บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/ส่องความคิดเยาวชนยุคนี้ ป.ตรีเงินเดือน 4-5 หมื่นถ้ามี ปชต.??

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ส่องความคิดเยาวชนยุคนี้

ป.ตรีเงินเดือน 4-5 หมื่นถ้ามี ปชต.??

 

ตั้งแต่เกิดม็อบเยาวชน-นักศึกษา ขับไล่รัฐบาล ทำให้ได้รู้ความคิดของเยาวชนที่ออกจะน่าทึ่ง เหลือเชื่ออยู่บ่อยครั้ง เช่น ถ้าประเทศไทยมีประชาธิปไตย คนจบปริญญาตรีจะได้รับเงินเดือนแรกเริ่มที่ 4-5 หมื่นบาท ไม่ว่าจะเรียนจบสาขาอะไรหรือจบจากที่ไหน ช่วงเรียนอยู่ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องการสอบ บ่ายสองครึ่งก็เลิกเรียน แล้วไปนั่งจิบสตาร์บัคส์ชิลๆ จบมาแล้วมีงานทำแน่ๆ และสัปดาห์หนึ่งก็อาจทำงานแค่ 4 วัน

ตอนแรกนึกว่าเด็กๆ โพสต์กันเล่นๆ ไม่ได้เชื่อเป็นจริงเป็นจัง

แต่พอเห็นหลายคนโพสต์ในลักษณะคล้ายๆ กัน ก็เลยถึงบางอ้อว่า พวกเขาเชื่อแบบนั้นจริงๆ คือคิดว่าถ้าวันนี้เลือกตั้ง แล้วประเทศมีประชาธิปไตยในวันรุ่งขึ้น คนจบปริญญาตรีจะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นที่ 4-5 หมื่นบาททันที

บางคนก็เชื่อว่าถ้ามีประชาธิปไตย จะสามารถซื้อบัตรคอนเสิร์ตนักร้องเกาหลี หรือเค-ป๊อปได้ในราคาถูกลง

 

ต้องยอมรับว่าพรรคการเมืองที่นำเรื่องนี้มาเป็นจุดขายโน้มน้าวนักศึกษา เยาวชนให้เห็นคล้อยตามว่าประชาธิปไตยดียังไงนั้น เป็น “นักการตลาดชั้นเซียน” และประสบความสำเร็จมากทีเดียว เหมาะกับกลุ่มเยาวชนและนักศึกษาที่ถือว่ายังไร้เดียงสาอยู่มากในโลกแห่งความเป็นจริง

นี่คือหนึ่งในกิมมิกทางการตลาดที่ถือว่า “โดนใจ” นักศึกษา เยาวชน เพราะมีการนำเอาประเด็นเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวมาโน้มน้าว พยายามกระตุ้นให้นักศึกษาหวาดวิตกว่า ถ้าไม่มีประชาธิปไตย เมื่อจบไปแล้วจะไม่มีงานทำ เป้าหมายก็เพื่อดึงเยาวชนออกมาเป็นพลังในการออกหน้าขับไล่รัฐบาลที่พวกเขาคิดว่าเป็นเผด็จการ

การที่เด็กๆ เหล่านี้หลงเชื่อ ก็สะท้อนว่าเด็กๆ ไม่มีความรู้ความเข้าใจกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจเสรี เรื่องสภาพการจ้างงาน เรื่องอุปสงค์อุปทาน เลยเชื่อเป็นตุเป็นตะว่า ได้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 4 หมื่นแน่ถ้าเพียงแค่มีประชาธิปไตย

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงของตลาดจ้างงาน มีโอกาสน้อยมากที่ผู้จบปริญญาตรีจะได้เงินเดือนเริ่มต้น 4-5 หมื่น ยกเว้นเสียแต่ว่าจะเป็นผู้ที่เรียนจบในสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากและขาดแคลนจนเกิดการแย่งตัว

หรือไม่ก็ต้องมีคุณสมบัติครบเครื่องหลายอย่าง เช่น นอกจากมีความรู้ในสาขางานนั้นแล้ว ยังพูดได้หลายภาษา (ยุคนี้อาจต้องพูดได้ 3 ภาษาขึ้นไป) ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์หลายอย่างได้คล่อง ยากที่จะหาใครเสมอเหมือน

ดังนั้น เงินเดือนปริญญาตรี 4-5 หมื่น จึงไม่ใช่เงินเดือนที่จะเกิดขึ้นกับทุกคนอย่างแพร่หลาย เงินเดือนระดับนี้จะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายก็ต่อเมื่อประเทศไทยก้าวจากประเทศระดับรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง หรือประเทศพัฒนาแล้วนั่นเอง

ซึ่งคงต้องใช้เวลาหลายปีมากกว่าไทยจะไปถึงจุดนั้น

 

แน่นอนว่าการมีประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ประเทศเจริญ แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่า แค่มีประชาธิปไตยอย่างเดียวจะพลิกทุกอย่างให้ดีขึ้น เพราะองค์ประกอบความเจริญ (อย่างน้อยก็ทางวัตถุ) ของแต่ละประเทศนั้น มีความซับซ้อนแตกต่างกัน มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง (นิสัยคน วินัย-คุณภาพของคน ฯลฯ)

