สุรชาติ บำรุงสุข | 88 ปีระบอบทหารไทย : จาก 2488-2493

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ประชาธิปไตยที่อ่อนแอมีความเปราะบางต่อการเกิดรัฐประหาร เพราะว่าสถาบันทางการเมือง [ในระบอบนี้] ไม่สามารถรับมือได้กับการจู่โจมตรงๆ ได้… ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งจึงมีความเหนือกว่าประชาธิปไตยที่อ่อนแอในทุกด้าน ยกเว้นประการเดียวคือ ประชาธิปไตยที่อ่อนแอรู้เวลาดีว่าเมื่อไหร่จะล้มเหลว”

David Runciman

How Democracy Ends (2019)

การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็น “ความโชคดี” ของกองทัพไทยอย่างไม่น่าเชื่อ

เพราะแม้รัฐบาลพิบูลสงครามจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น และกองทัพไทยเป็น “พันธมิตรร่วมรบ” กับกองทัพญี่ปุ่น

แต่เมื่อสงครามจบลง ประเทศไทยกลับไม่ถูกถือว่าเป็น “ประเทศผู้แพ้สงคราม”

และนี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของไทยในทางการเมืองและความมั่นคง

เมื่อไทยไม่แพ้สงคราม!

หากไทยแพ้สงคราม… กองทัพญี่ปุ่นและกองทัพไทยจะถูกปลดอาวุธ รัฐบาลจะถูกจัดตั้งใหม่ภายใต้การควบคุมของสัมพันธมิตร และประเทศจะถูก “ปลดปล่อย” จากกองทัพอักษะโดยการอำนวยการของ “กองบัญชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (The South East Asia Command – SEAC) ซึ่งเป็นกองบัญชาการของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ตั้งอยู่ที่เมืองแคนดี้ ศรีลังกา ภายใต้การบังคับบัญชาของลอร์ด หลุยส์ เมาต์แบตแตน (Lord Louis Mountbatten)

อันเป็นการโอนอำนาจในการควบคุมพื้นที่มาจากกองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกด้านตะวันตกเฉียงใต้ (The South-West Pacific Command) ของสหรัฐมาอยู่กับทางอังกฤษ อันเป็นการขยายอิทธิพลของอังกฤษในภูมิภาค

ดังนั้น สี่ชั่วโมงหลังจากการประกาศการยอมแพ้ของสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิญี่ปุ่นในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ จึงได้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่รัฐบาลไทย

ในวันถัดมา อาจารย์ปรีดีจึงได้ออก “ประกาศสันติภาพ” (Peace Declaration) และประกาศการเป็นโมฆะของคำประกาศสงครามของจอมพล ป. เพราะถือว่าเป็นคำประกาศที่ขัดต่อ “เจตจำนงของประชาชนไทย และฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการพาประเทศออกจากสงคราม

แน่นอนว่าการปลดภาระของประเทศออกจากสถานะสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะรัฐบาลลอนดอนต้องการให้ไทยรับเงื่อนไขของ “สัญญาสมบูรณ์แบบ” ของอังกฤษ อันมีนัยเท่ากับการเป็นผู้แพ้สงครามนั่นเอง

หลายฝ่ายเชื่อว่าประเทศไทยคงจะไม่รอดพ้นจากสถานะเช่นนี้ได้ เช่น ชาวไทยเชื้อสายจีนในปีกนิยมจีนคณะชาติเชื่อว่า อีกไม่นานกองทัพจีนจะส่งกำลังเข้าควบคุมประเทศไทย เป็นต้น

แต่ในคำสั่งทางยุทธการของ “คำสั่งทั่วไปที่ 1” มีการแบ่งพื้นที่การปลดอาวุธ และกองทัพอังกฤษจะเป็นผู้เข้าปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่นในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด

จนแม้ในที่สุดก็ไม่มีคำสั่งให้ปลดอาวุธกองทัพไทย แม้ผู้นำทหารไทยจะพาประเทศเข้าสู่สงครามร่วมกับฝ่ายอักษะ และพากองทัพเข้าร่วมเป็นพันธมิตรสงครามกับกองทัพญี่ปุ่นก็ตาม

