วิรัตน์ แสงทองคำ : ธนินท์ เจียรวนนท์ และจุดเริ่มต้นของ “ร้านเจริญโภคภัณฑ์”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดนี้ ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

“ร้านเจริญโภคภัณฑ์” เกิดขึ้นท่ามกลางโอกาสเปิดกว้างครั้งใหญ่ในสังคมธุรกิจไทย

“ในปี พ.ศ.2496 ท่านประธานจรัญ (พี่ชายคนโต) ได้เริ่มทำธุรกิจอาหารสัตว์ โดยท่านตั้งใจขยายกิจการออกไปเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรเป็นหลัก และตั้งชื่อบริษัทว่า “เจริญโภคภัณฑ์” หรือเรียกย่อๆ ภาษาอังกฤษว่า CP” (บันทึกความทรงจำ ธนินท์ เจียรวนนท์) นับเป็นช่วงเวลาและสถานการณ์ที่น่าสนใจมากๆ

จากฉากเบื้องหลังใหญ่ที่สุด นั่นคือสถานการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ถือเป็นการสิ้นสุดยุคอาณานิคม และเป็นจุดเริ่มต้นอิทธิพลสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกไกล จุดปะทุจากสงครามเกาหลี (2493-2496)

“สงครามเกาหลีกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเงินสนับสนุนและโครงการพัฒนาต่างๆ จากสหรัฐ แม้ว่าในช่วงปลายสงครามเกาหลีจะทำให้เศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวต้องชะลอตัวซบเซาลงเล็กน้อย” (ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ) ให้ภาพกว้างๆ

“หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ธุรกิจในประเทศไทยได้กลับคืนสู่ภาวะปกติ การค้าในทรงวาด สำเพ็งและเยาวราชเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด …ปลายปี 2492 เศรษฐกิจไทยได้รับแรงกระตุ้นโดยตรงจากสงครามเกาหลี ดีบุก ยางพารา แร่วุลแฟรม และข้าว ขายดีมาก” ภาพที่โฟกัสมากขึ้น

(หนังสือ The Fall of Thai Banking วิรัตน์ แสงทองคำ ปี 2548)

 

ภาพนั้นเชื่อมโยงกับการกำเนิดอิทธิพลระบบธนาคารครอบครัวไทย ได้เข้ามาทดแทนระบบธนาคารอาณานิคม จนกลายเป็นแกนกลางสังคมธุรกิจไทยในยุคต่อมา

“ในปี 2484 ก่อนสงครามโลกลุกลามเข้าสู่ไทย ระบบเศรษฐกิจไทยมีธนาคารทั้งหมด 12 แห่ง เป็นสาขาธนาคารต่างประเทศ 7 แห่ง และธนาคารพาณิชย์ไทย 5 แห่ง เมื่อไทยประกาศเข้าร่วมสงครามในฐานะพันธมิตรกับญี่ปุ่น ธนาคารต่างชาติที่มิใช่ของญี่ปุ่นทั้ง 6 แห่งต้องปิดกิจการ”

เมื่อสงครามโลกจบลง ไม่เพียงธนาคารไทยเดิมกลับมามีบทบาทมากขึ้น ยังมีธนาคารใหม่เกิดขึ้นเป็นขบวน โดยเฉพาะในช่วงปี 2485-2488 มีถึง 5 ธนาคาร –ธนาคารมณฑล (2485) ซึ่งต่อมากลายเป็นธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (2487) ธนาคารกรุงเทพ (2487) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (2488) และธนาคารกสิกรไทย (2488) อีกระลอกในปี 2491-2492 ได้แก่ ธนาคารแหลมทอง (2491) สหธนาคารและธนาคารไทยทนุ (2492)

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ธนาคารไทยพาณิชย์กำลังผ่านช่วงเวลาลุ่มๆ ดอนๆ (ยุคอาณานิคมและการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475) สู่อีกยุคหนึ่ง

ธนาคารไทยพาณิชย์กำลังผ่านยุคการบริหารโดยชาวต่างชาติ นานถึง 35 ปีตั้งแต่ก่อตั้ง มาสู่คนไทย ตามมาด้วยแผนการขยายสาขาอย่างจริงจังครั้งแรก เป็นช่วงเติบโตทางธุรกิจครั้งใหญ่ครั้งแรก จากสินทรัพย์ประมาณ 35 ล้านบาทในปี 2487 เป็น 222 ล้านบาทในปี 2489 เป็นพื้นฐานสำคัญของยุคสมัยใหม่

เกี่ยวเนื่องกับข้อต่อสำคัญตั้งแต่ปี 2476 พระคลังข้างที่ได้เปลี่ยนเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่ ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี จากนั้นจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ในปี 2480) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ

เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญว่าด้วยบทบาทในฐานะเป็นแกนสำคัญหนึ่งของระบบเศรษฐกิจคณะราษฎร และแล้วสถานการณ์ได้พลิกผันอีกครั้ง เมื่อมีพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2491 (เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2491)

“…มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง… ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้ง และในจำนวนนี้จะได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 1 คน”

