งานจัดหน้าหนังสือพิมพ์

งานซับเอดิเตอร์ ซึ่ง “พระองค์วรรณ” ทรงแปลเป็นภาษาไทยและใช้ในงานหนังสือพิมพ์เป็นหลัก คืองานบรรณาธิกร เป็นงานจัดหน้าหนังสือพิมพ์ที่รวมถึงการพาดหัวหนังสือพิมพ์ และการจัดหน้าหนังสือทุกประเภท

หนังสือพิมพ์ภาษาไทยตั้งแต่มีมาในระยะหลัง โดยเฉพาะหน้าใน ผู้จัดหน้ามักจะเป็นหัวหน้าข่าวหน้านั้นหรือผู้ปฏิบัติหน้านั้นในแต่ละวัน

ปกติหนังสือพิมพ์มีทั้งหน้าข่าวและหน้าบทความ หน้าสารคดี

หน้าข่าว เริ่มตั้งแต่หน้า 1 มีทั้งพาดหัวข่าว “ตัวไม้” พาดหัวข่าวรองลงมา มีข้อความโปรยข่าว และเนื้อข่าวสรุปก่อนไปต่อข่าวหน้าใน ที่เรียกว่าหน้าต่อข่าว มีภาพข่าวหน้า 1 และคอลัมน์ประจำหนึ่งหรือสองคอลัมน์ ซึ่งหนังสือพิมพ์ภาษาไทยมักเป็นข่าวต่อหน้าใน ส่วนหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่ข่าวที่ต่อหน้าในจะเป็นข่าวนำ หรือข่าวลีด (LEAD) นอกนั้นเป็นข่าวจบในหน้า

การจัดหน้า 1 เป็นงานที่ต้องอาศัยความชำนาญอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่จัดเนื้อหาข่าวให้ลงในหน้าแรกพอสมควร ยังต้องจัดหน้าพาดหัวข่าวให้ได้ขนาดตัวไม่มากเกินกว่าพื้นที่กำหนด

ขนาดตัวของข่าวหน้า 1 ใช้วิธีนับเป็นตัว ไม่ใช่นับเป็นคำ หมายความว่าต้องหยิบความสำคัญของข่าวนั้นมาเป็นพาดหัวข่าว ให้อ่านแล้วน่าสนใจ รู้ถึงข่าวนั้นแทบว่าไม่ต้องอ่านเนื้อหาของข่าวนั้นก็ได้

หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จัดแบ่งเป็น 2 ประเภท เรียกแบบหนังสือพิมพ์ต่างประเทศคือ ประเภท “Hard News” ใช้เป็นภาษาไทยว่า “หนังสือพิมพ์คุณภาพ” อีกประเภทหนึ่งคือ “Popular News” ใช้เป็นภาษาไทยว่า “หนังสือพิมพ์ประชานิยม”

หนังสือพิมพ์ทั้งสองประเภท เมื่อก่อนส่วนใหญ่ “หนังสือพิมพ์ประชานิยม” จะเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าและเป็นหนังสือพิมพ์ที่เสนอข่าวอาชญากรรม ข่าวดารา ข่าวกีฬา เป็นหลัก ส่วนหนังสือพิมพ์คุณภาพจะเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายที่เสนอข่าวการเมือง นักการเมือง เศรษฐกิจ และความเคลื่อนไหวของสังคมเป็นหลัก

แต่สำหรับประเทศไทย หนังสือพิมพ์เมื่อก่อนแม้เป็นฉบับเช้ายังนำเสนอข่าวการเมืองด้วย แม้มีบางฉบับหน้า 1 จะนำเสนอข่าวอาชญากรรมก็ตาม แต่เนื้อหาสาระข้างในยังเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและรัฐบาล ทั้งยังมีหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายที่เสนอข่าวการเมืองเป็นหลัก และมีส่วนเสนอข่าวอาชญากรรมด้วย

การจัดหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งสองประเภทแตกต่างกันที่หนังสือพิมพ์คุณภาพจะนำเสนอเนื้อหาในหน้า 1 มากกว่าหนังสือพิมพ์ประชานิยมที่เสนอภาพข่าวและพาดหัวข่าวที่มีลักษณะเหตุการณ์ เช่น การฆาตกรรม อุบัติเหตุที่มีคนเจ็บคนตาย และข่าวที่มีลักษณะซับซ้อนซ่อนเงื่อน ต่อมาเรียกหนังสือพิมพ์ประเภทนี้ว่า “หัวสี”

ส่วนการจัดหน้าหนังสือพิมพ์คุณภาพมักเรียบง่าย ใช้ภาษาไม่ซับซ้อน มักเรียกหนังสือพิมพ์ประเภทนี้ว่า “หัวขาวดำ” ซึ่งเป็นยุคของหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันและหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นถึงวันนี้ แม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงการนำเสนอทั้งข่าวและการพิมพ์สีในหน้า 1 และหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับแล้วก็ตาม

เรื่องการจัดหน้า 1 ที่ยุ่งยากกับผู้ทำหน้าที่ “ซับ” คือความยาวของข่าวหน้า 1 ซึ่งต้องไปอ่านต่อหน้าใน

ดังนั้น หัวหน้าข่าวหน้า 1 จะต้องช่วย “ซับ” หน้า 1 ตัดต่อข่าวมาตั้งแต่ต้น ซึ่งความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ อาจเป็นเพราะหัวหน้าข่าวหน้า 1 ทราบดีว่า ผู้มีหน้าที่ตัดข่าวคือ “ซับ” จึงมักปล่อยให้ข่าวแต่ละข่าวยาวเกินกว่าที่กำหนดไว้

แม้จำนวนข่าวจะเท่าเดิม คือ 10 ข่าว หรือ 11 ข่าว มีภาพสองสามภาพ รวมทั้งภาพบุคคลในข่าว แต่เมื่อมีข่าวทยอยออกมาเรื่อยจากนักข่าว หรือจากข่าวต่างประเทศผ่านเครื่องเทเล็กซ์ หัวหน้าข่าวหน้า 1 มักปล่อยให้การตัดต่อข่าวเป็นหน้าที่ของซับเอดิเตอร์ เช่นเดียวกับแม้จะเป็นเนื้อหาของ “หน้าใน” ที่ซับประจำหน้านั้นต้องเป็นผู้ตัดข่าวและเนื้อหาเป็นประจำ

หนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันมีตำแหน่งซับเอดิเตอร์ทำหน้าที่จัดหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับ โดยเฉพาะหน้า 1 เมื่อจัดหน้าจัดส่งเนื้อหาเสร็จแล้ว ต้องตามไปควบคุมผู้ปะหน้าเพื่อจัดส่งไปทำเพลตพิมพ์ ดังนั้น หากข่าวหรือเนื้อหายาวมากกว่าพื้นที่หน้า ซับฯ จึงเป็นผู้ที่ต้องตัดเนื้อหาและข่าวนั้นออกเพื่อให้ลงในพื้นที่ซึ่งมีอยู่ และต้องตัดแล้วให้ได้เนื้อหาสาระ คืออ่านรู้เรื่อง

ส่วนหัวหน้าข่าวแต่ละหน้า หรือเจ้าของเนื้อหาแต่ละหน้า เมื่อส่งงานเสร็จแล้วถึงเวลาเลิกงาน จะไปไหนก็ได้ ไม่ต้องมาสนใจว่าเนื้อหาสาระหรือข่าวนั้นยาว สั้นอย่างไร

