สุจิตต์ วงษ์เทศ/อุทัยธานีมีบรรพชน หลายพันปีมาแล้ว

สุจิตต์ วงษ์เทศ

อุทัยธานีมีบรรพชน

หลายพันปีมาแล้ว

 

อุทัยธานีมีคนดึกดำบรรพ์ตั้งหลักแหล่งอยู่รวมกันเป็นชุมชนเริ่มแรกราว 3,000 ปีมาแล้ว ทำการเกษตรแบบดั้งเดิมมีปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทำเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยหิน, ไม้, โลหะ

คนกลุ่มแรกที่อุทัยธานีล้วน “ไม่ไทย” เพราะยังไม่พบหลักฐานว่าคนสมัยนั้นพูดภาษาอะไร? แต่ทางวัฒนธรรมคนกลุ่มแรกเหล่านั้นล้วนเป็นบรรพชนคนไทยปัจจุบันและล้วนเป็นบรรพชนคนอุทัยธานี โดยศึกษาจากระบบความเชื่อและอื่นๆ ที่ยังสืบเนื่องจนทุกวันนี้

หมาและควายเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร [ลายเส้นคัดลอกจากหนังสือ ศิลปะถ้ำเขาปลาร้า อุทัยธานี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2533]

“คน” เสมอหน้ากัน ก่อนเป็น “คนไทย”

ก่อนเรียกตนเองว่าไทยหรือคนไทยในสมัยหลังๆ บรรดาบรรพชนเหล่านั้นล้วนเป็น “คน” เสมอหน้ากันเผ่าพันธุ์ต่างๆ ที่ยังไม่พบหลักฐานว่าเรียกตนเองอะไร? ทำไม?

แต่พบประเพณีพิธีกรรมร่วมกันอย่างกว้างๆ ได้แก่ นับถือศาสนาผี มีความเชื่อเรื่องขวัญว่าคนตาย ส่วนขวัญไม่ตาย เมื่อคนชั้นนำของเผ่าพันธุ์ตายต้องฝังศพรอขวัญคืนร่าง หลุมฝังศพมีหินตั้งล้อมวงเรียกสมัยหลังว่า “วงตีไก่” แสดงความเฮี้ยนของสถานที่

นับถือศาสนาผี (ผี หมายถึง อำนาจเหนือธรรมชาติที่จับต้องไม่ได้และมองไม่เห็น) เป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์และในโลก ก่อนมีศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และก่อนมีการติดต่อกับอินเดีย

เชื่อเรื่องขวัญ หมายถึง ส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ ลักษณะเป็นหน่วยมีหลายหน่วย แต่ละหน่วยสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ เป็นต้น

ความเชื่อเรื่องขวัญที่สำคัญ ได้แก่ เชื่อว่าคนตาย ขวัญไม่ตาย แต่ขวัญหายจากร่างไปชั่วคราว แล้วหาทางกลับร่างไม่ถูก ถ้าเรียกขวัญคืนร่างได้คนก็ฟื้นคืนปกติ จึงมีพิธีเรียกขวัญต่อเนื่องหลายวันหลายคืนเพื่อขอให้ขวัญกลับเข้าร่าง ครั้นหลังจากนั้นมีพิธีส่งขวัญงานศพขึ้นฟ้า (แล้วถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวดอภิธรรมสืบจนทุกวันนี้)

ไม่มีความเชื่อเรื่องวิญญาณตามคำสอนทางศาสนาพุทธเพราะยังไม่ติดต่ออินเดีย จึงยังไม่เชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิด (แม้หลังรับความเชื่อทางพุทธ-พราหมณ์แล้ว คนก็ยังเชื่อขวัญ แต่เอาปนกันกับวิญญาณจนบางครั้งเรียกขวัญว่าวิญญาณ)

ฝังศพ เมื่อมีคนตายต้องฝังศพรอขวัญคืนร่างตามความเชื่อเรื่องขวัญ โดยเฉพาะคนตายเป็นคนชั้นนำตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ในหลุมฝังศพจะรวบรวมของมีค่า เครื่องมือเครื่องใช้ฝังรวมไปด้วย เพื่อใช้ประจำวันขณะเป็นผีขวัญ

ส่วนคนตายทั่วไปที่ไม่อยู่ในตระกูลคนชั้นนำ ก็หามไปทิ้งกลางทุ่งกลางนาตามป่าเขาให้แร้งกากิน

หินตั้ง “วงตีไก่” ที่ฝังศพคนชั้นนำเพื่อรอขวัญคืนร่างเป็นบริเวณลานกลางหมู่บ้าน สถานประกอบพิธีกรรมของชุมชน โดยมีหินเป็นแท่งหรือเป็นแผ่นปักล้อมเป็นวงกลม เรียก “หินตั้ง” แสดงขอบเขตเฮี้ยนหรือขลัง

