“ป๋า สปท.”รอดจริยธรรม มติเอกฉันท์แค่ “ตักเตือน” เรื่องจบ แต่คาใจคนทั้งประเทศ?

กว่า 40 วันแล้ว หลังจากกรณี นายอนุสร จิรพงศ์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ถูกร้องเรียนทำร้ายร่างกายเด็กเสิร์ฟร้านอาหารชื่อดังแห่งหนึ่ง เนื่องจากไม่พอใจถูกเรียกว่า “ป๋า”

แม้ในทางกฎหมายคดีนี้จะปิดไปแล้วอย่างรวดเร็วเมื่อมีการลงโทษปรับและผู้กระทำผิดยอมรับ ขอโทษในสิ่งที่ทำไปแล้ว แต่ในแง่ของจริยธรรมตามตำแหน่งนั้น พึ่งจะเสร็จสิ้น

24 เมษายนที่ผ่านมา สมาชิก สปท. ประชุมลับพิจารณาว่า การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำ หรือมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนข้อบังคับประมวลจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งมีรายงานข่าวระบุว่า การอภิปรายแสดงความเห็นในที่ประชุม ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ขอให้จบๆ เรื่องกันไป อย่าง ตำรวจ ทหาร นักกฎหมาย ทนายความ ที่เห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ร้ายแรง เพราะถือว่านายอนุสรไปเขกหัวใครก็ไม่เป็นไร จ่ายปรับไปแล้ว ก็ถือว่าคดีจบแล้ว ดังนั้น นายอนุสรก็ไม่น่าจะมีความผิดอะไรอีก

กับอีกกลุ่มที่มีความเห็นแย้งว่า แม้จะมีการจ่ายค่าปรับตามกฎหมายแล้ว แต่ สปท. คือผู้ที่มีเกียรติในการทำหน้าที่ จึงควรมีมาตรฐานจริยธรรมที่สูงกว่าคนทั่วไป เพราะถูกคัดเลือกมาแล้วก็ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชน อีกทั้งยังเป็นผู้มีความรอบรู้ความสามารถ ก็อย่าให้โดนประณามได้ว่ามีพฤติกรรมไม่ต่างจากสภาผู้แทนราษฎร ควรจะมีการควบคุมอารมณ์ โดยเฉพาะต่อที่สาธารณะให้มากกว่านี้ เพื่อไม่ทำให้สภาแห่งนี้ตกต่ำ

อนุสรพูดก่อนการลงมติว่า “ถ้าเกิดผมจะเข้าจริยธรรมอะไรก็โอเค และไม่ติดใจ ถ้าการที่เขกหัวเด็กที่พูดจาไม่เพราะ ถือว่าเป็นจริยธรรมที่แย่ แสดงว่าคนในประเทศเราก็ต้องมีมาตรฐานสูงจริงๆ”

ที่ประชุม สปท. ถือว่าให้ความสำคัญกับจริยธรรมไม่น้อย เพราะถกกันนานกว่า 4 ชั่วโมง จนสรุปเป็นมติ 4 มติ ให้สมาชิกลงความเห็น

คือ 1. ฝ่าฝืน ด้วยคะแนน 124 ต่อ 22 งดออกเสียง 22 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

2. ร้ายแรง เห็นด้วย 54 ไม่เห็นด้วย 93 งดออกเสียง 14

3. ให้ประณาม เห็นด้วย 29 ไม่เห็นด้วย 104 งดออกเสียง 17 ไม่ลงคะแนน 9 เสียง

และ 4. ให้ว่ากล่าวตักเตือน เห็นด้วย 107 ไม่เห็นด้วย 38 งดออกเสียง 14 ไม่ลง 2 คะแนน

โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกวิป สปท. ออกมาแถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณารายงานเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมาธิการจริยธรรมฯ สปท. แล้ว และมีมติว่า การกระทำของนายอนุสร เป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ว่าด้วยประมวลจริยธรรม และข้อบังคับการประชุม สปท. ข้อที่ 102 โดยเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างไม่ร้ายแรง และมีมติให้ว่ากล่าวตักเตือนเพียงเท่านั้น

เรียกได้ว่ามติที่ออกมา มาตรฐานสูง ตามที่นายอนุสรเคยบอกไว้จริงๆ

คำนูณ สิทธิสมาน

หากย้อนกลับไปดูคำสัมภาษณ์ของนายอนุสร หลังพนักงานสอบสวนลงความเห็นให้มีการปรับสูงสุดในวงเงิน 10,000 บาท และส่งสำนวนทั้งหมดให้พนักงานอัยการพิจารณา ที่ว่า

“มันไม่สามารถหยั่งได้ว่า คนนี้เฉยๆ คนนี้เสียใจ เรื่องก็เลยบานปลาย แต่ผมก็พยายามออกมาบอกว่าผมไม่ได้หนีไปไหน ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่าง ในสิ่งที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย บางทีในสถานการณ์คนอื่นก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ก็ขอโทษจริงๆ”

