ต่างประเทศ : ตั้ง “ทาด” ใครได้ ใครเสีย

South Korean activists hold a placard reading "Withdraw the decision on deployment of THAAD," during a rally against the plan on deployment of the US-built Terminal High Altitude Area Defense (THAAD) near the US embassy in Seoul on July 11, 2016. North Korea on July 11 threatened to take "physical action" to counter a sophisticated US anti-missile system planned to be deployed in the South as Seoul vowed to select the best possible venue for its deployment. / AFP PHOTO / JUNG YEON-JE

เป็นความตกลงใจร่วมกันตั้งแต่กลางปีที่แล้วของเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา ในการจะนำระบบป้องกันขีปนาวุธในบรรยากาศชั้นสูง หรือ “ทาด” ของสหรัฐ เข้ามาติดตั้งในดินแดนเกาหลีใต้ หลังเห็นสัญญาณคุกคามจากเกาหลีเหนือมาอย่างต่อเนื่องถี่ขึ้น และในปีที่แล้วเกาหลีเหนือยังท้าทายโลกด้วยการทดสอบนิวเคลียร์อีกถึง 2 ครั้ง ไม่นับรวมการยิงทดสอบจรวดและขีปนาวุธชนิดต่างๆ ที่ก็มีทั้งสำเร็จและล้มเหลวไม่เป็นท่า

ความตกลงครั้งนั้นทำให้ชิ้นส่วนระบบทาดชุดแรกถูกขนมาถึงเกาหลีใต้เมื่อเดือนมีนาคม และอีกล็อตใหญ่เดินทางมาถึงเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยถูกขนมาไว้ที่สนามกอล์ฟร้างในเมืองซองจู ห่างจากกรุงโซลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 217 กิโลเมตร อันเป็นสถานที่ติดตั้งระบบทาด

ซึ่งก็ถูกต้อนรับด้วยม็อบประท้วงของชาวบ้านในพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้โล่ป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐเข้ามาตั้งอยู่ที่นี่ เพราะหวั่นกลัวว่าจะก่อผลลัพธ์เลวร้ายให้พวกเขาตกเป็นเป้านิ่งของการถูกโจมตีเสียมากกว่าจะมาช่วยปกป้องคุ้มครองพวกเขาให้พ้นจากขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

กระแสต่อต้านของชาวบ้านในพื้นที่เป็นอีกประเด็นร้อนที่มีการโต้เถียงรุนแรงในเกาหลีใต้

แต่หากมองในแง่ขีดความสามารถของระบบป้องกันขีปนาวุธชนิดนี้ของสหรัฐ ก็จัดว่ามีประสิทธิภาพอยู่ในระดับสูงที่จะช่วยปกป้องภัยคุกคามด้านอาวุธจากเกาหลีเหนือได้

โดยระบบทาดถูกออกแบบมาให้เป็นอาวุธ “โจมตีพิฆาต” ขีปนาวุธพิสัยใกล้ พิสัยกลาง และขีปนาวุธพิสัยปานกลางนำวิถีของฝ่ายตรงข้ามที่ถูกยิงมาถึงในระยะสุดท้ายได้อย่างแม่นยำ

ตามกำหนดเดิมระบบทาดที่ติดตั้งในเมืองซองจูของเกาหลีใต้จะใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้

ซึ่งจะประกอบด้วย 6 ฐานยิงที่ติดตั้งอยู่บนรถบรรทุกซึ่งจะสามารถยิงขีปนาวุธสกัดทำลายขีปนาวุธของฝ่ายตรงข้ามที่ยิงเข้ามาและตรวจจับได้ด้วยระบบเรดาร์มากถึง 48 ลูกในคราวเดียวกัน

 

มีประเด็นคำถามหนึ่งเกิดขึ้นว่า ใครที่เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์อย่างไรจากการนำระบบทาดเข้ามาติดตั้งในภูมิภาค

เกาหลีใต้ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ จริงหรือกับการนำระบบทาดของสหรัฐเข้ามาช่วยปกป้อง หรือก็เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐเองไปพร้อมกับการได้เกื้อกูลชาติพันธมิตรของตนเองให้ได้รับอานิสงส์เป็นบุญเป็นคุณกันไป

แน่นอนว่าหากระบบทาดของสหรัฐทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลแม่นยำจริงในการเป็นโล่ป้องกันภัยโจมตีจากอาวุธร้ายแรงของเกาหลีเหนือ ก็ย่อมเป็นผลดีกับเกาหลีใต้

แต่ก็มีข้อมูลที่มีการวิเคราะห์กันออกมาในอีกทางว่า ทาดน่าจะเป็นผลดีกับสหรัฐและญี่ปุ่นมากกว่าเกาหลีใต้

เนื่องจากทั้งสหรัฐและญี่ปุ่นต่างมีความหวั่นวิตกอย่างมากต่อการพัฒนาโครงการอาวุธของเกาหลีเหนือที่อวดโอ่ว่ามีขีดความสามารถไปถึงระดับที่พัฒนาขีปนาวุธนำวิถีโจมตีข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ซึ่งทำลายล้างได้ถึงดินแดนสหรัฐแล้ว แม้ว่าคำอวดโอ้ของเกาหลีเหนือจะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ก็ตาม