สาระสำคัญของ พ.ร.บ. แก้ไขใหม่ ต่อเนื่องจากการรัฐประหารปี 2490 เพื่อกำจัดอิทธิพลคณะราษฎร เชื่อเป็นแรงกระตุ้นสำคัญสู่อีกยุคของธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะกิจการในเครือข่าย

ส่วนบริษัทปูนซิเมนต์ไทย อีกกิจการสำคัญในเครือข่ายเดียวกัน เตรียมพร้อมกับโอกาสใหม่เช่นกัน ตั้งแต่ปี 2489 ได้เพิ่มทุนจาก 4 ล้านบาทเป็น 10 ล้านบาท และอีกไม่ถึงทศวรรษ ได้เพิ่มทุนอีก 10 เท่า ทะลุ 100 ล้านบาทในปี 2498

 

แรงกระตุ้นมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐาน มีความสำคัญอย่างมาก ไม่เพียงสำหรับปูนซิเมนต์ไทย เชื่อว่าร้านเจริญโภคภัณฑ์ควรอยู่ในกระแสนั้นด้วย

หน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติเสนอแนะให้รัฐบาลไทยลงทุนโครงการชลประทานในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (2490) ธนาคารโลกตกลงให้กู้กับ The Greater Chaophraya Project (2495 ) สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ คลองกั้นน้ำ ประตูน้ำ เขื่อนดิน และอ่างเก็บน้ำ เป็นโครงข่ายเพื่อขยายพื้นที่ปลูกข้าว กระตุ้นธุรกิจส่งออกข้าว จนกลายเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง ถือเป็นวงจรใหญ่แห่งระบบเศรษฐกิจเวลานั้น สู่ระบบโรงสี คลังสินค้า จนถึงบริการธนาคารเพื่อการส่งออก

อีกมิติหนึ่งที่สำคัญไม่น้อย “ปี 2497 สหรัฐเข้ามามีบทบาทโดยตรงในสงครามอินโดจีน และเตรียมประเทศไทยเป็นฐานปฏิบัติการทางทหาร สหรัฐให้เงินสร้างเครือข่ายถนนระหว่างกรุงเทพฯ และจุดยุทธศาสตร์ในภาคอีสาน”

(อ้างแล้ว หนังสือ “เศรษฐกิจการเมืองสมัยกรุงเทพฯ” 2539)

 

จาก “ห้างเจียไต๋จึง” (2464) จนมาถึง “ร้านเจริญโภคภัณฑ์” (2496) มีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก ในฐานะ “ชิ้นส่วน” แห่งโอกาสใหม่ ในภาคเศรษฐกิจพื้นฐานกำลังเริ่มต้นปรับโครงสร้าง

โอกาสใหม่ที่มาถึง เมื่อโครงสร้างสังคมไทยกำลังขยับเขยื้อน ไม่ว่าการพัฒนาสาธารณูปโภคขนานใหญ่ เชื่อมระหว่างเมืองกับหัวเมือง ระบบเศรษฐกิจค่อยๆ ขยายตัวออกจากศูนย์กลาง-กรุงเทพฯ ขณะผู้บริโภคขยายฐานมากขึ้น แท้จริงแล้วร้านเจริญโภคภัณฑ์เป็นเพียงฉากหนึ่งของขบวนการอันครึกโครม บางครั้งมาจากเส้นทางที่แตกต่างกัน ในที่สุดมารวมอยู่ในกระแสธารเดียวกัน

บางกลุ่มชาวจีนในไทยซึ่งมีความสัมพันธ์กับกองทัพญี่ปุ่นในช่วงยึดครองประเทศไทย (2484-2488) รอคอยจังหวะอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะหลังปี 2491 เมื่อกองบัญชาการทหารพันธมิตรนำโดยสหรัฐอนุญาตให้เอกชนญี่ปุ่นทำการค้าระหว่างประเทศได้บ้าง เพื่อสนับสนุนสงครามเกาหลี

เช่น กรณีสยามกลการ “…ก่อตั้งขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่กองทัพญี่ปุ่นเข้าควบคุมประเทศไทย ในช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ถาวร พรประภา เป็นนักธุรกิจหนุ่มที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจค้าเครื่องเหล็ก มีโอกาสได้รู้จักกับผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญชักนำให้ได้เป็นผู้แทนขายรถยนต์ NISSAN ในประเทศไทย สยามกลการเป็นผู้แทนขายรถยนต์ NISSAN นอกประเทศญี่ปุ่นรายแรกของโลก” ข้อมูลทางการของสยามกลการซึ่งเคยบันทึกไว้

อีกกรณี -กลุ่มเซ็นทรัล จากร้านขายของย่านชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ ก่อตั้งราวปี 2490 จนมาถึงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแห่งแรกในปี 2500 ที่วังบูรพา “…จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของการกำเนิดห้างเซ็นทรัล…การเปิดพรมแดนความรู้จากโลกตะวันตก ในช่วงสังคมธุรกิจไทยขยายตัวหลังสงครามโลก การเติบโตกลุ่มคนรุ่นใหม่ต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ผมเองเคยอรรถาธิบายไว้

ธนินท์ เจียรวนนท์ ในเวลานั้น กำลังสะสมประสบการณ์อันน่าทึ่งในเยาว์วัย ในภูมิศาสตร์และสถานการณ์ที่แตกต่างและหลากหลาย