เศรษฐกิจ / เอกชนฝันถึง ครม.ประยุทธ์ 2/2 แก้โจทย์หินทันกาล ก่อนภาคธุรกิจกอดคอกันตาย

เศรษฐกิจ

 

เอกชนฝันถึง ครม.ประยุทธ์ 2/2

แก้โจทย์หินทันกาล

ก่อนภาคธุรกิจกอดคอกันตาย

 

หลังจากรอลุ้นหน้าตาทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจใหม่ ประจำรัฐบาลประยุทธ์ 2/2 มานานแรมเดือน

ในที่สุดก็สามารถวางหมากได้อย่างลงตัว ซึ่งการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้เรียกได้ว่า รัฐบาลสามารถสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนได้เปลาะหนึ่ง โดยการดึงผู้นำในเอกชนอย่างสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ มารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และปรีดี ดาวฉาย นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หวังให้เกิดพลังขับเคลื่อนประเทศ พร้อม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดทางให้ดึงเอกชนระดับหัวกะทิมาเสริมทีมได้ตลอด

ถึงแม้ว่าจะมีแววมือดีภาคเอกชนเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

แต่หลายฝ่ายยังไม่คลายความกังวลต่อหลายปัจจัยหนักอึ้งที่เข้ามาต่อเนื่อง เป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

อาทิ ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2-3 ที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ แม้ไทยเองก็เตือนอย่าการ์ดตก หากเกิดขึ้น สิ่งที่รัฐบาลทำมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทุกอย่างจะกลายเป็นศูนย์ทันที ต้องกลับไปตั้งต้นใหม่

ซึ่งทุกฝ่ายไม่มีใครต้องการให้เรื่องนี้เกิดขึ้น

 

หลายเดือนที่ผ่านมา ภาคเอกชนส่งเสียงสะท้อนถึงรัฐบาลว่าควรทำอะไรเป็นการเร่งด่วน อย่างปรัชญา สมะลาภา รองประธานหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ตะวันออก ระบุว่า หากรัฐยังไม่มีมาตรการใหม่ๆ ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังเหลืออยู่ ในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้จะเริ่มเห็นคนที่เดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นเพิ่มจำนวนทวีคูณ เพราะมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลสิ้นสุดลงแล้ว ไม่แค่เร็ว กรอบเวลาช่วยเหลือต้องนานต่อให้ตั้งตัวได้ นั่นคือความช่วยเหลืออย่างน้อยต้องถึงสิ้นปีนี้ เพื่อให้สอดรับกับการมีวัคซีนที่เพียงพอ ที่คาดว่าจะได้เห็นต้นปี 2564 แม้เชื่อว่าสถานการณ์ในประเทศและทั่วโลกเริ่มกลับมาดีขึ้น หากจากนี้ไม่มีการระบาดของโควิด-19 รอบ 2-3 ขยายวงกว้าง

ภาคเอกชนในภูมิภาคอื่น ก็มีมุมมองและเรียกร้องในทิศทางเดียวกันคือ อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขอุปสรรคที่ไม่อาจเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือไมโครเอสเอ็มอี ซึ่งไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกินครึ่งของจำนวนธุรกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเสนอหลักเกณฑ์ใหม่ อยากเสนอให้มีการแยกประเภทในการช่วยเหลือให้ชัดเจน ไม่ควรใช้มาตรฐานเดียวกัน เพราะแต่ละภาคธุรกิจได้รับความเดือดร้อนที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้รัฐบาลรีบแก้ปัญหา ไม่อยากเห็นภาคเอกชนกอดคอกันตาย อยากให้ทุกธุรกิจอยู่รอด จนถึงการสิ้นสุดของการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ทุกเสียงหนุนทันทีที่รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เสมือนศูนย์กลางที่ดูแลและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.)

พอใจที่คณะกรรมการชุดนี้จะมุ่งออกมาตรการดูแลเอสเอ็มอี รวมถึงปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้ทำได้มากขึ้น ง่ายขึ้น ครอบคลุมทุกประเภทเอสเอ็มอี

รวมถึงหาวิธีการดูแลประชาชนในกลุ่มที่เดือดร้อน ด้วยการดูแลลดค่าใช้จ่าย

ส่วนการดูแลในรูปแบบการเยียวยาจะมีน้อยลง ซึ่งจะร่วมมือกับภาคเอกชนที่อยู่ในคณะทำงาน ศบศ.เพื่อบูรณาการความร่วมมือด้วยกัน นัดแรกที่เกิดขึ้นในกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา จะได้เห็นความชัดเจนของมาตรการใหม่ในทีมเศรษฐกิจใหม่ครั้งแรก

