เหรียญรุ่น 1 พ.ศ.2509 หลวงปู่ขาว อนาลโย มงคล-วัดถ้ำกลองเพล

โฟกัสพระเครื่อง :

เหรียญรุ่น 1 พ.ศ.2509 หลวงปู่ขาว อนาลโย มงคล-วัดถ้ำกลองเพล

“หลวงปู่ขาว อนาลโย” วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู พระป่ากัมมัฏฐานชื่อดัง ลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่า

แม้ไม่นิยมจัดสร้างวัตถุมงคล แต่ลูกศิษย์จัดสร้างแล้วนำไปให้ท่านอธิษฐานจิต จึงไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก

วัตถุมงคลที่หายากในปัจจุบัน คือ “เหรียญรุ่น 1 ปี พ.ศ.2509” คณะศิษย์จัดสร้างจำนวนไม่ถึงร้อยเหรียญ แล้วแจกจ่ายเฉพาะลูกศิษย์ใกล้ชิดเท่านั้น

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงกะไหล่เงิน

ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงปู่ขาวครึ่งองค์หันหน้าตรง มีอักษรนูนโค้งตามขอบด้านล่าง เขียนคำว่า “หลวงปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล อุดรธานี” (ขณะนั้นหนองบัวลำภูยังเป็นอำเภอใน จ.อุดรธานี)

ด้านหลังเหรียญ เป็นอักขระคาถาโบราณ ด้านล่างอักษรนูน เขียนตัวเลขไทย “๒๕๐๙” เป็นปีที่สร้างเหรียญ

เป็นเหรียญที่บรรดานักสะสมวัตถุมงคลต้องการ ราคาเช่าบูชาปัจจุบันติดลมบนไปแล้ว

มีนามเดิมว่า ขาว โคระถา เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม 2431 ที่บ้านชะเนง ต.หนองแก้ว อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ครอบครัวทำนาและค้าขาย

เมื่ออายุ 20 ปี บิดามารดาจัดให้มีครอบครัว จนมีบุตรด้วยกัน 3 คน ซึ่งต่อมาได้แยกทางกัน

ท่านเป็นผู้มีนิสัยเด็ดเดี่ยวเอาจริงเอาจังมาก ประกอบกับความมีศรัทธาต่อหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา

พ.ศ.2462 เมื่ออายุ 31 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดโพธิ์ศรี บ้านบ่อชะเนง ต.หนองแก้ว อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ มีพระครูพุฒิศักดิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์บุญจันทร์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลังอุปสมบท จำพรรษาที่วัดโพธิ์ศรี เป็นเวลา 6 พรรษา เนื่องจากท่านได้บังเกิดศรัทธาในปฏิปทาของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านจึงเข้าญัตติเป็นพระธรรมยุต เมื่อปี พ.ศ.2468 อายุได้ 37 ปี ที่พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี มีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วได้จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา 8 ปี

จากนั้นเดินธุดงค์ตามพระอาจารย์หลวงปู่มั่น ไปปฏิบัติธรรมในสถานที่ต่างๆ ท่านออกเดินทางไปแทบทุกภาคของประเทศ นอกจากนี้ ท่านยังได้เคยเดินธุดงค์ร่วมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ, หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นเวลารวมกันหลายปีอีกด้วย

สร้างบารมีอยู่ในป่าเขา เป็นเวลายาวนาน มีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าทั้งหลาย เช่น ลิง ค่าง ช้าง เสือ เวลาท่านนึกถึงอะไร สิ่งนั้นมักจะมา ตามความรำพึงนึกคิดเสมอ เช่น นึกถึงช้าง ว่าหายหน้าไปไหนนานไม่ผ่านมาทางนี้เลย พอตกกลางคืนดึกๆ ช้างก็จะมาหาจริงๆ และเดินตรงมายังกุฏิที่ท่านพักอยู่ พอให้ท่านทราบว่าเขามาหาแล้ว ก็จะกลับเข้าป่าไป เวลาที่ท่านนึกถึงเสือ ก็เช่นกัน นึกถึงตอนกลางวัน

ตกกลางคืนเสือก็มาเพ่นพ่านภายในวัดบริเวณที่ท่านพักอยู่

ท่านมีความเด็ดเดี่ยวในข้อวัตรปฏิบัติมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเดินจงกรมนั้นเน้นเป็นพิเศษ กล่าวคือ เมื่อฉันเสร็จ เริ่มเดินจงกรมเป็นพุทธบูชา พอถึงบ่ายสองโมงเริ่มเดินจงกรมถวายเป็นธรรมบูชา จนถึงบ่าย 4 โมง และเมื่อทำข้อวัตรเสร็จสิ้นแล้วก็จะเริ่มเดินจงกรมถวายเป็นสังฆบูชา จนถึงประมาณ 4-5 ทุ่ม จึงเข้าที่พักเพื่อบำเพ็ญภาวนาต่อไป

บำเพ็ญเพียรออกธุดงค์ เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอนตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง จนอายุ 70 ปี จึงจำพรรษาเป็นการถาวรที่วัดป่าถ้ำกลองเพล

ในช่วงบั้นปลายชีวิต มีอาการอาพาธอยู่ถึง 9 ปี แต่สุขภาพจิตยังดี มีนิสัยรื่นเริง ติดตลก ในระยะ 3 ปีสุดท้าย นัยน์ตาของท่านมืดสนิท เพราะต้อแก้วตาหรือต้อกระจก หูก็ตึงมาก เพราะหินปูนจับกระดูก แต่ท่านมิได้เดือดร้อนใจ และสามารถบอกกำหนดอายุขัยของตนเองได้

มีคำสอนที่ว่า “ทำไมเกิดมาไม่เหมือนกันล่ะ ไม่เหมือนกันคือความประพฤติ ผู้นี้เขาประพฤติดี เขามีการรักษาศีล มีการให้ทาน มีการสดับรับฟัง เขาจึงมีปัญญาดี มีการศึกษาเล่าเรียนดี อยู่ไหนก็มีแต่กรรมดี”

“ปล่อยจิตว่าง แล้วจิตสบาย เพราะจิตเป็นหนึ่งไม่ขุ่นมัว ไม่มีอารมณ์มาฉาบทาดวงจิตแล้ว ดวงจิตใส ดวงจิตขาว จิตเย็นมีแต่ความสบาย รู้เท่าสังขาร รู้เท่าความเป็นจริง จิตเราไม่หวั่นไหวต่อสิ่งทั้งปวง ถึงมรณะจะมาถึงก็ตาม ทุกข เวทนา เจ็บปวด มาถึงก็ตาม ไม่มีความหวั่นไหวต่อสิ่งเหล่านั้น”

กระทั่งวันที่ 16 พฤษภาคม 2526 มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุ 95 ปี พรรษา 64

ในวันพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2527 นั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธาน พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ในวันดังกล่าว วัดถ้ำกลองเพล ซึ่งมีอาณาบริเวณหลายพันไร่ กลับคับแคบไปถนัดตา ด้วยประชาชนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลกันมาร่วมพิธีมากเป็นประวัติการณ์