สูตรสำเร็จในชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา : สันโดษ

สูตรสำเร็จในชีวิต (27)

สันโดษ (1)

คราวนี้มาว่าด้วยสูตรสำเร็จแห่งชีวิตข้อที่ว่าด้วย สันโดษ

เรื่องที่คนไทยเข้าใจผิดมากเรื่องหนึ่งในหลายเรื่องคือ สันโดษนี่แหละครับ

คนส่วนมากมักเข้าใจกันว่า สันโดษคือความมักน้อย จึงมีคำพูดติดปากว่า “มักน้อยสันโดษ”

แล้วก็เข้าใจต่อไปว่า คนที่สันโดษคือคนที่ไม่ทำอะไร ไม่ต้องการอะไร ปล่อยชีวิตไปตามเรื่องตามราว

เรียกว่าคนไม่เอาไหนนั่นแหละ คือคนสันโดษ

เมื่อเข้าใจอย่างนี้ก็พาลพาโลหาว่า พระพุทธศาสนาสอนสิ่งที่ขัดต่อการพัฒนาตนและสังคม

มีอย่างหรือ ชาติกำลังต้องการพัฒนาคน ยังมาสอนไม่ให้ต้องการอะไรมากๆ ไม่ให้สร้างสรรค์สอนให้มักน้อยสันโดษอยู่ได้

มีอยู่สมัยหนึ่ง คือสมัยท่านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คุณหลวง (อย่าให้เอ่ยชื่อเลยนะครับ เอาเป็นว่า “คุณหลวง” ก็แล้วกัน) ผู้เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของท่านนายกฯ สฤษดิ์ประกาศว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีมากมายที่ดีๆ แต่บางข้อก็ไม่เหมาะสมกับสังคมยุคพัฒนา พระไม่ควรนำไปสอนชาวบ้าน เช่น สันโดษ เป็นต้น

พอคุณหลวงประกาศออกมา พระสงฆ์องค์เจ้า “เต้น” เป็นการใหญ่

มีการเทศนาชี้แจงว่า ไม่ใช่อย่างนั้น สันโดษจริงๆ มิใช่ความมักน้อย ไม่อยากได้อะไร ไม่อยากสร้างสรรค์อะไร ทำให้มีการ “ตื่นตัว” หาทางอธิบายธรรมให้ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น

ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นผลดีและน่าขอบคุณคุณหลวงเป็นอย่างยิ่ง หาไม่แล้ว พระท่านก็คงไม่ใส่ใจจะมาทำความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ปล่อยให้เขาเข้าใจผิดๆ ถูกๆ ไปตามเรื่อง

ว่างๆ ผมอาจจะประกาศอย่างคุณหลวงขึ้นมาบ้างก็ได้เผื่อจะช่วย “กระตุ้น” ให้พระคุณเจ้าท่านหันมาสนใจอธิบายธรรมะให้ชาวบ้านเขาเข้าใจมากกว่านี้

บอกกันตรงๆ ว่า วงการพระศาสนาเรายังต้องการพระนักเทศน์ นักบรรยาย นักเขียนที่คนอยากฟัง อยากอ่าน มากกว่าที่มีอยู่

กองทัพทั้งกองทัพ มีขุนพลทหารฝีมือดีอยู่เพียงสามสี่คนจะไปสู้รบกับใครได้ครับ

ความจริง สันโดษกับความมักน้อย มันคนละเรื่องกันความมักน้อยนั้นเป็นคำแปลของคำบาลีว่า “อปปิจฺฉตา” พระพุทธองค์ทรงสอนพระให้ปฏิบัติเกี่ยวกับปัจจัยสี่คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ว่าสิ่งเหล่านี้ให้พระต้องการแต่น้อยพออาศัยยังชีพเพราะชีวิตพระมิใช่ชาวบ้าน จะได้สะสมสิ่งเหล่านี้ไว้มากมาย

ส่วน สันโดษ หรือ สนฺตฎฐี นั้น หมายถึง ความภาคภูมิใจในผลสำเร็จที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความสามารถ ด้วยความพากเพียรพยายามของตนในทางที่สุจริตชอบธรรม

ฟังดูดีๆ จะเห็นว่า คนสันโดษคือ คนที่ขยันหา ขยันสร้างสรรค์ (ยถาลาภ) ทุ่มเทกำลังกาย กำลังสติปัญญาเต็มที่ (ยถาพล) ในสิ่งที่สุจริตถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม (ยถาสารุปฺป) เมื่อได้ผลสำเร็จขึ้นมาแล้วก็ภาคภูมิใจในผลสำเร็จนั้น

