E-DUANG : 1 เดือน ภายใต้เงา รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

เพียง 1 เดือนหลังการประกาศและบังคับใช้ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” มีเหตุการณ์มากมาย “ปรากฏ”

เริ่มจากเสียงเรียกร้องจาก “นักการเมือง”

ไม่เพียงแต่แสดงท่าทีต่อกฎหมาย “พรรคการเมือง” หากที่สำคัญก็คือ การเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช.เพื่อนำไปสู่การ “ปลดล็อก” ทางการเมือง

เพื่อพรรคการเมืองจะได้ “ประชุม” เพื่อพรรคการเมืองจะได้จัดกิจกรรม “เคลื่อนไหว”

แม้จะถูก “ปฏิเสธ” จาก “คสช.” ทันควัน

แต่ไม่ว่าจะปลดล็อกหรือไม่ก็ตาม บรรยากาศการแสดงความเห็นต่อแต่ละปัญหาก็ปรากฏขึ้นอย่างคึกคัก

สัมผัสได้จากกรณี “เรือดำน้ำ”

สัมผัสได้จากกรณีร่างพรบ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมจริยธรรมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน อย่างที่มีการเรียกเสียใหม่ว่า

“กฎหมายควบคุม” และ “จัดระเบียบ” สื่อ

 

ถามว่าการออกมาเสนอความเห็นแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ในทางสังคม

“คสช.” สามารถสกัดและขัดขวางหรือไม่

ยากเป็นอย่างยิ่ง เพราะมิได้เป็นการไม่เห็นด้วยจากบรรดาขาประจำหน้าเดิม

หากแม้กระทั่งคนเคยเป็น “พวกเดียวกัน” ก็ออกมา

ไม่ว่าจะจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ(ทีดีอาร์ไอ) ไม่ว่าจะเป็นองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(ประเทศไทย)

ยิ่งร่างกฎหมาย “ควบคุมสื่อ” ยิ่งโก โซ บิก

 

เพราะบรรดา “องค์กรสื่อ” ที่ออกมาใส่เสื้อขาวออกโรงประท้วงล้วนแต่เคยเป็นส่วนหนึ่ง

ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

ต่อเนื่องมายังก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

บางคนยังเคยเป็นส่วนหนึ่งอยู่ภายใน “แม่น้ำ 5 สาย”ทำงานให้กับ “คสช.”มาแล้ว

เพียง 1 เดือนใต้ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557” ก็เห็นชัด

ชัดว่าหากยิ่งใกล้กับ “การเลือกตั้ง” เข้าไปมากเพียงใด “บรรยากาศ” จะออกมาอย่างไร

เพราะว่า”เป้านิ่ง” ย่อมเป็น “คสช.”