หนุ่มเมืองจันท์ | “ยิ่งใหญ่” ที่แท้จริง

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

หลายสัปดาห์ก่อนมีโทรศัพท์เข้ามาตอนเช้า

ผมยังนอนเล่นอยู่บนเตียง

ลุกขึ้นมารับสายด้วยอารมณ์หงุดหงิดนิดหน่อย

แต่พอเห็นชื่อคนโทร.เข้ามาแทบจะยกมือไหว้เลย

อาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร ครับ

ตอนผมเรียนที่ธรรมศาสตร์ อาจารย์นรนิติเป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา

ตำแหน่งเดียวกับอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตร วันนี้

คนทำกิจกรรมนักศึกษาในยุคนั้นต้องคุ้นเคยกับอาจารย์นรนิติเป็นอย่างดี

เคารพนับถือกันมานานจนถึงวันนี้

“ตุ้ม ตื่นนอนหรือยัง” อาจารย์ทักก่อน

คิดว่าผมจะตอบอย่างไรครับ

“ตื่นนานแล้วครับ อาจารย์” ทำเสียงสดชื่นมาก

นึกไม่ออกว่าอาจารย์จะโทรศัพท์มาเรื่องอะไร

“ที่โทรมา.จะชมที่กล้าทวนกระแส”

อาจารย์ไม่ระบุว่าเรื่องอะไร

ผมก็ทายว่าน่าจะเป็นพอดคาสต์รายการ The Power Game ที่เป็นเรื่องการเมือง

เพราะช่วงนั้นม็อบนักศึกษาเริ่มจุดติดและมีการพูดถึง 10 ข้อเรียกร้องที่ธรรมศาสตร์ รังสิต

“ขอบคุณครับอาจารย์”

“อาจารย์เพิ่งอ่านบทความในไลน์ พอดูชื่อคนเขียน อ้าว เป็นเรานี่นา”

คราวนี้เริ่มงงแล้ว ถ้าเป็นข้อเขียนก็คงไม่ใช่เรื่องการเมือง

“เรื่องอะไรครับ” สุดท้ายก็ต้องถาม

รู้ไหมครับว่าเรื่องอะไร

เป็นบทความเรื่องคุณเฉลียว อยู่วิทยา ที่ผมเขียนใน “ประชาชาติธุรกิจ”

มีคนเอาไปส่งต่อทางไลน์เยอะมาก

ตอนนั้นกระแสโจมตี “อยู่วิทยา” แรงมากจากเรื่องการสั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา”

ผมเขียนเรื่อง “ความดี” ของคุณเฉลียวที่เคยอ่านและได้ยินมา

เพราะน่าเสียดายที่นามสกุล “อยู่วิทยา” จะแปดเปื้อนจากเรื่อง “บอส อยู่วิทยา”

คนอื่นๆ ในตระกูลไม่เกี่ยว

อาจารย์นรนิติคงรู้จักคุณเฉลียวเป็นการส่วนตัว และคงรู้สึกคล้ายๆ กับผม

“ขอบคุณมากครับ อาจารย์”

“ธรรมศาสตร์ต้องแบบนี้ เราต้องมีหลัก บางครั้งก็ต้องทวนกระแสบ้าง”

เป็นประโยคปิดการสนทนาของอาจารย์นรนิติก่อนที่จะวางสาย

วันนั้น แทบไม่ต้องกินข้าวเช้าเลย

ผมไม่ใช่คนบ้าสถาบันการศึกษา

แบบเรียนที่ไหนที่นั่นต้องดีที่สุด

แต่ผมรัก “ธรรมศาสตร์” เพราะ “ธรรมศาสตร์” สอนอะไรผมมากมาย

โดยเฉพาะการทำกิจกรรมนักศึกษา

มันเป็นยิ่งกว่า “มหาวิทยาลัย”

แต่ไม่ใช่คนใน “ธรรมศาสตร์” จะคิดเหมือนกันทุกคน

บางช่วงเวลาผมก็รับไม่ได้กับบทบาททางการเมืองของผู้บริหารหรือศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย

