เพ็ญสุภา สุขคตะ : เสวนา “โบราณคดีเชียงใหม่ใต้-เชียงใหม่เหนือ” จากสบแจ่มถึงเชียงดาว

โบราณคดีเชียงใหม่ใต้

เมื่อปีงบประมาณ 2561-2562 สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ได้ทำการศึกษาสำรวจแหล่งโบราณคดีที่ลุ่มน้ำสบแจ่ม (หมายถึงบริเวณที่แม่น้ำแจ่มไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิง) อยู่ตรงตำบลบ้านแปะ รอยต่อระหว่างอำเภอจอมทองและอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ได้พบร่องรอยหลักฐานที่สำคัญหลายอย่าง อาทิ เหรียญเงินรุ่นเก่ายุคอาณาจักรฟูนัน ทวารวดี ที่มีอายุเก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ 10-12 เป็นรูปศรีวัตสะ สัญลักษณ์แห่งความเป็นสวัสดิมงคล

ซึ่งหากนักโบราณคดีไม่ได้ขุดพบด้วยมือของตัวเองในหลุมขุดค้นตัวเป็นๆ ก็จักไม่มีวันเชื่อว่าดินแดนภาคเหนือตอนบนมีหลักฐานรุ่นเก่าถึงเพียงนี้ เหตุที่โบราณวัตถุชิ้นเล็กชิ้นน้อยสามารถเคลื่อนที่ได้โดยการโยกย้ายของมนุษย์ยุคหลัง

นอกจากนี้ ยังมีการพบเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย ที่โบราณสถานร้างวัดดงคำ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านแปะ ทำให้นักวิชาการหลายท่านตั้งคำถามว่า หลักฐานดังกล่าวนี้สะท้อนถึงการนำอิทธิพลสุโขทัยขึ้นมาเผยแพร่ ณ ดินแดนล้านนาในช่วงใด

สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือสมัยพระญาลิไท หรือ…?

จะใช่การขึ้นมาของพระสุมนเถระ ผู้นำพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ สายรามัญวงศ์ จากสุโขทัยในสมัยพระญาลิไท ขึ้นมาสถาปนาบนแผ่นดินของพระญากือนา กษัตริย์เชียงใหม่หรือไม่?

ที่กล่าวมานี้คือความคืบหน้าของ “โบราณคดีเชียงใหม่ใต้”

 

โบราณคดีเชียงใหม่เหนือ

ราว 33 ปีก่อน บริเวณถ้ำล่อง ใกล้หมู่บ้านชาวมูเซอ เลยโครงการหลวงห้วยลึกไปทางอุทยานผาแดง ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว ได้มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ที่ฝังศพอยู่ในเรือไม้ขุดหลายโลง ตั้งอยู่ภายในถ้ำลึกลับซับซ้อน ซึ่งชาวล้านนาเรียกว่า “ถ้ำผีแมน” (แมนภาษาเหนือแปลว่าโผล่ เช่น พระจันทร์แมนหน้า หมายถึงพระจันทร์โผล่แล้ว)

สล่าอัญเชิญ โกฏแก้ว ประติมากรผู้ปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและกองทัพทหารให้กับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว พร้อมกับนำอัลบั้มภาพถ่ายเก่าเมื่อสามทศวรรษเศษมาให้ดิฉันดู

เมื่อดิฉันแจ้งไปยังนายไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และแจ้งให้ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร รับทราบ

ทั้งสองให้ความสนใจอย่างมาก เพราะจะเป็นหลักฐานสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมการฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่อำเภอปายและอำเภอปางมะผ้า ที่แม่ฮ่องสอน ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้แล้ว ยังมีผู้ให้ข้อมูลว่า แถวตำบลแม่สูน อำเภอฝาง ก็เคยมีผู้พบโลงศพรูปเรือในถ้ำบนดอยสูงเช่นเดียวกัน แต่เป็นเขตที่ต้องปีนป่ายด้วยความยากลำบากอันตราย ทำให้ยังไม่มีการศึกษาหรือสืบสานเรื่องนี้ต่ออย่างเจาะลึก

เมื่อประมวลเรื่องโลงศพค้นพบใหม่ที่เชียงดาวก็ดี ที่ฝางก็ดี ต้องถือว่าเป็น “ข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจยิ่งสำหรับ โบราณคดีเชียงใหม่โซนเหนือ”

 

สัมมนาทางวิชาการ

สํานักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จึงจัดกิจกรรมประชุมสัมมนาทางวิชาการ “ข้อมูลใหม่ทางโบราณคดีเชียงใหม่ใต้-เชียงใหม่เหนือ : จากสบแจ่มถึงเชียงดาว”

โดยได้รับงบสนับสนุนจากมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กิจกรรมจะมีขึ้นระหว่างวันศุกร์ที่ 18-วันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2563

มีรายละเอียดดังนี้

 

แนวทางการพัฒนาโบราณสถาน
ย่านชุมชนโบราณสบน้ำแม่แจ่ม

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน 2563 : โบราณคดีเชียงใหม่ใต้

เวลา 08.00 น. พบกันที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ลงทะเบียนร่วมเดินทางจากเชียงใหม่ไปยังอำเภอจอมทองโดยรถบัส 50 ที่นั่ง