จุดพลิกผันที่สำคัญเกิดในวันที่ 19 สิงหาคม เมื่อรัฐบาลวอชิงตันได้ประการชัดว่า ประเทศไทย “ไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นประเทศที่ถูกปลดปล่อยจากข้าศึก”

ซึ่งก็เท่ากับการแสดงการยอมรับคำประกาศสันติภาพของอาจารย์ปรีดีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม อันเท่ากับมีนัยว่าสหรัฐไม่ยอมรับคำประกาศสงครามของจอมพล ป.

การแสดงบทบาทของสหรัฐมีส่วนช่วยอย่างมากในการช่วยให้ไทยไม่ต้องถูกกดดันจากอังกฤษ จนต้องจบลงในแบบเดียวกับญี่ปุ่น

ซึ่งย่อมจะส่งผลโดยตรงให้เกิดการยุบกองทัพเดิม เพราะถือว่าเป็นองค์กรที่เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะ และจัดใหม่ภายใต้การควบคุมของกองทัพสัมพันธมิตร…

น่าสนใจอย่างมากว่า ถ้าต้องเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว โฉมหน้าใหม่ของกองทัพไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเป็นเช่นไร และทหารไทยจะถูกทำให้เป็นกองทัพแบบตะวันตกหรือไม่

ผู้คุ้มครองคนใหม่

แต่เมื่อสถานะการแพ้สงครามไม่เกิดแก่ประเทศไทย และกองทัพไทยก็ไม่ได้ถูกปลดอาวุธเช่นในตัวแบบจากกรณีของญี่ปุ่นแล้ว ก็เท่ากับการคงสถานะเดิมในช่วงหลังสงคราม อันส่งผลให้ไม่เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองของไทยอย่างแท้จริง

ซึ่งในกรณีนี้ดูจะแตกต่างจากหลายประเทศในยุคหลังสงครามอย่างมาก ที่สงครามโลกได้รื้อโครงสร้างอำนาจเก่าลง

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสงครามโลกเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างมาก

ยิ่งในกรณีของประเทศที่เป็นผู้แพ้สงครามแล้ว จะยิ่งเห็นได้ชัดถึงผลกระทบดังกล่าว

เช่นที่จะเห็นได้จากตัวอย่างของเยอรมนีและญี่ปุ่น ที่เกิดการรื้อโครงสร้างเดิมของประเทศโดยฝ่ายสัมพันธมิตร

สงครามโลกส่งผลอย่างมากต่อขบวนการเรียกร้องเอกราชด้วย เช่น การจัดตั้งกองทัพแห่งชาติของพม่า (The Burma National Army – BNA) ของนายพลอู อองซาน เมื่อสงครามเพิ่งสงบลงไม่นาน

และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกองกำลังของผู้รักชาติชาวพม่า (The Patriotic Burma Forces – PBF) ในเดือนมิถุนายน 2488 หรือเป็นความหวังของนักชาตินิยมในหลายประเทศ เช่นในกรณีของเวียดนามและอินโดนีเซียว่า สงครามจะจบลงด้วยการให้เอกราชจากฝ่ายสัมพันธมิตร นักชาตินิยมฝันถึงเอกราชเสมอ!

แต่ในไทยนั้น สงครามไม่กลายเป็นปัจจัยของการปรับรื้อเช่นว่านั้น

อีกทั้งท่าทีของรัฐบาลวอชิงตันที่พยายามช่วยเหลือไทย ไม่ให้ต้องยอมลงนามใน “ข้อเรียกร้อง 21 ประการ” ของอังกฤษ จึงส่งผลให้ไทยในยุคหลังสงครามเป็นประเทศที่รอดพ้นจากการควบคุมของอังกฤษ

แต่ความช่วยเหลือเช่นนี้ก็กลายเป็นโอกาสอย่างสำคัญที่สหรัฐจะ “ได้ใจ” ผู้นำไทย ในฐานะผู้ปกป้องเอกราชไทยในยุคหลังสงคราม

