ต่างประเทศ : สำรวจเส้นทาง สู่วัคซีนโควิด-19

โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก และเวลานี้ยังไม่มีวัคซีนที่ถูกคิดค้นเพื่อใช้ในการป้องกันโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งก็มีภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรหลายแห่งทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนอย่างเร่งด่วนเพื่อเป้าหมายในการนำโลกสู่ภาวะปกติอย่างแท้จริง

หลักการทำงานของ “วัคซีน” อธิบายง่ายๆ ก็คือ การทำหน้าที่ “ฝึกฝน” ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายคนเราให้รู้จักวิธีรับมือกับ “เชื้อไวรัส” และเมื่อร่างกายสัมผัสกับไวรัสจริงๆ เข้าไปจะสามารถรับมือกับผู้บุกรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การตัดตอนการแพร่ระบาดด้วยวัคซีนเป็นวิธีที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดที่จะนำไปสู่การยกเลิกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจของโลกอย่างมหาศาลในเวลานี้ลงได้

 

มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ จำนวนกว่า 200 กลุ่มทั่วโลกที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในจำนวนนี้มีมากกว่า 130 ชนิดที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ยังไม่ได้ทดลองในมนุษย์

อีก 30 ชนิดที่เริ่มทดลองในมนุษย์แล้ว แยกเป็นวัคซีนที่ “ทดลองในเชิงคลินิกเฟสที่ 1” หรือทดลองเพื่อทดสอบความปลอดภัยกับมนุษย์กลุ่มเล็กๆ จำนวน 18 ชนิด

“ทดลองในเชิงคลินิกเฟสที่ 2” หรือการทดลองเพื่อความปลอดภัยกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากขึ้นจำนวน 12 ชนิด

มีวัคซีนที่อยู่ใน “เฟสที่ 3” อีก 4 ชนิด ที่เป็นการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนกับกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่ในหลักพันถึงหลักหมื่นคนขึ้นไป เช่น วัคซีนของบริษัท AstraZeneca ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ที่อยู่ระหว่างการทดลองเฟส 1 และ 2 ในอังกฤษ และอยู่ระหว่างทดลองเฟส 3 ในบราซิล และแอฟริกาใต้ เป็นต้น

ล่าสุดมีวัคซีน 1 ชนิดที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกลุ่มประชากรที่จำกัดแล้ว คือวัคซีน Ad5 ของบริษัท CanSino Biologics ร่วมพัฒนากับสถาบันชีววิทยา สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร ของประเทศจีน ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีนให้ใช้ในกองทัพไปเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

โดยทั่วไปวัคซีนใช้เวลาพัฒนาเป็นเวลาหลายปี หรืออาจนานถึงหลายสิบปี แต่วัคซีนโควิด-19 ได้รับการคาดหมายว่าจะสามารถพัฒนาได้สำเร็จภายในกลางปีหน้า หรือปี 2021 นี้ได้

นับเป็นเวลา 12-18 เดือน หลังจากไวรัส “ซาร์ส-โคฟ-2” เริ่มต้นแพร่ระบาดในมนุษย์เมื่อช่วงปลายปีก่อน

 

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการพัฒนาวัคซีนทั้งหมดไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าวัคซีนที่พัฒนานั้นจะได้ผลในการป้องกันโรคหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อโคโรนาไวรัส 4 ชนิดก่อนหน้านี้ที่แพร่ระบาดในมนุษย์ ยังไม่มีไวรัสชนิดไหนที่มีวัคซีนที่ถูกคิดค้นมาป้องกันโรคได้เลย

ปัจจุบันแม้ว่าทีมพัฒนาวัคซีนหลายกลุ่มจะสามารถพัฒนาวัคซีนให้ผลการสร้างภูมิคุ้มกันที่ก้าวหน้าไปมาก แต่ก็ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ

ไม่ว่าจะเป็นการทดลองเพื่อทำให้แน่ใจถึงความปลอดภัยของวัคซีนว่าจะไม่มีผลข้างเคียงที่ส่งผลกับสุขภาพที่บางครั้งสร้างปัญหามากกว่าตัวโรคเอง

