มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส / อารีย์ พหลโยธิน

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

อารีย์ พหลโยธิน

 

อารีย์ เป็นย่านที่เขารู้กันว่า เป็นเสมือนย่านทองหล่อของถนนพหลโยธิน มีศูนย์กลางอยู่ตรงสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ รายล้อมไปด้วยอาคารสูงที่เป็นสำนักงานและคอนโดมิเนียมมากมาย อีกทั้งคอมมิวนิตี้มอลล์ ร้านค้า ร้านอาหาร ที่อยู่กระจัดกระจายปะปนกับบ้านพักอาศัย ทั้งเก่าและใหม่ ทั้งใหญ่และเล็ก

ย่านอารีย์แม้จะเรียกขานตามชื่อซอย ปัจจุบันคือ ถนนพหลโยธิน ซอย 7 แต่พื้นที่ย่านจะครอบคลุมไปถึงซอยราชครู (พหลโยธิน ซอย 5) พหลโยธิน ซอย 9 และ 11 ไปจนถึงถนนประดิพัทธ์ รวมทั้งฝั่งตรงข้าม คือซอยสายลม (พหลโยธิน ซอย 8) ต่อเนื่องไปถึงถนนสาลีรัฐวิภาค ถนนสุทธิสารวินิจฉัย และถนนอินทามระ หรือย่านสะพานควาย

จากซอยราชครู ยังต่อเนื่องกับซอยอารีย์สัมพันธ์ ซึ่งที่จริงเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์รุ่นเก่า ที่เข้าทางถนนพระราม 6 แต่ท้ายซอยมาเชื่อมต่อ เลยอาศัยชื่อมาใช้ทางการตลาด

ย่านอารีย์ประกอบด้วยถนนและซอยขนาดต่างๆ แยกย่อยไปมากมาย ตามแบบแผนการพัฒนาเมืองของไทย ที่ต่างไปจากทฤษฎีตะวันตกอย่างสิ้นเชิง เลยทำให้นักเรียนนอก พวกลอกตำราฝรั่งเห็นว่าไม่ดี ไม่ตรงตามแบบเขา จึงมีแต่ปัญหา

ต่างไปจากผู้คนที่อยู่อาศัยหรือทำมาหากิน กลับใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สงบ และสบาย รู้และเข้าใจว่า อารีย์เป็นชุมชนน่าอยู่

และเข้าใจว่า อารีย์เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ความเป็นเมืองของกรุงเทพมหานคร

 

เดิมทีพื้นที่บริเวณนี้ ที่อยู่ชานพระนคร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสภาพเป็นที่ลุ่ม ผู้คนอาศัยอยู่เบาบาง ในอดีตแม้แต่บริเวณปลายถนนพญาไทก็ยังเป็นที่เปลี่ยว จึงใช้เป็นสนามยิงปืน อันเป็นที่มาของการเรียกขาน สนามเป้า

ประมาณปี พ.ศ.2457 มีการตัดถนนสายใหม่ จากถนนพญาไทไปยังสนามบินดอนเมือง ทำให้ผู้คนโยกย้ายมาอยู่บริเวณนี้มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้กับค่ายทหาร ที่ปัจจุบันคือ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์

อย่างเช่น นายฟาซาล อารี กาติ้บ ทายาทเจ้าของห้างสรรพสินค้ากาติ้บ ที่อยู่เชิงสะพานช้างโรงสี ตรงข้ามกระทรวงกลาโหม มาอยู่ตรงบริเวณซอยอารีย์ในปัจจุบัน

และพระมหาราชครูวามเทพมุนี (หว่าง รังสิพราหมณกุล) ราชครูพรามณ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่งานพระราชพิธีต่างๆ มาอยู่ตรงบริเวณซอยราชครูในปัจจุบัน

แต่ที่รู้กันดี คือสมาชิกครอบครัว จอมพลผิน ชุณหะวัณ อดีตรักษาการนายกรัฐมนตรี ล้วนพำนักในซอยราชครู มาจนถึงปัจจุบัน

ยังมีโครงการที่ดินจัดสรรสวัสดิการตำรวจ ด้านหลังสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ที่ดำเนินการในปี พ.ศ.2499 โดย พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระ เพียงแต่ว่า ที่ดินโครงการไม่ติดถนนพหลโยธิน จึงต้องอาศัยทางผ่านที่ดินของพระสุทธิสารวินิจฉัย ซึ่งต่อมาได้ยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะ และเป็นที่มาของถนนสุทธิสารฯ ในปัจจุบัน

ในเวลาเดียวกัน สำนักงานอาคารสงเคราะห์ ได้ก่อสร้างหมู่บ้านพิบูลย์วัฒนา จำนวน 288 หลัง ทางฝั่งคลองประปา ถนนพระรามหก

 

ครั้นเมื่อมีแผนอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อลดความแออัดจึงโยกย้ายหน่วยงานราชการออก ได้แก่ กระทรวงการคลัง จากในบริเวณพระบรมมหาราชวัง กรมประชาสัมพันธ์ เมื่ออาคารที่ทำการตรงหัวมุมถนนราชดำเนิน ติดกับกรมสรรพากร และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถูกเผาเสียหายในเหตุการณ์วิปโยค 14 ตุลา รวมทั้งหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาอยู่ในบริเวณนี้ ย่านอารีย์จึงคึกคักมากขึ้น ด้วยจำนวนข้าราชการกว่าพันคนที่เข้ามาทำงานเช้า-เย็น

เช่นเดียวกับเมื่อบริเวณถนนสีลมมีความแออัด ไม่มีพื้นที่ก่อสร้างอาคารสูง จึงมีหลายบริษัทย้ายมาก่อสร้างอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ทั้งสองฝั่งถนนพหลโยธิน เช่น สำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ก่อนที่จะย้ายไปราษฎร์บูรณะ เป็นต้น

นอกจากร้านค้าในตึกแถวริมถนนแล้ว ยังมีร้านสหกรณ์พระนคร จำกัด กิจการค้าเก่าแก่ ที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ.2491 เริ่มจากห้องเล็กๆ ในกรมสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ที่เดิมอยู่ใกล้ปากคลองตลาด ปัจจุบันคือ มิวเซียมสยาม

ต่อมาขยายกิจการไปที่ราชประสงค์ ก่อนที่จะย้ายมาสร้างอาคารใหญ่โต ริมถนนพหลโยธิน ชักนำให้เกิดคอมมิวนิตี้มอลล์หลายแห่งในปัจจุบัน

กระแสความนิยมของคนทำงาน ที่จะพำนักในห้องชุดพักอาศัยในอาคารสูง ตามแนวรถไฟฟ้า ทำให้เกิดโครงการอาคารชุดพักอาศัยมากขึ้น ยิ่งทำให้ย่านอารีย์มีความคึกคักมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า การพัฒนาพื้นที่ย่านอารีย์ ไม่ได้มาจากการวางแผนหรือวางผังเหมือนในต่างประเทศ

หากเป็นการพัฒนารายแปลงตามขนบของไทย ทำให้เกิดความหลากหลายทั้งการใช้พื้นที่ ประเภทอาคาร และขนาดอาคาร รวมไปถึงผู้คนที่อยู่อาศัยปนกันหลายระดับ

ส่งผลให้เกิดกิจกรรมต่างๆ มากมายและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและปัจจัยแวดล้อมอื่น ที่สำคัญ มีการปรับตัว ปรับเปลี่ยน สู่ความสมดุลตลอดมา

จนอารีย์เป็นย่านที่คึกคักมีชีวิตชีวา ที่ใครๆ ก็รู้จัก