แต่ที่นี่สอนให้เราเคารพความเห็นต่าง

บรรยากาศการถกเถียงในธรรมศาสตร์เป็นเรื่องปกติธรรมดา

ไม่ใช่เฉพาะกับนักศึกษาด้วยกัน

แม้แต่กับ “อาจารย์” เราก็เถียง

และ “อาจารย์” ก็คุ้นเคยกับบรรยากาศนี้

ผมกับอาจารย์นรนิติก็เถียงกันตลอด

อาจารย์ไม่ให้ทำ

เราก็จะทำ

การไฮด์ปาร์กต่อว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องธรรมดามาก

บางเรื่องจนถึงวันนี้ ผมก็ยืนยันว่าสิ่งที่คิดและทำถูกต้อง

แต่บางเรื่องก็ขำตัวเอง

ทำไปได้อย่างไรวะ

อาจารย์นรนิติคงเบื่อและอยากเขกกะโหลกเราเหมือนกัน

เพราะเขาผ่านนักศึกษามาไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น

มันก็ซ้ำรอยเดิมทุกรุ่น

แต่คงเข้าใจว่าวัยนี้ถ้าไม่เฮี้ยว ไม่กล้ากบฏ

…ก็เสีย “วัย”

ตอนสมัยที่ผมเรียนที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

พื้นที่แคบมาก

ตอนนั้นมีอยู่ 8 คณะ

เวลาองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ อมธ.เรียกประชุม 8 คณะ

เราใช้วิธีการเดินตามทุกคณะ

ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาทีก็ครบ

มีเรื่องเล่าสนุกๆ ว่า ที่ธรรมศาสตร์เราให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมสูงมาก

เพื่อนทำกิจกรรมที่ขับรถมาเรียน ต้องหาที่จอดรถแถวบางลำพู แล้วต่อรถเมล์มาธรรมศาสตร์

ที่บ้านขายทอง แม่ให้ใส่สร้อยทองก็ต้องถอดเก็บ

ไม่งั้นเจอเพื่อนอำเละ

ที่นี่ห้ามรวย

พื้นที่ในธรรมศาสตร์ก็มีอยู่นิดเดียว เวลาพักเที่ยง นักศึกษาจะเฮละโลไปท่าพระจันทร์

เดินบนฟุตปาธไม่พอ

ต้องล้นไปตามถนน

รถที่วิ่งมาช้าๆ ต้องเบรกเป็นระยะๆ

คันไหนบีบแตร จะถูกนักศึกษาที่เดินหันมามองแบบงงๆ

ที่นี่ “คนเดินดิน” ต้องใหญ่กว่า “รถ”

…ให้รู้ซะบ้าง

ที่”สวนป๋วย” ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต มีอนุสาวรีย์อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และอาจารย์ปรีดี พนมยงค์

อาจารย์ปรีดี คือ ผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน

อาจารย์ป๋วย คือ อดีตอธิการบดีที่คนธรรมศาสตร์ให้ความเคารพมาก

ท่านเป็นอธิการบดีสมัย 6 ตุลาคม 2519

แต่โดนกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

ทั้ง 2 ท่านเป็น “เสรีไทย” ที่กอบกู้ประเทศไทยให้พ้นจากการพ่ายแพ้สงคราม

ไม่ต้องเป็นอาณานิคมของใคร

แต่สุดท้ายก็ต้องไปอยู่ต่างประเทศจนเสียชีวิต

ไม่ใช่เรื่องเศร้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น

แต่ยังเป็นเรื่องเศร้าอย่างยิ่งของสังคมไทย

อนุสาวรีย์ของ 2 ท่านใน “สวนป๋วย” เขานำมาจากภาพของอาจารย์ปรีดีและอาจารย์ป๋วยที่ถ่ายคู่กัน

เป็นภาพการนั่งคุยกันแบบสบายๆ บนเก้าอี้ยาวตัวหนึ่งในสนาม

อนุสาวรีย์ของผู้ยิ่งใหญ่ที่ไหน ส่วนใหญ่จะต้องใหญ่โต สูงเด่น

แต่ของอาจารย์ปรีดีและอาจารย์ป๋วย เป็นหุ่นปั้นเท่ากับตัวจริงนั่งอยู่บนเก้าอี้ตั้งอยู่ในสนามหญ้า

ปะปนกับผู้คนที่เข้ามาในสวนแห่งนี้

และยังมีพื้นที่ว่างตรงกลางเก้าอี้ให้คนไปนั่งถ่ายรูปด้วย

…แบบเสมอภาคกัน

สำหรับผม นี่คือคำอธิบายความเป็น “ธรรมศาสตร์” ที่ดีที่สุด

ทุกคนเท่าเทียมกัน

ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่อยู่สูงกว่า

แต่ความยิ่งใหญ่แท้จริง คือ ความธรรมดาสามัญ

แต่สามารถอยู่ในใจคนได้ยาวนานตราบนานเท่านาน