ภาพบานประตูก่อนบูรณะ อนุสรณ์ต่างหน้าชิ้นสุดท้าย ของ “วิหารวัดหมื่นล้าน”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

รูปหล่อครูบาเจ้าศรีวิชัยที่วัดหมื่นล้าน?

ข่าวการซ่อมแซมพระวิหารหลังเก่าอายุเกิน 100 ปี (มีจารึกที่บานประตูระบุศักราช พ.ศ.2460) ของวัดหมื่นล้าน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกระทำการบูรณะโดยทางวัดเอง ไม่มีการปรึกษากรมศิลปากรในขณะนี้

ผลลัพธ์คือ ได้มีการทาสีทับภาพลายคำน้ำแต้ม ถือว่าเป็นการทำลายคุณค่ามรดกของแผ่นดินจนเสียหาย

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงในสังคมผู้สนใจด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา

ข่าวนี้ทำให้ดิฉันต้องรีบไปเปิดค้นไฟล์ภาพดิจิตอลที่เคยถ่ายไว้เมื่อ 3 ปีก่อน สมัยไปเยี่ยมชมวัดนี้ เนื่องจากเป็นวัดในหนึ่งเป้าหมายที่ดิฉันจำเป็นต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลสัมภาษณ์เจ้าอาวาส ในช่วงรับหน้าที่บรรณาธิการเรียบเรียงหนังสือ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ให้กับสมาคมชาวลำพูน

เพื่อติดตามหารูปหล่อปูนปลาสเตอร์ครูบาเจ้าศรีวิชัยแบบนูนต่ำครึ่งองค์ซึ่งทางเจ้าอาวาสวัดหนองป่าครั่ง (เชียงใหม่) บอกแก่ดิฉันว่า รูปหล่อครูบาชุดนี้มีทั้งหมด 4 แผ่น เก็บไว้ที่วัดหนองป่าครั่ง 3 แผ่น อีก 1 แผ่นอยู่ที่วัดหมื่นล้าน

โดยรูปหล่อนูนต่ำทั้งหมดนี้เคยประดับรายรอบผนังกู่อัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัยวัดหนองป่าครั่งมาตั้งแต่ยุคแรกบรรจุอัฐิของท่านในปี พ.ศ.2490 (ผู้นำอัฐิมาบรรจุคือผ้าขาวดวงตาและครูบาอภิชัยขาวปี) แต่ต่อมามีการบูรณะกู่อัฐิใหม่อีกครั้งในปี 2530 จึงได้มีการถอดแผ่นปูนปลาสเตอร์รูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยออก

ดิฉันจึงไปวัดหมื่นล้าน เพื่อติดตามขอชมแผ่นปลาสเตอร์นูนต่ำรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย เพราะต้องการทราบว่ารูปดังกล่าวยังมีอยู่ไหม ทางวัดเก็บไว้ที่ใด ทำไมจึงมาอยู่วัดนี้ ได้มาสมัยเจ้าอาวาสรูปไหน ฯลฯ สารพัดคำถามที่ดิฉันได้เสวนากับท่านเจ้าอาวาส

คำตอบคือ ทางวัดหมื่นล้านยืนยันว่าไม่มีรูปหล่อปูนปลาสเตอร์ดังกล่าว ไม่เคยเห็นมาก่อน หรืออาจเคยมีในยุคเจ้าอาวาสรุ่นก่อนๆ แต่เก็บไว้ที่แห่งใด เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันมิอาจทราบได้

นั่นคือประเด็นเดียวที่ดิฉันได้แลกเปลี่ยนกับเจ้าอาวาสวัดหมื่นล้าน ซึ่งยังคงเป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันในพุทธศักราชนี้

จากนั้นดิฉันก็เดินชมความงามของวัด ตื่นตะลึงกับศิลปกรรมชิ้นเยี่ยมหลายจุด อาทิ ไม้แกะสลักติดกระจกรูปนกยูงที่หน้าบันของวิหาร กับหอธรรม (หอไตร) หลังงาม 2 ชั้นตกแต่งลวดลายอย่างวิลิศมาหรา ซึ่งก็มีลวดลายนกยูงประดับอีกด้วยเช่นกัน

