สุรชาติ บำรุงสุข : สยามในกระแสสากล! จากบางกอกสู่เจนีวา

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
AFP PHOTO / TEH ENG KOON

“การบำรุงรักษาอย่างเช่นมีในกรุงสยามทุกวันนี้ เป็นทางผิด ตรงกันข้ามต่อทางยุโรป ปราศจากแบบแผนแลกฎหมายที่เรียกว่าคอนสติติวชั่น… เหตุฉะนี้ จึงจะต้องจัดการบ้านเมือง เปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีของเก่าให้เป็นประเพณีฤๅคอนสติติวชันใหม่ ตามทางยุโรป ฤๅให้ใกล้ทางยุโรปที่สุดที่จะเป็นไปได้…”

เจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลความเห็นจัดการ

เปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 (ค.ศ.1885)

หนึ่งในข้อสังเกตที่น่าสนใจในการเมืองไทยหลังจากการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ก็คือ ทิศทางและบทบาททางการเมืองของชนชั้นนำ ผู้นำทหาร ปัญญาชน สื่อ และชนชั้นกลางในปีกอนุรักษนิยมนั้น มีท่าทีที่ชัดเจนต่อการปฏิเสธกระแสโลก

และยังเห็นชัดถึงการปฏิเสธต่อ “ความเป็นสากล” ที่ถูกใช้เป็นมาตรฐานในเวทีการเมืองโลกปัจจุบัน

ท่าทีเช่นนี้ดูจะแตกต่างอย่างมากจากอดีตที่ชนชั้นนำและกลุ่มผู้มีอำนาจในสังคมไทยมักจะเดินไปกับกระแสโลกมากกว่าจะเล่นบทบาทเดิน “ทวนกระแส”!

ประวัติศาสตร์แห่งความท้าทาย

หากพิจารณาถึงสยามในความสัมพันธ์กับกระแสโลกแล้ว อาจจะถือว่าความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นในปลายยุครัชกาลที่ 3 ต่อรัชกาลที่ 4 อันได้แก่ การเข้ามาของโลกตะวันตก

ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงระยะเวลาแห่งการถดถอยของจักรวรรดิจีน

ดังนั้น แม้ในอดีตรัฐบาลสยามจะยอมรับสถานะของความเป็น “พี่ใหญ่” ของจีนในเอเชีย แต่สภาพเช่นนี้ก็ถูกท้าทายจากการขยายอำนาจของรัฐตะวันตก

ความพ่ายแพ้ต่ออังกฤษในสงครามฝิ่น ได้ส่งผลโดยตรงต่อสถานะของจีนในความสัมพันธ์กับสยาม

ฉะนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าเมื่อรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์แล้ว ทิศทางของนโยบายต่างประเทศของสยามจึงหันไปหาตะวันตกมากขึ้น

จนนักประวัติศาสตร์ตั้งเป็นข้อสังเกตว่า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “สยามรับอังกฤษให้เป็นมหาอำนาจแทนที่จีน”

ซึ่งทิศทางเช่นนี้ได้กลายเป็นแนวทางหลักสืบเนื่องมาจนถึงยุคของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ความเป็น “ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย” ของจีนค่อยๆ ปิดฉากลง พร้อมๆ กับการขยายบทบาทและอิทธิพลของรัฐมหาอำนาจตะวันตก

โดยเฉพาะการเข้ามาของอังกฤษและฝรั่งเศส และในสมัยของรัชกาลที่ 5 ได้แสดงให้เห็นชัดว่า ไม่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับชาติมหาอำนาจตะวันตกทั้งสองจะเจ็บปวดและขมขื่นเพียงใด

แต่สยามก็จะไม่ปล่อยให้ปัญหาที่เกิดขึ้นขยายตัวจนกลายเป็นความขัดแย้งขนาดใหญ่ที่ไม่อาจควบคุมได้

ขณะเดียวกัน ในท่ามกลางความขมขื่นเช่นนี้ สยามก็ไม่อาจจะละเลยต่อการมีความสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศดังกล่าวได้

และในสภาพเช่นนี้คำตอบที่สำคัญก็คือ สยามจะต้องยืนอยู่ให้ได้กับกระแสโลกของตะวันตก ที่ไหลบ่าเข้าสู่พื้นที่แถบนี้

ตราบจนกระทั่งใน พ.ศ.2439 เมื่อรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญา “Anglo-French Entente” รับรองอธิปไตยของสยาม อันมีนัยโดยตรงในเรื่องการค้ำประกันเอกราชของสยาม