ที่บอกว่า หนังสือพิมพ์ภาษาไทยส่วนใหญ่ เจ้าของหน้าคือผู้จัดหน้าด้วยตัวเอง มีช่างเรียงเป็นผู้ช่วยดูว่าข่าวในหน้านั้นสั้น-ยาวอย่างไร ทั้งหัวหน้าช่างเรียงที่มีความชำนาญพอ มักจะช่วยหัวหน้าข่าว หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ทำหน้าวันนั้นตัดต่อหรือ “ยกข่าว” ออก เพราะเมื่อก่อนหนังสือพิมพ์ภาษาไทยใช้ระบบเรียงพิมพ์และส่งหน้าที่เรียงพิมพ์เรียบร้อย เข้าเครื่องพิมพ์ ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์ระบบ “แท่นลม” คือป้อนกระดาษเป็นแผ่นเข้าเครื่องให้เครื่องดูดกระดาษเข้าไปโดยอัตโนมัติ

หนังสือพิมพ์เมื่อก่อนมีจำนวนพิมพ์ไม่มาก มีหน้าจำกัด การพิมพ์จึงใช้เครื่องพิมพ์แท่นลมเป็นหลัก

ระหว่างพิมพ์ หากพบคำผิดต้องแก้ จึงมีการหยุดเครื่องแล้วจัดการแก้ที่เรียกว่า “แก้หน้าแท่น” เป็นเหตุให้เสียเวลาพิมพ์ไปอีกอย่างน้อยครึ่งค่อนชั่วโมง ซึ่งไม่ค่อยถูกใจฝ่ายจัดจำหน่ายเท่าใดนัก

แต่ที่ เดอะเนชั่น ใช้ระบบปะหน้าจากกระดาษอาร์ตที่พิมพ์เสร็จเรียบร้อย หนังสือพิมพ์ประชาชาติซึ่งขณะนั้นใช้วิธีพิมพ์ด้วยเครื่องออฟเซ็ต จึงต้องใช้วิธีเรียงพิมพ์ให้เสร็จทั้งหน้า แล้วนำไปจัดพิมพ์กับเครื่อง “ฉับแกละ” มา “ปรู๊ฟน้ำ” ให้เรียบร้อย ก่อนมาจัดพิมพ์บนกระดาษอาร์ตนำไป “ตัดปะ” ให้เป็นหน้าหนังสือพิมพ์หน้านั้น เพื่อไปทำเพลตส่งเข้าโรงพิมพ์จัดพิมพ์ต่อไป

เคยมีเหมือนกันที่ซับฯ ไม่สามารถตัดเนื้อหาจากยาวให้สั้นลงตามต้องการได้

เช่นครั้งหนึ่ง ต้องบันทึกไว้ว่า ซับเอดิเตอร์ที่เป็นหัวหน้าซับฯ หน้า 1 วันนั้น บอกชื่อก็ได้ว่า ดนัย เยาหะรี จัดหน้า 1 เรียบร้อย ปรากฏว่าหัวหน้าข่าวหน้า 1 ส่งข่าวเพลิน ข่าวจึงยาวมากในแต่ละข่าว จะตัดบางข่าวให้สั้นลงลำบาก โดยเฉพาะ “ข่าวนำ” หรือข่าวพาดหัว “ซับฯ ดนัย” จึงตัดสินใจให้ผู้ปะหน้าต่อข่าวขยายหน้าจากปกติ 8 คอลัมน์ เป็น 9 คอลัมน์ตามสัดส่วน แล้วส่งไปทำเพลตย่อลงให้เป็นหน้าปกติ

รุ่งขึ้น หน้าต่อข่าวจึงมี 9 คอลัมน์ ทำให้ตัวหนังสือเล็กลงตามสัดส่วนที่ย่อ บรรณาธิการ สุทธิชัย หยุ่น และหัวหน้าซับฯ พี่ชัยวัฒน์ ยนเปี่ยม สอบถามให้วุ่นว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อ “ซับฯ ดนัย” มาทำงานช่วงบ่าย แจ้งสาเหตุ

จากวันนั้นบรรณาธิการกำชับหัวหน้าข่าวหน้า 1 ให้ส่งข่าวไม่เกินกว่าพื้นที่กำหนด ไม่เช่นนั้นจะมีโทษ