จัตวา กลิ่นสุนทร : การเมืองลุ่มๆดอนๆ ของ “วีระกานต์”

วีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ ไม่ได้ต้องการเป็นนักหนังสือพิมพ์ ยึดอาชีพสื่อมวลชน แต่มีจุดมุ่งหมายทางการเมือง ต้องการไต่เต้าเติบโตบนเส้นทางการเมือง ด้วยการเริ่มต้นลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร

ไม่ได้เป็นเรื่องน่าแปลกใจอะไรที่เขาจะเดินตามเส้นทางดังได้กล่าวไว้คราวที่แล้วว่า ได้สมัครเข้าเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ และคอลัมนิสต์ สังกัดหนังสือพิมพ์สยามรัฐ (ก่อตั้ง พ.ศ.2493) ซึ่งเจ้าของผู้ก่อตั้งคือ ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเป็นครู อาจารย์ ผู้รอบรู้ปราดเปรื่องสารพัดเรื่อง รวมทั้งเป็นนักการเมืองซึ่งนิยมระบอบประชาธิปไตย

เชื่อว่าเขาได้ตั้งใจขีดเขียนวาดหวังวางแนวทางไว้ในการก้าวเดินเข้าสู่การเมืองทีละขั้นๆ ก่อนขยับเข้าสู่พรรค “ประชาธิปัตย์” อันเป็นพรรคการเมืองในดวงใจของ (นักการเมือง) คนภาคใต้

ซึ่งใช้เวลาอย่างรวดเร็วเพียงไม่เกิน 5 ปีจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐสู่ตำแหน่ง ส.ส.กรุงเทพฯ

 

การเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ.2518 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 1 ได้ ส.ส.จำนวน 72 ที่นั่ง ได้รับมอบหมายให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น โดยมีหัวหน้าพรรค คือ ท่าน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไปไม่รอดถูกลงมติไม่ไว้วางใจในวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภา เพียง 15 วันหลังมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยในประเทศไทย เพราะยังไม่ได้บริหารราชการแผ่นดิน

อันที่จริงต้องบอกว่าเป็นกลเกมชั้นเชิงทางการเมืองของพรรคกิจสังคม ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค และเป็นผู้อภิปรายค้านนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ อย่างถึงลูกถึงคน มีเหตุผลหนักแน่น ก่อนที่พรรคกิจสังคมซึ่งมีจำนวนผู้แทนฯ 18 คนจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และหัวหน้าพรรคได้เป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลผสมหลายพรรคที่เรียกกันว่า รัฐบาล “สหพรรค” สามารถบริหารประเทศชาติท่ามกลางวิกฤตหลายสิ่งอย่างจนผ่านมาได้ประมาณ 1 ปี แม้จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาเรื่องตำแหน่งต่างๆ ให้ลงตัวก็ยังไม่สามารถไปต่อได้ เวลาเดียวกันข่าวลือเรื่องปฏิวัติรัฐประหารที่พร้อมจะเป็นจริงเกิดขึ้นไม่ขาดระยะ เหมือนเป็นการกดดัน

ในที่สุดรัฐบาลร้อยพ่อพันแม่ของอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ตัดสินใจยุบสภาเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2519 คืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้

 

การเลือกตั้งในเดือนเมษายนปี พ.ศ.2519 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกเข้ามาจำนวน 114 ที่นั่ง พรรคชาติไทยได้ 56 ที่นั่ง และพรรคกิจสังคมได้ 45 ที่นั่ง แต่ “นายกรัฐมนตรีรักษาการ” ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคกลับสอบตก โดยมีกระแสข่าวลอยลม หากแต่เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นเกมการเมืองของทหารใหญ่ และเป็นความพยายามจากมหาอำนาจนอกประเทศที่คิดว่าเสียผลประโยชน์กรณีฐานทัพในประเทศไทยด้วย

พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้เป็นพรรคแกนนำรวมกับพรรคชาติไทย และพรรคเล็กๆ จัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง โดยท่าน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อสภาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2519

จำได้ว่า วีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ ได้มีตำแหน่งทางการเมือง โดยเป็นโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นๆ เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้แทบไม่ได้บริหารราชการแผ่นดิน ต้องแก้ปัญหามรสุมทางการเมืองอันหนักหนาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลาที่บ้านเมืองยังแบ่งเป็นซ้าย-ขวา กระทั่งเกิด “ขวาพิฆาตซ้าย”

เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 มีการสังหารเข่นฆ่านิสิต นักศึกษา ประชาชนกันกลางสนามหลวง และบริเวณสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างโหดร้ายทารุณ รัฐบาลของท่าน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถูกยึดอำนาจหลังจากเป็นรัฐบาลได้เพียงไม่กี่เดือน โดยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของท่านเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร

เรียกว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”

 

วีระกานต์เป็นนักการเมืองเต็มตัวผ่านงานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านงานการเมือง และโด่งดังมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันกว้างขางในสังคมประเทศนี้ เพราะจริงๆ แล้วเราไม่ได้คิดว่ามันกว้างขวางใหญ่โตอะไรในเวลานั้น แต่ละสถาบันทั้งการเมือง นักธุรกิจ และข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ต่างรู้จักมักคุ้นกันแทบแยกกันไม่ออก

ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยสำหรับวีระกานต์ ซึ่งมีนิสัยใจคอที่เปิดให้การต้อนรับเพื่อนพ้องในทุกกลุ่มเสมออย่างเป็นมิตร และพร้อมจะให้ความร่วมมือสนับสนุนสำหรับการเดินหน้าทำกิจกรรมทางการเมืองซึ่งมันได้เข้าไปอยู่ในสายเลือดของเขาเสียแล้ว โดยเฉพาะในแนวทางประชาธิปไตย เขาจึงรู้จักมักคุ้นกับผู้คนในสังคมแทบทุกกลุ่ม ทั้งในแวดวงสื่อมวลชน ทหาร และ ฯลฯ

