จัตวา กลิ่นสุนทร : ทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง ใครว่า “ศิลปิน” ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง?

ทุกสิ่งอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาซึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง มีการเริ่มต้นขึ้นก็เพื่อจะเดินทางไปถึงการจบสิ้นแล้วก็เริ่มต้นใหม่ หมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่อย่างนี้

งานศิลปะซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ของผู้คนก็เช่นเดียวกัน เริ่มต้นจากจุดจุดหนึ่ง คิดค้นพัฒนาต่อยอดไปในรูปแบบยุคสมัย ด้วยอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินซึ่งสะท้อนเนื้อหาเรื่องราวต่างๆ รอบตัว ในสังคมที่อยู่อาศัย

ลักษณะศิลปะก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละสังคม เชื้อชาติ ศาสนา และระบอบการปกครองที่อยู่อาศัย กระทั่งการติดต่อสื่อสัมพันธ์กันก้าวหน้าขึ้นในโลกนี้ เรียกว่าโลกแคบลง ศิลปะร่วมสมัยอันเป็นสากลจึงเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ แต่ทั้งหมดนั้นอาจเหลือเพียงความรู้สึกในการแสดงออกล้วนๆ โดยทอดทิ้งรูปแบบไปสิ้น

ว่ากันว่างานศิลปะเริ่มต้นด้วยเรื่องราวรูปแบบตามธรรมชาติอันเหมือนจริง ขยับเปลี่ยนแปลงขึ้นไปจนถึงจุดทำลายรูปแบบจนหมดสิ้น เหลือไว้เพียงอารมณ์ความรู้สึก แต่สุดท้ายก็กลับมาเริ่มต้นใหม่ในแนวทางที่เหมือนจริง แต่เป็นการพัฒนาวิธีการรูปแบบเหมือนจริงอันแตกต่างออกไปจากเดิมเสมอ

 

หากย้อนกลับไปพิจารณากันจากศิลปินไทยก็จะเห็นการเริ่มเปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างชัดเจน เมื่อศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci) ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามารับราชการในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนกระทั่งได้ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ขึ้นก่อนจะได้สถาปนาเป็นคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ท่านเห็นด้วยช่วยสนับสนุน

ลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ตั้งหน้าตั้งตาศึกษางานศิลปะที่เป็นสากลมากขึ้น ทั้งงานจิตรกรรมและประติมากรรม ก่อนจะรับช่วงต่อยอดถ่ายทอดปลูกฝังสอนสั่งศิษย์ชาวไทยได้เริ่มศึกษาเรียนรู้ศิลปะร่วมสมัย

จากวันนั้นถึงวันนี้นับเวลาได้กว่า 70 ปี เชื่อว่าลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ในยุคสมัยนั้นทุ่มเทศึกษาสรรค์สร้างงานศิลปะอย่างหนักหน่วงจริงๆ มากกว่าจะมีเวลาเหลือมาให้ความสนใจกับ “การเมือง”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจุดกำเนิด “ศิลปินร่วมสมัย” ในประเทศไทยนั้นเริ่มต้นตรงนี้ ก่อนที่จะเจริญก้าวหน้าโดยได้รับการผลักดันจากอาจารย์ในยุคแรกๆ กับลูกศิษย์ที่มีความสามารถให้ได้เดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ โดยเฉพาะอิตาลี เพราะอาจารย์ท่านเป็นชาวอิตาลี แต่มาลุ่มหลงอยู่เมืองไทยจนสุดท้ายก็ปิดฉากชีวิตลงยังโรงพยาบาลศิริราช

จะว่าลูกศิษย์ท่านอาจารย์ฝรั่งไม่สนใจการเมืองเสียเลยก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะมีอยู่บ้างที่ผิดเพี้ยนไปสนใจลัทธิการปกครองอื่นจนกระทั่งทอดทิ้งการเรียนศิลปะเดินทางไปยังประเทศที่เขาชื่นชอบเพื่อศึกษาเรียนรู้ลัทธิการปกครองซึ่งไม่แตกต่างไปจากเผด็จการ


เข้าสู่ยุคการเมืองตื่นตัวในมวลหมู่นิสิตนักศึกษา ถึงขนาดออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญ” ถามหาการปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” นักศึกษาศิลปะจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ก็ให้ความสนใจเข้าร่วมด้วยช่วยกันในการแสดงออกที่ถนัดคือการเขียนโปสเตอร์ เพนต์รูป-ภาพสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นเรื่องราวในการเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านขับไล่ “เผด็จการทหาร”

แต่กลุ่มศิลปินเล็กๆ จากรั้วศิลปากรซึ่งยังมีจำนวนน้อยนิดมิได้ขยายแวดวงมากมายใหญ่โตเปิดการเรียนการสอนศิลปะในมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปเกือบทั่วประเทศอย่างเช่นปัจจุบัน ก็ยังไม่ค่อยจะให้ความสนใจการบ้านการเมือง ไม่พยายามจะเรียนรู้ด้วยซ้ำไปนอกจากการทำงานศิลปะ แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าจะทั้งหมด ในสังคมหนึ่งจะมีผู้ “เห็นต่าง” กันอยู่เสมอ แต่จะเป็นสัดส่วนมากน้อยเท่าไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อมีการกลับมาทวงคืนจากฝั่งฝ่ายเผด็จการหลังจากนิสิต นักศึกษา ประชาชาชน ช่วยกันขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารออกไปนอกประเทศได้ไม่เกิน 3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์หนักหน่วงถึงขนาดมีการปลุกระดมให้คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเองอย่างโหดร้ายทารุณกลางท้องสนามหลวง บนถนนราชดำเนิน

