หลังเลนส์ในดงลึก | “คำตอบ”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
สมเสร็จ- ความมีชีวิตอันค่อนข้างลึกลับของสมเสร็จ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีการศึกษาวิจัยมากขึ้น ภาพจากกล้องดักถ่าย โดย ชัยพร สังขโลก

กลางเดือนเมษายน

ท้องฟ้ามืดครึ้ม ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ป่าเป็นฤดูอันแห้งแล้ง ความแล้งมีเฉพาะตอนต้นๆ ปี ผ่านมา 4 เดือน สายฝนพร้อมสายลมกระโชกแรงก็มาถึงก่อนเวลาอันควร

ฝนตกปรอยๆ สลับหนัก ว่าไปแล้ว นี่ไม่ใช่อุปสรรคในการเฝ้ารอในบังไพรหรอก เพราะเราได้ออกแบบให้ซุ้มบังไพรมิดชิดและใช้ผ้ายางเกรดดีพอกันฝนได้

รวมทั้งการอยู่ในแคมป์ ความเปียกชื้นก็ไม่ใช่ปัญหา เรารู้ว่าต้องผูกเปลอย่างไร หรือดัดแปลงเชือกเปล โดยใช้ห่วงกลมๆ ต่อสายเปล เพื่อให้เป็นตัวดักน้ำที่จะไหลมาตามสายเปล ฟลายชีตนั้น เรากางให้คุ้มลงมากๆ กันละอองน้ำเวลาลมพัดแรง

ที่เก็บเสบียงสำคัญ นอกจากต้องมีฟลายชีตคลุมแล้ว พวกน้ำปลา น้ำมันพืช และปลาแห้ง ต้องใส่ถุงแขวน ไม่เช่นนั้น มดละเอียดจะเต็มไปหมด

เหนือกองไฟอีก ฟลายชีตก็ต้องกางในตำแหน่งที่สูงพอสมควร ไม่ใช่กันไม่ให้ความร้อนจากเปลวไฟไหม้ผ้ายางอย่างเดียว แต่จะช่วยไม่ให้ควันไฟลอยตลบจนเรานั่งข้างกองไฟไม่ไหวด้วย

อยู่ไปหลายๆ วัน แคมป์มักจะสมบูรณ์ อยู่อาศัยได้อย่างสบาย

แต่ปัญหาคือ ความจริงที่เมื่อฝนตก สัตว์ป่าก็ไม่จำเป็นต้องมุ่งหน้ามาที่แหล่งน้ำหรือโป่งซึ่งมีน้ำ

ป่าที่ควรแห้งแล้ง เขียวชอุ่ม แหล่งน้ำแหล่งอาหารมีทั่วไป สัตว์ป่าเตร็จเตร่ไปทั่ว

การเฝ้ารอ จึงพบแต่ความว่างเปล่า มีก็เพียงเหล่านกเขาเปล้า นกหกเล็กปากแดง อยู่ประจำและมาตรงเวลาทุกๆ วันเท่านั้น

เช่นนี้ การอยู่ในแคมป์บันทึกเรื่องราว อ่านหนังสือ ดูจะเป็นการผ่อนคลาย ด้วยใจซึ่งพร้อมรับและรู้ถึงสถานการณ์

 

ช่วงเช้ามืดฝนมักไม่ค่อยตก เสียงนกร้องแทรกด้วยเสียงชะนี เรามีโอกาสได้เดินไปทางโน้นทางนี้ เก็บผักกูด หาฝืน ล้างหน้าล้างตาในลำห้วย ก่อนฝนจะโปรยปรายในตอนสายๆ

