จรัญ มะลูลีม : คริสตศาสนาในเอเชียตะวันตก

จรัญ มะลูลีม

ศาสนาในตะวันออกกลาง (เอเชียตะวันตก) (2)

ดังนั้น ในขณะที่พวกเนสตอเรียไม่ยอมรับส่วนใดๆ ที่ยกให้การรับทุกข์ทรมานเป็นของพระเจ้า พวกโมโนทิสและพวกเมลก์จำนวนมากถือตรงกันข้าม ต่อมาได้มีการปรองดองกันโดยพวกโมโนเธลีส์ (Monotheletes) ซึ่งถือว่าพระคริสต์มีสองลักษณะคือ ลักษณะพระเจ้าและลักษณะมนุษย์ แต่มีเพียงเจตนารมณ์เดียวคือเจตนารมณ์ของพระเจ้า

สถานภาพของแต่ละความเชื่อนี้มีความจงรักภักดีต่อชาติพันธุ์และท้องถิ่นมาช่วยทำให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย คำสอนทางการของรัฐและของราชอาณาจักรนี้ได้รับการอุดหนุนโดยชาวกรีกส่วนใหญ่ ส่วนนิกายเนสตอเรียนั้นได้รับการสนับสนุนจากประชากรส่วนใหญ่ของซีเรียและเมโสโปเตเมียที่พูดภาษาซีเรีย

นิกายโมโนฟีส์นั้นเรียกกันอย่างกว้างขวางว่านิกายยาคอมไบ ตามชื่อนักคิดที่สำคัญที่สุดของนิกายนี้ ชาวอาร์เมเนียถูกเรียกว่าเกรกอเรียนตามชื่อสาวกของอาร์เมเนีย และอียิปต์ถูกเรียกว่าคอปต์ ซึ่งเป็นคำที่ได้มาจากชื่อโบราณของอียิปต์

ในหลายๆ ส่วนของแอฟริกาเหนือได้เกิดความขัดแย้งทางศาสนาอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความประสงค์ร้ายต่ออำนาจของราชอาณาจักร ประชากรส่วนใหญ่คือผู้ถือนิกายโดนาตี (Donatism) คนเหล่านี้ถือว่าคริสตจักรควรเป็นองค์กรที่ไม่ถูกเรื่องราวทางโลกทำให้เสียหายไป ฉะนั้น รัฐบาลจึงไม่ควรเข้าไปยุ่งในกิจการของคริสตจักร ควรให้พระผู้บริสุทธิ์เท่านั้นเป็นผู้บริหาร

ภายในองค์กรสำคัญของคริสต์ซึ่งรัฐบาลของราชอาณาจักรสนับสนุนอยู่นั้น ภายหลังได้เกิดการแบ่งแยกกันขึ้นระหว่างภาคตะวันออกกับตะวันตก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาเรื่องคำสั่งสอน แต่ส่วนใหญ่เกิดจากเรื่องอำนาจของพระ

ฝ่ายตะวันตกหรือโรมันคาทอลิกยอมรับอำนาจสูงสุดของสันตะปาปา ซึ่งเป็นสังฆราชของกรุงโรม

แต่ฝ่ายตะวันออกคือฝ่ายออร์ธอดอกซ์นั้นเป็นกลุ่มของคริสตจักรที่ปกครองตนเองอยู่ภายใต้ผู้อุปถัมภ์และผู้มีอำนาจอื่นๆ จำนวนหนึ่ง

 

ถึงแม้ว่าต่อมาไม่ช้าก็เร็ว ประชากรส่วนมากของจักรวรรดิโรมันจะกลายเป็นคริสเตียนไปก็ตาม แต่ชาวยิวก็ยังคงซื่อสัตย์ต่อศาสนาของตัวเองอยู่ คือศาสนาจูดาห์ ซึ่งเคลื่อนมาสู่ขั้นตอนใหม่หลังจากชาวโรมันทำลายโบสถ์ในกรุงเยรูซาเลมเสีย

ในศตวรรษแรกแห่ง ค.ศ. การสักการบูชาพระเจ้าร่วมกันของพวกพระจะสามารถทำได้แต่ในโบสถ์เท่านั้น แต่เมื่อไม่มีโบสถ์ดังกล่าวเสียแล้ว ก็ได้มีการจัดการอำนาจในชุมชนโดยพวกครูธรรมดาๆ และนักเทศน์ (rabbi) ในโบสถ์ยิวหรือสถานที่สอน

การที่พวกนักเทศน์เหล่านี้ทำการศึกษาคัมภีร์โตราห์และกฎหมายมาเป็นร้อยๆ ปีได้ก่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงและการตีความหมายและทำให้มีการเขียนคัมภีร์ทัลมูด (Talmud) ซึ่งถูกเรียบเรียง ตีความหมายและทำให้มีการเขียนคัมภีร์ทัลมูด (Talmud) ซึ่งถูกเรียบเรียงขึ้นในศูนย์กลางสำคัญสองแห่งของชีวิตชาวยิวคือในปาเลสไตน์และบาบิโลน และต่อมาได้ใช้เป็นรากฐานของกฎหมายแห่งบุคคลและพฤติกรรมในสังคม ผู้ที่รับคัมภีร์ยิวฉบับนี้มีชื่อว่าพวกแรบไบ