ธรรมะที่ตรงข้ามกับสันโดษคือ ความโลภและความเกียจคร้าน คนโลภและขี้เกียจ คือคนที่ไม่สันโดษ ท่านเห็นหรือยังว่าสันโดษขัดขวางหรือส่งเสริมการพัฒนาล่ะขอรับ

“สันโดษ” นั้นที่จริงหมายถึง ความขยันขันแข็งกระทำการงานที่สุจริตอย่างเต็มความสามารถ เมื่อได้ผลอย่างใดจากการกระทำของเรา เราก็ภาคภูมิใจ

เพราะฉะนั้น ธรรมะที่สนับสนุนสันโดษ จึงมีอยู่ 2 อย่างคือ ความไม่โลภกับความเพียร

คนสันโดษจึงมีคุณสมบัติสองประการนั้นคือ เป็นคนไม่โลภ และเป็นคนพากเพียรพยายามสูง คนไม่สันโดษก็คือคนเกียจคร้านและคนโลภนั้นเอง

คิดดูให้ดีจะเห็น คนที่อยากได้อะไรด้วยอำนาจความโลภมักจะไม่ชอบทำงาน เช่น คนโลภอยากได้สองขั้น (แค่ขั้นละไม่กี่ร้อยอยากกันจริง) ก็คอยดูว่าเจ้านายชอบอะไร เช่น ชอบเอ๊าะๆ ชอบอาบ อบ นวด ก็พาเจ้านาย (เฮงซวย) ไปลงอ่างบริการให้เสร็จ

ถ้าคนอยากได้สองขั้นเป็นเอ๊าะๆ เสียเอง ก็ยอมพลีกายแลก อย่างนี้งานการไม่ต้องทำ หรือทำบ้างไม่ทำบ้าง ถึงเวลาเจ้านายเฮงซวยก็ให้สองขั้นเอง

คิดเอาก็แล้วกัน เมื่อคนโลภก็มักขี้เกียจ ไม่ทำงาน เมื่ออยากได้แต่ไม่อยากทำงานก็ต้องหาเอาโดยทางลัด หรือโดยวิธีทุจริตผิดกฎหมายบ้านเมืองและศีลธรรม

คนชนิดดังกล่าวมานั้นแหละ ทางพระท่านเรียกว่า คนไม่สันโดษ

ส่วนคนที่มีลักษณะตรงข้ามเรียกว่า คนสันโดษ

คิดเอาเองก็แล้วกัน (อีกแล้ว) ว่า คนประเภทไหนที่สังคมต้องการ

เพื่อความเข้าใจอย่างแจ่มชัดชนิดแจ้งจางปาง ขอสรุปลักษณะของคนที่มีความสันโดษดังต่อไปนี้

1. คนสันโดษ จะต้องเป็นคนทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยสติปัญญาเท่าที่มี และโดยวิธีการอันชอบธรรม

2. คนสันโดษ จะไม่อยากได้ของคนอื่น หรือของที่ไม่ชอบธรรม จะไม่ทุจริตเพราะปากท้องหรือผลประโยชน์ส่วนตัว

3. คนสันโดษ เมื่อหามาได้ก็ใช้สอยเท่าที่จำเป็น และใช้ด้วยสติปัญญา ไม่เป็นทาสของวัตถุ

4. เมื่อไม่ได้ เมื่อสุดวิสัยที่จะได้ ก็ไม่เดือดร้อนกระวนกระวาย ยังคงปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไป ไม่ยอมให้ความผิดหวังครอบงำใจ

5. หาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นของตน หรือเป็นสิทธิของตนสามารถดำรงชีวิตที่มีความสุขตามฐานะ

6. มีความภาคภูมิใจในผลสำเร็จอันเกิดจากกำลังของงาน มีความอดทน สามารถรอคอยผลสำเร็จอันพึงจะเกิดขึ้นจากการกระทำของตน

7. มีความรักและภักดีในหน้าที่การงานของตน มุ่งปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าของการงาน เรียก “ทำงานเพื่องาน” อย่างแท้จริง

8. ไม่ถือเอาสิ่งของที่ตนหามาได้ สมบัติของตน หรือความสำเร็จของตนมาเป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่น

คุณสมบัติที่กล่าวมา เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศชาติใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ก็อยากอภิปรายไม่ไว้วางใจ เอ๊ย อยากเรียนถามว่า ที่ประเทศชาติไม่ค่อยพัฒนาเท่าที่ควรจะเป็นเพราะมัวแต่สอนสันโดษ หรือเพราะไม่สอนสันโดษกันแน่