หลายวันเข้า หนวดเครารุงรัง มองหน้ากันก็ดูคล้ายจะมีแต่ความแข็งกระด้าง

ดูเหมือนความหวานที่พอหาได้ คือจากน้ำตาลทรายแดงที่ไว้ใส่โกโก้

ข้อดีประการหนึ่งเวลาที่ถูกจำกัดบริเวณโดยฝน คือเราได้กินอาหารตรงเวลาทุกมื้อ

ในป่า โดยเฉพาะเมื่อท้องฟ้ามีเมฆฝน จะมืดเร็ว

ราวกับว่า ยามค่ำคืนช่างยาวนาน

หลังมื้อค่ำ นั่งข้างกองไฟ พูดคุย คือวิธีหนึ่งที่จะลดเวลาค่ำคืนให้สั้นลง

 

ผมพบว่า ถ้าผู้ร่วมทางเป็นผู้สูงวัย เดินป่าและทำงานในป่ามายาวนาน มักจะได้ยินเรื่องเล่าที่พวกเขาประสบรวมทั้งเรื่อง “เล่าข้างกองไฟ” ซึ่งเล่าต่อๆ กันมา

แต่เมื่อใดที่ผู้ร่วมทางเยาว์วัย เพิ่งเริ่มทำงาน

จะมีคำถามมากมายเกิดขึ้นข้างกองไฟเสมอ

ใช้เวลาอยู่บนโลกมามาก คำถามก็ดูจะน้อยลง

ประโยคนี้คล้ายจะมีความจริงอยู่บ้าง

 

“พี่ว่า ผีมีจริงหรือเปล่า”

นั่งอยู่ข้างกองไฟ แมน ชายหนุ่มลูกจ้างรายวันหน่วยพิทักษ์ป่า ซึ่งศีรษะยังโล้นเลี่ยน เขาเพิ่งสึกมาไม่กี่วัน

ผมละสายตาจากแมนที่นั่งอยู่อีกฝั่งของกองไฟ เสก้มลงขยับท่อนฟืน ลูกไฟแตกกระจาย

คิดหาคำตอบ

พูดตามตรงถ้าแมนถามคำถามนี้ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมคงมีคำตอบให้เขาอย่างเร็ว

ถึงวันนี้ คำถามนี้ไม่ใช่คำตอบที่ง่ายดายสำหรับผมเลย

วันเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ผมรู้ว่า “ผี” มีจริงหรือไม่หรอก

ป่าทำให้ผมรู้ว่า มีหลายเรื่องราวที่ผมหาคำตอบไม่ได้

“ที่เขาว่าน้าแผนถูกผีเข้า นั่นพี่ว่าไง” แมนถามต่อ

แผน พิทักษ์ป่าวัยกลางคน ย้ายไปอยู่อีกหน่วยตั้งแต่ต้นปี ขณะนี้นอนอยู่ในโรงพยาบาลอำเภอ

“หมอยังหาไม่เจอเลยว่าเป็นโรคอะไร” ก่อนเข้าป่า แมนแวะไปเยี่ยมแผนที่โรงพยาบาล หลังย้ายไปหน่วยใหม่ ซึ่งอยู่ในระดับความสูงกว่า 800 เมตร พื้นที่รายล้อมด้วยป่าดิบเขา สภาพอากาศค่อนข้างหนาวเย็น

วันหนึ่งข่าวจากวิทยุสื่อสารแจ้งว่า แผนวิ่งกระเซิงออกจากหน่วยตอนดึก ตะโกนโวยวายว่ามีคนตามฆ่า

เพื่อนๆ จัดชุดออกตาม ไปเจอแผนในสภาพร่างกายมีริ้วรอยหนามข่วนเต็มตัว เสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง ปืนลูกซองห้านัดหล่นห่างไปเกือบ 300 เมตร

เบื้องต้นเชื่อว่าแผนคงเพ้อเพราะพิษไข้มาลาเรีย อันเปรียบเสมือนเพื่อนสนิทของคนทำงานในป่า

แต่หมอยังตรวจไม่พบเชื้อ ทั้งที่โรงพยาบาลในอำเภอด้านตะวันตกจะค่อนข้างเชี่ยวชาญกับโรคนี้