ทั้งศาสนาจูดาห์และคริสตศาสนา (ส่วนใหญ่ที่เป็นนิกายเนสตอเรีย) ได้แพร่หลายไปทางทิศตะวันออกสู่อิหร่าน แต่ที่นี่ก็ต้องต่อสู้กับขบวนการทางศาสนาอย่างอื่นๆ ในสมัยซาซาเนีย (คือศตวรรษที่ 3-7) นิกายมาซดาได้ฟื้นคืนชีพขึ้นอีก และยังมีศาสนาใหม่เกิดขึ้นมาท้าทายอีกคือนิกายมานีเซีย (Manichaeism) ซึ่งเรียกตามชื่อผู้ตั้งนิกายคือมานี (Mani) ครูสอนศาสนาผู้สอนว่าร่างกายมนุษย์นั้นเมื่ออยู่ในโลกเขาก็ควรต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ฟื้นจากความชั่วร้ายในโลกด้วยการใฝ่หาความรู้ใหม่ในตัวตนที่แท้จริงของเขา โดยอาศัยแสงสว่างภายในตน

เมื่อเขาปลดปล่อยตัวเองได้เขาก็จะสามารถช่วยบูรณะธรรมชาติที่แท้จริงของสากลจักรวาลได้โดยการเอาชนะหลักการของความชั่วซึ่งเป็นผู้ต่อสู้ทำสงครามกับพระเจ้า

ศาสนามานีเซียนี้แพร่ขยายออกไปนอกอิหร่านไปทางตะวันตกทั่วโลกโรมันเข้าสู่เอเชียส่วนในและไปไกลจนถึงประเทศจีนระยะหนึ่ง (Albert Hourani. “Religions,” in The Cambridge Encyclopedia of the Middle East and North Africa, pp.32-34.)

 

คริสตศาสนาเป็นศาสนาสำคัญศาสนาหนึ่งที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางหรือเอเชียตะวันตก ในปัจจุบันมีสายสำคัญอยู่สองสาย

คือ สายตะวันออกได้แก่ นิกายออร์ธอดอกซ์ คอปต์และนิกายอื่นๆ

ส่วนสายตะวันตกได้แก่ นิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์ ชาวคอปต์สืบเชื้อสายมาจากชาวคริสเตียน ศาสนานิกายคอปต์นั้นใกล้เคียงกับนิกายออร์ธอดอกซ์ (คำว่าออร์ธอดอกซ์ เป็นชื่อรวมของนิกายย่อยๆ ทุกนิกายของคริสตศาสนาที่มีประมุขของตนเองเป็นพระ แต่ไม่ถือว่าพระสันตะปาปาเป็นประมุขสูงสุด คำว่าออร์ธอดอกซ์ มาจากคำภาษากรีกว่า orthos = ถูกต้องกัน doxa = ความคิดเห็น)

ส่วนนิกายโรมันคาทอลิกนั้นมีสันตะปาปาเป็นประมุขสูงสุด แต่นิกายโปรเตสแตนต์ไม่มีประมุขเป็นสงฆ์ ผู้แยกนิกายคือมาร์ติน ลูเธอร์

ศาสดาของคริสตศาสนาคือเยซูคริสต์ (คัมภีร์ใหม่เป็นภาคหลังของคัมภีร์ไบเบิล กล่าวถึงเรื่องราวการก่อตั้งศาสนาคริสต์ตั้งแต่กำเนิดศาสดาเยซูคริสต์) เริ่มเผยแผ่ศาสนาเมื่ออายุ 30 ปี เมื่ออายุได้ 33 ถูกชาวยิวที่ต่อต้านจับตรึงกางเขน

นักบุญพอล ชาวยิวโพ้นทะเล เป็นสาวกรุ่นแรกๆ ที่นำคริสตศาสนาไปเผยแผ่ ได้เดินทางไปเผยแผ่ในหลายแห่ง ในที่สุดได้ยึดเอากรุงโรมเป็นศูนย์กลาง แต่ถูกประหารชีวิตที่กรุงโรมในสมัยจักรพรรดิเนโร

งานนิพนธ์ของนักบุญพอลเรียกว่าคัมภีร์จดหมาย (epistles) อยู่ในคัมภีร์ใหม่ (New Testament) (คำว่าคริสต์นั้นจากภาษากรีกว่า Christor = เมสสิอาห์ (ผู้ช่วยชีวิต) หรือคัมภีร์ไบเบิล ภาคหลังเป็นที่ยึดถือของชาวคริสต์ทุกนิกาย

