คนมองหนัง | “โดรน” : สายตาของ “สามัญชน” ในมุมมองของ “พระเจ้า”

คนมองหนัง

เมื่อไม่กี่ปีก่อน “ลูเครเซีย มาร์เทล” ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงคนสำคัญจากประเทศอาร์เจนตินา เคยตั้งข้อสังเกตว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงหลากหลายประเด็นทางด้านเทคโนโลยีภาพ-เสียงในยุคสมัยใหม่ สิ่งหนึ่งที่เธอให้ความสนใจมากที่สุด ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับมุมมองทางด้านภาพ

เพราะตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา มุมมองทางด้านภาพที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อและผลงานศิลปะแขนงต่างๆ ล้วนเป็นผลสะท้อนหรือโลกจาก “สายตาของมนุษย์”

ขณะที่ภาพจากวัสดุอุปกรณ์ เช่น โดรน, กล้องสปอร์ต-แอ๊กชั่น รวมทั้งโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน กลับมิได้นำเสนอมุมมองแบบนั้น

สำหรับมาร์เทล “โลกใบใหม่” ดังกล่าว ไม่ได้ก่อกำเนิดขึ้นจาก “สายตามนุษย์” หากเกิดขึ้นจากวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่ดำรงอยู่รายรอบพวกเรา

และแน่นอนว่าวิถีการทำงานของ “คนทำหนัง” ย่อมแปรเปลี่ยนไปใน “โลกใหม่” ดังที่มาร์เทลบอกว่าถ้าเธอเริ่มต้นเข้าวงการตอนนี้ เธอจะไม่ประกอบอาชีพเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และจะไม่แม้กระทั่งถือกล้องไปเก็บบันทึกภาพ-เรื่องราวต่างๆ

แต่เธอจะนำคลิปต่างๆ ในยูทูบ ซึ่งถูกสร้างสรรค์โดยมนุษย์คนอื่นๆ มาตัดต่อร้อยเรียงเข้าด้วยกัน

ไม่กี่วันก่อน “ไรอัน กิลบี” ได้เขียนบทความว่าด้วยสถานะของ “โดรน” ในภาพยนตร์ยุคใหม่ ผ่านทางเว็บไซต์เดอะการ์เดียน

“โดรน” ในทัศนะของกิลบีไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดศักยภาพอื่นๆ นอกเหนือจากความสามารถ/ขีดจำกัดของมนุษย์ ดังความเห็นของมาร์เทลเสียทีเดียว

แต่เขาเสนอว่า “โดรน” คือวัสดุอุปกรณ์ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์ตัวเล็กๆ สามารถขยับขยายขีดความสามารถของตนเองออกไปได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

กิลบีเสนอว่า มุมกล้องแบบ “ก็อด”ส อาย วิว” หรือ “มุมมองของพระเจ้า” ซึ่งจับภาพจากเบื้องบนลงมาสู่ตัวละครและโลกมนุษย์ด้านล่างนั้น มิใช่องค์ประกอบแปลกใหม่ในวงการภาพยนตร์

เนื่องจากการติดตั้งกล้องเข้ากับเครนหรือเฮลิคอปเตอร์ ถือเป็นประดิษฐกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นมานานแล้ว

แต่บทบาทของเครนกับเฮลิคอปเตอร์กำลังถูกท้าทายอย่างสำคัญด้วยการมาถึงของ “โดรน”

ในแง่ค่าใช้จ่าย “โดรน” ถือเป็นเครื่องมือให้กำเนิด “มุมมองของพระเจ้า” ที่มีราคาย่อมเยาที่สุด โดยเคยมีการสำรวจประเมินเมื่อปี 2018 ว่างบประมาณของการเช่าใช้โดรนต่อการถ่ายภาพยนตร์หนึ่งเรื่องจะอยู่ที่ 4,500-13,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 1.4-4 แสนบาท) ถูกกว่างบประมาณการเช่าเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งต้องใช้เงิน 20,000-40,000 เหรียญสหรัฐ (6.2 แสน-1.2 ล้านบาท)

ทว่าคำถามต่อเนื่องก็คือนอกจากจะมีราคาถูกและก่อให้เกิดสไตล์การถ่ายภาพเก๋ๆ แหวกแนวแบบใหม่แล้ว “โดรน” ยังมีหน้าที่อะไรอีกในโลกภาพยนตร์ยุคทศวรรษ 2020?

