เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | พุทธภูมิมณฑล

ไปเมืองสุราษฎร์กับนครศรีธรรมราชระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคมที่ผ่านมา

จุดประสงค์คือ เยี่ยมเยียนวัดวาอารามสำคัญสองแห่ง คือวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ที่สุราษฎร์ธานี กับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่นครศรีธรรมราช

พระบรมธาตุกับพระมหาธาตุนั้นเป็นโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ทั้งด้วยอายุและตำนานเรื่องราว

พระบรมธาตุไชยานั้นว่าสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.1300 สมัยอาณาจักรศรีวิชัย

พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราชก็ว่าสร้างมาสองยุคสมัย คือเริ่มแต่ พ.ศ.854 และเมื่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสร้างเมืองนครศรีจึงสร้างพระมหาธาตุขึ้นเป็นองค์ปฐมธาตุดังบูรณะปรากฏอยู่วันนี้ ซึ่งเริ่มเมื่อปี พ.ศ.1719 หลังอาณาจักรศรีวิชัยนั้น

สองสถูปสถานศักดิ์สิทธิ์นี้มีเรื่องเล่าที่เป็นดั่งตำนานของบ้านเมืองและแผ่นดินถิ่นสุวรรณภูมิและสุวรรณทวีป น่าศึกษานัก

โดยเฉพาะ “หลักคิด” และ “ระบบความเชื่อ”

อันมีแม่แบบต้นฉบับคือ พระพุทธศาสนาจากชมพูทวีป หรือประเทศอินเดีย

จุดประสงค์สำคัญของคณะเราครั้งนี้คือ ตามโครงการจัดสร้าง “พุทธมณฑล” สี่ภาคในไทย ดังมีพุทธมณฑลที่ศาลายานครปฐมเป็นศูนย์กลาง ตามเจตนารมณ์จะให้เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาในโลก

ตรงนี้ยังไม่ยุติ

ด้วยบ้างยังมุ่งเน้นสถานที่คือ “มณฑล” เป็นสำคัญ บ้างมุ่งเน้นเนื้อหาคือ “พุทธะ” เป็นสำคัญ

เพราะ “พุทธมณฑล” หมายถึง สถานหรือแหล่งอันเป็นศูนย์รวมของความรู้ในพุทธศาสนา

หรือ “พุทธมณฑล” หมายถึง อาณาจักรแห่ง “พุทธภูมิ”

สรุปคือ เป็นโครงการที่ประสงค์ให้มีประจำในทุกภาคของประเทศไทย

โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว วัดทุกวัดนี่แหละสมควรเป็น “พุทธมณฑล” โดยเนื้อหาและเป้าหมายของความเป็นวัดวาอารามทั้งหมด

ด้วยเวลานี้แทบทุกวัดกำลังพัฒนาเป็น “พุทธพาณิชย์” ซึ่งตรงข้ามกับความเป็น “พุทธภูมิ” โดยสิ้นเชิง

ถ้าไม่ตระหนักในจุดนี้ “พุทธมณฑล” ก็จะกลายเป็น “มณฑลแห่งพุทธพาณิชย์” หนักข้อขึ้น

พระบรมธาตุไชยานั้นมีสวนโมกขพลารามของท่านอาจารย์พุทธทาสเป็น “ปฐมภูมิมณฑลแห่งพุทธะ” อยู่เป็นพื้นฐานที่หนักแน่น คือมุ่งเน้น “พุทธภูมิ” อันเป็น “หัวใจ” ของพุทธศาสนา มากกว่าจะเน้น “พุทธพาณิชย์”

ได้ไปเยี่ยมเยียนทั้งพระบรมธาตุไชยาและสวนโมกขพลารามทั้งสองแห่ง ดีใจที่ยังคงความสงบงามตามธรรมชาติ สมคำที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ถอดรหัสธรรมเป็นคติชีวิตที่ว่า

“สงบเย็น-เป็นประโยชน์”

ขยายความว่า อย่าเอาแต่สงบเย็นแต่ไม่เป็นประโยชน์ และอย่าเอาแต่เป็นประโยชน์โดยไม่สงบเย็น

พระมหาธาตุนครศรีธรรมราชกำลังอยู่ในขั้นตอนขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งไม่น่ามีปัญหา แต่คงต้องรอการจัดทำรายละเอียดตามกระบวนการเป็นลำดับไป

องค์พระมหาธาตุเจดีย์ทรงลังกานี้สำคัญยิ่ง ด้วยนอกจากเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์ยุคต้นในแผ่นดินไทยแล้ว ความหมายแห่งเจดีย์ทรงลังกาก็อาจถอดรหัสธรรมได้ดังนี้คือ

ฐานบาท กว้างติดดิน คือสัญลักษณ์ของ “ภูมิแผ่นดิน”

องค์ระฆัง คือสัญลักษณ์แห่ง “ภูมิธรรม” มหาศาล

บัลลังก์ สี่ทิศ คือสัญลักษณ์ “ภูมิรู้” สี่คือ สั่งสม-ศึกษา-สืบสาน-สร้างสรรค์

ปล้องไฉน คือสัญลักษณ์ของ “ภูมิปัญญา” ที่กลั่นกรองทุกภูมิอันประมวลมา

ปลี คือสัญลักษณ์ของ “ภูมิภิเศก” อันประมวลมาเป็นหนึ่ง ชี้ตรงสู่

เม็ดน้ำค้าง หรือลูกแก้วส่วนยอดสุดนี่แหละคือ “พุทธภูมิ” สูงสุด ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา

ขออนุโมทนาบุญแด่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

ผีพราหมณ์พุทธ

เราเชื่อผีจึงรับนับถือผี

มีผีดีผีร้ายผีหลายเหล่า

ทั้งผีสางคางแดงผีแฝงเงา

พร้อมผีเรือนผีเหย้าเฝ้าอารักษ์

ผีดงผีหมื่นถ้ำล้ำหมื่นผา

ผีปู่ย่าตายายได้ปกปัก

ทั้งผีดินผีฟ้าสามิภักดิ์

ผีรู้จักไม่รู้จักอีกมากมาย

ครั้นพราหมณ์เข้าเป่าสังข์ประดังศัพท์

จัดลำดับชั้นผีมีความหมาย

มีนรกมีสวรรค์พรรณราย

อธิบายให้เห็นเป็นตัวตน

เทวดานางฟ้าสารพัน

ฝูงคนธรรพ์วิทยานารีผล

ใครทำดีก็จะดั้นวิมานบน

ใครทำชั่วก็จะด้นอเวจี

เราเชื่อผีจึงรับนับถือพราหมณ์

เพราะนิยามความหมายให้กับผี

ผีกับพราหมณ์สัมพันธ์เป็นอันดี

เพิ่มน้ำหนักไปที่มีอัตตา

สงสารพุทธดุจดังพระสังข์น้อย

อาศัยหอยสังข์พราหมณ์เที่ยวตามหา

สาธุชนคนที่มีปัญญา

ต่อยเปลือกหอยเห็นค่าพระสัจธรรม

ผีกับพราหมณ์ดำรงคงความเชื่อ

เป็นเปลือกรักษาเนื้ออยู่นานฉนำ

คนเห็นเปลือกติดเปลือกแบกเปลือกนำ

ไม่เห็นเนื้อเห็นน้ำที่ภายใน

นับถือพุทธแบบพราหมณ์ตามด้วยผี

จนกาลีผีบ้าเข้าอาศัย

ตื่นเสียทีตื่นตนเถิดคนไทย

ช่วยกันไล่ผีปอบที่ครอบพุทธ