เมื่อ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ถูกโยกย้ายจนท่านเกิดอาการน้อยอกน้อยใจถึงกับไปบวชพระ เพราะท่านสูญเสียอำนาจพร้อมตัดสินใจแอบสึกออกมาก่อการ “ปฏิวัติ 26 มีนาคม 2520” ขึ้น โดยมีนายทหารคนสนิทอย่าง (เสธ.หนั่น) พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ (เสียชีวิต) พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ และ ฯลฯ เข้าร่วมด้วย

แต่ผมเกิดอาการแปลกใจเป็นอันมากในขณะนั้นเห็นจะอยู่ตรงที่มีนักธุรกิจอย่างสมพจน์ ปิยะอุย ได้ให้การสนับสนุนเป็นกระเป๋าเงินให้ พร้อมด้วยวีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ ซึ่งชักชวนเอา พ.ต.ท.มาโนช จารักษ์ สมชาย ฤกษ์ดี (เบิ้ม บางเบิด-เสียชีวิต) ศิระ ดีระพัฒน์ (โฉม ปาริษา-เสียชีวิต) เข้าไปร่วมการปฏิวัติที่เปลี่ยนเป็นกบฏ (ติดคุก) ด้วย

 

เส้นทางชีวิตอนาคตของวีระกานต์เปลี่ยนจากนักการเมืองที่กำลังจะรุ่งเรืองรุ่งโรจน์ในแนวทางประชาธิปไตย กลายเป็น “กบฏ” เพราะเขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตถ้าหากไม่ได้รับการอภัยโทษ ซึ่งถ้าหากความจำไม่ผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อน การถูกจำคุกจากการเข้าร่วมปฏิวัตินับว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขา

ตรงจุดนี้เช่นเดียวกันนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตของ (เสธ.หนั่น) พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ให้เดินหน้าเต็มตัวเข้าสู่การเมืองด้วยหลังได้รับการอภัยโทษ ว่ากันว่าเป็นการชักนำของวีระกานต์ให้เข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ผมได้พบกับกลุ่มพวกเขาโดยบังเอิญที่บ้านของท่านดำรง ลัทธพิพัฒน์ (อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์-อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน ในรัฐบาล พล.อ.เปรม) ในวันที่พวกเขาพ้นโทษออกมา พอดีกับผมได้รับเชิญไปรับประทานอาหารที่นั่น

คาดว่าพวกเขาจะไปพบกับเลขาฯ พรรค เพื่อบอกกล่าวเรื่องลงสู่สนามการเมืองสังกัดพรรคนี้นั่นเอง

เมื่อ (เสธ.หนั่น) พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เติบโตทางการเมือง ได้เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้จัดการรัฐบาลรวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ หาเสียงมาสนับสนุนส่งท่าน (พี่) ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่กลับมามีอันต้องเกิดการแตกแยกกันอย่างรุนแรงกับวีระกานต์ ซึ่งเดินหันหลังให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ในนามกลุ่ม 10 มกรา

 

เรื่องของวีระกานต์ไม่ได้เรียบเรียงระยะเวลาอย่างเคร่งครัดกับชีวิตอันหลายมิติของเขา เพียงพยายามจะหยิบจับตรงเท่าที่เราได้สัมผัสกันมานานปีพอสมควร ตั้งแต่ร่วมงานกันที่สยามรัฐ แต่เมื่อเขาแยกทางเดินเข้าสู่การเมือง ถึงเราไม่ค่อยได้พบเจอกัน แต่ก็เหมือนได้พบเสมอ เพราะงานของเขากับของผมมันแยกกันไม่ค่อยออก

เราไม่ได้เดินอยู่บนเส้นทางสายเดียวกัน แต่ติดตามเรื่องราวบทบาททางการเมืองต่างๆ ของเขาในฐานะสื่อมวลชน และความรู้สึกของเพื่อนเก่าซึ่งเราไม่เคยลืมกัน

ผมปลาบปลื้มยินดีทุกครั้งเมื่อเขาได้ตำแหน่งทางการเมือง ได้เป็นรัฐมนตรีหลายครั้งหลายหน หลายกระทรวง เราห่างกันแต่กลับเหมือนได้พบกันเสมอๆ ดังได้กล่าว

เวลาเดินทางรวดเร็ว วันหนึ่งผมไปส่งสาวน้อยที่บ้านเพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นกับกลุ่มเพื่อนๆ หลายคน ผมยังจำได้ว่ามีเด็กหนุ่มคนหนึ่งได้เดินเข้ามายกมือไหว้โดยเพื่อนๆ แนะนำว่าชื่อ “สิงห์” เป็นลูกชายของวีระกานต์ ผมทักทายก่อนบอกกับสิงห์ไปว่า “ผมเป็นเพื่อน (เก่า) กับพ่อของเขา”

ผมได้พบกับวีระกานต์อีกครั้งในอีกไม่กี่ปีต่อมาที่วัดธาตุทอง ท่ามกลางผู้คน ญาติมิตรแน่นขนัดที่ไปร่วมงานฌาปนกิจเพื่อพร้อมใจกันส่งลูกชายของเขาไปสู่ภพภูมิที่ดี หลังจากที่เขาตัดสินใจลาจากโลกนี้ไป

ผมได้สัมผัสมือกับวีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ และบอกกับเขาวันนั้นว่า “ลูกของเราเป็นเพื่อนกัน”