ถอดสลักคดี “บอส อยู่วิทยา” หลักฐานใหม่ “โคเคน-ความเร็วรถ” เรียกศรัทธา “กระบวนการยุติธรรม”

ปมร้อนสั่นคลอนความน่าเชื่อถือกระบวนการยุติธรรมประเทศไทย หลังนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย

เมื่อส่งสำนวนมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) คณะทำงาน พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ใช้เวลาพิจารณาสำนวนกว่า 40 วัน สุดท้ายมีความเห็นไม่แย้งคำสั่งพนักงานอัยการ

สังคมตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง สะท้อนต้นธารยุติธรรมที่บิดเบี้ยว เสียงอื้ออึง “หรือคุกจะมีไว้ขังคนจน?”

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาลดทอนกระแสสังคม แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ให้รายงานผลให้ทราบภายใน 30 วัน

ขณะที่ ตร.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้ดุลพินิจของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ใน 30 วันเช่นกัน

ฝั่งสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ก็แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้อง ในเวลา 7 วัน

ย้อนจุดเปลี่ยนคดี คำให้การพยาน 6 ปาก ทำให้อัยการ-ตำรวจสั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา”

4 พฤษภาคม 2559 นายธนิต บัวเขียว ทนายความของบอส ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการกฎหมายกระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. 2557) และร้องต่อ อสส.หลายครั้ง จน อสส.มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานเพิ่มเติมตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรม

พนักงานสอบสวนได้สอบ 6 พยานเพิ่ม 1.พ.ต.ต.ธนสิทธิ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์ กองพิสูจน์หลักฐาน ผู้ตรวจสอบความเร็วรถยนต์ 2.รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญ 3.พ.ต.ท.สมยศ แอบเนียม และ 4.พ.ต.ท.สุรพล เดชรัตนวิชัย พยานผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจดูสภาพความเสียหายของรถทั้งสองคัน พยานรายที่ 5-6 พล.อ.ท.จักกฤช ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง ประจักษ์พยานในขณะเกิดเหตุ ที่ต่างก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รถเฟอร์รารี่ที่มีนายวรยุทธเป็นผู้ขับขี่ แล่นมาด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กระทั่งอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในที่สุด

ความยุ่งเหยิงเริ่มขึ้น เมื่อพยานปากสำคัญอย่างนายจารุชาติประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตกะทันหัน เรื่องราวเหมือนถูกเซ็ตไว้ดั่งละครฉากหนึ่ง ถึงกับต้องมีการผ่าชันสูตรพลิกศพ 2 ครั้ง

จนได้ข้อสรุปว่า เป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ พบแอลกอฮอล์สูงถึง 218 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

4สิงหาคม 2563 ทีมสอบอัยการแถลงสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังครบกำหนด 7 วัน พร้อมชี้ช่องยังมีหนทางดำเนินคดีกับนายวรยุทธได้ แม้คดีนี้จะมีคำสั่งไม่ฟ้อง ในข้อหาขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย และ ผบ.ตร.ไม่แย้งคำสั่งดังกล่าว

แต่ “ทีมสอบอัยการ” พบพยานหลักฐานใหม่ ที่ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ระบุว่า ขณะเกิดเหตุ ดร.สธนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ตร. ได้ร่วมตรวจที่เกิดเหตุและดูกล้องวงจรปิดวัตถุพยานที่บันทึกภาพรถของนายวรยุทธ ได้คิดคำนวณความเร็วรถที่แล่นไปขณะเกิดเหตุ พร้อมส่งรายงานให้กับกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อใช้ประกอบคดี ยืนยันว่าขณะเกิดเหตุรถนายวรยุทธแล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน

นอกจากนี้ยังพบว่า ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคิดคำนวณหาความเร็วของรถระบุว่า รถนายวรยุทธขับขี่ไม่ต่ำกว่า 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถือเป็นพยานหลักฐานใหม่และเป็นพยานสำคัญที่จะทำให้ศาลลงโทษนายวรยุทธได้

คณะทำงานยังพบอีกว่า ในสำนวนการสอบสวนวันเกิดเหตุมีการตรวจเลือดนายวรยุทธ และพบสารประเภท “โคเคน” ในเลือด แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนนายวรยุทธในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคเคน ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 58 ประกอบกับมาตรา 91 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี และมีอายุความตามกฎหมาย 10 ปี

โดยทั้งสองประเด็นดังกล่าว คณะทำงานจึงมีความเห็นเสนออัยการสูงสุด พิจารณาแจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน) และดำเนินการตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 147 ทำการสอบสวนใหม่ในประเด็นขับรถโดยประมาท เพื่อสั่งฟ้องนายวรยุทธต่อไป

ส่วนกรณีที่นายเนตร รองอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องนั้น เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว

สิ้นเสียงแถลงข่าว สังคมตั้งคำถาม ความบกพร่องของสำนวนคดีที่ “ทีมสอบอัยการ” แถลง เหมือนโยนเผือกร้อนมาที่ ตร.หรือไม่?

ด้านคณะกรรมการของ ตร. ยังคงตรวจสอบข้อเท็จจริงตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะรองประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้ยืนยันเสียงหนักแน่นว่า คณะกรรมการไม่ใช่เสือกระดาษ ที่ไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ แต่ต้องขอให้อดใจรอ เพราะเป็นการตรวจสอบย้อนหลังไปถึง 8 ปี เพื่อแสวงหาผู้บกพร่องในการทำหน้าที่ และหากพบว่าใครที่บกพร่องต่อหน้าที่ ก็พร้อมเสนอ ผบ.ตร.พิจารณาลงโทษแน่นอน

ท้ายที่สุดแล้วจากการประมวลความเห็นคณะกรรมการที่สอบแต่ละชุด ฟันธงได้เลยว่า มีช่องทางที่จะรื้อฟื้นคดี “บอส อยู่วิทยา” ใหม่ เนื่องจากพบหลักฐานสำคัญในคดี ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

จับตาดูไปในฐานะองค์กรที่เป็นต้นธารยุติธรรม จะเรียกความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายบ้านเมืองกลับมาได้หรือไม่ เรื่องนี้จึงเป็นบทพิสูจน์ครั้งใหญ่