พระเจ้าอโศกไม่เคยส่งสมณทูตมาสุวรรณภูมิ เขาทำเทียม ที่เมืองอู่ทอง ก็ไม่ใช่วัดแห่งแรกของไทยในยุคพระเจ้าอโศก

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
จารึก "ปุษยศิริ" ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง (ที่มาภาพประกอบ: http://yothinin.blogpost.com/2015/01/blog-post.html)

เมื่อไม่กี่วันก่อนผมได้มีโอกาสรับชมรายการโทรทัศน์ ที่มีผู้ประกาศข่าวคนดังของโทรทัศน์ช่องหนึ่งเป็นพิธีกร

คุณผู้ประกาศข่าวคนนี้ก็ได้พาเราไปเที่ยวเมืองโบราณอู่ทอง ที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยมีไฮไลต์อยู่ที่การพาคุณผู้ชมทั้งหลาย (รวมทั้งตัวผมเองด้วย) ไปเยี่ยมชมวัดแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งทางรายการอ้างว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อพระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ “สมณทูต” ที่ “พระเจ้าอโศกมหาราช” แห่งราชวงศ์โมริยะในอินเดีย ส่งมายังสุวรรณภูมิเมื่อ พ.ศ.200 เศษๆ

และแม้ว่าจะเป็นการทำร้ายจิตใจคุณผู้ชมรายการทั้งหลาย, แฟนคลับของคุณผู้ประกาศข่าวคนดัง, ตัวคุณผู้ประกาศข่าว และแม้กระทั่งพุทธศาสนิกชนผู้ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาไปบ้าง

แต่ผมคงต้องแสดงความเสียใจที่ต้องสารภาพออกมาว่า “พระโสณเถระ” และ “พระอุตตรเถระ” ไม่เคยเดินทางมายัง “สุวรรณภูมิ” อย่างที่มักเข้าใจกันไปผิดๆ

 

อย่าเพิ่งเถียงผมนะครับ

แน่นอนว่ามีชื่อของพระเถระทั้งสองอยู่ในจารึกของพระเจ้าอโศกเมื่อช่วงศตวรรษของ พ.ศ.200 ซ้ำยังมีการขุดค้นทางโบราณคดีจนพบพระธาตุของพระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ จากสถูปเก่าแก่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียอีกด้วยก็ตาม

แต่จารึกของพระเจ้าอโศกนี้ไม่เคยกล่าวว่าส่งมหาเถระทั้งสองมาเป็นสมณทูตยังสุวรรณภูมิเลย

ทั้งๆ ที่โดยปกติแล้ว เมื่อพระเจ้าอโศกได้ทรงส่งสมณทูตไปยังดินแดนแห่งใด ก็มักจะทรงจัดทำจารึกระบุไว้อย่างชัดเจนเสมอ

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการที่พระเจ้าอโศกได้ทรงส่งสมณทูตมายังสุวรรณภูมิมีระบุอยู่ใน “มหาวงศ์” พงศาวดารลังกาทวีป ที่มีอายุอ่อนลงมากว่ารัชสมัยของพระองค์อีกมากคือถัดมาอีกราว 700 ปีเศษ หรือเมื่อเกือบ พ.ศ.1000 แล้วต่างหาก

พูดง่ายๆ อีกทีหนึ่งก็ได้ว่า เรื่องพระเจ้าอโศกส่งพระอุตตรเถระและพระโสณเถระมาเผยแผ่พุทธศาสนายังสุวรรณภูมิ เป็นสิ่งที่ถูกเขียนขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1000 โดยอ้างอิงถึงตัวละครที่เคยมีชีวิตอยู่จริงในประวัติศาสตร์

แต่ตัวละครเหล่านั้นไม่ได้เคยเดินทางไปยังสุวรรณภูมิเสียหน่อย?

ดังนั้น การที่ใครจะอ้างว่า มีวัดหรืออะไรก็ตามในพื้นที่ประเทศไทย (และรวมทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ ที่ในสมัยโบราณแขกอินเดียเขาเรียกว่าสุวรรณภูมินี้) ที่สร้างขึ้นโดยพระสมณทูตทั้งสอง ที่พระเจ้าอโศกส่งมานั้น จึงเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง ก็ในเมื่อพวกท่านทั้งสองไม่เคยธุดงค์เฉียดมาถึงอู่ทอง นครปฐม หรือชุมชนโบราณแห่งไหนละแวกนี้เลยนี่ครับ?

