การ์ตูนที่รัก/ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ / Asian Comics (2)

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Asian Comics (2)

 

มาอ่านหนังสืออ้างอิงอีกเล่มหนึ่งต่อ Asian Comics การ์ตูนเอเชีย เขียนโดย John A. Lent , University Press of Mississippi ปี 2015 ว่าด้วยการ์ตูนไทย ปีที่ซื้อราคา 1,362 บาท ที่คิโนะคุนิยะ จอห์น เอ. เลนต์ มีผลงานวิชาการเป็นที่อ้างอิงมากมาย

ต่อจากฉบับที่แล้ว

 

ไทยวัฒนาพานิชเป็นสำนักพิมพ์ผลิตตำราเรียนและหนังสือวิชาการ ออกนิตยสารชัยพฤกษ์การ์ตูน (Chaiyapruek Cartoon) สำหรับเด็กเมื่อปี 1971 มีดาราเจ้าประจำหลายคน เป็นที่จดจำคือทาร์ซานและเจ้าจุ่น (Tarzan &Joon) นิตยสารเลิกไปในทศวรรษที่ 1990

ปี 1981 กลุ่มเบญจรงค์ (Benjarong) ประกอบด้วยเตรียม ชาชุมพร โอม รัชเวทย์ สมชาย ปานประชา สุรพล พิทยาสกุล เฉลิม อัคคะพู (หนังสือเขียนเป็นภาษาอังกฤษ) ออกนิตยสารเพื่อนการ์ตูนรายเดือน (Phuean Cartoon)

เตรียม ชาชุมพร (Triam Chachumporn) เป็นนักเขียนที่โดดเด่น เขาเขียนให้ชัยพฤกษ์การ์ตูน การ์ตูนเล่มละบาท ภาพประกอบตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ และการ์ตูนภาพแบบกราฟิกโนเวล

สากลพับลิชชิ่งและบางกอกสาส์นทำการ์ตูนเล่มละบาท หนึ่งบาทเท่ากับสามเซ็นต์สหรัฐ เป็นที่นิยมมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ยุค 70

เป็นที่เกิดของนักเขียนอีกหลายคน เช่น Chaichol Chewin, Rung Chaokao, Nukrob Rungkaew, Maewmeow

การ์ตูนเล่มละบาทมีตลาดหมุนเวียนนับล้านเล่ม มีสำนักพิมพ์นับสิบและนักเขียนนับร้อยช่วยกันสร้างผลงาน จำนวนหน้าขยับจาก 16 หน้าเป็น 24 หน้า แล้วตามด้วย 32 หน้า

การ์ตูนเล่มละบาทมีแนวการเขียนเป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องโป๊และเรื่องผี หลังจากเศรษฐกิจตกต่ำในปี 1982 ตลาดเริ่มเล็กลง นักเขียนออกไปมาก คุณภาพงานลดลง

“นักเขียนบางคนเริ่มวาดทั้งที่ไม่มีพล็อต ปล่อยเหตุการณ์พาไปจนจบเรื่อง เขียนคำบรรยายยืดยาว มีแม้กระทั่งก๊อปงานคนอื่นมาเขียนคำบรรยาย ความตกต่ำเหล่านี้นำมาสู่ความนิยมที่ลดลง” (Warat Karuchit 2014)

 

เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ปนำเข้าการ์ตูนดิสนีย์เมื่อปี 1992 ใช้ภาษาไทยในบัลลูนและภาษาอังกฤษด้านล่างของแต่ละกรอบ โพสต์พับลิชชิ่งนำเข้าการ์ตูนของวอร์เนอร์ เทอร์เนอร์ บรอดคาสติ้ง ฮันน่าบาเบร่า และยูไนเต็ดมีเดีย ได้แก่ บักซ์ บันนี่ การ์ฟิลด์ และฟลิ้นต์สโตน โดยทำเป็นสองภาษาเช่นกัน

วิบูลย์กิจและสยามอินเตอร์คอมิกส์นำเข้าการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นหลัก ก่อนที่เนชั่นและโพสต์จะเข้ามาทำด้วย

เครือผู้จัดการโดยสนธิ ลิ้มทองกุล (a wealthy man) ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามาในธุรกิจหนังสือเด็กและการ์ตูนด้วยก่อนที่จะพบวิกฤตเศรษฐกิจในยุค 90 (ความตอนนี้ในหนังสือออกจะแปลกอยู่ด้วย ไม่รู้ว่าผู้เขียนจะพาดพิงทักษิณ ชินวัตร เพราะอะไร)

วิบูลย์กิจผลิตการ์ตูนไทยในปี 1992 เป็นที่เกิดของนักเขียนไทย เช่น Ekasit Thairat, Chamnan Julajaturasilarat, Somran Jarukulvanit, Mangkorn Sorapol, Rattana Sathit

โดยที่ผลงานบางชิ้นได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนญี่ปุ่น (The style of some of these titles showed a Japanese influence)

 

สยามอินเตอร์คอมิกส์เป็นสำนักพิมพ์ลำดับสองที่นำเข้าการ์ตูนญี่ปุ่น โดยมีจุดเริ่มต้นจากนิตยสารกีฬาสยามสปอร์ตพริ้นติ้งโดยระวิ โหลทอง

