โหมโรงแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อไทยร่วม ปิดสวิตช์ ส.ว. ก้าวไกลเผย เหตุโดนเท โยงกระแสนายกฯ คนนอก

เริ่มชัดเจนขึ้นสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้าน ส.ว.บางส่วน และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ต่างขยับและแสดงท่าทีความพร้อมร่วมขบวน

ประเด็นหลักที่ทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องแก้ไข หนีไม่พ้นถูกมองเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ คสช. โดยเฉพาะประเด็น ส.ว. 250 คนจากการสรรหาและมีอำนาจร่วมโหวตตั้งนายกรัฐมนตรี

รวมถึงประเด็นยุทธศาสตร์ชาติที่ฝังอยู่ในรัฐธรรมนูญ ควบคุมโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีอำนาจเหนือนโยบายรัฐบาล ทำให้เกิดลักษณะรัฐซ้อนรัฐ

ปัญหาระบบการเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือก ส.ส.สองระบบ บิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน รวมถึงสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่ออันสลับซับซ้อน และพิสดารอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ฯลฯ

ถึงกระนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่ง่าย เพราะในวาระ 3 ต้องอาศัยเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภา และที่สำคัญต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือไม่ต่ำกว่า 84 คน

แถมล่าสุด ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนที่ร่วมกับฝ่ายค้านพรรคก้าวไกล ลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ปมปิดสวิตช์ ส.ว. ตัดอำนาจโหวตเลือกนายกฯ โดนกดดันหนักจากรัฐบาลและพรรคต้นสังกัด

จนต้องถอนชื่อออกจากญัตติกันระนาว

 

จุดเริ่มต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรูปธรรมเมื่อเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติร่างแก้ไขต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม

หลังมีฉันทานุมัติว่า เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินงานต่างๆ ภายใต้รัฐธรรนูญฉบับนี้มีข้อบกพร่องมากมาย จึงเห็นว่าต้องแก้มาตรา 256 และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม การยื่นรอบนี้ไร้ชื่อพรรคก้าวไกลร่วมด้วย ท่ามกลางกระแสความร้าวลึกระหว่าง 2 พรรคแกนนำฝ่ายค้านที่มักมีปัญหากระทบกระทั่งเหมือนลิ้นกับฟันมาตลอด

สาเหตุเนื่องจากก้าวไกลต้องการยื่นแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว.ในคราวเดียวกัน

แต่เพื่อไทยต้องการเดินทีละก้าว ยื่นแก้ทีละสเต็ป หวังคลายล็อกแก้มาตรา 256 ก่อน

จากนั้น 1 กันยายน พลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เช่นกัน

โดยให้ ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 150 คน อีก 50 คนมาจากสมาชิกรัฐสภาคัดเลือก

เสนอแบ่งเป็นที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยคัดเลือก 20 คน นักวิชาการสายต่างๆ 20 คน และนักเรียน นิสิต นักศึกษาเลือกตัวแทน 10 คน

กำหนดระยะเวลายกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จใน 240 วัน

 

ทุกอย่างเดินหน้าต่อเนื่อง วันที่ 8 กันยายน ส.ส. 99 คน จาก 13 พรรค ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ยกเลิกการให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ

ประกอบด้วย ส.ส.พรรคก้าวไกล 54 คน ประชาชาติ 6 คน เพื่อชาติ 5 คน เสรีรวมไทย 10 คน พลังปวงชนไทย 1 คน รวม ส.ส.ฝ่ายค้าน 76 คน

ส่วน ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาล 23 คน แยกเป็น ส.ส.กลุ่มกบฏประชาธิปัตย์ 16 คน นำโดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง

พรรคอื่นๆ ได้แก่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย นายจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่เหลือเป็นกลุ่ม ส.ส.จากพรรคเล็ก

แต่แล้วเรื่องก็พลิกผันชั่วข้ามคืน เมื่อรัฐบาลและพรรคร่วมต่างออกมากดดัน ส.ส.ของตนเองที่ร่วมลงชื่อกับพรรคก้าวไกล

ทำให้มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนใจขอถอนตัวไปจำนวนไม่น้อย เบื้องต้นเป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์ 11 คน ส.ส.ชาติไทยพัฒนา และ ส.ส.พรรคเล็กอีก 2 คน

เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้มีรายชื่อ ส.ส.ไม่ถึง 1 ใน 5 หรือ 98 คน

ทำให้ญัตติดังกล่าวไม่สมบูรณ์และต้องตกไป

 

ในตอนแรกแม้การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว. จะไร้ชื่อพรรคเพื่อไทยเข้าร่วม

แต่เสียงเรียกร้องจากคนรุ่นใหม่ บวกกับ ส.ส.ก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนที่ลงชื่อยื่นแก้ไขไปแล้ว

ทำให้พรรคเพื่อไทยอยู่ในอาการกลัวตกขบวน หวั่นเสียงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่จะหายไป

จึงต้องรีบปรับเปลี่ยนท่าทีใหม่ โดยเมื่อวันที่ 8 กันยายน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่า เพื่อไทยมีมติเตรียมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมอีก 4 ญัตติ ประกอบด้วย

1. การยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 โดยพรรคเสนอเพิ่มเติมมาตรา 159 นอกจากเลือกนายกฯ จากบัญชีของพรรคการเมืองแล้ว สามารถเลือกจาก ส.ส.ได้ด้วย และเสนอร่างนี้เช่นเดียวกับร่างแก้ไขมาตรา 256 ไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการ

2. การยกเลิกอำนาจวุฒิสภา ตามมาตรา 270 เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และมาตรา 271 เกี่ยวกับการไม่เห็นชอบ หรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายเกี่ยวกับแก้ไขเพิ่มเติมโทษหรือองค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เฉพาะเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลให้ผู้กระทำความผิด พ้นจากความผิดหรือโทษที่เสนอโดยสภา

3. การยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช.อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ

4. การแก้ไขระบบเลือกตั้งด้วยการยกเลิกมาตรา 88, 83, 85, 90, 91 และ 94 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 คือใช้บัตร 2 ใบ (เลือกคนและเลือกพรรค)

พร้อมขอให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.ร่วมกันผลักดันและเสนอญัตติพิจารณาให้ความเห็นชอบ

แต่เนื่องจากพรรคเห็นว่า สภาซึ่งจะพิจารณาญัตติดังกล่าววันที่ 23-24 กันยายน ในวาระที่ 1 และเพื่อเร่งรัดให้เสร็จเร็วที่สุด พรรคจึงขอเชิญชวนพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว. ลงชื่อขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ โดยต้องการ 250 เสียง เนื่องจากจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 25 กันยายน และจะเปิดอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน

ด้านพรรคก้าวไกลมีความเห็นในเรื่องนี้ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค แถลงว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ขอถอนชื่อ เพราะมีแรงกดดันจากฝั่งรัฐบาลสูงมาก แต่หากพรรคเพื่อไทยยื่นแก้มาตรา 272 ได้ทันสมัยประชุมสภานี้ พรรคก้าวไกลพร้อมสนับสนุน และยินดีร่วมลงชื่อด้วยทั้งมาตรา 270 มาตรา 271 และมาตรา 279

“หลายวันที่ผ่านมาเริ่มมีการพูดคุยถึงเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ และการเสนอนายกฯ คนนอก หากยกเลิกมาตรา 272 ได้เร็วเท่าไหร่ จะเป็นการหยุดยั้งไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง หากมีความจำเป็นต้องเลือกนายกฯ คนใหม่ และเป็นการปิดทางไม่ให้เกิดนายกฯ คนนอก”

เลขาธิการพรรคก้าวไกลระบุ

 

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ ส.ว.เสียงแตกออกเป็น 3 กลุ่ม

1. กลุ่มสงวนท่าทีขอรอดูสถานการณ์ มีประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการทหาร ตำรวจ และอดีต สนช.

2. กลุ่มพร้อมสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีประมาณ 20-30 คน นำโดยนายวันชัย สอนศิริ และนายคำนูณ สิทธิสมาน

3. กลุ่ม ส.ว.อิสระ 60 คน ที่พร้อมสนับสนุนแก้ไขมาตรา 272 แต่มีเงื่อนไขต้องแก้เฉพาะรายมาตราเท่านั้น ไม่เห็นด้วยกับการมี ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างใหม่

แต่ทว่าการนัดประชุมแค่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 กันยายน ก็ล่มไม่เป็นท่า เมื่อถึงเวลานัดหมาย มีสมาชิกมาตามนัดแค่ 2 คน คือ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม และนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ

รายงานข่าวเผยว่า มี ส.ว.ในกลุ่ม 30 คนถอนตัวออกจากกลุ่มไลน์ ทำให้เหลือสมาชิกกลุ่มเพียง 30 คน

ความเห็นจาก ส.ว.กลุ่มปิดสวิตช์ตัวเอง นายวันชัย สอนศิริ ประกาศพร้อมสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกรูปแบบ ทั้งโมเดลตั้ง ส.ส.ร. หรือแก้ไขรายมาตรา เพราะสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ ส.ส.ทั้งหมดพร้อมใจกันเสนอให้แก้ไข ภาคประชาชนและนักศึกษาต่างเรียกร้อง

ถ้า ส.ว.ทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวาง นรกมาเยือนแน่

เช่นเดียวกับนายคำนูณ สิทธิสมาน เผยว่า มาตรา 272 เป็นหัวใจสำคัญร่วมกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี ยอมรับตรงนี้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยตามปกติ

รวมทั้งระบอบการเมืองที่วางไว้ 2 เป้าหมายคือ ความสงบสุขในบ้านเมือง และการปฏิรูปประเทศตามแผนงาน ช่วง 5 ปีแรกถือว่า 2 เป้าหมายไม่บรรลุผล จึงถือว่ารัฐบาลชุดนี้สอบไม่ผ่าน

และเห็นควรให้แก้มาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ

 

ทั้งหมดเป็นการโหมโรงเริ่มต้นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเครื่องมือสืบทอดอำนาจ คสช.

จากนี้ไปต้องจับตาท่าทีของบรรดา ส.ส. และ ส.ว. โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลและเครือข่ายว่ามีความจริงใจในการร่วมมือหาทางออกปลดล็อกให้ประเทศมากน้อยขนาดไหน หรือเพียงต้องการเล่นเกมเตะถ่วง

ซื้อเวลาอยู่ต่อในอำนาจให้ได้นานที่สุดเท่านั้น