 

มีการอ้างว่า “จารึกปุษยคิริ” พบอยู่ที่บนยอดเขาทำเทียม (ชื่อเขาทำเทียมนี้ ในขุนช้างขุนแผนเรียกเขาธรรมเธียร) จารึกหลักนี้มีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวของพระเจ้าอโศก จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีผุดพุทธิไอเดียขึ้นมาว่า วัดเขาทำเทียมมีมาตั้งแต่ยุคที่พระเจ้าอโศกส่งสมณทูตเข้ามาเช่นกัน

ชื่อภูเขา? (คีรี) ลูกที่ว่านี้ คุณลักษณา จีระจันทร์ นักสารคดี ผู้ปลุกปั้นตามรอยพระพุทธเจ้า เคยเขียนบทความอธิบายไว้ว่า มีปรากฏอยู่ในบันทึกการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎก ณ ชมพูทวีปของพระภิกษุเหี้ยนจัง หรือพระถังซัมจั๋ง ดังความว่า

“ในหุบเขาอันเป็นพรมแดนด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ (แคว้นอุฑร) มีอารามชื่อ ปุษปคีรีสังฆาราม สถูปหินในอารามศักดิ์สิทธิ์มาก ในวันอุโบสถมักจะเปล่งรัศมีโชติช่วง พุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกลมักจะมาชุมนุมกันที่วัดนี้”

พระถังซัมจั๋งท่านยังอ้างไว้อีกว่า สถูปองค์นี้เป็นพระเจ้าอโศกมาสร้างไว้

แคว้นอุฑรที่ว่า ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐโอริสสา การขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ.2539-2544 โดย The Orissan Institute of Maritime and Southeast Asian Studies ได้ค้นพบสถูปองค์ที่มีอยู่ในบันทึก โดยสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศก

แต่จารึกปุษยคิริที่พบที่อู่ทองเขียนขึ้นด้วยอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุได้อยู่ในช่วงระหว่างเรือน พ.ศ.1200-1300 ห่างจากสมัยของพระเจ้าอโศกประมาณหนึ่งพันปี จึงไม่มีทางที่จารึกหลักนี้จะย้อนอายุเก่าไปได้ถึงสมัยของพระองค์

 

ซํ้าร้ายถิ่นฐานดั้งเดิมของจารึกหลักนี้ยังถูกบันทึกข้อมูลไว้อย่างคลุมเครือ

แต่เดิมเคยมีการอ่านถ้อยคำที่สลักอยู่บนจารึกหลักนี้ว่า “ปุมยะคีรี” อย่างที่มีพิมพ์อยู่ในจารึกในประเทศไทย เล่มที่ 1 จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร และมีฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทยที่ให้บริการสืบค้นฟรีทางอินเตอร์เน็ตบางแห่งนำไปใช้อ้างอิง พร้อมกับอธิบายว่า พบที่ ต.คูบัว จ.ราชบุรี?

ต่อมามีการอ่านทาน และปรับแก้ในชั้นหลังจากที่มีการตีพิมพ์หนังสือที่ว่าแล้ว ตัวจารึกซึ่งในฐานข้อมูลจารึกดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานว่าอยู่ที่ใด ทั้งๆ ที่ที่จริงแล้วจารึกหลักนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง มานานปีดีดัก?

อู่ทองเป็นเมืองเก่าแก่มาก่อนรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีปแล้วกลายเป็นรัฐ ที่นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี กำหนดเรียกกันว่า “ทวารวดี” แน่นอนครับ ทั้งภายในทั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และบริเวณคูเมืองอู่ทองเอง เคยขุดเจอหลักฐานของชุมชนยุคก่อนใช้ตัวอักษร และเข้ารีตเป็นพราหมณ์ เป็นพุทธ อยู่ด้วย

แต่เมื่อไม่มีหลักฐานยืนยันก็ไม่ควรลากเข้าความไปว่า พระเจ้าอโศกเคยส่งสมณทูตมาที่นี่

