คุยกับ “อุทัย พิมพ์ใจชน” 88 ปี ปชต.ไทย : “ก้าวน้อยถอยมาก” และวัฒนธรรมปกครองคนแบบ “กงสี”

ในวาระครบรอบ 88 ปีประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี ได้สัมภาษณ์พิเศษบุคคลที่เป็นผู้นำทางความคิด 9 ราย ถึงทัศนะที่พวกเขามีต่อ “ประชาธิปไตยไทย”

หนึ่งในนั้นคือ “อุทัย พิมพ์ใจชน” อดีตประธานรัฐสภาและอดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (2540)

อดีตนักการเมืองผู้ยึดโยงตนเองกับประชาชนผู้นี้ จะมาอธิบายว่าเพราะเหตุใดระบอบประชาธิปไตยในบ้านเราจึงมีลักษณะ “ถอยหลัง” มากกว่า “ก้าวหน้า”

รับฟังคำตอบชัดๆ ได้ในบทสัมภาษณ์ด้านล่าง

: 88 ปี ประชาธิปไตยไทย ก้าวหน้าน้อยหรือถ้อยหลังมาก?

ที่ผ่านมาประชาธิปไตยไทยไม่ได้ย่ำอยู่กับที่ มันก้าวหน้ามาก แต่ว่าเสียดายที่มันก็ถอยหลังไม่ใช่น้อย มีทั้งก้าวหน้าถอยหลัง สรุปเอาเป็นว่า “ก้าวน้อยถอยมาก” แบบนี้แล้วกัน

ที่จริงประชาธิปไตยไทยมันควรจะไปได้ไกลกว่านี้ แต่เผอิญว่ามันถอยหลังมากกว่า ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายคือ ช่วงที่มีการยึดอำนาจทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง แทนที่จะเดินหน้าปรับปรุงว่ามีปัญหาอะไรตรงไหน

นักการเมืองโกง รัฐบาลโกง ก็จัดการเรื่องคนโกงไป อำนาจของประชาชนอย่าไปโยนทิ้ง ต้องเคารพ เพราะหลักการประชาธิปไตยมีหลักการใหญ่อยู่ 3 อย่างคือ “โดยประชาชน เพื่อประชาชน ของประชาชน”

ถ้าคุณทำอะไร ต้องถามว่า “โดยประชาชน” หรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ (ต่อให้) โดยเทวดา มันก็ไม่ใช่หลักการของประชาธิปไตย ดีอย่างไรมันก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย

เพราะฉะนั้น ถ้ามองประชาธิปไตยใน 3 แง่นี้ มันจะเป็นเรื่องง่าย แต่ปัจจุบันไปเอาอะไรก็ไม่รู้มาอธิบาย ความมั่นคงบ้าง ความปลอดภัยบ้าง คำว่า “โดยประชาชน” มันเลยหายไป

ทุกวันนี้ที่บอกว่าเพื่อประเทศชาติ อยากจะบอกว่าประเทศเรามันดีอยู่แล้ว ไม่ต้องให้ใครไปทำอะไร แค่มุ่ง 3 อย่างนี้ สังคมดี ประเทศมันจะดีของมันเอง

: ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังเหมือนเดิมอยู่หรือไม่?

ในอดีตการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มันต่อสู้แบบประชาธิปไตยจริงๆ คนมีอำนาจสมัยก่อนคือผู้ปกครองที่เป็นใหญ่ก็อยากจะเป็นใหญ่อยู่แบบนั้น ส่วนผู้ที่อยากให้ประชาชนมาปกครองก็อยากจะให้เป็นรูปแบบนั้น คือต่อสู้กันแค่ตรงนั้น

แต่ปัจจุบันต่อสู้กันแบบอำนาจนิยม พยายามชักจูงผู้คนให้เห็นความสำคัญกับคำว่าประเทศ ให้ความสำคัญกับความมั่นคง มากกว่าที่จะคิดปรับปรุงสังคมของตัวเอง เลยหันไปพึ่งพาคนที่บอกว่านั่นคือความมั่นคง เช่น การไปพึ่งพาทหาร ซึ่งมันไม่ใช่หลักการของประชาธิปไตย

ในอดีตมันต่อสู้กันเรื่องลัทธิ แต่ว่าผู้มีอำนาจฉวยโอกาส

ปัจจุบันไม่ได้สู้กันด้วยลัทธิ มันสู้ด้วยอำนาจจริงๆ คือปล่อยอำนาจให้ประชาชนมากไม่ได้ เพราะกลัวว่าความมั่นคงจะไม่ปลอดภัย เอาความมั่นคงของอำนาจมากกว่า แต่เอาอำนาจของประเทศมาอ้าง

ความมั่นคงของสังคมมันเลยหายไปหมด

: เมื่อไม่มีการผ่องถ่ายอำนาจที่แท้จริง ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร?