 

ด้านรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ได้ออกตัวไว้แล้วว่า “การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่อจากนี้ จะทำผ่าน ศบศ.ที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน จะเป็นการทำงานร่วมกันของรัฐและเอกชน ยืนยันการทำงานรวดเร็ว จะมีการบูรณาการข้อมูล ทำงานร่วมมือกันไม่แยกหน่วยงาน ไม่แยกกระทรวง ไม่แยกรัฐ ไม่แยกเอกชน และคณะทำงาน ศบศ.จะเข้ามาทำหน้าที่แทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ เนื่องจากมีหน่วยงานหลายฝ่ายที่ดูแลครอบคลุมแล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถเดินหน้านโยบายได้เร็วขึ้น”

พร้อมประกาศให้ความเชื่อมั่น อย่างด้านนโยบายเร่งด่วน ระบุ รัฐบาลจะเน้นดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย ทั้งค่าครองชีพ และการจ้างงาน ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา ซึ่งจะเข้าไปดูเป็นกลุ่ม อาทิ กลุ่มเอสเอ็มอีรายเล็ก จะเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่อง และปรับโครงสร้างหนี้ หากติดในกฎระเบียบส่วนใดก็จะพยายามเข้าไปแก้ไข และจะเน้นดูแลในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการท่องเที่ยว มาตรการดูแลการจ้างงาน และการบริโภค เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยว การเดินทางและมีการจับจ่ายใช้สอยลดลง ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน

ขณะที่ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระยะต่อไป หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะเน้นดูแลเสถียรภาพทางการคลัง ทั้งการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ควบคู่กับรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% ต่อตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี)

เร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้

 

อีกหนึ่งปัญหาที่ภาคเอกชนกังวล และรัฐบาลควรเร่งแก้ไขคือปัญหาแรงงานตกงาน ตามตัวเลขสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สรุปภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2563 ซึ่งประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการจ้างงาน พบว่าจำนวนคนที่มีงานทำลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 700,000 คน เหลือ 37.1 ล้านคน หรือลดลง 1.9% และมีการว่างงานเพิ่มขึ้น 1.95% หรือ 370,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อีกทั้ง สศช.ติดตามข้อมูลพบว่า แรงงาน 1.76 ล้านคน มีสถานะทำในสถานประกอบการแต่ไม่ได้รับเงินเดือนจากนายจ้างเพราะหยุดกิจการชั่วคราวหรือบางส่วน จึงเสี่ยงตกงานหากธุรกิจยังไม่ประกอบการได้ปกติ

แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น จำนวนคนว่างงานกลุ่มนี้อาจลดลง แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีขึ้นและสถานประกอบการต้องปิดตัว จะทำให้กลุ่มนี้เสี่ยงว่างงาน

ส่วนแรงงานในระบบที่ตกงานแล้วมี 420,000 คนที่ถูกเลิกจ้างและใช้สิทธิ์ประกันสังคมตามมาตรา 33 รวมแล้วขณะนี้มีแรงงานที่มีความเสี่ยงไม่ได้รับค่าจ้าง 2.18 ล้านคน ในขณะที่ตัวเลขคนตกงาน 8 ล้านคนที่ สศช.เคยระบุเป็นความเสี่ยงในกรณีควบคุมโควิด-19 ไม่ได้

ปัญหาเรื่องการว่างงานถือเป็นปัญหาเร่งด่วนอันดับต้นๆ ที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสังคมเกิดขึ้นต่อไป ส่วนอีกหนึ่งปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามและรัฐบาลเริ่มแผ่วคือภาคการเกษตร ถึงแม้เทียบกับภาคอื่นๆ อย่างท่องเที่ยว ส่งออก หรือลงทุน แล้วอาจจะไม่ได้เสียหายมาก

แต่หลายฝ่ายมองว่าในอนาคตหากประเทศไทยมีการส่งเสริมเรื่องเทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าให้กับพืช และสมุนไพรไทย ในอนาคตภาคการเกษตรจะมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ และไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ดั่งในอดีต

       ดูเหมือนทางทฤษฎีทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจใหม่รู้ลึกรู้จริงถึงปัญหาที่เอกชนกำลังเผชิญ เหลือแค่ติดตามผลงานทางปฏิบัติ ทีมเศรษฐกิจใหม่จะเคาะมาตรการแบบใด ที่หลายฝ่ายก็ยังมองไม่พ้นแจกๆ และกู้งบฯ เพิ่ม นั่นจะดับทุกข์ดับร้อนได้จริง ได้เร็ว หรือได้แค่การถ่วงเวลา