ช่วงที่ลงพื้นที่วัดหมื่นล้าน 3 ปีที่แล้วนั้น พบว่าทางวัดกำลังเริ่มดำเนินการบูรณะซ่อมแซมพระวิหารอยู่ โดยเอาซาแลนและแผ่นพลาสติกมาปิดคลุมอาคารวิหารไม่ให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปถ่ายภาพด้านในได้ ทำให้ดิฉันหมดโอกาสชมความงามภายใน ได้แต่ถ่ายภาพภายนอก

เมื่อค่อยๆ คลิกเลื่อนดูภาพที่เคยถ่ายไว้ในไฟล์วัดหมื่นล้านไปเรื่อยๆ พลันพบบานประตูเขียนภาพทวารบาลยืนแท่นแต่ไม่ถือพระขรรค์ ยกมือประนมกรแทน เขียนแยกคนละบานซ้าย-ขวา หันหน้าเข้าหากัน ใช้สีเอกรงค์หรือสีแดง-ทอง

ดังที่ภาษาล้านนาเรียกว่ากรรมวิธี “ลายคำน้ำแต้ม” คล้ายกับเทคนิคการเขียนลายรดน้ำของทางภาคกลาง กล่าวคือ สีแดงได้มาจาก “ชาด” ผสมยางรัก ไม่ใช่สีกระป๋องประเภทสีน้ำมันหรือสีพลาสติกที่ใช้ทาอาคารสมัยใหม่ ส่วนสีทองนั้นคือทองคำเปลวแท้ๆ

พบว่าฝีมือการเขียนลายเส้นมีความวิจิตรบรรจงมาก แม้ว่ากาลเวลาจะล่วงผ่านนานเกิน 100 ปีเศษ แต่ก็ใช่ว่าลวดลายจะลบเลือนจนไม่เหลือร่องรอย ยังดูงามแบบคลาสสิค

แน่นอนว่าสีสันอาจไม่ฉูดฉาดโดดเด่นแดงแจ๋ อีกทั้งสีทองอาจหลุดร่อนไปบ้าง ไม่อร้าอร่ามเรืองรองเหมือนยุคแรกสร้าง ทว่าทั้งหมดคือคราบความเก่าแบบลายคราม ที่สะท้อนถึงเส้นทางประวัติศาสตร์อันตกผลึก

หาใช่เป็นความเก่าสกปรกที่น่ารังเกียจแต่อย่างใดไม่

 

วัดของอาว์พระเจ้าติโลกราช
บูรณะโดยคุณหลวงโย

วัดชื่อ “หมื่นล้าน” เดิมเรียก “วัดหมื่นสามล้าน” ย่อมาจาก “หมื่นโลกสามล้าน” เป็นตำแหน่งของขุนพลคู่บัลลังก์ ทั้งยังมีศักดิ์เป็นอาว์ของพระเจ้าติโลกราชอีกด้วย

ท่านผู้นี้ต่อมาเป็นที่รู้จักในอีกหลายชื่อ อันเป็นยศที่เลื่อนสูงขึ้นๆ ไปอีกคือ “หมื่นด้งนคร” และ “หมื่นโลกนคร” สมัยนั่งเมืองเขลางค์

เห็นได้ว่าชื่อวัดในเชียงใหม่มักมีคำขึ้นต้นด้วยบรรดาศักดิ์ชั้นยศของขุนนางหลายระดับ ในฐานะเป็นผู้อุปถัมภ์สร้างวัด มีทั้งระดับร้อย พัน หมื่น แสน เช่น วัดร้อยข้อ (กลายเป็นวัดลอยเคราะห์) วัดพันอ้น วัดหมื่นเงินกอง วัดหมื่นสาร วัดแสนหลวง ฯลฯ

