จรัญ มะลูลีม : ทรัมป์กับมุสลิม (10)

Demonstrators gather near The White House to protest President Donald Trump's travel ban on six Muslim countries on March 11, 2017 in Washington, DC. / AFP PHOTO / Tasos Katopodis

ในสหรัฐ ความเติบโตของความกลัวอย่างไร้เหตุผลถูกผลิตโดยปัจจัยผสมของการเมืองภายในประเทศและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการเมืองระหว่างประเทศที่ขานรับต่อปรากฏการณ์การก่อการร้ายและความรุนแรง

อิสลาโมโฟเบียในสหรัฐถูกผลิตโดยการเปลี่ยนแปลงแผนที่ของจำนวนประชากร ซึ่งทำให้ชาวอเมริกันหวาดเกรงการรุกเข้ามาของชะรีอะฮ์ (กฎหมายอิสลาม) ผ่านจำนวนประชากรของชาวมุสลิมซึ่งเป็นผู้อพยพ

เหนืออื่นใด การก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรงนั้นดูเหมือนว่าจำเป็นจะต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากกระแสอิสลาโมโฟเบียที่พุ่งขึ้นทั่วโลก

หลังการโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่รู้จักกันในชื่อ 9/11 แล้วโลกกำลังจับตาดูโฉมหน้าใหม่ของการก่อการร้าย

อิสลามได้ถูกปล้นชิงเอาไปโดยกลุ่มหัวรุนแรงและชาวมุสลิมทั้งมวลถูกเหมารวมว่าเป็นผู้มีอุดมการณ์สุดโต่งซึ่งมุ่งที่จะเป็นผู้ก่อการร้าย

ผลที่ตามมาจึงเป็นสิ่งที่คาดหมายได้ นั่นคือ ความหวาดกลัวอิสลามและชาวมุสลิมกลายเป็นหัวข้อการสนทนาอยู่ในสหรัฐ ยุโรป และส่วนอื่นๆ ของโลก

 

กฎหมายต่อต้านอิสลามมากกว่าหนึ่งร้อยฉบับได้ถูกนำมาใช้หรือกำลังดำเนินการอยู่ในสหรัฐ ซึ่งเราสามารถดูได้จากอารมณ์การต่อต้านอิสลามโดยผู้สมัครหลายคนก่อนหน้าการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2016 ที่ผ่านมา

วัฒนธรรมและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับอิสลามถูกห้าม ซึ่งรวมถึงการแต่งกายแบบอิสลามในฝรั่งเศส เบลเยียม การใช้หอสูง (minerets) ที่เรียกผู้คนมาละหมาด ในเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สวีเดน และออสเตรเลีย

รัฐบาลออสเตรเลียได้ออกนโยบายการแปลคัมภีร์กุรอานด้วยตัวเอง

อุดมการณ์ขวาจัดกลายเป็นที่นิยมในเยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เบลเยียม สวีเดน และออสเตรเลีย

มัสญิด (สุเหร่า โมสค์) ถูกเผาและถูกทำลาย ศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นจุดหมายของการดูหมิ่นผ่านการ์ตูนที่นำความสูญเสียมาให้

สตรีมุสลิมพร้อมฮิญาบถูกคุกคามและด่าทอในที่สาธารณะ ฯลฯ เหตุการณ์ของการไม่ยอมทนและเลือกปฏิบัติต่ออิสลามและชาวมุสลิมเกิดขึ้นในเกือบทุกแห่งทั่วโลก ก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์

แค่เพียงหนึ่งวันหลังจากขึ้นสู่อำนาจ ทรัมป์ไม่ยอมให้เสียเวลาในการประชาสัมพันธ์นโยบายของตนเองด้วยการย้ำว่าเขาต้องการนำเอาข้อเสนอของเขาในช่วงเลือกตั้งมาใช้ รวมทั้งย้ายสถานทูตอิสราเอลในกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลม แม้ว่าเขายังจะต้องดูกำหนดตารางเวลาเสียก่อน

Flynn อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของทรัมป์ได้ประกาศในช่วงที่อยู่ในตำแหน่งว่าฝ่ายบริหารของทรัมป์ได้จับตาดูอิหร่านอย่างเป็นทางการ และมีผลทันทีเมื่ออิหร่านทดลองขีปนาวุธ