และยังเป็นโอกาสโดยตรงต่อการขยายอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐในไทย

จนอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่การสิ้นสุดสงครามเปลี่ยนใหญ่ที่สุดในบริบทของไทยก็คือ การลดอิทธิพลของอังกฤษลง และไทยเปลี่ยนแกนความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในฝ่ายตะวันตกจากอังกฤษไปสู่สหรัฐ

ซึ่งการเปลี่ยนเช่นนี้สอดรับกับ “ภูมิทัศน์ใหม่” ของการเมืองโลกในยุคหลังสงครามด้วย

สภาวะเช่นนี้ทำให้สหรัฐได้ก้าวเข้ามาเป็น “ผู้คุ้มครองคนใหม่” ของไทย หลังจากผู้นำทหารไทยในช่วงสงครามโลกตัดสินใจเลือกข้างให้ญี่ปุ่นทำหน้าที่ดังกล่าว

ฉะนั้น เมื่อระเบียบโลกเปลี่ยน การตัดสินใจของรัฐบาลกรุงเทพฯ ก็เปลี่ยน และศูนย์กลางอำนาจใหม่ของโลกย้ายไปที่วอชิงตัน ไม่ใช่ลอนดอน

และไม่ใช่คู่แข่งในช่วงสงครามที่เบอร์ลินและโตเกียวอีกต่อไป

ขณะเดียวกัน ภูมิทัศน์ใหม่ก็นำมาซึ่งการขยายบทบาทของสหภาพโซเวียตทั้งในเวทีโลกและเอเชีย

สงครามของฝ่ายอักษะกำลังถูกแทนที่ด้วยสงครามของฝ่ายคอมมิวนิสต์ หรืออาจกล่าวในมิติความมั่นคงได้ว่า สงครามโลกสิ้นสุดลงพร้อมกับการจบภัยคุกคามของฝ่ายอักษะ และเปิดประเด็นใหม่ที่มีนัยสำคัญกับการจัดระเบียบโลกในยุคหลังสงครามก็คือ ปัญหาภัยคุกคามของฝ่ายคอมมิวนิสต์

อีกทั้งมหาอำนาจที่เป็นคู่แข่งขันใหม่ไม่ใช่เยอรมนีในยุโรป หรือญี่ปุ่นในเอเชียอีกต่อไป หากเป็นสหภาพโซเวียตที่มาพร้อมกับอุดมการณ์อีกชุด…

สภาวะเช่นนี้ท้าทายต่อชนชั้นนำและผู้นำทหารไทยอย่างมาก ซึ่งพวกเขาส่วนหนึ่งมีความกลัวคอมมิวนิสต์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

สงครามใหม่-สงครามเย็น

เมื่อสงครามไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนโครงสร้างอำนาจของสังคมไทย และการเมืองไทยในยุคหลังสงครามก็เต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้ง สิ่งที่เป็นผลสืบเนื่องตามมาอย่างมีนัยสำคัญก็คือ การตัดสินใจของกลุ่มอนุรักษนิยมที่จะยึดกุมเวทีการเมืองอีกครั้งด้วยรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

ซึ่งต้องถือว่าเป็นความท้าทายต่อฝ่ายสัมพันธมิตรว่า จะปล่อยให้ไทยกลับไปสู่การปกครองของผู้นำทหารอย่างจอมพล ป. ที่เคยเป็นฝ่ายนิยมอักษะมาก่อนหรือไม่

หรือโลกกำลังผันแปรด้วยภูมิทัศน์ใหม่คือ การมาของ “สงครามเย็น” ที่มีผลในการเปลี่ยนมุมมองของตะวันตกต่อรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ

สงครามเย็นทำให้ภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์กลายเป็นข้อพิจารณาหลักในการกำหนดอนาคต และกลายเป็นเครื่องมือของการสร้างความชอบธรรมให้แก่การระบอบทหารไทย