การทำให้แน่ใจว่าประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในกลุ่มผู้ร่วมการทดลองอยู่ในสัดส่วนที่มากเพียงพอ และมีระยะเวลาที่นานเพียงพอ การผลิตวัคซีนในสเกล อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถผลิตได้จำนวนมากในหลักพันล้านโดส การผ่านกระบวนการอนุมัติจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายก่อนที่จะมีการจำหน่ายจ่ายแจก

และในท้ายที่สุด ความท้าทายเรื่องการขนส่งวัคซีนดังกล่าวออกไปยังประชากรทั่วทุกมุมโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการล็อกดาวน์ในหลายๆ พื้นที่ของโลกนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้กระบวนการเหล่านี้ช้าลง โดยเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนที่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อผู้คนที่ได้รับวัคซีนได้สัมผัสเชื้อไวรัสจริงๆ เป็นต้น

 

แม้หลังจากวัคซีนโควิด-19 จะผ่านการทดลองทั้ง 3 เฟส และได้รับการอนุมัติให้ผลิตในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว นั่นก็ยังต้องใช้เวลาในการสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” โดยผู้เชี่ยวชาญเคยระบุเอาไว้ว่า การจะหยุดยั้งการแพร่ระบาดลงได้นั้น ประชากร 60-70 เปอร์เซ็นต์จะต้องมีภูมิคุ้มกัน นั่นหมายถึงประชากรจำนวนหลายพันล้านคนทั่วโลกจะต้องได้รับวัคซีน ซึ่งนั่นจะเกิดขึ้นในกรณีที่วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้อย่างสมบูรณ์แบบ

เมื่อพูดถึงการผลิตวัคซีนเอง ก็มีด้วยกันหลายวิธี การทำวัคซีนที่ใช้มาเป็นเวลาหลายสิบปีก็คือการใช้ไวรัสจริงๆ มาสร้างวัคซีน เช่น วัคซีนโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน ก็ผลิตวัคซีนด้วยการใช้วัคซีนที่ถูกทำให้อ่อนแอลงจนไม่สามารถส่งผลให้เกิดการติดเชื้ออย่างเต็มที่ได้ เป็นวิธีการที่ทีมพัฒนาวัคซีนในจีนหลายทีมเลือกใช้

นอกจากนี้ ยังมีการใช้วิธีใหม่ซึ่งยังไม่ได้มีการทดสอบมาก่อนหน้านี้เท่าใดนัก นั่นก็คือการใช้รหัสพันธุกรรมของไวรัส “ซาร์ส โคฟ-2” นำมาติดตั้งลงในไวรัสที่อันตรายน้อยกว่า ก่อนนำไปเพาะเชื้อในตัวลิงชิมแปนซี เพื่อพัฒนาไวรัสที่มีรูปลักษณ์ที่เหมือนกับ “ซาร์ส โคฟ-2” ก่อนจะนำไวรัสนั้นไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์อีกทอดหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษเลือกใช้

นอกจากนี้ ยังมีทีมพัฒนาวัคซีนอีกหลายกลุ่มเลือกใช้วิธีนำ รหัสพันธุกรรมจากเชื้อไวรัสโดยตรงฉีดเข้าไปในร่างกายมนุษย์เพื่อสร้างโปรตีนที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เรียนรู้วิธีการต่อสู้กับไวรัสได้

สิ่งที่แน่นอนอย่างหนึ่งก็คือ หากการพัฒนาวัคซีนเป็นผลสำเร็จ วัคซีนโควิด-19 ในช่วงแรกย่อมมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุ รวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วยบางกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อมากที่สุดนั่นเอง

จากนี้คงต้องลุ้นกันต่อว่า วัคซีนที่อยู่ระหว่างการทดสอบในทางคลินิกที่อยู่ในเฟสท้ายๆ นั้นจะมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากมีผลในเชิงบวก วัคซีนโควิด-19 อาจสามารถผลิตออกใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเร็วที่สุดก็ภายในสิ้นปีนี้