Flynn กล่าวว่า “อิหร่านยังคงคุกคามสหรัฐและพันธมิตรในภูมิภาค” อย่างไรก็ตาม James Mattis และรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่อย่าง W.Tillerson กลับกล่าวว่าข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านเป็นเรื่องดีจากมุมมองของสหรัฐ

ผู้นำอิหร่านได้กล่าวเสียดเย้ยสหรัฐ หลังจากทรัมป์ได้รวมอิหร่านเข้ามาอยู่ในกลุ่มประเทศเจ็ดประเทศที่พลเมืองของประเทศเหล่านั้นถูกห้ามเข้าสหรัฐ

บาห์ราม กัสซิมี (Bahram Qassime) กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจว่าแทนที่จะขอบใจอิหร่านซึ่งได้ต่อสู้กับการก่อการร้ายมาอย่างต่อเนื่อง (ฝ่ายบริหารชุดใหม่) ยังคงพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการอ้างอย่างหาเหตุไม่ได้ และนำเอานโยบายที่ไม่ฉลาดมาใช้ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มผู้ก่อการร้าย

 

Ali Akbar Velayati, advisor to the Islamic republic’s supreme leader Ayatollah Ali Khamenei, answers journalists’ questions during his visit at the Martyr’s cemetery in a southern Beirut suburb on May 18, 2015. Velayati congratulates Lebanon’s militant Shiite Muslim movement Hezbollah for its recent “success against rebels” in the Syrian region of Qalamoun. AFP PHOTO / STR / AFP PHOTO / –

อะลี อัคบัร วีลายาตี (Ali Akbar Velayati) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและเป็นที่ปรึกษาคนสนิทของอะยาตุลลอฮ์ คอเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ผู้นำจิตวิญญาณสูงสุด กล่าวว่า อิหร่านจะทดลองขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นอิหร่านเองก็ไม่มีจรวดพิสัยไกลเหมือนอิสราเอล และขานรับสิ่งที่ทรัมป์พูดถึงอิหร่านว่าเป็นความ “โฉ่งฉ่างที่ตื้นเขิน”

ตัวของอะยาตุลลอฮ์ คอเมเนอี เองได้ตอบโต้อย่างรุนแรงในสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์และไม่ให้ความสนใจกับการข่มขู่จากฝ่ายบริหารของสหรัฐ

ในการพูดต่อสาธารณะครั้งแรกหลังจากทรัมป์ขึ้นสู่อำนาจผู้นำสูงสุดของอิหร่านได้ขอบคุณประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐที่ “ได้แสดงโฉมหน้าที่แท้จริงของสหรัฐ” ให้เห็น เขากล่าวต่อไปว่า ทรัมป์ได้ยืนยันใน “สิ่งที่เราได้กล่าวมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ว่าด้วยการเมือง เศรษฐกิจ ศีลธรรม และการฉ้อฉลทางสังคมของสหรัฐ”

ประธานาธิบดี ฮัซซัน โรฮานี (Hassan Rouhani) เรียกทรัมป์ว่า “ผู้อ่อนหัดทางการเมือง” ในขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ โมฮัมมัด ญาวาซ ชารีฟ (Mohammad Javad Zaref) กล่าวว่า อิหร่าน “ไม่ได้รู้สึกอะไรต่อการขมขู่” และประเทศของเขาจะ “ไม่เริ่มต้นสงครามก่อน” แต่ในเวลาเดียวกันจะยืนอยู่บนแนวทางการป้องกันตนเอง

ในวันสุดท้ายของเดือนมกราคม รัฐบาลกลางอิหร่านประกาศว่า จะ “ไม่มีการใช้สกุลเงินสหรัฐ ในฐานะสกุลเงินที่เป็นทางเลือกอีกต่อไป”

 

ฝ่ายบริหารของทรัมป์ยังเริ่มพูดถึงการสร้าง “เขตปลอดภัย” ภายในซีเรียและความคิดซึ่งฝ่ายบริหารชุดก่อนได้เคยแย้มๆ ออกมาบ้างแล้ว


ในเวลาต่อมาความคิดที่เรียกกันว่าเขตปลอดภัยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อยู่ทั่วไป เพราะหากเขตปลอดภัยถูกนำมาใช้ก็ย่อมหมายถึงการสร้างเขตห้ามบิน (no-fly-zon) ขึ้นเหนือน่านฟ้าของซีเรียและเป็นไปได้ที่ทหารสหรัฐจะมาลาดตระเวนอยู่บนภาคพื้นดิน