ตรงกันข้ามกับเกาหลีใต้ที่ไม่ได้แค่ห่วงวิตกต่อการครอบครองอาวุธประสิทธิภาพสูงอย่างนิวเคลียร์หรือขีปนาวุธยิงโจมตีข้ามทวีปที่ยังอาจติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ของเกาหลีเหนือเท่านั้น

แต่สิ่งที่เกาหลีใต้เป็นกังวลอยู่มากด้วยคือการอาจถูกถล่มเมืองหลวงด้วยปืนใหญ่ธรรมดารุ่นเก่าของเกาหลีเหนือที่ยังตั้งเป็นแนวประจันหน้าอยู่ใกล้กับเขตปลอดทหารที่กั้นระหว่างสองเกาหลีอยู่

ซึ่งหากเกาหลีเหนือใช้ยิงโจมตีขึ้นมา ก็จะสามารถสร้างความพินาศย่อยยับให้ได้ในระดับเดียวกับฤทธิ์ทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์

 

ขณะที่การยินยอมให้ทาดเข้ามาติดตั้งในดินแดนตนเองยังเสี่ยงที่จะฉุดลากบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับจีนให้เสื่อมถอยลงไป อย่างที่ได้เห็นกันว่าจีนออกโรงต่อต้านอย่างแข็งกร้าวในทันทีเมื่อเห็นวี่แววว่าเกาหลีใต้จะเปิดทางให้นำระบบทาดของสหรัฐเข้ามา ความหวั่นกลัวของเกาหลีใต้ว่าจะมีปัญหากับจีน ที่ถือเป็นชาติคู่ค้าสำคัญที่สุด ก็มีพอกับที่เกาหลีใต้หวั่นกลัวการรุกรานจากเกาหลีเหนือเช่นกัน

ในมุมมองของ แองเจโล โคดวิลลา อดีตสมาชิกคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภาของสหรัฐ ที่มีต่อการค้านหัวชนฝาของจีนในการติดตั้งระบบทาดในภูมิภาคนี้ เขามองว่าจีนไม่ได้เดือดร้อนหรือหวั่นกลัวอะไรสักเท่าไหร่กับการยั่วยุท้าทายของเกาหลีเหนือ

แต่สิ่งที่จีนต่อต้านอย่างกราดเกรี้ยวเพราะมองว่าระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐ เป็นภัยคุกคามผลประโยชน์และความมั่นคงของจีน

โดยเฉพาะคุกคามต่อระบบขีปนาวุธของจีนให้ถูกตรวจจับและทำลายได้

คำแถลงของ เกิ้ง ซ่วง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน เมื่อไม่กี่วันก่อนที่ระบุว่าจีนคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อการเคลื่อนระบบทาดเข้ามา

ซึ่งจีนจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของตนเอง

พร้อมชี้ว่าการกระทำดังกล่าวทำให้ “ดุลยภาพทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเสียไป และมีแต่จะยิ่งทำให้สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดมากยิ่งขึ้น” เป็นท่าทีคัดค้านที่ชัดเจนและหนักแน่นยิ่งของจีน

 

ในส่วนของญี่ปุ่นแน่นอนว่าไม่เพียงได้รับอานิสงส์จากระบบทาด

หากแต่ยังไม่ต้องร่วมรับผิดชอบหาพื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวกและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เหมือนที่ประเด็นร้อนในเกาหลีใต้เมื่อไม่กี่วันก่อนหลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาบอกว่าเกาหลีใต้ควรจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบทาดที่มีมูลค่าราว 1 พันล้านดอลลาร์เอง

ทำเอาทีมงานฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐต้องรีบเคลียร์กับฝ่ายเกาหลีใต้ ยืนยันตามข้อตกลงเดิมที่ทำกันไว้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนี้เอง

ส่วนเกาหลีใต้ก็รับผิดชอบเรื่องสถานที่และการสนับสนุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกไป

ในส่วนของสหรัฐ ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ถ้าไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผลประโยชน์ร่วม ก็คงจะไม่ออกหน้ามาให้เปลืองตัว

ไม่ใช่เพราะแค่เป็นชาติมหาอำนาจโลก แต่เดิมพันและความเสี่ยงภัยของสหรัฐในภูมิภาคนี้ก็มีอยู่สูง มิพักต้องพูดถึงภัยคุกคามโดยตรงจากขีปนาวุธไอซีบีเอ็มที่เกาหลีเหนืองัดขึ้นมาขู่

เรื่องนี้ใครออกโรงแสดงท่าทีมากน้อยแค่ไหน ก็เอามาวัดได้

ที่น่าจับตากันต่อคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในวันที่ 9 พฤษภาคมที่จะถึง ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร จะเป็นจุดเปลี่ยน จุดพลิก ที่อาจทำให้ “ทาด” อันตรธานไปจากเกาหลีใต้หรือไม่ ต้องรอดู