ต่อมาบางพื้นที่ทำเป็นเนินมี “หินตั้ง” โดยรอบ แล้วขุดคูน้ำล้อมรอบเรียกสมัยหลังว่า “วงตีไก่”

ภาพเขียนรูปบรรพชน ผนังถ้ำบนเขาปลาร้ามีภาพเขียนเป็นรูปบรรพชนที่ตายแล้ว มีวิถีปกติเหมือนเมื่อยังไม่ตาย แต่อยู่ในสภาพต่างมิติ จับต้องไม่ได้ และมองไม่เห็น เป็นหลักฐานสำคัญว่าเขาปลาร้าเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ “เฮี้ยน” ศูนย์กลางของคนหลายเผ่าพันธุ์

รูปบรรพชนคนที่ตายแล้วเจตนาวาดไม่เหมือนคนจริง ดูจากร่างกายผิดส่วนคนจริง เพราะต้องการสื่อให้รู้ว่าเป็นขวัญของคนตายเป็นผี บางทีเรียก “ผีขวัญ” เห็นแล้วรู้สึก “เฮี้ยน”

รูปทั้งหมดแสดงออกให้เห็นด้านข้าง อันมีต้นตอจากเล่นเงา แล้ววาดรูปไปตามเงาทาบทับบนผนังถ้ำ (เพราะภาพเขียนหลายพันปีแล้วในถ้ำและเพิงผา มีต้นตอจากพิธีเล่นเงาในพิธีกรรมเซ่นผีบรรพชนสมัยก่อนหน้านั้น)

ภาพเขียนบางรูปทำบางส่วนโปร่งแสง (แบบเอ็กซเรย์) เป็นต้นตอหนังตะลุงกับหนังใหญ่ ฉลุหนังเป็นลวดลายโปร่งแสงเพื่อแสงไฟลอดผ่านได้ไปทาบทับบนผนังหรือจอผ้าขาว

หมาและควาย เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม เพื่อความอุด,สมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหารของคนและชุมชนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว จึงพบรูปหมาและควายบนภาพเขียนในถ้ำบนเขาปลาร้า

หมานำทางให้คนล่าสัตว์ในชีวิตประจำวัน และหมานำทางขึ้นฟ้าให้ขวัญของคนตายไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับแถนหรือผีฟ้า ครั้นขากลับได้นำพันธุ์ข้าวจากฟ้าลงมาให้มนุษย์ปลูกไว้กิน จึงพบรูปหมาทำท่าเหินหาวลงจากฟ้า

บวดควาย ควายเปลี่ยว (หรือเปรียว แต่อีสานเรียกควายฮ้า) เป็นควายตัวผู้ มีอาการดุร้าย แข็งข้อ ไม่อยู่ในความควบคุมของคน เจ้าของควายเปลี่ยวต้องมีพิธี “บวดควาย” เพื่อกำราบปราบปราม

[บวดควาย หมายถึงควบคุมควายให้อยู่ในคำสั่งของคน (คำว่า “บวด” เหลือเค้าในภาษาถิ่นใต้ ใช้เรียกบวดวัว หรือวัวบวด เมื่อล้มวัวในการชนวัวพนัน)]

บวดควายสมัยต่อมาถูกดัดแปลงเป็นการละเล่นในพิธีขอฝน แล้วมีสืบเนื่องสมัยหลังเรียก “กระอั้วแทงควาย” ปัจจุบันรู้จักในชื่อ “กระตั้วแทงเสือ”

 

แหล่งถลุงเหล็ก

ต่อมาคนดั้งเดิมลุ่มน้ำสะแกกรัง อุทัยธานี รู้จักเทคโนโลยีก้าวหน้าจากภายนอก โดยเฉพาะการถลุงเหล็กทำเครื่องมือเครื่องใช้และส่งออกแลกเปลี่ยนซื้อขายตามเส้นทางคมนาคมดินแดนภายใน ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือราวหลัง พ.ศ.500

เหล็กเป็นทรัพยากรสำคัญกระตุ้นชุมชนดั้งเดิมให้เติบโตเป็นบ้านเมืองและรัฐสมัยการค้าโลกเริ่มแรก (ป้จจุบันมักเรียกสมัยทวารวดี) ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1000

หลังจากนั้นบ้านเมืองลุ่มน้ำสะแกกรัง อุทัยธานี เป็นส่วนหนึ่งของรัฐเจนลีฟู และ/หรือรัฐสุพรรณภูมิ ซึ่งเริ่มพูดภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้า ราว 800 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1700

กระทั่งลุ่มน้ำสะแกกรัง อุทัยธานี สืบเนื่องเป็นพื้นที่ชายขอบแหล่งทรัพยากรเหล็กและ “ของป่า” แล้วกลายตนเป็นคนไทยของรัฐอยุธยา