นิสิตนักศึกษาถูกตำรวจทหารปราบปรามอย่างทารุณ แกนนำทั้งหลายถูกจับกุมคุมขังก่อนส่งขึ้นศาลทหารเพื่อดำเนินคดี ก่อนจะมีการแก้ไขในเวลาต่อมา แต่ปัญญาชนทั้งหลายก็ทอดทิ้งแนวทางการต่อสู้ในเมืองหันหน้าเข้าสู่ป่าเพื่อร่วมกับ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย”

 

ศิลปินจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เดินทางเข้าป่ากับเขาด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนจะเข้าไปทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนนั้นมิอาจทราบได้ แปลว่า “ศิลปิน” ให้ความสนใจกับการเมืองการปกครองเพิ่มขึ้น แม้บางคนจะกลับออกมาจากป่าเนื่องจากไม่รู้จะทำอะไร? หรือช่วยเหลืออะไรผู้ร่วมอุดมการณ์ได้นอกจากการวาดรูปไปวันๆ แต่แปลว่า “กลุ่มศิลปินหน้าพระลาน” จำนวนน้อยนิดให้ความสนใจการเมืองพอสมควร

ศิลปินอาจารย์จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เรียกขานกันจนติดปากว่า “ศิลปินละแวกหน้าพระลาน” ให้ความสนใจการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดสองสามทศวรรษที่ผ่าน

โดยศิลปินจากคณะจิตรกรรมฯ “กลุ่มใหญ่” เปิดตัวอย่างชัดเจนเต็มรูปแบบในปี พ.ศ.2556 ด้วยการเข้าร่วมกับกลุ่ม “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) ซึ่งมี “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็นแกนนำ

ใช้คำว่า “ศิลปินกลุ่มใหญ่” แต่มิได้หมายความว่าทั้งหมด ซึ่งแน่นอนเหลือเกินว่าต้องมีผู้เห็นต่าง ไม่เห็นด้วยอยู่บ้างแน่ รวมทั้งพวกที่อยู่เฉยๆ ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเหมือนเช่นเคย

หากติดตามการเมืองการ “Shut down Bangkok” เมื่อปี พ.ศ.2556-2557 คงต้องรู้ว่าเหล่าศิลปินกลุ่มนี้ร่วมกับผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน โดย “เบญญา สุคนเที่ยง” กับเพื่อนๆ อย่างอาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ อาจารย์คณะจิตรกรรมฯ และศิลปินอิสระอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีความเห็นทางเดียวกับ กปปส. ได้ก่อตั้งกลุ่ม Art Lane ขึ้น

สร้างงานศิลปะขึ้นมาเพื่อสนับสนุนหาทุนช่วย กปปส. ซึ่งได้ผ่านพ้นไปแล้วอย่างที่รู้เห็นโดยทหารเข้ามา “ยึดอำนาจ” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กว่า 2 ปีแล้ว แต่งานที่อาจารย์สุธี ได้ทำขึ้นชื่อชุด Thai Uprising ได้รับการติดต่อให้ไปแสดงยังพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู เกาหลีใต้ ในนิทรรศการชุด “The truth-to turn it over” รำลึกเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1980 ซึ่งชาวเกาหลีใต้ร่วมกันเรียกร้อง และต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ”

เรื่องนี้เปิดออกมาก็เป็นการเรียกแขกจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเข้ามาตั้งคำถามทันทีว่าไปแสดงถูกงานหรือเปล่า? เพราะคอนเซ็ปต์ของงานดังกล่าวเป็นการรำลึกเหตุการณ์การต่อต้านเผด็จการทหาร แต่เป้าหมายใหญ่เน้นไปตรง Curator (ภัณฑารักษ์) ว่าไม่เข้าใจในการคัดเลือกงานไปร่วมแสดง

“ไลลา พิมานรัตน์” ภัณฑารักษ์ และเจ้าของ Lyla Gallery กล่าวว่า “เราไม่ได้วิจารณ์อาจารย์สุธี เพราะงานนี้ สิ่งที่เราวิจารณ์จริงๆ คือ เราตั้งคำถามกับภัณฑารักษ์ ว่าทำไมเขาจึงเลือกงานชุดนี้เข้าไป ทำไมเลือกงานที่บริบทสวนทางกันสุดสุด ไปอยู่ในงานตรงนั้น”


เกิดความขัดแย้งขึ้นทันทีในสังคมของผู้สนับสนุนและต่อต้าน “ศิลปินอาจารย์” ท่านนี้

ขณะเดียวกัน นักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ด้วยการประสานงาน อาจารย์ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงส่งจดหมายไปยังพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู เกาหลีใต้ ซึ่งก็ได้รับการสนองตอบ และยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกล่าวเสียใจที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ดีพอ

และได้เชิญผู้แทนจาก กวป. ให้ไปบรรยายหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ศิลปะในไทยกับการเมือง” และได้รับการตอบรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เรื่องนี้จะเป็นการสร้างความแตกแยกหรือไม่? ในวงการ “ศิลปิน” อยู่ที่ความเข้าใจกับความเป็นไปในสังคมของผู้คน เพราะความเห็นที่แตกต่างน่าจะเป็นความงดงามมากกว่า และนำไปสู่การถกเถียงแสดงเหตุผลให้เป็นที่ยอมรับได้

“ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คิดว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ควรมี มีแต่สังคมเผด็จการเท่านั้นแหละที่ทุกคนจะเห็นทุกอย่างไปในทางเดียวกันเป็นเอกฉันท์ เพราะคุณทำให้คนที่เห็นไปในทางอื่นต้องอยู่เงียบๆ” อาจารย์ธนาวิ กล่าวไว้

ใครเข้าใจว่า “ศิลปิน” ไม่ยุ่งเกี่ยวกับ “การเมือง” ต้องลองกลับไปคิดกันดูใหม่อีกที?