และมีนัยสืบเนื่องอีกด้วยว่า หลังจากนี้สยามจะต้องเดินไปสู่อนาคตท่ามกลางความเป็นไปของกระแสโลก

กล่าวคือ การรับรองเช่นนี้ค้ำประกันความอยู่รอดของสยามและยังทำให้เกิด “การยอมรับจากสากล” ว่าสยามมีฐานะเป็น “รัฐเอกราช” (ซึ่งก็ความความหมายถึงสถานะของการเป็น “รัฐสมัยใหม่” ในทางรัฐศาสตร์)

และสถานะเช่นนี้เป็นการยอมรับอีกด้วยว่า สยามเป็นหน่วยทางการเมืองหนึ่งในระบบระหว่างประเทศ

การกำเนิดของ “สยามรัฐ” ในท่ามกลางความเป็นไปของกระแสโลกในยุคอาณานิคมเช่นนี้ ทำให้สยามต้องสร้างความสัมพันธ์ทั้งกับอังกฤษและฝรั่งเศส

และขณะเดียวกันก็จะต้องสร้างสยามให้เป็นสากล

และยอมรับกฎกติกาที่เป็นสากลในเวทีโลก อันจะเป็นหลักประกันโดยตรงต่ออนาคตของสยาม

ทิศทางของความสำเร็จ

ความสำเร็จของการอยู่กับกระแสโลกตะวันตกทำให้สยามต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว

ไม่ว่าจะเป็นการปรับนโยบายการค้า การคลัง และการศึกษา เป็นต้น

ในสังคมสยามจะเห็นได้ว่าภาษาอังกฤษเป็นดังภาษาที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นนำและผู้ปกครองสยามล้วนเดินไปในทิศทางเช่นนี้

มีเรื่องราวต่างๆ อีกมากมายที่บ่งบอกถึงการปรับตัวของสยามในการเดินทางไปกับกระแสของโลกตะวันตก แม้ในบริบทของการเมืองการปกครอง กษัตริย์สยามก็ตระหนักดีว่า สุดท้ายแล้วสยามจะปกครองแบบเดิมไม่ได้ จำต้องเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเป็นสากลของโลก ข้อเสนอของเจ้านายและข้าราชการใน ร.ศ.103 (พ.ศ.2427) เป็นตัวอย่างชัดเจนที่เสนอให้สยามปรับการปกครองให้เป็นสากลในมาตรฐานตะวันตก

ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยอมรับว่า ทิศทางการเมืองของสยามจะต้องเป็นไปในลักษณะดังกล่าว

พระองค์เชื่อว่า “…เมืองไทยเรานี้คงจะต้องเป็นไปอย่างประเทศอื่นๆ ได้เป็นมาแล้ว คงจะต้องมีคอนสติติวชั่นอัน 1 เป็นแน่แท้ ถึงแม้การมีคอนสติติวชันจะมีโทษ… (แต่) ปัญหาว่าจะเลือกเอาอย่างไหน และคำตอบของปัญหานี้ก็มีอยู่แต่ว่า แล้วแต่ประชาชนจะเห็นชอบและประสงค์ทั่วกันเถิด…”

ดังนั้น คงอาจกล่าวได้ว่า ในกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ของสยามนั้น สยามต้องการสร้างความเป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดการยอมรับจากโลกภายนอก

ดังคำเตือนของนักปฏิรูปสยามชุดแรกที่กล่าวเตือนใน ร.ศ.103 ว่า

“ญี่ปุ่นเห็นจริงใจว่า การที่จะให้ยุโรปสงสารนั้น ได้อย่างเดียวแต่ที่จะจัดการบ้านเมืองของตนให้สมควรที่เขาจะสงสารและเกรงใจได้ ญี่ปุ่นจึงมิได้คิดหวังใจในการอุดหนุน หรือความสงสารของประเทศยุโรปเลย ตั้งใจแต่จะจัดการให้เป็นยุติธรรม และเอาข้อยุติธรรมนั้นเป็นเครื่องกดขี่ให้ประเทศยุโรปนับถือ…”

ซึ่งคำเตือนในข้างต้นมาพร้อมกับข้อเสนอที่ชัดเจนก็เลย ความอยู่รอดของสยามคือการจัดการบ้านเมือง “ให้เป็นยุติธรรม” เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก

ดังตัวอย่างของความสำเร็จของญี่ปุ่นหลังการปฏิรูปเมจิ ฉะนั้น ความอยู่รอดของสยามในมุมมองเช่นนี้ก็คือ จะ “ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในทางทะนุบำรุงรักษาบ้านเมือง ตามทางญี่ปุ่นที่ได้เดินทางยุโรปมาแล้ว แลซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีศิวิไลซ์ นับกันว่าเป็นทางเดียวที่จะรักษาบ้านเมืองได้”

ว่าที่จริงแล้ว ผู้นำสยามเดินไปในทิศทางเช่นนี้มาโดยตลอด

ชนชั้นนำสยามตระหนักดีว่า สยามไม่ได้แข็งแรงจนสามารถฝืนกระแสโลก

หากแต่ความอยู่รอดของสยามคือการเดินไปในทิศทางของกระแสโลก เพื่อให้สยามได้รับการยอมรับจากสากล… ยอมรับในฐานะว่าเป็นหนึ่งใน “อารยรัฐ” ในเวทีโลก ผู้นำสยามไม่ต้องการถูกมองว่าเป็น “อนารยชน” จึงนำไปสู่ความพยายามในการปรับปรุงระบบการเมืองของประเทศ พร้อมๆ กับการยกเลิกประเพณีเก่าที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็น “รัฐโบราณ” ที่ไม่สะท้อนถึงความเป็นอารยะ อันได้แก่ การเลิกทาส การยกเลิกขนบไพร่ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงการกำหนดทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติในยุคของการสร้างรัฐสมัยใหม่ของสยามว่า สยามต้องเป็นชาติอารยะในเวทีการเมืองโลก

และขณะเดียวกัน สยามก็มีมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับชาติอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับในสากล และการมีความเป็นสากลเช่นนี้ไม่แต่เพียงจะเป็นเครื่องมือให้สยามได้รับความนับถือจากชาติอื่นๆ เท่านั้น หากยังจะเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติภูมิในความเป็นชาติของสยามอีกด้วย

ความผันผวนของกระแสโลก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญในเวทีโลกก็คือ การแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจ ซึ่งผลจากการแข่งขันเช่นนี้ย่อมกระทบโดยตรงต่อการเลือกทิศทางในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และการแข่งขันเช่นนี้ยังทำให้เกิดความผันผวนในเวทีโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนกลายเป็นความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญต่ออนาคตของประเทศด้วย

เพราะการตัดสินใจเลือกเดินไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ย่อมกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในของไทยเช่นกัน

ในขณะเดียวกันก็อาจกระทบต่อสถานะและเกียรติภูมิของประเทศอีกด้วย

ความผันผวนที่เป็นบททดสอบชุดแรกเกิดเมื่อความขัดแย้งของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในยุโรปปะทุจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 สุดท้ายแล้ว ราชสำนักสยามตัดสินใจเข้าสู่สงคราม และสงครามจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายที่สยามเลือกเข้าข้างด้วย

อันส่งผลให้สยามกลายเป็น “รัฐผู้ชนะสงคราม”

สภาพเช่นนี้ส่งเสริมสถานะของสยามในเวทีระหว่างประเทศโดยตรง จนสยามได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกของสันนิบาตชาติ ด้วยความเชื่อว่าสยามจะเป็นรัฐหนึ่งที่ให้ความเคารพต่อกฎกติการะหว่างประเทศ และสยามจะเป็นผู้ค้ำจุนให้เกิดสันติภาพในเวทีโลกภายใต้การดำเนินการของสันนิบาตชาติ

บททดสอบที่สองมาพร้อมกับความขัดแย้งอีกครั้งของรัฐมหาอำนาจใหญ่จนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำทหารไทยตัดสินใจเลือกข้างใหม่

จากเดิมที่เคยยืนกับตะวันตกในสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้นำทหารไทยเลือกยืนกับฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของอักษะ แต่ด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลวอชิงตัน ไทยไม่ถูกทำให้ต้องเสียเกียรติภูมิจากการแพ้สงครามร่วมกับฝ่ายอักษะ… ญี่ปุ่นแพ้ แต่ไทยไม่แพ้… เกียรติภูมิของประเทศถูกรักษาไว้ได้ด้วยความช่วยเหลือและการสนับสนุนทางการเมืองของรัฐมหาอำนาจใหม่ของโลกคือสหรัฐอเมริกา แล้วผู้นำไทยก็เดินเข้าหาสหรัฐ