ขณะนอนอยู่ แผนยังเพ้อหวาดผวากับการถูกตามฆ่า

 

“สงสัยเขาจะมาเอาคืน” ลุงทอน คนงานอาวุโส ให้ความเห็น วันที่เราคุยกันถึงแผนที่หน่วย ในครั้งที่เพิ่งเริ่มประกาศป่าให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ บริเวณป่าที่แผนไปอยู่ คือพื้นที่ล่าสัตว์ ช่วงแรกๆ พวกเขามีเหตุการณ์ปะทะกับพวกล่าสัตว์เสมอ

แผนเข้าทำงานใหม่ร่วมไปกับชุดเดินป่าลาดตระเวน เกิดปะทะกับคนล่าสัตว์ เสียชีวิต 3 คน คนของหน่วยป่าไม้เสียชีวิตหนึ่งคน

“ยิงกันแถวๆ ที่ตั้งหน่วยตอนนี้นั่นแหละ เขาจะมาเอาคืนละมั้ง ไอ้แผนมันอยู่ด้วยนี่”

ลุงทอนพูดเรื่อยๆ น้ำเสียงจริงจัง

 

“ว่าไงครับพี่” แมนคาดคั้นคำตอบ

ผมส่ายหน้าอย่างยังนึกคำตอบไม่ได้

ทำงานอยู่ในป่า เรื่องราวเช่นนี้คล้ายจะพบเจอได้เสมอๆ

ครั้งที่พี่ฟื้น ซึ่งยืนปักหลักอยู่ข้างๆ และใช้ความเชื่อของแกห้ามช้างที่กำลังวิ่งเข้าหาเราให้หยุด นั่นพออธิบายได้ว่า ช้างเข้ามาใกล้ กระทั่งรู้ว่าเป็นคน ไม่ใช่เสือที่มันระแวงและทำให้หงุดหงิด มันจึงผละไป

แต่ครั้งที่แกเอามีดหมอมาเคาะๆ บริเวณหัวเข่าผมที่โดนแมงป่องต่อยบวมเป่ง อาการบวมยุบลง ความเจ็บปวดหาย

นี่คล้ายจะอธิบายได้ยากสักหน่อย

 

“พี่น้ำเดือดแล้ว” เสียงแมนทำให้ผมตื่นจากภวังค์

ผมชงโกโก้เผื่อแมน ยื่นให้เขา

ละอองฝนตกกระทบฟลายชีตเปาะแปะ โกโก้ร้อนๆ หอมกรุ่นจับถ้วยไว้ด้วยอุ้งมือ ร่างกายดูจะอุ่นขึ้น

เสียงน้ำในลำห้วยไหลเป็นจังหวะ

ไม่มีเสียงเก้ง ช้าง หรือเสือ ที่มักคำรามให้ได้ยิน

ผมสาดโกโก้ที่เหลือติดก้นถ้วยเข้ากองไฟ ดึงฟืนท่อนใหญ่ออก การให้ไฟติดอยู่ตลอดคืนไม่จำเป็น

ลุกขึ้น เดินมาที่เปล เสียงเปาะแปะของสายฝนกระทบฟลายชีต คงช่วยกล่อมให้หลับสบาย

แมนลุกขึ้นเดินไปที่เปลเช่นกัน

“ว่าไงพี่ ผีมีจริงหรือเปล่า” เขาไม่เลิกรา

“ไม่มีหรอก” ผมตอบเสียงหนักแน่น จริงจัง

อาจไม่สำคัญนักหรอกว่า “ผี” ในความหมายของแมนจะมีจริงหรือไม่

ผมคงไม่ได้รู้จักป่าทั้งหมด ความเป็นไปในป่าทำให้ผมมีความเชื่อแบบหนึ่ง เชื่อว่า ป่าไม่ใช่ดินแดนแห่งความลึกลับ เป็นที่อยู่ของสัตว์ร้าย

และรู้ว่าควรมี “คำตอบ” กับคำถามนี้อย่างไร