เทียบให้เห็นกันง่ายๆ ระหว่างจีนซึ่งเป็นเผด็จการ กับอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่สุดในโลก ผู้นำมาจากการเลือกตั้งโดยตลอดมา แต่ทำไม ณ วันนี้จีนกลับมั่งคั่งกว่า พัฒนาเร็วกว่าอินเดีย มีอิทธิพลระดับโลกมากกว่า

พูดอย่างนี้ก็จะมีคนบูชาประชาธิปไตยไม่ลืมหูลืมตา เคืองเอาได้ว่าชอบยกจีนมาเป็นตัวอย่างเพื่อหาความชอบธรรมให้เผด็จการในประเทศไทย

ทั้งที่หากไม่ยึดติดในความเชื่อเดิมๆ มากเกินไป มองทุกอย่างตามภววิสัย ตามความเป็นจริง ไม่ใช่อัตวิสัย ก็ต้องยอมรับว่าจีนก็มีดี ไม่ใช่ว่าเป็นเผด็จการจะต้องย่ำแย่ไปเสียหมด ในทางกลับกัน แม้จะเป็นประชาธิปไตยก็ใช่ว่าจะดีเลิศเลอทุกกรณีไป

หรือดูอย่างข้างบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่เป็นประชาธิปไตย ระบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ก็ไม่ได้มีอะไรดีกว่าประเทศไทย ในแง่ของความเป็นอยู่และระดับการพัฒนา

 

ความเชื่ออย่างผิดๆ ที่นักการเมืองบางจำพวกป้อนให้กับเยาวชน นับว่าอันตรายเพราะเป็นการป้อนความจริงเพียงครึ่งเดียว ส่วนเยาวชนและนักศึกษาที่หลงเชื่อก็น่าห่วงตรงที่มันสะท้อนว่าพวกเขาไม่ได้ศึกษาหาความรู้อย่างเพียงพอ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อสิ่งนั้นๆ

เมื่อมีความเชื่อผิดๆ โลกแห่งความจริงถูกบิดเบือน เด็กก็อาจโกรธแค้นสังคม หากก้าวพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัยเข้าสู่ชีวิตการทำงานแล้วพบว่าทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างคาดหวัง เช่น บัตรเค-ป๊อป ก็ไม่ได้ถูกลงเลย เงินเดือนก็ได้แค่ 1.5 หมื่น ทั้งที่มีการเลือกตั้งแล้ว

บัตรเค-ป๊อป จะราคาเท่าไหร่ ขึ้นกับหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน เช่น เป็นวงที่ได้รับความนิยมมากหรือไม่ ถ้านิยมมาก ใครๆ ก็อยากแย่งกันซื้อตั๋ว ราคาก็จะแพงมาก เรียกว่าอำนาจอยู่ในมือผู้ขายตั๋ว และเนื่องจากเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลก็ไม่สามารถไปบังคับให้ขายราคาถูกได้

อีกประการหนึ่ง ถ้าประเทศไทยเงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 4-5 หมื่นบาทเป็นการทั่วไปเมื่อไหร่ ก็จงเตรียมตัวรับมือค่าครองชีพเท่ากับประเทศพัฒนาแล้ว เอาใกล้ๆ ก็เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งหมายถึงว่าราคาข้าวราดแกงขั้นต่ำในไทยอาจจะขยับไปอยู่ที่จานละ 180-200 บาท

 

สิ่งที่น่าห่วงอีกประการหนึ่ง ที่ผู้ใหญ่แย่ๆ บางคนป้อนใส่หัวเยาวชนก็คือการให้เด็กยุคนี้มีค่านิยมโทษคนอื่นทุกเรื่อง แต่ไม่โทษตนเองถ้าหากไม่ประสบความสำเร็จหรือสมหวังอะไรสักอย่าง

เช่น บอกว่าถ้าเงินเดือนไม่พอใช้ ต้องโทษรัฐบาลที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่เก่ง แต่อย่าโทษวินัยการใช้เงินของตัวเอง คนเงินเดือนแค่ 1.5 หมื่นบาท ไม่ผิดถ้าอยากได้ “ของมันต้องมี” ทุกอย่าง เช่น ไอโฟน รถยนต์ อยู่คอนโดฯ หรู

ถ้าเงินไม่พอใช้ เพราะเอาไปซื้อ “ของมันต้องมี” ทั้งหมด อย่าไปโทษว่าเป็นเพราะเราฟุ่มเฟือย ไม่ประมาณตน แต่ต้องโทษการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล

สดๆ ร้อนๆ ที่เห็นก็คือป้ายในม็อบของนักเรียน ที่ไปประท้วงหน้ากระทรวงศึกษาธิการเมื่อไม่นานมานี้ อย่างเช่น “ถ้าหนูเรียนไม่ไหว ไม่ใช่ความผิดของหนู แต่เป็นความผิดของครู” เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนว่าเด็กมีค่านิยมโทษคนอื่น

อนาคตหวั่นแต่ว่าหากเยาวชนรับเอาค่านิยมแบบนี้กันอย่างแพร่หลาย เราจะได้คนรุ่นใหม่ที่ไร้ความรับผิดชอบต่อตัวเองค่อนข้างแน่ และมองไม่เห็นทางที่เราจะได้สังคมที่ดีกว่าเดิม