สุจิตต์ วงษ์เทศ /ร่มกระดาษ ต้นแบบฉัตร วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์

ร่มกระดาษหลายคัน คือเครื่องสูงตามประเพณี เพื่อแสดงฐานะผู้มีศักดิ์สมัยโบราณ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคอุษาคเนย์นับพันปีมาแล้ว โดยใช้สืบเนื่องถึงสมัยปราสาทนครวัดในกัมพูชาและกรุงศรีอยุธยาตอนต้น [ในภาพ เครื่องสูงตามประเพณีของเจ้านายชาวลื้อ เมืองสิง ราว 100 ปีมาแล้ว (ปัจจุบันอยู่ในลาว ติดพรมแดนมณฑลยูนนานในจีน) (ภาพโดยชาวยุโรปจากหนังสือ Chronicles of Chiang Khaeng : A Tai L? Principality of the Upper Mekong. Silkworm Books, 2008)]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ร่มกระดาษ ต้นแบบฉัตร

วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์

 

ร่มทำจากกระดาษหลายคันเป็นต้นแบบให้มีร่มซ้อนกันทำจากผ้า แล้วเรียกฉัตร เป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง มีที่มาจากร่มทำด้วยผ้าซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ชั้นบนมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่างลดหลั่นกันไปโดยลำดับ สำหรับแขวน, ปัก, ตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ (จากพจนานุกรมฯ)

ทั้งหมดเป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ ไม่เป็นประเพณีของคนกลุ่มใดโดยเฉพาะ

ร่มกระดาษหลายคัน เป็นเครื่องสูงในขบวนแห่เกียรติยศของเครือญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดกษัตริย์กัมพูชา เพื่อสมโภชพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 (ภาพสลักรูปพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 เรือน พ.ศ.1650 บนระเบียงปราสาทนครวัด ในกัมพูชา)

ภาพสลัก (บน) ขบวนแห่ของพลละโว้ (ซ้าย) ขบวนแห่ของพวกสยาม (สยามก๊ก)

 

ร่มกระดาษเป็นเครื่องยศ

เครื่องยศขุนนางบรรดาศักดิ์มีระบุในกฎมณเฑียรบาล (มาตรา 4) ว่าผู้มีศักดินา 5000 “ขี่ยั่วร่มทงยู” หมายถึงนั่งเครื่องหาม และมีเครื่องบังแดดฝนเป็นร่มกระดาษเรียกทงยู

ร่มทงยูคืออะไร? มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร?

จิตร ภูมิศักดิ์ พรรณนาว่าร่มทงยูในกฎมณเฑียรบาล คือร่มทำจากกระดาษเป็นเครื่องประดับยศผู้มีศักดิ์ที่พบในภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด (จากหนังสือ ความเป็นมาของคำสยามฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519) จะคัดบางตอนโดยสรุป ดังนี้

ร่มทงยู ที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลเห็นจะมีรูปร่างอย่างร่มประดับยศของภาพสลักที่นครวัดนั้นเอง คือคันใหญ่ ด้ามยาว และไม่ใช่ทำด้วยผ้า, อาจทำด้วยวัสดุอื่นที่ไม่จำเป็นต้องเป็นกระดาษก็ได้. (ทงยูเป็นคำภาษาเขมร ปัจจุบันเขียน ทำงยู ออกเสียงเตียงยู แปลว่า ร่มกระดาษ.)

ร่มทงยูนี้มีหลักฐานชัดเจนว่าใช้ประดับยศ และใช้บังแดดในขบวนทัพให้แก่เจ้านายบนหลังช้างด้วย. อยู่ในวรรณคดีเรื่องท้าวฮุ่งหรือเจือง ซึ่งเล่าประวัติการรบระหว่างเมืองเงินยางกับเมืองแกวปะกัน (เวียดนามภาคเหนือสุด) มีกล่าวถึงร่มทงยูหลายครั้งในขบวนเดินทัพ เช่น เจ้าหญิงอู่แก้วขึ้นขี่ช้าง มีทุงยูคันงามกางเป็นร่มกันแสงแดด เป็นต้น ซึ่งบ่งชัดว่าทุงยูคือร่มใหญ่คันยาว ใช้กางบังคนบนหลังช้างได้ เป็นแบบเดียวกับที่ภาพสลักนครวัด

คำทุงยูก็คือทงยูในกฎมณเฑียรบาลสมัยศรีอยุธยานั่นเอง แต่เพี้ยนไปแบบสำเนียงล้านช้าง คือ มักเติม อุ เช่น มงคล เป็น มุงคุน; บรม เป็น บูลม ฯลฯ และคงประสงค์จะลากเข้าความด้วย เพราะ ทุง ในภาษาล้านช้างก็คือ ธง, เป็นอย่างเดียวกับที่ไทยลากเข้าความเป็น ธงยู

ทงยู-ทุงยู อันได้แก่ร่มใหญ่ คันยาว ทำด้วยกระดาษนี้ยังมีร่องรอยอยู่ในชีวิตจริงของชาวอีสานปัจจุบัน, กล่าวคือ : พวกนายฮ้อยที่คุมโขลงควายรอนแรมจากที่ราบสูงเหนือเทือกเขาดงเร็ก ตัดช่องเขาลงมาขายยังภาคกลางแถบนครนายกนั้น จะมีร่มใหญ่ชนิดนี้กางกั้นแดดลงมาด้วย ปักนอนกันน้ำค้างได้เหมือนกลด ร่มใหญ่ที่ว่านี้ด้วยกระดาษ และเรียกว่า “คันยู” ไม่เรียกด้วยคำอื่น.