ศักราชที่สร้างวัดหมื่นล้านคือ พ.ศ.2003 (ปีมะเส็ง จ.ศ.822) ใช้เวลาสร้าง 3 ปีจึงแล้วเสร็จ

ต่อมาได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2460 (ปีมะเส็ง จ.ศ.1279) โดย “หลวงโยนการพิจิตร” คหบดีค้าไม้จากพม่า ซึ่งชาวบ้านเรียก “คุณหลวงโย” ต้นสกุล “อุปโยคิน” ท่านผู้นี้เป็นคนใจบุญอุทิศเงินในการบูรณะวัดวาอารามทั่วเชียงใหม่-ลำพูนจำนวนมากถึง 20-30 แห่ง

ด้วยเหตุนี้ทำให้ศิลปกรรมหลายชิ้นในวัดหมื่นล้านจึงมีกลิ่นอายของศิลปะพม่าอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระธาตุเจดีย์เป็นศิลปะแบบมัณฑะเลย์ คือองค์ระฆังอวบใหญ่ไม่มีบัลลังก์ ตกแต่งด้วยเฟื่องอุบะห้อยย้อยระย้า

กล่าวโดยสรุปก็คือ วัดนี้สร้างมาตั้งแต่ยุคทองของอาณาจักรล้านนาราว 560 ปีที่ผ่านมา และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งหนึ่งของชาวเชียงใหม่

 

ปัญหาซ้ำเดิมที่ซ้ำเติมความรู้สึก

ปัญหาการเอาสีทาทับบานประตูทวารบาลทางเข้าพระวิหารก็ดี หรือการทาสีทับภาพจิตรกรรมลายคำน้ำแต้มเบื้องหลังพระประธานในวิหารของวัดหมื่นล้านก็ดี

ครั้งนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ครั้งแรกที่เกิดขึ้น

ส่วนใหญ่เมื่อสอบถามเจ้าอาวาสถึงเหตุผลว่า “ทำไมจึงไม่ปรึกษากรมศิลปากรก่อน?” มักได้รับคำตอบเหมือนๆ กันประมาณ 6-7 ข้อว่า

หนึ่ง ไม่มีความจำเป็นต้องปรึกษาเพราะวัดนี้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร

สอง ไม่ปรึกษาเพราะกลัวว่ากรมศิลปากรจะไม่อนุญาตให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบในการบูรณะ

สาม ไม่ปรึกษาเพราะกลัวว่าเมื่อกรมศิลปากรช่วยบูรณะเสร็จแล้วจะมาขึ้นทะเบียนภายหลัง ทำให้วัดขาดอิสระในการบริหารจัดการ

สี่ ปรึกษาแล้ว แต่กรมศิลปากรบอกว่ายังไม่มีงบมาช่วยบูรณะให้ ต้องรอคิวอีกนานกว่าจะได้อาจเป็นปีงบประมาณ 2565-2566 โน่น

ห้า ปรึกษาแล้ว ทำเรื่องถึงกรมศิลปากรนานแล้ว แต่ไม่มีคำตอบใดๆ ไม่เคยส่งเจ้าหน้าที่มาดู รอไม่ไหวจึงจัดการบูรณะเอง

หก ปรึกษาแล้ว กรมศิลปากรแนะนำแล้ว และทำแบบประมาณการเคาะค่าบูรณะให้ดูแล้ว แพงหูฉี่ กรมศิลปากรแนะนำว่ามีทางเลือก 2 ทางคือ 1.รอคิวงบฯ ของกรมศิลปากร อาจต้องรอ 2-3-4 ปี หรือไม่ก็ 2.หางบฯ จากจัดผ้าป่ามาบูรณะเอง แต่กรมศิลป์จะเป็นพี่เลี้ยงควบคุมดูแลการบูรณะให้ถูกต้องอยู่ห่างๆ ทางวัดคิดสะระตะแล้ว ไม่รอดีกว่า และไม่มีงบฯ มากพอที่จะอนุรักษ์ตามแนวทางของกรมศิลป์ได้ จึงบูรณะตามแนวทางง่ายๆ แบบบ้านๆ ดีกว่า