ทศวรรษที่ 90 การ์ตูนญี่ปุ่นได้แทนที่การ์ตูนไทยเกือบจะสิ้นเชิงด้วยเหตุผลหลายอย่าง ไม่มีเรื่องจะเขียนนอกจากการ์ตูนแก๊กหรือจักรๆ วงศ์ๆ ค่าตัวนักเขียนต่ำ และขาดผู้ลงทุน เพราะเชื่อว่าไม่สามารถทำกำไรในระยะยาว เมื่อเวลาผ่านไปนักอ่านจะหันไปอย่างอื่นเหลือไว้แต่นักอ่านที่ไม่มีกำลังซื้อ (Sirimas 1993)

ในขณะที่การ์ตูนญี่ปุ่นมีพล็อตเรื่องซับซ้อนกว่า เรียลลิสติกและมีอาร์ตเวิร์กที่น่าประทับใจ ราคาไม่แพง ในช่วงก่อนกฎหมายลิขสิทธิ์ปี 1995 มีมากกว่ายี่สิบสำนักพิมพ์ในธุรกิจนี้และการ์ตูนบางหัวมีผู้พิมพ์ขายมากกว่าหนึ่งสำนักพิมพ์ ตั้งชื่อต่างกัน หน้าปกต่างกัน บทแปลต่างกัน (คงจะจำกันได้ เช่น โดเรมอน และดราก้อนบอล) รวมทั้งคุณภาพกระดาษ

เมื่อมีกฎหมายลิขสิทธิ์สำนักพิมพ์ขนาดเล็กสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหวจึงเหลือเพียงห้าสำนักพิมพ์ใหญ่ (ในตอนแรก) แต่ก็ยังมีการ์ตูนไพเรทหลงเหลืออยู่บ้างซึ่งช่วยให้การ์ตูนแหวกแนวหลงเหลืออยู่

มีความกังวลเรื่องตลาดของการ์ตูนญี่ปุ่นที่กระทบการ์ตูนไทย รวมทั้งเนื้อหาที่กระทบเด็กและเยาวชน

คณบดีการสื่อสารที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ตนเองรู้สึกไม่ดีต่อการ์ตูนญี่ปุ่น (bad impression) เพราะทำให้เด็กๆ เลียนแบบพฤติกรรม อีกทั้งเป็นการสื่อสารที่ไม่เท่าเทียมกันเนื่องจากตลาดการ์ตูนญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่มาก (Orathai 1993)

 

ปี2000 นักเขียนการ์ตูนไทยรุ่นใหม่คึกคักอีกครั้งหนึ่ง มีนักลงทุนใหม่เข้ามา มีตลาดหนังสือการ์ตูนประเภทความรู้ กำเนิดการ์ตูนแนว (alternative comics) และร้านหนังสือจัดชั้นวางเพิ่มมากขึ้น

สตาร์พิคส์ออกนิตยสาร Lets Comic เมื่อปี 2004 ตามด้วย I H.A.T.E. Cartoon Books ปี 2008 บงกชซึ่งเคยผลิตการ์ตูนญี่ปุ่นมาก่อนก็เข้ามาในตลาดการ์ตูนไทยและได้ส่งเสริมนักเขียนสตรีด้วย

สำนักพิมพ์ A Book ยกระดับการ์ตูนด้วยผลงานอย่างถั่วงอกและหัวไฟ ในความบ้าคลั่งอันมิรู้สิ้นสุด (Beansprout and Firehead:In the Infinite Madness) ของทรงศีล ทิวสมบูรณ์

บอย โกสิยพงษ์ ออกนิตยสาร Katch และ Manga Katch โดยได้จดลิขสิทธิ์การ์ตูนไว้มากกว่าสามสิบรายการ ประกอบด้วยตัวการ์ตูนมากกว่าห้าร้อยตัว

EQ Plus ก่อตั้งโดย Laksami Wasitnitiwat และ Suranit Jumsai na Ayutthaya เมื่ออายุ 25 และ 26 ปีเท่านั้น พวกเขาทำการ์ตูนความรู้ นิทานพื้นบ้าน ตำนาน ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เล่มที่ขายดีมากคือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (Somdej Phra Naresuan Maharaj) ใช้ลายเส้นและวิธีเล่าเรื่องแบบการ์ตูนญี่ปุ่นที่ปรับเข้ากับวัฒนธรรมไทยแล้ว กลั่นกรองส่วนที่ไม่เหมาะสมออก “We are telling stories the Thai way”

EQ Plus โดย Dim Sum Studio ออกการ์ตูนโรมานซ์สำหรับเด็กผู้หญิงด้วย Dang Duang Haru Tai ตีพิมพ์ใน Comic Quest และ Angor Endless Love

 

สถาบันการ์ตูนไทยโดยสุดใจ พรหมเกิดก่อตั้งเมื่อปี 2003 ในนามมูลนิธิเด็ก ได้เข้ามาประสานความร่วมมือนักเขียนการ์ตูนไทยผลิตการ์ตูนความรู้

เช่น เมล็ดพันธุ์สันติภาพ และสิบสี่ตุลาวันประชาธิปไตยฉบับเยาวชน

สถาบันการ์ตูนไทยทำงานโดยมิได้จ่ายค่าเรื่องให้แก่นักเขียนโดยที่นักเขียนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานทั้งหมด

ยังมีต่อ