จัตวา กลิ่นสุนทร : แก้ “รัฐธรรมนูญ 2560” เรื่องยาก แต่ไม่ยากเกิน

รัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ.2560 ซึ่ง “คณะรัฐประหาร 2557” เป็นผู้ดำเนินการวางแผนแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างขึ้นภายหลังฉีกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ทิ้ง

หลังการยึดอำนาจใหม่ๆ ไม่มีใครคิดว่าเรื่องราวจะเดินทางอย่างยาวไกลจนถึงปี พ.ศ.2560 จึงได้รัฐธรรมนูญฉบับเจ้าปัญหาส่งไปให้ประชาชนลงประชามติด้วยวิธีการ และชั้นเชิงจนได้รับเสียงรับมากกว่าคัดค้าน

กว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศจะสำเร็จลงได้ด้วยฝีมือผู้สนองตอบที่ทุกวันนี้ออกมาเปิดเผยแล้วว่าจัดทำตามคำสั่ง

คณะทหารซึ่งปิดประตูตีแมวยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้งได้มาอย่างง่ายๆ เพราะมีกำลังจากกองทัพ มีปืนซื้อมาจากภาษีประชาชน ได้แต่งตั้งคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาชุดหนึ่งก่อนแล้ว แต่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการได้อยู่ยาวๆ จึงต้องตีตกยกเลิกไป เสียงบประมาณเยอะแยะก่อนจะได้เซียนกฎหมายระดับอาจารย์มาจัดทำขึ้นใหม่

อย่างไรก็ตาม ประเทศเราไม่เคยสามัคคี ต่างคนต่างแสวงหาประโยชน์ของตัวเอง จึงมีผู้วิ่งเข้าหาขั้วอำนาจเสนอตัวเข้ารับใช้มากมาย แต่ประชาชนฝ่ายไม่เห็นด้วยก็มีจำนวนมหาศาล ประเทศของเราจึงเกิดความแตกแยก บางกลุ่มเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่ดันกลับไปรับใช้ทหารออกการ์ดเชิญให้เข้ามายึดอำนาจรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง เหตุเพราะพรรคพวกกลุ่มของตนไม่ได้เป็นรัฐบาล

ประเทศนี้มีนักประชาธิปไตยจอมปลอมเดินเข้าสู่สนามการเมืองเพื่อผลประโยชน์มากกว่าเป็นปากเสียงเป็นตัวแทนรับใช้ประชาชน เป็นความจริงที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องสำหรับการเมืองเรื่องประชาธิปไตยของบ้านเรา

ตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475 กระทั่งถึงปี พ.ศ.นี้ บ้านเรามี “รัฐบาลทหาร” มากกว่า “รัฐบาลพลเรือน” ที่มาจากการเลือกตั้ง เรามีระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ แตกต่างจากประเทศประชาธิปไตยทั่วๆ ไป

 

ประเทศไทยถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารเป็นช่วงๆ ซึ่งล้วนแต่ทำการ “ยึดอำนาจ” จากรัฐบาลของประชาชนทั้งสิ้น นับระยะเวลาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง

เรามีรัฐธรรมนูญมากกว่าประเทศอื่นๆ เพราะเราจะมีการฉีกทิ้งเป็นระยะๆ แล้วร่างขึ้นมาใหม่ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ได้รับเลือกตั้งโดยทางอ้อมจากประชาชน จัดการยกร่างขึ้น จนถึงปี พ.ศ.2563 ประเทศนี้ใช้รัฐธรรมนูญไป 3 ฉบับโดยไม่ได้นับก่อนหน้านั้น

“คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.) ได้ยึดอำนาจรัฐบาลของ “พรรคไทยรักไทย” มี “นายทักษิณ ชินวัตร” เป็นหัวหน้าพรรค และเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมยกเลิกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 พร้อมตั้งคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2550 ขึ้น แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ในเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 1 ปี

รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 ซึ่งยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง ซึ่งมันคงไม่ถูกอกถูกใจผู้คนซีกที่ยังฝักใฝ่การปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ยังหวงแหนอำนาจที่ได้เหนี่ยวรั้งยึดครองสืบต่อกันมาโดยมีราษฎรเป็นเพียงส่วนประกอบ

กล่าวกันว่าการทำรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 นับว่า “เสียของ” ถึงแม้จะมีการร่วมมือร่วมใจกันทำลายพรรคการเมือง นักการเมืองอย่างพร้อมเพรียง แต่ฝ่ายประชาธิปไตยยังได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกเช่นเดิม ทำให้เกิดการรัฐประหารเงียบซ้ำใน ปี พ.ศ.2557 และรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ถูกฉีกทิ้งไปตามธรรมเนียมของประเทศนี้

การยึดอำนาจรัฐบาลดำเนินไปง่ายๆ ตามที่คาดหมายกัน และย่อมเป็นสูตรเดิมๆ ของบ้านเรา การทำรัฐประหารทุกครั้งจำเป็นต้องมีเหตุผลสนับสนุนเสมอ คนที่ถูกกำจัดลงจากอำนาจย่อมตกเป็นจำเลยสังคม มีความผิดสารพัดโดยแทบไม่ได้มีโอกาสได้แก้ต่าง