เพราะคำอธิบายจากปีกนี้ก็คือ “ลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังแผ่เข้ามาปกคลุมประเทศไทย” และทางออกของประเทศทางเดียวคือ “รัฐประหาร” ซึ่งการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของปีกอนุรักษนิยมในไทยสอดรับกับกระแสโลกอย่างมาก

เพราะโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐมองว่าปัญหาการคุกคามของคอมมิวนิสต์เป็นโจทย์สำคัญของโลก

ฉะนั้น รัฐประหารที่กรุงเทพฯ จึงไม่ใช่ความกังวลของมหาอำนาจตะวันตก

คำยืนยันของภัยคุกคามนี้เห็นได้จากการขยายอิทธิพลของโซเวียตในช่วงหลังสงครามในยุโรปตะวันออก และตามมาด้วยวิกฤตการณ์ในกรีซกับตุรกีในต้นปี 2490 ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ปีนี้ จอร์จ เคนแนน (George Kennan) เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐประจำมอสโก ใช้ชื่อ “Mr. X” เขียนอรรถาธิบายการกำหนดนโยบายของโซเวียตเรื่อง “The Sources of Soviet Conduct” หรือที่เรียกว่า “The Long Telegram”… ในเดือนมิถุนายน 2491 เกิดการปิดล้อมกรุงเบอร์ลิน และสงครามคอมมิวนิสต์ในมลายา…

ในเดือนตุลาคม 2492 เกิดการผลัดแผ่นดินในจีนด้วยการขึ้นสู่อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์…

ในเดือนมิถุนายน 2493 กำลังรบของเกาหลีเหนือก็รุกข้ามแนวเส้นขนานที่ 38 และหลังการรุกนี้เพียงวันเดียว เกาหลีเหนือก็ยึดโซลเมืองหลวงของเกาหลีใต้ สงครามเกิดขึ้นทันที…

สงครามเย็นจากยุโรปมาถึงเอเชีย และสุดท้ายกลายเป็น “สงครามร้อน” บนคาบสมุทรเกาหลี และเป็นสงครามร้อนแรกของสงครามเย็น

จากการสิ้นสุดของสงครามโลกที่แม้จะก่อให้เกิดความผันผวนไปกับโลกหลังสงคราม แต่รัฐและกองทัพไทยกลับไม่ได้ถูกปรับรื้อไปกับสภาวะเช่นนั้น ต่างจากกรณีของประเทศที่เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ

ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาในการเมืองไทยในยุคหลังสงคราม รัฐประหารจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ถูกหยิบมาใช้อย่างได้ผลในปลายปี 2490 และทำให้การเมืองไทยตกอยู่ในมือของผู้นำทหารอย่างจอมพล ป.อีกครั้ง

และภาวะเช่นนี้เกิดคู่ขนานกับความเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลก ระเบียบโลกใหม่หลังสงครามหรือ “ระเบียบแบบสงครามเย็น” จึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการที่เกื้อหนุนโดยตรงการสร้างระบอบทหารไทย

ผู้นำทหารในสายตาของรัฐมหาอำนาจตะวันตกเป็น “นักชาตินิยม” ที่พร้อมจะแบกรับหน้าที่ในการเป็นนักต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่เข้มแข็ง และหลายครั้งที่ผู้นำพลเรือนถูกมองว่าอ่อนแอ และระบอบประชาธิปไตยเปราะบางต่อการคุกคามของคอมมิวนิสต์ ดังนั้น บทบาทหารไทยในยุคหลัง 2475 เป็น “ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ในยุคหลัง 2484 เป็น “พันธมิตรร่วมรบ” กับญี่ปุ่น ในยุคหลัง 2490 พวกเขาจึงกลายเป็น “นักต่อต้านคอมมิวนิสต์”

บทบาทใหม่เช่นนี้นำไปสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ ผู้นำทหารไทยพาประเทศไปอยู่ใน “ค่ายตะวันตก” และเข้าร่วมสงครามเกาหลีในปี 2493

ซึ่งแน่นอนว่าต่อจากนี้ทหารไทยจะทำหน้าที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเต็มกำลังทั้งในบ้านและนอกบ้าน!