บททดสอบที่สามมากับสถานการณ์สงครามเย็น ผู้นำทหารไทยเลือกที่จะสร้างสถานะของประเทศด้วยการยืนเคียงข้างฝ่ายตะวันตกในสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์

และการมีบทบาทในสหประชาชาติ และสถานะเช่นนี้ได้รับการค้ำประกันด้วยการยอมรับจากสหรัฐ

อีกทั้งการเยือนตะวันตกของผู้นำระดับสูงของไทยคือภาพสะท้อนในกรณีนี้

ตลอดรวมถึงบทบาทในด้านต่างๆ ของไทยในเวทีสากลที่มาจากการสนับสนุนของรัฐมหาอำนาจตะวันตก

แต่เมื่อกระแสโลกเปลี่ยน เกียรติภูมิของประเทศมาจากกระแสประชาธิปไตยที่ก่อตัวภายใน โดยเฉพาะชัยชนะในการล้มระบอบเผด็จการในปี 2535 จนไทยถูกมองว่าเป็น “ตัวแบบประชาธิปไตย” ในภูมิภาคขณะนั้น ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเห็นถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

ไม่ว่าจะเป็นในอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ก็ตาม และยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเห็นถึงแสงสว่างของประชาธิปไตยในพม่า แต่ไทยเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย

สนามสอบที่เจนีวา

บททดสอบครั้งสำคัญเกิดในยุคหลังสงครามเย็น ที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ ถ้าจะเรียกด้วยภาษารัฐศาสตร์ ก็คงต้องกล่าวว่าเป็น “คลื่นประชาธิปไตยลูกที่ 3” ที่พัดพากระแสประชาธิปไตยไปทั่วโลก

อันส่งผลให้ประชาธิปไตยกลายเป็นกระแสสากลในการเมืองโลก และอาจกล่าวเปรียบเทียบได้ว่า ชัยชนะในการต่อสู้ของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2535 คือจุดเริ่มต้นของคลื่นประชาธิปไตยลูกที่ 3 ในไทย แต่กระแสประชาธิปไตยก็ไม่เคยเดินไปถึงจุดปลายทางที่นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของระบอบนี้ และล้มลงด้วยการรัฐประหารถึง 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557…

เกียรติภูมิของไทยในความเป็นรัฐประชาธิปไตยในเวทีสากลก็ถึงจุดจบ

และจุดจบนี้ยังถูกตอกย้ำอย่างมากจากการใช้ความรุนแรงในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีการล้อมปราบที่ราชประสงค์ในปี 2553

และปัญหานี้ยังถูกสำทับจากปฏิบัติการในรูปแบบต่างๆ และการใช้มาตรา 44 ของฝ่ายทหารหลังจากรัฐประหาร 2557

ปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นนอกจากจะไม่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในเวทีสากลแล้ว ยังทำลายสถานะของรัฐไทยในสถานการณ์ปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จนต้องยอมรับความเป็นจริงว่า โลกจับต้องเฝ้ามองความเป็นไปในการเมืองไทย ด้วยความกังวลใจ

และปัญหานี้สะท้อนชัดเจนจากคำถามในเวทีสิทธิมนุษยชนที่เจนีวา รัฐบาลไทยถูกทดสอบอย่างหนักจนเสมือนกับการสอบตก เพราะสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศที่มีการจับกุมผู้เห็นต่างเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่ตกเพราะความอ่อนด้อยของคณะผู้ชี้แจงฝ่ายไทย

โลกอยากเห็นไทยกลับสู่ความเป็นสากลอีกครั้ง ไม่มีใครอยากเห็นไทยตกอยู่ในวังวนของระบอบอำนาจนิยม ที่การเมืองถูกพันธนาการอยู่กับความไร้ประชาธิปไตย ไร้สิทธิเสรีภาพ ไร้สิทธิมนุษยชน

จนในที่สุดกลายเป็นความไร้บรรทัดฐานสำหรับการอยู่อย่างสากลในกระแสโลกปัจจุบัน แต่ประวัติศาสตร์นักปฏิรูปสยามได้ต่อสู้ในทิศทางเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2427 แล้ว แม้เส้นทางการต่อสู้จะยาวนาน แต่ข้อเรียกร้องให้ไทยเป็นสากลจะไม่มีวันยุติเป็นอันขาด!