ต่างประเทศอินโดจีน : ผลเลือกตั้งสิงคโปร์

ลีเซียน หลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ให้เหตุผลในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 10 ไว้ว่า เป็นเพราะโควิด-19 คือ “ไครซิส ออฟ อะ เจเนอเรชั่น” เป็นวิกฤตหนักหนาที่สุดในบรรดาวิกฤตการณ์ทั้งหลายที่ประเทศเคยเผชิญ

เพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตสุดโต่งนี้ รัฐบาลต้องได้รับ “ฉันทานุมัติที่แข็งแกร่ง” เพื่อการอุ้มชูประเทศต่อไป

ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองในสิงคโปร์หลายคนเห็นตรงกันว่า เลือกตั้งครั้งนี้ต่างกับครั้งอื่นๆ อยู่บ้าง อันเป็นผลจากวิกฤตโควิด จนแทบเป็นประชามติต่อแผนรับมือและมาตรการยับยั้งการระบาดของรัฐบาลกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นตามมา

ก่อนการเลือกตั้ง หลายคนถึงกับพูดถึงความเป็นไปได้ที่พรรคกิจประชาชน (พีเอพี) จะกวาดที่นั่งทั้งหมดได้อีกครั้ง เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ทศวรรษ

 

ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามคาด พรรครัฐบาลสิงคโปร์ยังคงครอง “ซูเปอร์มาจอริตี้” ในสภา ยังคงครองความเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่อยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องได้ยาวนานที่สุดในโลก ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป 15 ครั้งติดต่อกัน นับตั้งแต่สิงคโปร์ประกาศอิสรภาพเมื่อปี 1959

แต่ผลการเลือกตั้งกลับไม่เป็นไปตามที่ลี เซียน หลุง คาดหวังไว้ ตรงกันข้าม ผลที่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่าไม่เพียงพรรครัฐบาลไม่สามารถกวาดทุกที่นั่งได้เท่านั้น ยังแสดงให้เห็นว่าพรรคฝ่ายค้านสิงคโปร์ยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นอีกด้วย

มากเพียงพอต่อการส่งผลกระทบให้การถ่ายโอนอำนาจให้กับ “ทายาททางการเมืองรุ่นที่ 4” โดยเร็ว ต้องชะลอช้าออกไปอีกระยะหนึ่ง

มากพอต่อการแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ทางการเมืองของสิงคโปร์อย่างชัดเจน

 

การเลือกตั้งสิงคโปร์ใช้ระบบแบ่งเขต แต่รวมเบอร์ เบอร์หนึ่งๆ รวมเอาจำนวน ส.ส.ที่มีในแต่ละเขตไว้ ตั้งแต่ 1 คน 2-3-4 ไปจนถึง 5 คนในเขตเลือกตั้งนั้นๆ

ถ้าเป็นเขตที่มี ส.ส.คนเดียวเรียกเอสเอ็มซี (14 เขต) ถ้ามีหลายคนเรียกจีอาร์ซี (17 เขต)

ในการเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อปี 2015 พรรครัฐบาลแพ้เลือกตั้งใน 2 เขตจีอาร์ซี ให้กับพรรคแรงงาน (ดับเบิลยูพี) ที่มี ส.ส.ฝ่ายค้านในสภา 6 คน รวมกับ ส.ส.แต่งตั้ง 3 คนเป็น 9 คน

ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ พีเอพีแพ้เลือกตั้งเพิ่มอีก 1 เขตจีอาร์ซี ดับเบิลยูพีกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านเต็มตัวครั้งแรก มี ส.ส.จากการเลือกตั้งถึง 10 คน

 

ปรีทัม ซิงห์ หัวหน้าพรรคดับเบิลยูพี ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองสิงคโปร์

คะแนนนิยมของพรรครัฐบาล ที่วัดจากคะแนนดิบที่ได้กับคะแนนในเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่ลงแข่งขัน ลดลงจาก 69.8 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 61.24 เปอร์เซ็นต์

คะแนนนิยมของพรรคดับเบิลยูพี ที่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันเพียง 21 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นเป็น 50.5 เปอร์เซ็นต์

 

เฮง สวี เกียต รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง ที่ถูกกำหนดให้เป็น “ผู้นำรุ่นที่ 4” ต่อจากลี เซียน หลุง นำทีมลงแข่งขันได้ชัยชนะทีมผู้สมัครหน้าใหม่ของดับเบิลยูพีฉิวเฉียดด้วยคะแนนเสียงเพียง 53.41 เปอร์เซ็นต์

ต่ำที่สุดในบรรดา “ว่าที่นายกฯ” สิงคโปร์ทุกคนที่ผ่านมา ซึ่งมักได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

จนหลังเลือกตั้ง ลี เซียน หลุง ต้องบอกเป็นนัยชะลอการถ่ายโอนอำนาจจากเดิมในปี 2022 ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี

นักวิเคราะห์ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหากไม่ใช่เป็นเพราะชาวสิงคโปร์กังขาอย่างยิ่งว่า พีเอพีเร่งรัดถ่ายโอนอำนาจมากเกินไป หรือไม่ก็ไม่ได้เลือกคนที่ถูกต้องเหมือนที่ผ่านมา

ก็ต้องเป็นเพราะชาวสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่า ไม่ต้องการ “ตีเช็คเปล่า” ให้พีเอพีบริหารประเทศ โดยปราศจาการตรวจสอบและถ่วงดุลอีกต่อไปแล้วเท่านั้นเอง