กิลบีระบุในบทความของเขาว่าคำตอบหนึ่งที่มีต่อคำถามข้างต้น อาจมาจากหนังฝรั่งเศสเมื่อปี 2019 เรื่อง “Les Misérables” ของคนทำหนังผิวดำชื่อ “แลดจ์ ลี”

(หนังได้รับรางวัลจูรีไพรซ์ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมเมื่อต้นปี 2020)

ภาพยนตร์เรื่องนี้มิได้ดัดแปลงจากวรรณกรรมคลาสสิคของ “วิกตอร์ อูโก” แต่เป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องราวว่าด้วย “คนเล็กคนน้อยผิวสี” ในย่านชายขอบด้านตะวันออกของกรุงปารีส

หนังเริ่มต้นขึ้นด้วยสถานการณ์ที่ตำรวจสามนายได้ลงมือทำลายโทรศัพท์มือถือของวัยรุ่นหญิงรายหนึ่ง ซึ่งเพิ่งบันทึกภาพเหตุการณ์ที่หนึ่งในนายตำรวจแสดงพฤติกรรมข่มขู่คุกคามเพื่อนของเธอ

ในวันเดียวกัน วัยรุ่นอีกคนในย่านนั้นที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอาจก่อคดีอาชญากรรม ก็ถูกตำรวจทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัส โดยไม่มีโทรศัพท์มือถือของใครต้องถูกยึดทำลาย และ/หรือสามารถบันทึกภาพเหตุการณ์นี้เอาไว้ได้

มีแค่ “โดรน” ลำหนึ่งที่กำลังบินวนเวียนอยู่ด้านบน และสามารถเก็บภาพเจ้าหน้าที่รัฐกำลังลงมือทำร้ายประชาชน

“โดรน” ลำดังกล่าวถูกบังคับโดยวัยรุ่นชายผิวดำคนหนึ่งที่ใช้มันเพื่อแอบส่องดูพฤติกรรมของสาวๆ ร่วมชุมชน กระทั่งเขาต้องกลายเป็นประจักษ์พยานของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพากันออกตามหาไล่ล่าเมมโมรี่การ์ดจาก “โดรน” ลำนั้น บทบาทของอากาศยานไร้คนขับก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น

กิลบีเสนอว่า เท่าที่ผ่านมา “โดรน” ในสื่อบันเทิงส่วนใหญ่ มักมีสถานภาพเป็นเครื่องมือซึ่งใช้ “ก่อภัยคุกคาม” หรือ “ถ้ำมอง” ผู้คน

แต่ “โดรน” (รวมถึง “โทรศัพท์มือถือ”) ในหนังเรื่อง “Les Mis?rables” กลับกลายเป็นอุปกรณ์ที่ใช้บันทึกภาพความอยุติธรรมที่ก่อขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นเครื่องมือที่ใช้แสวงหาความยุติธรรมในยุค “หลังโทรทัศน์วงจรปิด”

มองจากมุมนี้ “โดรน” จึงเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยขยับขยายให้ “สามัญชน” ที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกโดยอำนาจรัฐ ได้มีโอกาสครอบครอง “สายตาของพระเจ้า” เพื่อต่อสู้ทวงถามความเป็นธรรมในสังคม

ข้อมูลจาก

https://www.theguardian.com/film/2020/aug/31/how-drone-technology-is-transforming-film-making-french-drama-les-miserables

https://terremoto.mx/article/the-vanity-of-being-productive/