ก็…ไม่สบายใจ/ฉบับประจำวันที่ 14-20 สิงหาคม 2563

ปฏิกิริยาหลังการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ รวมถึงกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา น่าสนใจ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งติดตามการชุมนุมดังกล่าวใกล้ชิด
แสดงความรู้สึก
“ก็…ไม่สบายใจ”
ไม่สบายใจที่ข้อเรียกร้องของนักศึกษา ไปไกลกว่า 1) หยุดคุกคามประชาชน 2) ยุบสภา และ 3) แก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยมุ่งตรงไปยัง “สถาบันพระมหากษัตริย์” อย่างจงใจ
จนนำมาสู่ความไม่สบายใจดังกล่าว

คำถามจึงมีต่อว่า เมื่อผู้นำ “ไม่สบายใจ” แล้วจะนำไปสู่การตัดสินใจ “แก้” อย่างไร
เพราะกรณีนี้ละเอียดอ่อน และพร้อมจะบานปลายได้ตลอดเวลา
อย่างกรณีที่ตำรวจตัดสินใจจับนายอานนท์ นำภา และนายภานุพงศ์ จาดนอก นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ด้วยหวังว่าจะตัดไฟแต่ต้นลม
และเล็งออกหมายจับแกนนำ กลุ่มเยาวชนปลดแอก-Free Youth และกลุ่มสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) อีก 31 คน
แต่แทนที่จะทำให้การเคลื่อนไหวยุติหรือเพลาลง
ตรงกันข้าม กลับเป็นการก่อกระแส #หยุดคุกคามประชาชน ปล่อยอานนท์ ปล่อยไมค์ “#saveทนายอานนท์ #saveไมค์ #หยุดคุกคามประชาชน” และนำมาสู่การชุมนุมอีกหลายจุด
และลึกลงไปสู่ประเด็นละเอียดอ่อน อย่างที่เวทีธรรมศาสตร์

ผลักดันให้นำไปสู่การเคลื่อนไหวเผชิญหน้ากันมากขึ้นของกลุ่มต่างๆ
ที่ถูกจับตามากก็คือ กลุ่มศูนย์กลางประสานงาน นักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันฯ (ศอปส.) นำโดยนายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู และ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)
ที่ออกมาต่อต้านกลุ่มบุคคลเคลื่อนไหวนำสถาบันพระมหากษัตริย์มายุยงให้แตกแยก
ซึ่งสัมผัสได้ถึงความพร้อมที่จะนำไปสู่สิ่งที่ทุกคนกังวล นั่นคือ ม็อบชนม็อบ
อันเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาด้วยสังคมไทยประสบมาแล้ว ในกรณี 6 ตุลาคม 2519
คำถามก็คือ แล้วจะหาทางออกอย่างไร

คําตอบกรณีนี้ ว่าที่จริง การประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ก็ดูจะมีตัวแทนทางความคิด
ทั้งพยายามร่วมหาทางออก ตามข้อเสนอนายคำนูณ สิทธิสมาน
ทั้งการใช้ระบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ที่ชูขึ้นโดยนายสมชาย แสวงการ
ข้อเสนอทั้งบุ๋นและบู๊จากสมาชิกวุฒิสภานั้น
พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้นำประเทศ คงต้องฟังและเก็บนำไปครุ่นคิด
เพื่อหาคำตอบให้กับความไม่สบายใจที่ระบายออกมา
“แก้อย่างไร” นี่แหละเป็นสิ่งที่ยาก
เพราะการแสดงออกและข้อเสนอของคนรุ่นใหม่ ต้องยอมรับว่า ไกลกว่าที่สังคมคาดคิด หรือไม่กล้าคิดมาก่อน
แต่เมื่อเงื่อนไข โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 2557 ได้บีบคั้นให้สถานการณ์ให้ต้องเข้า “ร่อง” แบบนี้ ก็จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา นักคิด นักวิชาการ นักสังเกตการณ์ ได้ย้ำเตือนมาตลอดว่า สังคมไทยกำลังขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมาโดยตลอด
และที่น่าจะไม่สบายใจกว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สบายใจ ก็คือ ยังไม่รู้ว่าความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงจะมากขนาดไหน และผลหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร
สังคมไทยไม่มีทางเลือกที่จะพ้นไปจากทางนี้เลยหรือ!?!
————————

#ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 

#ยุบสภา