว้เพื่อเสนอมุมมองให้สภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่อย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ

ส่วนใหญ่อำนาจจึงจำกัดอยู่ที่การตรวจสอบและเสนอแง่คิด ความรู้

หากจะมีอำนาจเพิ่มขึ้นย่อมขึ้นอยู่กับมีที่มาซึ่งยึดโยงกับประชาชนมากแค่ไหน

หากเป็นวุฒิสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ย่อมมีความชอบธรรมที่จะมีอำนาจเพิ่มขึ้น

ประเด็นที่โจมตี “วุฒิสภา” ของประเทศไทยที่ได้มาจาก “รัฐธรรมนูญดีไซน์เพื่อพวกเรา” คือ ทั้ง 250 คนล้วนแล้วมาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ

แม้จะมีบางส่วนที่อาศัยนิยามของคำว่า “สรรหา” แต่เป็นที่รับรู้กันว่าสรรหากันเอง แต่งตั้งกันเอง ว่ากันว่าเลอะเทอะถึงขนาดกรรมการสรรหาทำการสรรหาตัวเองให้เข้ามารับการแต่งตั้ง

ทั้งที่ผู้มีอำนาจเป็นผู้สวมหัวโขนให้ แต่อำนาจกลับล้นเหลือ ถึงขนาด “มีสิทธิเท่าเทียมกับ ส.ส.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี”

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อกระแสประชาชนกดดันรัฐสภาให้ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นแรกที่เรียกร้องให้จัดการคือ “วุฒิสภา”

โดยเฉพาะในเรื่องอำนาจ

ไม่เพียงกระแสประชาชนที่ยกระดับการชุมนุมให้เพิ่มพลังกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุดก็เป็นเช่นนั้น

เมื่อถามว่า “เห็นด้วยหรือไม่ว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแค่มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นให้ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่” ร้อยละ 69.27 เห็นด้วยมาก ร้อยละ 15.90 ค่อนข้างเห็นด้วย

มีแค่ร้อยละ 6.24 ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 7.22 ไม่เห็นด้วยเลย

เมื่อถามว่า “ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของประเทศไทย จำเป็นต้องมี ส.ว.หรือไม่” คำตอบน่าสนใจไม่น้อย ร้อยละ 38.27 จะตอบว่าจำเป็น แต่เป็นคำตอบในข้อแม้ที่ว่า การได้มาของ ส.ว.ต้องเป็นการเลือกตั้งจากประชาชนเท่านั้น ขณะที่ร้อยละ 31.66 ตอบว่าไม่จำเป็น ด้วยเหตุผลว่าไม่มีบทบาทที่ชัดเจน สิ้นเปลืองงบประมาณ และร้อยละ 30.07 ตอบว่ามีหรือไม่มีก็ได้

เป็นคำตอบที่ไม่มีที่ยืนให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง

เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่ผ่านโพล และตะโกนให้ได้ยินผ่านการชุมนุมเป็นไปในทางเดียวกัน

ทว่า “การเสพติดวาสนา” ของ ส.ว.จำนวนหนึ่ง ซึ่งดูท่าจะเป็นส่วนใหญ่ กำลังพ่นพิษให้เกิดความขัดแย้งกับเสียงของประชาชนดังกล่าว

ด้วยการเรียงหน้ากันออกมายืนกรานที่จะรักษาวาสนาที่ไม่ยึดโยงประชาชนนี้ไว้ให้ตัวเองได้เสวยอำนาจ ประกาศต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างถึงที่สุด

พิษของ “รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” กำลังถูกพ่นใส่เพื่อปิดทางออกของประเทศ

ถึงขณะที่ “ยุคสมัย” กำลังพิสูจน์ว่ามีพลังพอที่จะต้านพิษจากการเสพติดวาสนานั้นหรือไม่