เวลานี้เมืองไทยปกครองด้วยการเอาความมั่นคงมาเป็นตัวตั้ง อำนาจนิยมหรืออำนาจแฝงก็ยังอยู่ คนไม่เข้าใจว่าความมั่นคงจริงๆ อยู่ตรงไหน ก็เลยยอมๆ กันอยู่ในทุกวันนี้

ยอมให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขึ้นตรงกับนายกฯ ปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยเผด็จการมา 5-6 ปี ถึงแม้จะผ่องถ่ายอำนาจแล้ว แต่ถามว่าถ่ายหมดไหม ก็ไม่หมด

วุฒิสภายังอยู่ครบ พรรคการเมืองก็ทำให้โตไม่ได้ เอาทหารเข้ามาไว้ในทำเนียบ ให้เป็นหลักในการปกครองท้องถิ่น ประเทศไทยมันจะเป็นประชาธิปไตยตรงไหน จะเป็นการกระจายอำนาจตรงไหน

นายกฯ บอกว่าส่งผ่านอำนาจแล้ว แต่ภาพความเป็นจริงคือ อำนาจในสภาก็เอาไว้เกินครึ่งแล้ว อำนาจในการปกครองท้องถิ่นยังเอา กอ.รมน.ไว้ เพราะ กอ.รมน.เข้าไปแทรกซึมทุกจังหวัด โดยการให้ทหารเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่น

ให้ กอ.รมน.ขึ้นกับนายกฯ รัฐมนตรีอยู่กับนายกฯ แล้วคนเหล่านั้นจะฟังเสียงใคร ก็ต้องฟังเสียงทหาร จะฟังเสียงชาวบ้านหรือไม่ ก็ไม่ใช่ แล้วถามว่าเป็นการกระจายอำนาจจริงหรือเปล่า มันไม่ใช่ อีกอย่างใครปกครองประเทศเวลานี้ ใช่ประชาชนไหม ส่วนตัวผมมองว่าทหารยังปกครองอยู่

: เหตุผลที่ประชาธิปไตยไทยไม่ไปไหน เพราะทหารยึดอำนาจ?

ทุกช่วงที่มีการเลือกตั้ง ผมว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุด เพราะว่ามีการพัฒนาโดยตัวของมันเอง

ถ้ามีผู้แทนราษฎรที่เป็นคนไม่ดีหลายคน ในสภาก็จะพูดอภิปรายแต่เรื่องของคนไม่ดีเยอะมาก เรื่องไม่ดีเหล่านั้นคือหน้าที่ของสภา ที่จะต้องพูดต้องนำเสนอ พอประชาชนรู้ความไม่ดี แทนที่จะเอาคนไม่ดีออกไปตามกลไก ทหารกลับยึดอำนาจ นี่แหละคือเหตุผลที่ประชาธิปไตยเรามันไม่ไปไหน

ถ้าเป็นประชาธิปไตย ต้องมีการเลือกตั้ง บางคนบอกว่าอย่ามีเลย เพราะการเลือกตั้งก็มีแต่นักการเมืองชั่วๆ เลวๆ ถูกคัดสรรมาดีกว่า คัดสรรออกมาแล้วเป็นอย่างไร 5 ปี ไม่มีคนเลวเลย แต่ผลสำรวจออกมาบอกว่า 5 ปีที่แล้ว มีการโกงมากที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา

พอมีเลือกตั้งเข้ามาไม่ถึง 7 วัน คนไม่ดีเกือบ 70 คน ถูกตีแผ่ออกมา มันเป็นประโยชน์ของประชาชน แต่ทุกวันนี้ประชาชนถูกปั่นๆ ให้เห็นว่าการเลือกตั้งไม่มีประโยชน์ เป็นเรื่องที่น่าวิตก ผมถึงบอกว่าประชาธิปไตยมันพัฒนา แต่ว่าพัฒนาไปในทางที่ถอยหลัง