นายพล Joseph Dunford หัวหน้าเสนาธิการทหารร่วม กล่าวกับรัฐสภาสหรัฐเมื่อปลายเดือนกันยายน ปี 2015 ว่า หากสหรัฐครองน่านฟ้าของซีเรีย สหรัฐก็จะต้องเข้าสู่สงครามไม่เฉพาะกับซีเรียเท่านั้น แต่ต้องทำสงครามกับรัสเซียด้วย

ตอนนี้ความจริงในพื้นที่ในซีเรียได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หลังจากมีการปลดปล่อยเมืองอเลปโป (Aleppo) รัสเซีย รวมถึงตุรกีและอิหร่านได้ใช้ความพยายามเป็นตัวกลางในการพูดคุยเรื่องสันติภาพในซีเรีย

การพูดคุยถึงสันติภาพ ซึ่งมีสามประเทศดังกล่าวเป็นเจ้าภาพในกรุงอัสตานา (Astana) เมืองหลวงของคาซัคสถาน เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้รับการกล่าวถึงว่าประสบความสำเร็จโดยมีฝ่ายกบฏซีเรียหลายกลุ่มเข้าร่วม

ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ การสร้าง “เขตปลอดภัย” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประเทศเจ้าภาพหรือสภาความมั่นคง (Security Council) ของสหประชาชาติ การสร้างเขตปลอดภัยดังกล่าวก็จะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ผู้ที่มีตำแหน่งสำคัญอยู่ในฝ่ายบริหารของทรัมป์ล้วนแต่เป็นผู้ที่ยืนกรานสนับสนุนอิสราเอล การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในซีเรียและการแบ่งซีเรียให้เป็นรัฐเล็กรัฐน้อยเป็นข้อเลือกเบื้องต้นของรัฐยิว (Jewish state) และกลุ่มขวาใหม่ (neo-conservative) ในสหรัฐ

เป็นที่น่ายินดีที่ความคิดเรื่องเขตปลอดภัย ซึ่งนำเสนอมาแต่แรกโดยตุรกีเมื่อความขัดแย้งในซีเรียเริ่มต้น ในเวลานี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากนาโต (Nato) และพันธมิตรแต่อย่างใด

 

ฝ่ายบริหารของทรัมป์ได้กล่าวถึงการโจมตีเป้าหมายระดับสูงของอัล-กออิดะฮ์ที่กลายมาเป็นหายนภัยที่ยังคงดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่น ตัวของทรัมป์เองได้ออกคำสั่งให้โจมตีที่อยู่ของอัล-กออิดะฮ์ที่อยู่ห่างไกลในเยเมนกลาง

การจู่โจมดังกล่าวเป็นผลให้มีพลเมืองจำนวนมากต้องจบชีวิตลง รวมทั้งบุตรสาวอายุแปดขวบของ อันวาร์อัล-เอาลากี (Anwar al-Awlaki) พลเมืองชาวสหรัฐ ซึ่งเป็นมันสมองของอัล-กออิดะฮ์ เจ้าหน้าที่ของเยเมนกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิต 57 คน โดยผู้ถูกสังหารส่วนใหญ่เป็นสตรีและเด็ก ปฏิบัติการดังกล่าวยังนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของทหารเรือสหรัฐด้วยเช่นกัน

อัลเรย์มี (Qasim al Raymi) ผู้ซึ่งเป็นเป้าหมาย และถือว่าเป็นผู้ก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดลำดับที่สามในโลกไม่ได้อยู่ที่นั่น อัลเรย์มีซึ่งเป็นผู้นำ อัล-กออิดะฮ์ในคาบสมุทรอาหรับ (Al-Qaida in the Arabian Peninsula) หรือ AQAD ในเวลาต่อมาได้ส่งสารที่บันทึกเสียงเอาไว้มาให้ โดยเขากล่าวว่า “คนโง่คนใหม่” ในทำเนียบขาวถูกตบจนเจ็บปวดไปทั่วทั้งใบหน้าของเขา

เจ้าหน้าที่ทางทหารของสหรัฐกล่าวว่า คำสั่งให้ปฏิบัติการตามแบบแผนการบริหารของทรัมป์ขาดการสนับสนุนภาคพื้นดิน และมิได้มีการเตรียมการเพื่อการช่วยเหลืออย่างพอเพียง