วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / รอให้ตั้งรัฐบาลเดือนสิงหาคมนี้ก่อนดีกว่าไหมขอรับกระผม

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

รอให้ตั้งรัฐบาลเดือนสิงหาคมนี้ก่อนดีกว่าไหมขอรับกระผม

 

การเมืองเรื่องเมืองไทยเริ่มเป็นวงกลมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการลาออกจากกรรมการพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำรัฐบาล จากนั้นในบรรดาแกนนำกรรมการพรรคที่เป็นรัฐมนตรีและรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีลาออก รวมถึงรองนายกรัฐมนตรีคนสำคัญด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลยื่นใบลาออกด้วย

ถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรีต้องปรับปรุงคณะรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ลาออก ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาลและเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ที่มีชุดเก่าเข้าไปหลายคน

ทั้งยังมีเสียงเรียกร้องจากผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และเยาวชนกลุ่มปลดแอก Free YOUTH บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกแล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเตรียมปรับคณะรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งมีรายชื่อผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีหรือทีมเศรษฐกิจว่ามีใครบ้าง จะทราบแน่นอน เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แล้วนั่นแหละ

 

ระหว่างนี้เชื่อว่าสถานการณ์เรื่องชุมนุมเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกแล้วยุบสภาจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่คงไม่เกิดขึ้นในห้วงนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะปรับเปลี่ยนรัฐบาลใหม่

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกระยะหนึ่ง หลังปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี ปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า ทีมเศรษฐกิจที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเป็นหัวหน้าทีมเองจะพลิกสถานการณ์ทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้หรือไม่

หลังจากเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป มีการปรับเปลี่ยนหัวขบวนฐานอำนาจกองทัพและกองบัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เกษียณจากราชการ ทั้งต้องปรับเปลี่ยนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งคนใหม่ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งคาดว่าพลังประชารัฐจะไม่เสียที่นั่ง ยังมีจำนวนเท่าเดิม และจะมีการเลือกตั้งซ่อมอีก 2-3 เขตเลือกตั้ง

ประการสำคัญ การปรับปรุงคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ นอกจากแทนผู้ที่ลาออกไป 4 คน ยังมีพรรคร่วมรัฐบาลต้องการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีตามเสียงเรียกร้องของสมาชิกในพรรคร่วมหรือไม่ต้องติดตามกันต่อไปอย่างกระชั้นชิด ด้วยเหตุที่มีบางพรรคการเมืองจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าเดิม แต่พรรคร่วมอีกบางพรรคกลับมีสมาชิกเพิ่ม จึงเป็นเหตุให้ต้องตัดรัฐมนตรีของพรรคนั้นออกไปแล้วให้พรรคที่มีสมาชิกมากกว่าเข้ามาแทน ด้วยเหตุผลที่ว่า

วันนี้รัฐบาลไม่ได้ “ปริ่มน้ำ” อีกต่อไปแล้ว

 

ขณะนี้รัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ รอว่าเมื่อไหร่รัฐบาลจะประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะบรรดาสมาชิกของพรรคที่เตรียมตัวลงสมัครับเลือกตั้งท้องถิ่นเตรียมตัวพร้อมแล้ว ทั้งเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด – อบจ. และเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล – อบต. ซึ่งเตรียมไว้เป็นฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐที่รัฐบาลอาจต้องยุบสภาก่อนครบกำหนดในระยะปีสองปีนี้

การเลือกตั้งท้องถิ่น ตั้งแต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ครบกำหนดมานานแล้ว ควรจะเลือกตั้งได้เสียที อย่างน้อยน่าจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองระดับประเทศดำเนินการต่อไปด้วยดี ด้วยเหตุการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเฉพาะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาจทำให้พรรคการเมืองและนักการเมืองส่วนท้องถิ่นที่สังกัดพรรคการเมืองจะได้ตัดสินใจว่าควรอยู่กับพรรคใด

เชื่อว่าผู้ที่เตรียมตัวลงเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น หากรัฐบาลมีประกาศเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครนำร่อง จะเป็นตัวอย่างที่ดีทำให้นักการเมืองส่วนท้องถิ่นรู้ว่า การเมืองประเทศไทยในระยะสามสี่ปีข้างหน้าจะเดินไปทางไหน จะสนองตอบ “ยุทธศาสตร์” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวกวางไว้จะบรรลุเป้าหมายมากน้อยเพียงใด