มันสะท้อนว่า การกระทำที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองที่ดีพอ อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีนั้นเป็นจริงแค่ไหน เพราะเราอ่านใจใครไม่ได้ เราควบคุมคำพูดการกระทำคนอื่นไม่ได้ แต่เราทำกับตัวเองได้

และยิ่งเมื่อมีตำแหน่ง หน้าที่การงานมาเกี่ยวข้อง คนก็มักจะคาดหวัง ว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่ง สปท. จะไม่สามารถคุมตัวเองได้เลยหรือ เพราะตำแหน่ง สปท. ที่ว่ามาพร้อมกับ ชื่อเสียง การยกย่อง การคัดกรองที่ผ่านการคัดสรรแล้วว่าต้องเป็นบุคลากรชั้นดีของ คสช. ตำแหน่งอันทรงเกียรติ ที่ผู้อยู่ในตำแหน่งควรดำรงไว้ซึ่งมารยาทที่ดีงามทั้งในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงนอกเวลางานหรือไม่

สิ่งที่เกิดขึ้นยังสะท้อนปัญหาหนึ่งของไทย ว่าด้วยเรื่องคำสรรพนามที่ยังแบ่งชนชั้นต่ำสูง ไม่เหมือนกับภาษาอื่น เช่น ภาษาอังกฤษ ที่มีแค่ฉันกับคุณ ไม่ส่งผลกระทบกับจิตใจเวลาเรียกเท่าบ้านเรา และก็ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่า ในอนาคต สรรพนามเหล่านี้จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรขึ้นมาอีกบ้าง ถ้าคนใช้ทำให้เกิดความไม่พอใจให้กับผู้ฟัง แล้วลงโทษคนอื่นด้วยการกระทำ

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ความรุนแรงจากการลงโทษด้วยการกระทำก็ควรจะลดลง เพราะไม่มีชนชั้นเข้ามาเกี่ยวข้องเท่ากับอดีต การตักเตือนด้วยวาจาจึงเข้ามาแทนที่ในสังคมโดยเฉพาะในบุคคลที่มีการศึกษาและหน้าที่การงานสูงๆ ในสังคม

แม้คดีของป๋าจะจบสิ้นทั้งกระบวนการทางกฎหมายและจริยธรรมแล้ว

ใครจะรู้ว่าในอนาคต จะไม่เกิดเหตุการณ์ “ป๋า” อื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะป๋าที่เป็น สปท. ซึ่งเปรียบเสมือนนักการเมืองคนหนึ่ง เพราะเก้าอี้ที่นั่งอยู่ก็เป็นตำแหน่งทางการเมือง

บางส่วนก็มองว่า แล้ว สปท. ไม่ใช่ปุถุชน?

“ภาพที่ปรากฏออกมาตามคลิปนั้น ผมเพียงแค่ใช้มือเขกศีรษะพนักงานของร้านในลักษณะตักเตือนเท่านั้น เพราะพนักงานคนดังกล่าวเรียกตนเองว่า “ป๋า” ซึ่งส่วนตัวไม่ชอบให้ใครมาเรียกแบบนี้ จึงได้ตักเตือนไป และที่ผ่านมาก็มักจะเข้าไปทานอาหารร้านนี้เป็นประจำอยู่แล้ว โดยหลังจากนี้คงจะมีการประสานไปทางร้านเพื่อเจรจากันต่อไป”

อย่างที่นายอนุสรเคยกล่าว เราอ่านใจใครไม่ได้ ว่าใครจะชอบอะไรไม่ชอบอะไร “ป๋า” อาจเป็นคำสแลงสำหรับนายอนุสร

แต่คำว่า “ป๋า” ที่เป็นต้นเหตุ ที่กลายเป็นปัญหาระดับชาติให้คนในสังคมวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมา เมื่อคนฟังไม่ชอบ แถมเขกหัวคนที่เรียกไป 1 ทีนั้น ในทางสังคมมันสำคัญแค่ไหนกัน

อย่างในทางการเมืองแล้ว คำว่า “ป๋า” ไม่ใช่เพียงคำธรรมดาที่ใช้เป็นคำลำดับญาติ แต่ยังถือเป็นคำยกย่องเชิดชูผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการที่น่ายกย่อง อย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ใครๆ ต่างก็เรียก “ป๋าเปรม” หรือ นายเสนาะ เทียนทอง เจ้าพ่อวังน้ำเย็น ที่ทุกคนต่างเรียกขานว่า “ป๋าเหนาะ”

แม้วันนี้ “ป๋าอนุสร” จะได้รับเพียงแค่คำตักเตือน จากมติที่ประชุม สปท. แต่ในโลกของความเป็นจริง สังคมได้ให้บทเรียนกับ “ป๋าอนุสร” ไปแล้วว่า แค่เขกหัวก็ต้องยอมรับกับชีวิตที่ต้องปวดหัวตามมาด้วย เพราะสมัยนี้สังคมตามหาความเท่าเทียม ไม่ว่าจะ “ป๋าอนุสร” หรือ “ป๋า” ไหนๆ ก็ต้องตอบประชาชนให้ชื่นใจว่า “จริยธรรม” ของ “ป๋า” สะกดแบบเดียวกันกับพวกเขาหรือไม่?