ผมไม่ได้หมายความว่า ในสมัยพระเจ้าอโศก อู่ทอง ไม่ได้เป็นบ้านเป็นเมือง ในสมัยนั้นพระองค์ก็รู้จักกับดินแดนที่ชื่อว่า “สุวรรณภูมิ” แล้ว ชาวตะวันตกเองก็เรียกดินแดนอุษาคเนย์ว่า Regio Aurea ซึ่งก็แปลว่า ดินแดนทอง ไม่ต่างจากที่จีนเรียกเราว่า จินหลิน

อาจารย์มานิต วัลลิโภดม (ล่วงลับ) ศิษย์เอกท่านหนึ่งในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยสันนิษฐานว่า “อู่ทอง” (ถึงแม้ว่าชื่อ “อู่ทอง” นี้จะเป็นชื่อที่กรมดำรงฯ ตั้งให้ใหม่เพราะมีตำนานเรื่องท้าวอู่ทองหนีโรคระบาดอยู่ที่นี่ก็เถอะ) มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “สุวรรณภูมิ” ในบันทึกของอินเดีย และ “จินหลิน” ในเอกสารทางฝ่ายจีน ซึ่งล้วนแต่หมายถึงดินแดนที่บริบูรณ์ไปด้วยทอง หรือความมั่งคั่ง

แต่คำว่า “สุวรรณภูมิ” ก็ไม่ต่างไปจากคำว่า “สุพรรณภูมิ” ซึ่งเป็นชื่อเชื้อสายราชวงศ์อยุธยายุคแรกเริ่มที่มีพื้นเพมาจากสุพรรณบุรี และก็มีความหมายเดียวกันเลยกับชื่อ “สุพรรณบุรี” ในเอกสารยุคหลัง

หมายความว่า อู่ทอง เก่าแก่และติดต่อกับโลกภายนอกกันมาตั้งแต่ยุคพระเจ้าอโศกนั่นแหละ เพียงแต่ยังไม่ยอมรับเอาศาสนาของเขาเข้ามาเท่านั้น

 

ก่อนรับศาสนาพุทธหรือพราหมณ์เข้ามาจากชมพูทวีป (และลังกาทวีป) คนพื้นเมืองอุษาคเนย์มีลัทธิความเชื่อเป็นของตนเอง เรียกกันในหมู่นักวิชาการว่าศาสนา “ผี” เพราะนับถือผีบรรพบุรุษ ไม่ใช่ผีแลบลิ้นปลิ้นตา หรือยืดมือยาวเก็บมะนาวจากใต้ถุนได้อย่างความเข้าใจในปัจจุบัน

เขาทำเทียมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทือกเขากลางเมืองอู่ทอง ที่ประกอบไปด้วยเขาพระ เขาพุหางนาค เขาทำเทียม และเขาถ้ำเสือ ในบรรดาเขาเหล่านี้ยังมีร่องรอยหลักฐานของศาสนาผีในยุคก่อนรับวัฒนธรรมศาสนาพุทธ-พราหมณ์

แปลง่ายๆ ว่าเทือกเขาแห่งนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก่อนที่ศาสนาพุทธ-พราหมณ์จะถูกอิมพอร์ตเข้ามา และก็คงศักดิ์สิทธิ์พอๆ กันทุกเขา ชื่อ “ปุษยคิริ” ในจารึกจึงอาจจะไม่ได้หมายถึงเฉพาะเขาทำเทียม แต่หมายถึงเขาเทือกนี้ทั้งเทือก และถ้าจะพูดลงไปให้ชัด นี่ก็เป็นแค่อีกตัวอย่างหนึ่งของการเอาเสื้อนอก made in India มาสวมทับ ให้ไม่ตกเทรนด์ในยุคโน้น ไม่ต่างจากการยืมเอาชื่อเมืองในอินเดียอย่างอยุธยามาตั้งเป็นชื่อเมืองของเราเองเท่านั้นแหละ

พระเจ้าอโศกนั้นรู้จักสุวรรณภูมิแน่ แต่พระองค์ไม่เคยส่งสมณทูตคนไหนมายังดินแดนแห่งนี้เลยสักคน แล้วมันจะมีวัดที่สร้างขึ้นโดยสมณทูตของพระเจ้าอโศกอยู่ที่เมืองอู่ทองได้ยังไงเล่าครับ?