เพราะยุทธศาสตร์ 20 ปี ควรจะเริ่มตั้งแต่การปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ของท้องถิ่น แล้วจึงแพร่ออกไปทั่วประเทศ ก่อนจะขยับเข้าสู่ส่วนกลาง คือกรุงเทพมหานคร

 

เมื่อมีการเลือกตั้ง สถานการณ์เรียกร้องให้ยุบสภาคงจะบรรเทาเบาบางลง ด้วยเหตุที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องอาจเห็นว่า อย่างน้อยรัฐบาลเริ่มคลี่คลายการเมืองจากระดับชาติเป็นระดับท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกในเรื่องการเมืองการปกครองระดับหนึ่ง

เช่นเดียวกับสถานการณ์ “โควิด-19” รอบสองที่วนเวียนเข้ามาจากบุคลากรทางการทูต แรงงานผิดกฎหมาย และผู้ที่ต้องการเดินทางผ่านเข้ามากรุงเทพฯ ไปยังประเทศอื่น หรือแม้แต่คนไทยด้วยกันที่เริ่มจะกลับบ้าน ซึ่งบางส่วนมีปัญหาการตรวจสอบ “โควิด-19” ดังกรณีของลูกทูตต่างประเทศ

ทั้งสถานการณ์ในประเทศเอง “ไทยชนะ” เริ่ม “น็อตหลวม” ในส่วนของเอกชนทั่วไป ทั้งประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่ “การ์ดตก” ไปตามๆ กัน เพราะผู้ควบคุมกฎไม่ค่อยเอาใจใส่ในหลายพื้นที่

ต่างๆ เหล่านี้ เป็นเหตุให้รัฐบาลอาจยังไม่ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งอาจต้องประกาศเคอร์ฟิวในบางท้องที่และการทำมาหากินบางอาชีพอีกก็ได้

หากรัฐบาลจัดการกับสถานการณ์ที่ประชาชนต้องการ เช่น การดูแลเข้มงวดกับสถานการณ์ “โควิด-19” ทั้งดูแลเศรษฐกิจของประชาชนให้ขยับเขยื้อนไปสู่การกินดีอยู่ดี ให้เศรษฐกิจของประเทศเคลื่อนไหวไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งมีแนวโน้มจะดำเนินการทางการเมืองให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนมากขึ้น

อย่างนี้ รับรองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวก น่าจะเป็นรัฐบาลได้อีกสมัยสองสมัย ทั้งเชื่อว่าเสียงเรียกร้องให้ยุบสภาจะเริ่มแผ่วเบาลงไปได้บ้าง

เพราะเมื่อประชาชนเริ่มลืมตาอ้าปากได้บ้างแล้ว สามารถทำมาหากินเลี้ยงปากท้องของตัวเองและครอบครัวได้ ความเดือดร้อนที่ต้อง “ปากกัด ตีนถีบ” เหมือนที่ผ่านมาคงจะ “ยิ้ม” รับสถานการณ์ไม่หน้าบึ้งขบเขี้ยวเคี้ยวฟันเหมือนปีสองปีที่ผ่านมา

หลังจากปรับปรุงคณะรัฐมนตรี เชื่อว่าเดือนหน้าสิงหาคม รัฐบาลที่ปรับคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเป็นชุดใหม่ คงจะไม่ทำให้ประชาชน “ยี้”

เมื่อเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง หลังจากดิ่งลงแทบว่าจะสุดก้นเหว แล้วเงยขึ้นมาสักสองสามองศา พรุ่งนี้คงจะเขยิบขึ้นตามวัฏจักรวงจรที่ต้องเป็นไปเช่นนั้น

เมื่อนั้น แม้จะมีการชุมนุมของกลุ่มที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คงจะปรับตัวเองร้องเพลง “รอ” ไปพลาง ๆ ก่อน เพราะประชาชนเพิ่งผ่านรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารเพียงปีเศษ จะให้กลับไปเช่นนั้นอีก คงไม่ดีมั้ง