เวลา 09.30 น. ผู้เข้าร่วมเสวนาเดินทางถึงเทศบาลตำบลบ้านแปะ

กล่าวต้อนรับ โดยนายกเทศมนตรีตำบลบ้านแปะ

กล่าวรายงานและกล่าวขอบคุณผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรม โดยผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

กล่าวเปิดงานโดยนายอำเภอจอมทอง หรือประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอจอมทอง

เวลา 10.00 น. นักโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ พาคณะลงพื้นที่ภาคสนาม ทัศนศึกษาวัดร้าง 5 แห่งที่เพิ่งได้รับการขุดแต่งจากกรมศิลปากร (วัดป่าแดง วัดม่วง วัดช้างค้ำ วัดพระเจ้าดำ วัดป่าจี้) ณ จุดที่พบเหรียญศรีวัตสะ และเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย

เวลา 12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน

เวลา 13.00 น. บรรยายสรุปผลการขุดค้น-ขุดแต่งทางโบราณคดี/บูรณะโบราณสถาน และศักยภาพ/ความสำคัญของกลุ่มโบราณสถานในพื้นที่สบน้ำแม่แจ่ม โดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

เวลา 14.00 น. ข้อคิดเห็นจากนักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญ

ดร.พิสิฐ เจริญวงศ์ อดีตผู้อำนวยการ SPAFA และศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

เวลา 14.45 น. เสวนาแนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ย่านชุมชนโบราณสบน้ำแม่แจ่ม (ตัวแทนหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง)

สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

กรมธนารักษ์

สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่

สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่

เทศบาลตำบลบ้านแปะ

อำเภอจอมทอง

ปกครองส่วนท้องถิ่น (กำนันตำบลบ้านแปะ/ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.บ้านแปะ)

เจ้าคณะตำบลบ้านแปะ

ดำเนินรายการโดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ

เวลา 16.45 น. นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแปะ กล่าวขอบคุณและปิดงาน

เวลา 17.00 น. คณะผู้เข้าร่วมเสวนาเดินทางกลับจังหวัดเชียงใหม่โดยสวัสดิภาพ

 

โบราณคดีเชียงดาว
และเส้นทางเสด็จ
กองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

วันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2563 : โบราณคดีเชียงใหม่เหนือ

เวลา 08.00 น. พบกันที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ลงทะเบียนผู้ร่วมเดินทางจากเชียงใหม่ไปยังอำเภอเชียงดาว โดยรถบัส 50 ที่นั่ง

เวลา 09.30 น. ผู้เข้าร่วมเสวนาเดินทางถึงศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอำเภอเชียงดาว

กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์โครงการ โดยคุณมณี นามศิริพงศ์พันธุ์ เลขานุการมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ

กล่าวเปิดงานโดยศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ

เวลา 10.00 น. เสวนาหัวข้อ “เจ้าหลวงคำแดง อารักษ์เมืองเชียงใหม่ และอ่างสลุงเชียงดาว”

โดยคณะวิทยากร : อาจารย์ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร และอาจารย์เกริก อัคราชิโนเรศ

เวลา 11.30 น. เสวนาหัวข้อ “โลงศพถ้ำผีแมนค้นพบใหม่ในถ้ำล่อง อำเภอเชียงดาว”

นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นโดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ (จากการสัมภาษณ์สล่าอัญเชิญ โกฏแก้ว)

วิพากษ์/แนะนำแนวทางการศึกษา โดย ดร.พิสิฐ เจริญวงศ์ และศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช

เวลา 12.15 น. รับประทานอาหารกลางวัน

เวลา 13.15 น. เสวนาเรื่อง “นานาชาติพันธุ์ในล้านนาที่ร่วมสมัยกับแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

โดยคณะวิทยากร : ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง และอาจารย์แสวง มาละแซม

เวลา 14.15 น. เสวนาเรื่อง “เส้นทางเดินทัพและสถานที่สวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

โดยนายไกรสิน อุ่นใจจินต์ และนายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดี สำนักงานศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ในฐานะที่เมื่อปี 2557 สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่เคยจัดโครงการตามรอยเส้นทางเดินทัพและสถานที่สวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยใช้เส้นแม่แตง-เมืองกึ้ด-เมืองคอง-เวียงแหง มาแล้ว

เวลา 15.30 น. นำเสนอถึง “รูปแบบการจัดสร้างอุทยานกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

โดยอาจารย์รำพัด โกฏแก้ว และ ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธุ์เดชา

เวลา 16.00 น. สรุปผลการเสวนา และเปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็น โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ

เวลา 16.30 น. ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กล่าวปิดการประชุมสัมมนา และขอบคุณผู้เข้าร่วมเสวนา

โครงการประชุมสัมมนาดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีล้านนาอย่างมาก ทั้งในภาพรวม ภาพกว้าง และภาพลึก ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน ปราชญ์ชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา พระภิกษุ สามเณร

ผลการสัมมนาเป็นเช่นไร มีอะไรน่าสนใจ หากมีโอกาสอันเหมาะดิฉันจักได้นำมารายงานให้ทุกท่านทราบต่อไปค่ะ