คริสตศาสนาเชื่อว่าคัมภีร์เก่าคือคัมภีร์ที่ชาวยิวนับถือกับคัมภีร์ใหม่ เป็นคัมภีร์ของคริสตศาสนาและเน้นว่าศาสดาเยซูเป็นบุตรของพระเจ้า ศาสดาเยซูสอนให้รักพระเจ้า ให้สร้างสันติแก่โลกและสร้างความรักฉันพี่น้องระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

กรุงเยรูซาเลมนับว่าเป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นสถานกำเนิดของคริสตศาสนาและเป็นที่ซึ่งศาสดาเยซูถูกตรึงกางเขน

ปัจจุบันนี้ในตะวันออกกลางมีผู้นับถือศาสนาคริสต์อยู่หลายล้านคน ในอียิปต์มีผู้ถือนิกายคอปต์อยู่ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งเป็นชาวคริสต์กลุ่มใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง ผู้นับถือนิกายโรมันออร์ธอดอกซ์มีจำนวนรองลงมา ส่วนมากอยู่ในซีเรียและเลบานอน รองลงมาคือจำนวนผู้ถือนิกายมารอน (Moronite) นิกายเมลก์ (Melkite) และนิกายคอลเดีย (Chaldea) เป็นต้น

 

ความสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรมกับศาสนา

อารยธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อหลายพันปีมาแล้วบนฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหรือในบริเวณใกล้เคียงกับอียิปต์ เมโสโปเตเมียและกรีกได้บรรลุถึงจุดสูงสุดของความสำเร็จทำให้ต้องอัศจรรย์ใจและนิยมชมชอบอยู่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นในด้านวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม เกษตร การค้า การสงครามหรือกิจกรรมใดๆ ของมนุษย์

สาเหตุสำคัญซึ่งได้ให้พลังแก่อารยธรรมเหล่านี้ก็คือศาสนา เป็นความจริงที่ว่ารูปแบบของสาเหตุสำคัญนี้ได้เปลี่ยนไปจากลัทธิการบูชาเทพเจ้ากลุ่มละสามองค์ของอียิปต์โบราณ ซึ่งแสดงออกในนิยายปรัมปราเกี่ยวกับโอสิริส ไอซิส และฮอรัส และแสดงให้เห็นความต่อเนื่องของชีวิตในความตายและการฟื้นคืนชีพอีกทั้งความเป็นนิรันดร์ผ่านคนรุ่นใหม่ต่อๆ ไปจนถึงลัทธิป่าเถื่อนของเฮลลาส ซึ่งปรากฏอยู่ในการแสดงออกทางประสาทสัมผัสของสัจจะ ความดีและความงาม

ในทำนองเดียวกันมันได้เปลี่ยนไปในช่วงเวลาต่อๆ มา และเสื่อมทรามลงจนถึงระดับที่การแสดงออกมาทางประสาทสัมผัสของเฮลลาสกลายเป็นลักษณะหยาบคายไป

อย่างไรก็ตาม ศาสนาก็ยังเป็นต้นเหตุที่วางรูปชะตากรรมของโลกอยู่นั่นเอง และศาสนาก็ยังมีบทบาทอย่างเดียวกันในยุคสมัยของเรานี้

ในบางครั้งอารยธรรมสมัยปัจจุบันก็ต่อต้านศาสนาหรือพยายามกำจัดศาสนาออกไป หรือมิฉะนั้นก็ทอดทิ้งศาสนาไปก็มี แต่กระนั้นในไม่ช้ามันก็หันเหมาหาศาสนาอีก ส่วนอีกด้านหนึ่งศาสนาก็ยังเกี่ยวข้องกับอารยธรรมของเราอยู่ต่อไป และสักวันหนึ่งอาจถึงกับกลืนอารยธรรมเข้าไปก็ได้

ในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ซึ่งอารยธรรมได้วางอยู่บนแท่นของศาสนามานับพันๆ ปี แล้วก็ได้มีศาสนาที่มีชื่อเสียงบนโลกเกิดขึ้นสามศาสนา

ในอียิปต์การเข้ามาของโมเสสนำไปสู่การประกาศศาสนาของพระองค์ต่อประชาชนฟาโรห์ก็บอกประชาชนว่า “ข้าคือนายสูงสุดของพวกเจ้า” (กุรอาน, 79:24)

โมเสสได้ต่อสู้กับฟาโรห์และพระของเขา จนกระทั่งในที่สุดพระองค์ก็ต้องอพยพโยกย้ายไปยังปาเลสไตน์พร้อมด้วยลูกหลานแห่งอิสราเอล

ในปาเลสไตน์ก็ปรากฏศาสดาเยซูขึ้น พร้อมด้วยพระวจนะและดวงจิตของพระเจ้า ซึ่งทรงมอบให้แก่พระนางแมรี่