ประเทศนี้แตกแยกเป็นเสี่ยงๆ แบ่งฝ่ายเป็นสีนั้นสีนี้ ใครที่คิดไม่เหมือนฝั่งฝ่ายตนจะถูกผลักไปอยู่อีกข้างหนึ่งทันที จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีสมองอันชาญฉลาดเฉียบขาดของคนไทยที่คิดจะ “ปรองดอง” ได้

 

มีการกล่าวถึงการนิรโทษกรรมที่เรียกกันว่าคำสั่งที่ 66/23 เพื่อไม่เอาโทษแก่นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่หันหลังให้เมือง หันหน้าเข้าป่าหลังเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อจับอาวุธต่อสู้กับทางการบ้านเมือง การดำเนินนโยบายครั้งนั้นนับว่าได้ผลเกินคาดผู้ที่ปฏิเสธรัฐบาลคืนกลับสู่เมือง เพื่อดำเนินชีวิตปกติธรรมดา หลายคนเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ และกลับมาช่วยชาติบ้านเมือง

เคยมีความหวังกันแบบลมๆ แล้งๆ ว่าประเทศของเราควรจะเป็นประชาธิปไตยเสียที เราคงห่างเหินการปฏิวัติ รัฐประหาร การปกครองในระบอบเผด็จการได้แล้ว แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ยังมีการแย่งชิงอำนาจ ยึดอำนาจรัฐบาลกันเป็นระยะๆ เรื่อยมา ทั้งๆ ที่บทเรียนอันเจ็บปวดบอบช้ำได้เกิดกับทหารนักปฏิวัติหลังจากลงจากอำนาจ

หลายคนต้องจากแผ่นดินเกิดไปเสียชีวิตในต่างแดน บางท่านดิ้นรนเพื่อขอกลับบ้านหลังจากต้องหลีกลี้หนีออกไป รวมทั้งถูกดำเนินการยึดทรัพย์สิน บางท่านจบชีวิตอย่างเงียบเชียบไม่เหลือเกียรติยศศักดิ์ศรีอะไร บทเรียนที่ได้ปรากฏให้เห็นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่เคยทำให้นัก “ปฏิวัติ” รวมทั้ง “ผู้รับใช้” ทั้งหลายหลาบจำ

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ฉีกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ทิ้ง เป็นอันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นมีอายุการใช้งานแค่ 7 ปี แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาราจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)ปี พ.ศ.2557

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาฝ่ายการเมืองทั้งหลายถูกกดดัน ถูกเก็บกวาด ประชาชนถูกคุกคามเสรีภาพ เศรษฐกิจประเทศหล่นวูบตกต่ำเรื่อยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ.2563 ทั้งๆ ที่ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 เสร็จเรียบร้อยประกาศใช้ เกิดการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ.2562

ได้นายกรัฐมนตรีชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จัดตั้งรัฐบาลใหม่ (ปัจจุบัน) มาบริหารประเทศ โดยเป็นนายกรัฐมนตรีคนหน้าเดิมที่มาจากการ “ยึดอำนาจ” ปี พ.ศ.2557—

 

“คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) หลอกล่อขอเวลาประชาชนในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญอย่างยาวนานกว่า 2 ปี จึงได้เลือกตั้งในปี พ.ศ.2562 ภายใต้กติกาที่วางไว้อย่างเบ็ดเสร็จเพื่ออยู่ยาวพร้อมกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อการสืบทอดอำนาจ ทั้งวุฒิสภาที่ลากยาวรับใช้กันมาตั้งแต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ องค์กรอิสระต่างๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

หลายฝ่ายพูดถึงรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2560 กันมาตั้งแต่ยังร่างไม่เสร็จเรียบร้อยว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นการจัดทำเพื่อสนองผู้มีอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีผูกขาดทุกสมัย จำเป็นต้องทำการแก้ไข รัฐบาลไม่ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว ได้เคยรับปากกับพรรคประชาธิปัตย์ก่อนเข้าร่วมรัฐบาล โดยบรรจุการแก้รัฐธรรมนูญไว้ในนโยบาย

การแก้รัฐธรรมนูญจะดำเนินไปแบบเชื่องช้าเอื่อยเฉื่อยไม่เร่งด่วน ถึงแม้จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาการแก้ไข สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายต่างมีความเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขยากมาก เรียกว่าแทบปิดประตูตายทีเดียว เพราะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะ “สมาชิกวุฒิสภา” ที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้

รัฐบาลของประเทศไทยที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแข็งแกร่งมั่นคงในประวัติศาสตร์ มีอันเป็นไปเพราะพลังของ “คนรุ่นใหม่” นิสิต นักศึกษา ประชาชนมาแล้วหลายชุด แต่รัฐบาลปัจจุบันกลับมั่นอกมั่นใจว่าสามารถควบคุมดูแลได้

หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส (Virus) โคโรนา (โควิด-19) ในประเทศเราเบาบางลง ปรากฏการณ์กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ซึ่งเป็นการร่วมตัวกันของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนรวมตัวกันออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้ “ยุบสภา-แก้ไขรัฐธรรมนูญ-หยุดการคุกคามประชาชน”

แฟลชม็อบระบาดไปทั่วประเทศ ทั้งในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถานที่สาธารณะต่างๆ ว่ากันว่าเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลตอบรับการแก้รัฐธรรมนูญ (หรือจัดทำขึ้นใหม่)

คิดว่าเรื่องยาก คงไม่ยาก ถ้า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี “ตอบรับ” เพียงคนเดียว?