คุณสมบัติของผู้นำต้องมีองค์ประกอบ 5 ข้อ

1. ศรัทธา หากไม่มีศรัทธา อย่าทำ ยกตัวอย่าง ถ้าคุณไม่ชอบนักการเมือง มองว่านักการเมืองเป็นคนไม่ดี อย่าเข้ามาในแวดวงนักการเมือง เพราะอย่างไรคุณก็เอาดีทางการเมืองไม่ได้

2. มีศีล คือต้องไม่เคยโกหก ไม่เคยฆ่าใครมาก่อน ถึงจะกล้ายืนแถวหน้าได้ ถึงจะเป็นผู้นำได้

3. พาหุสัจจะ คือรู้มากฟังมาก เพื่อที่จะรับฟังปัญหาของประชาชนแล้วหาทางแก้ไข

4. คือมีความอดทน คนที่จะเป็นนักการเมืองต้องมีความอดทน เพราะมีทั้งฝ่ายที่ชอบและไม่ชอบ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ไม่เหมือนบางคนมาเป็นผู้นำ (พอใคร) พูดไม่เข้าหูตะเพิดใส่ของขึ้น แบบนี้มันไม่ใช่นักประชาธิปไตย

5. มีปัญญา จะเห็นว่าหลายประเทศที่เลือกผู้นำ ทำไมถึงต้องมีการดีเบต เพราะต้องการให้ประชาชนเห็นปัญญา การเลือกตั้งก็เหมือนกันต้องไปแสดงปัญญาให้ประชาชนเห็น เช่น การลงไปหาเสียง

เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ๆ มาประกาศตัวเป็นผู้นำ มันไม่ใช่ ถึงจะเป็นทหารดีเด่นขนาดไหน รบมาชนะทั้งโลกก็ไม่ใช่ เพราะคุณไม่มีคุณสมบัติ 5 ข้อนี้ ที่อยู่ในองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตย

: ทำไมประเทศไทยไม่เจริญก้าวหน้า?

ผมเปรียบเทียบเวลานี้ เมืองไทย ผู้นำประเทศกำลังสอนให้คนกินกงสี อยู่อย่างนี้ก็ดีแล้ว จะไปเปลี่ยนแปลงอะไร จะไปอยากเป็นอย่างคนอื่นเขาได้อย่างไร วัฒนธรรมมันไม่เหมือนกัน เราต้องนึกถึงบรรพบุรุษที่หาไว้ทำไว้ จะไปคิดพิสดารอะไรนักหนา

ผมว่ามันไม่ต่างกับกำลังสอนให้คนกินกงสี ผมถึงวิตกว่าบ้านเมืองเรามันจะเจริญได้อย่างไร

: พรรคการเมืองใหม่ การเคลื่อนไหวของนักศึกษา พอจะเป็นความหวังของประชาธิปไตยไทยได้หรือไม่?

อย่างที่ผมบอกไว้ ประชาธิปไตยเป็นของประชาชนเพื่อประชาชน ผมไม่สามารถไปตัดสินเรื่องพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ได้ มันเป็นเรื่องที่ตัวเขาต้องแสดงให้มวลชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเขา

ที่ผมไม่อยากออกความเห็น เพราะไม่อยากเอาความคิดของคนที่จะอยู่ในโลกไม่เกิน 20 ปี ไปกำหนดความคิดของคนที่จะอยู่ในโลกอีก 40-50 ปี ถามว่าเป็นความหวังได้ไหม เอาเป็นว่าสังคมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับใคร

ผมเดาไม่ถูกว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงในเมืองไทยแต่ละครั้ง มันเปลี่ยนแปลงโดยคนมีความรู้ เปลี่ยนแปลงด้วยคนมีฐานะ คนจนไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะว่าแค่ออกไปทำมาหากินก็ไม่มีค่ารถแล้ว ต้องขึ้นอยู่กับกลุ่มคนเหล่านี้

อนาคตประชาธิปไตยของไทย ขึ้นอยู่กับปัญญาชนจะมองเห็นอะไร แล้วเขาเหล่านั้นจะเข้ามาเคลื่อนไหวไหม จะรู้จักเสียสละ รู้จักเห็นแก่ส่วนรวม เข้ามามีบทบาทหรือไม่ ถ้าเข้ามาก็เปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าคุณปล่อยให้ กอ.รมน.อยู่กับนายกฯ แบบปัจจุบัน มันก็เปลี่ยนแปลงยาก

เพราะว่าข่าวลวงข่าวจริงมันออกมาให้ได้เห็นอยู่ตลอด