เจ็ด ไม่ทราบมาก่อนจริงๆ ว่าจำเป็นต้องปรึกษากรมศิลปากรด้วยหรือ ในเมื่อวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล ก็น่าจะมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะดำเนินการบูรณะซ่อมแซมปรับเปลี่ยนวัสดุรูปแบบใดๆ ก็ได้อย่างอิสระ

ไม่ว่าทางวัด (ไม่จำเพาะวัดหมื่นล้าน แต่หมายรวมถึงวัดทุกแห่ง) จะเลือกตอบข้อใดในบรรดา 7 คำตอบยอดฮิตนี้ ผลสรุปก็คือ ทางวัดประสงค์จะบูรณะเองโดยไม่ประสงค์จะให้กรมศิลปากรมาเป็นพี่เลี้ยง

ปัญหาที่ตามมาจึงซ้ำซาก นั่นคือเกิดการทำลายรูปแบบศิลปะดั้งเดิม ทำลายวัสดุดั้งเดิม ทำลายช่างฝีมือดั้งเดิม ทำลายภูมิทัศน์วัฒนธรรมดั้งเดิม

สร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้พบเห็นที่รู้สึกหวงแหนของเดิม และสร้างความลำบากใจให้กรมศิลปากรต้องมาตามแก้ไขยกใหญ่ภายหลัง

จึงอยากกราบนมัสการวิงวอนพระเถรานุเถระทุกรูปทุกวัดที่กำลังมีแผนจะบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะว่า ขอพระคุณเจ้าโปรดอย่าได้รังเกียจรังงอน กลัวการประสานงานกับกรมศิลปากรแต่อย่างใดเลย

 

การที่กรมศิลปากรยืนหยัดในหลักการที่จะอนุรักษ์รูปแบบศิลปะดั้งเดิมไว้ (แม้งบประมาณจะล่าช้า หรือส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ล่าช้าไปบ้าง ด้วยเป็นหน่วยงานที่ถูกรัฐบาลมองข้าม จึงขาดบุคลากร) ทั้งนี้ก็เพื่อยกระดับคุณค่าวัดของพระคุณเจ้าเองทั้งสิ้น

วัดใดก็แล้วแต่ ยิ่งมีของเก่ามากก็ยิ่งดึงดูดผู้คนให้อยากไปเยี่ยมชม วัดใดก็ตามที่เสนาสนะแต่ละหลังดูใหม่เอี่ยมเรี่ยมเร้ คนก็ยิ่งเมินหน้าหนี เพราะมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องไปซาบซึ้งกับสิ่งที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่

ตอนนี้ทราบมาว่าบรรดานักโบราณคดี นักอนุรักษ์ตามกระบวนวิทยาศาสตร์ นักวิชาการด้านศิลปกรรมล้านนาหลายแขนง กำลังช่วยกันระดมสมองว่าจะจัดการอนุรักษ์บานประตูและฝาผนังหลังพระประธานของวิหารวัดหมื่นล้านอย่างไรดี ให้ภาพลายคำน้ำแต้มหวนกลับคืนมาสู่สภาพเดิมโดยไม่เสียหาย

จะขูดสีออกด้วยวิธีไหน หรือต้องใช้สารเคมีอะไรช่วยละลายสีที่ทาทับรูปทวารบาลอย่างไรกันดี จึงจะไม่ทำลายภาพลายคำน้ำแต้มที่อยู่ด้านล่าง

เรื่องนี้ไม่ใช่โจทย์ที่ง่ายเลย แต่ก็เอาใจช่วยให้แก้ไขได้สำเร็จ

หรือมิเช่นนั้น ยามคิดถึงทวารบาลอันอ่อนช้อย ก็ต้องมองภาพที่ดิฉันเคยถ่ายเอาไว้นี้เป็นอนุสรณ์ชิ้นสุดท้ายต่างหน้าแทนกันตลอดไป