หนุ่มเมืองจันท์ | เหมือนที่แตกต่าง

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน “เอ็ม” ขจร เจียรนัยพานิชย์ ผู้ก่อตั้งเว็บ RiANMaker ชวนผมไปพูดในงาน iCreator Conference 2020 ที่สามย่านมิตรทาวน์

งานนี้ยิ่งใหญ่มากครับ

ใหญ่ระดับที่จัดวันเดียวเอาไม่อยู่

ต้องจัดกัน 3 วัน

ตอนที่ “เอ็ม” โทร.มาชวน เขาบอกว่างานปีนี้เป็นธีม “Next Gen & The Legend”

คุณคิดว่า “เอ็ม” ชวนผมในฐานะ Next Gen หรือ The Legend ครับ

ถ้าดู “นามปากกา” น่าจะเป็น Next Gen

แต่ถ้าดูหนังหน้าแล้ว ยังไงก็ต้อง The Legend

ผมบอกน้องในทีมว่า Legend จริงๆ แล้วไม่ได้ออกเสียงว่า “เลเจนด์”

แต่ต้องอ่านว่า “เละเจนด์”

เพราะ “ตำนาน”

น้องมองบนแล้วบ่น

“มุข 5 บาท 10 บาทก็เล่นนะพี่”

ผมถาม “เอ็ม” ว่า คนที่มาพูดในงานมีใครบ้าง

เขาก็ไล่ชื่อคนรุ่นใหม่ไปเรื่อยๆ แล้วค่อยเหยียบคันเร่งเพิ่มระดับอาวุโส

ซึ่งแต่ละคนเรียกผมว่า “พี่” ทั้งนั้น

จนมาถึง…

…คุณสุทธิชัย หยุ่น

ได้ยินชื่อคุณสุทธิชัยปั๊บ

ผมตอบรับคำเชิญทันที

อย่างน้อยก็ไม่ใช่ “เบอร์หนึ่ง” ของ The Legend

ชอบเป็น “ที่สอง” ครับ

แต่คนที่ผมสงสารที่สุดคือ “เอ๋” นิ้วกลม

เพราะต้องขึ้นเวทีพร้อมผมในหัวข้อ “Book and Traditional Publisher in Digital”

อย่างน้อยเขาควรเป็น Next Gen รุ่นใหญ่

ไม่ควรเป็น The Legend รุ่นน้อง

แต่เพราะเป็นคนเขียนหนังสือเหมือนผม ซึ่งถือว่าเป็น “สื่อเก่า” แต่ยังมีบทบาทใน “สื่อใหม่”

คล้ายๆ กันก็เลยเอามารวมกัน

เวทีแบบนี้สบายๆ ครับ เพราะเป็นการให้สัมภาษณ์

ไม่ใช่พูดเดี่ยวบนเวที

“เอ็ม” เป็นผู้ดำเนินรายการ

ผมบอกคนฟังก่อนเลยว่าผมเป็นแค่ผู้พลัดหลงเข้ามาในโลกดิจิตอล

ยังใช้ชีวิตแบบงงๆ อยู่เลย

ทำ “เฟซบุ๊กไลฟ์” ก็แบบงงๆ

ขี้เกียจก็เลิก

ทำพอดแคสต์ “เดอะ เพาเวอร์ เกม” ก็เพราะ “โหน่ง” วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ของ The Standard ชวน

กะว่าจะใช้นิสัยเดิม คือ ขี้เกียจก็เลิก

ตอนแรกๆ ใช้วิธีจัดรายการแบบพรีเมียร์ลีก

คือ เป็นซีซั่น

พอจบฤดูกาลก็พัก

แล้วก็เริ่มซีซั่นใหม่

เริ่มจัดตอนก่อนเลือกตั้ง พอเลือกตั้งจบก็พัก

มาเริ่มอีกครั้งก็กะว่าพักอีก

แต่การเมืองเข้มข้นมากจนหาจังหวะพักไม่ได้เลย

ยิ่งมาเจอม็อบนักเรียน-นักศึกษาช่วงนี้

ยิ่งตื่นตาตื่นใจ

ให้พักตอนนี้ก็ยังไม่ยอมพัก

ทำพอดแคสต์มาได้พักหนึ่ง ผมก็เริ่มใส่สีสันต่างๆ เข้าไปในรายการตามประสาคนอยู่ไม่สุข