ในภาษาลาวและอีสานนั้นเรียกร่มกระดาษว่า จ้อง และเรียกร่มผ้าว่า ฮ่ม; คันยูใช้เรียกร่มกระดาษคันใหญ่ที่ใช้เดินทางไกลโดยเฉพาะ.

คำ คันยู นี้เห็นได้ชัดว่าเป็นคำเดียวกับ ทุงยู ในวรรณคดีโบราณนั้นเอง เป็นแต่มาถูกลากเข้าความเป็นคันไปเสียภายหลัง. คำ คันยู นี้ ยังมีใช้ด้วยในภาษาไทยภาคเหนือออกเสียงเป็น กันยู. ส่วนทางลาวหลวงพระบางกลายเป็นผักยู, ใช้เรียกว่าร่มกระดาษ; ร่มผ้า เรียกว่า กด (คือ กลด)

เท่าที่คัดโดยสรุปมานี้จากงานค้นคว้าของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นหลักฐานชัดเจนว่า (1) ประเพณีกั้นร่มเป็นเครื่องยศผู้สูงศักดิ์เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ และ (2) เครื่องยศผู้สูงศักดิ์สมัยอยุธยา สืบเนื่องจากราชสำนักละโว้ที่รับมรดกตกทอดจากเมืองพระนครแผ่นดินพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2

 

ร่มประดับยศ

ร่มเป็นเครื่องยศในวัฒนธรรมเขมรสมัยเมืองพระนคร เรือน พ.ศ.1600 จากรูปสลักที่ปราสาทนครวัด มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าจำนวนร่มบนรูปสลักน่าจะแสดงความสำคัญของบุคคลและระดับความสัมพันธ์ใกล้ชิดลดหลั่นระหว่างกษัตริย์กัมพูชากับพระราชาเครือญาติ ดังเห็นจากขบวนแห่ของพลละโว้มีจำนวนร่มมากพอๆ กับขบวนเสด็จของพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 ขณะที่ร่มขบวนแห่ของพวกสยามมีจำนวนลดลง

ปราสาทนครวัดทั้งหมดมีภาพสลัก (เรือน พ.ศ.1650) บนผนังหินแสดงเรื่องราวต่างๆ เพื่อสรรเสริญพระเกียรติยศพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 แต่เฉพาะผนังระเบียงประวัติศาสตร์สลักรูปขบวนแห่เกียรติยศของเครือญาติใกล้ชิดกษัตริย์อาณาจักรกัมพูชา ซึ่งมาจากบ้านเมืองแว่นแคว้นต่างๆ ทั้งใกล้และไกลสมัยนั้น ได้แก่ ละโว้ (ลพบุรี), พิมาย (นครราชสีมา), สยาม (เวียงจันและอีสาน) เป็นต้น

ภาพสลักบนระเบียงประวัติศาสตร์ของปราสาทนครวัด เคยถูกอธิบายโดยนักปราชญ์ยุโรปว่าเป็นรูปกองทัพ “เมืองขึ้น” ของกัมพูชา ได้แก่ ละโว้, พิมาย, สยาม ซึ่งถูกกัมพูชาเกณฑ์ไปช่วยรบกับจาม (ในเวียดนาม) แต่เมื่อพิจารณาใหม่แล้วพบว่าขัดแย้งกับหลักฐานความสัมพันธ์ทางการเมืองสมัยโบราณของอุษาคเนย์ตามประเพณีที่เรียกระบบเครือญาติ โดยไม่มีระบบ “เมืองขึ้น” แบบยุโรป

แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ รูปทั้งหมดที่สลักรอบปราสาทเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมสรรเสริญพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 เสวยสวรรค์เป็นพระวิษณุตามความเชื่อในลัทธิเทวราช ซึ่งมีวงศ์เครือญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดร่วมพิธีกวนเกษียรสมุทร

หากจริงตามที่นักปราชญ์ยุโรปอธิบายว่าเป็นกองทัพ “เมืองขึ้น” ก็น่าจะมีมากกว่าที่สลักไว้เพื่อเกณฑ์ไพร่พลทำสงครามซึ่งขับเคี่ยวกันนานหลายปี และไม่น่าจะต้องเข้าร่วมพิธีกรรมสำคัญนี้ ขณะเดียวกันก็ไม่น่าจะได้รับเกียรติยศสลักรูปไว้บนปราสาทศักดิ์สิทธิ์

 

กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)