นึกถึงตอนเขียน “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” ใหม่ๆ

จากการเล่าเรื่องธุรกิจแบบง่ายๆ

ก็เริ่มเติม “อมร-สมชาย-ติ๊น”

มีเรื่องตลกๆ ตอนท้าย

จนขยายกรอบการเขียนเป็นเรื่องแรงบันดาลใจบ้าง

ลองเล่นอะไรใหม่ๆ ไปเรื่อย

ในรายการ “เดอะ เพาเวอร์ เกม” ผมก็ลองดีไซน์รูปแบบการเล่าเรื่องการเมือง

ใส่ตอบจบด้วย “คำคม” ของคนอื่น

หรือคำของตัวเองที่เขียนไว้แล้ว

ตอนหลังลองปิดด้วยเพลงดู

ก็ใช้ได้เหมือนกัน

หน้าปกในเพจหรือยูทูบ ก็ใส่อารมณ์ขันลงไป

ใช้ประสบการณ์จากการอยู่ในทีมคิดปกของ “มติชนสุดสัปดาห์”

ทั้งชื่อเรื่อง และภาพบนปกของ “เดอะ เพาเวอร์ เกม”

กลายเป็น “จุดขาย” หนึ่งของรายการ

แบบไม่ตั้งใจ

“การเขียนหนังสือ” กับ “พอดแคสต์” คล้ายกันอยู่อย่างหนึ่ง

คือ มีพื้นที่ให้คนฟังหรือคนอ่านได้จินตนาการ

ตอนเขียนหนังสือผมมี “กระดาษ” บัง

ตอนทำพอดแคสต์ ผมแอบอยู่ในหูฟัง หรือหลังจอมือถือ

เขาไม่เห็นคนเขียน

ไม่เห็นคนพูด

ปล่อยให้เสียงและตัวอักษรทำงานได้เต็มที่

ยิ่งทำงานนานๆ ยิ่งสรุปได้ว่านิสัยของผมอาจจะเหมาะกับงานลับๆ ล่อๆ แบบนี้

งานเปิดเผยตัวตน ไม่ค่อยชอบ

ตอนทำพอดแคสต์ ผมเอาเทคนิคการเขียนไปใช้ด้วย

มีการวางโครงเรื่อง

ใช้กลยุทธ์ “ขยัก-ขยี้-ขยาย” อย่างเต็มที่

ซ่อนความระหว่างบรรทัด

เพราะบางเรื่องพูดตรงๆ ไม่ได้ ต้องใช้การขี่ม้าเลียบค่าย หรือการยกตัวอย่างที่สามารถตีความได้หลายอย่าง

แล้วผมก็ค้นพบว่าเทคนิคการเขียนบางอย่างไม่เหมาะกับพอดแคสต์

เช่น การซ่อนความระหว่างบรรทัด

หรือการเขียนทิ้งปมไว้ตอนต้นแล้วมาขยายแบบเท่ๆ ตอนท้าย

การอ่านกับการฟังไม่เหมือนกันเลย

ตอนอ่านหนังสือ เราสามารถอ่านซ้ำได้

ถ้าสงสัยว่าคนเขียนซ่อนอะไรไว้หรือเปล่าก็กลับมาย้อนอ่านได้

แต่พอดแคสต์ คนฟังแล้วผ่านเลย

ซ่อนไว้ตื้นแค่ไหน

คนก็เดินผ่าน

ยิ่งกลยุทธ์การเขียนแบบเปิดไว้เรื่องหนึ่ง แล้วไปเล่าเรื่องอื่นก่อนจะตบด้วยเรื่องเก่าที่เปิดไว้

ถ้าเป็นงานเขียนจะดูคมคาย

แต่พอเป็นการเล่าเรื่องด้วยเสียง คนจะลืมว่าตอนแรกเล่าว่าอย่างไร

ผมพยายามจะใช้กลยุทธ์การทูตแบบ “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

“พูดให้ชัด แต่เตะไม่ถึง”

พอใช้ในพอดแคสต์กลับกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“เตะถึง เพราะพูดไม่ชัด”

เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการพลัดหลงเข้ามาในโลกดิจิตอลครับ