วิเคราะห์ : “จะนะ” เมืองอุตสาหกรรมต้นแบบในฝันจริงหรือ?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“จะนะ” เป็นประเด็นร้อนๆ อีกครั้ง เมื่อศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเวทีเชิญชวนประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” แสดงความเห็นเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับกลายเป็นการตั้งป้อมระหว่างฝ่ายหนุนและคัดค้านโครงการ

ฝ่ายหนุนอยากเห็นอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และพื้นที่ใกล้เคียงรวมถึงพื้นที่บางส่วนของ จ.ปัตตานี ได้รับการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่แวดล้อมด้วยท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม

อีกทั้งรัฐบาลผลักดันโครงการนี้เต็มรูปแบบทั้งจัดงบประมาณกว่า 18,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาพื้นที่ราวๆ 16,000 ไร่ นอกจากนี้ กลุ่มทุนต่างพากันกว้านซื้อที่ดินนับหมื่นไร่รอไว้ล่วงหน้าแล้ว แถมยังเชื้อเชิญนายทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนทำอู่ต่อเรือขนาดใหญ่และโรงงานอุตสาหกรรมหนักอีกด้วย

ฝ่ายหนุนเชื่อว่า ถ้ารัฐบาลและกลุ่มทุนจับมือประสานกันแน่นอย่างนี้ “จะนะเมืองต้นแบบ” เกิดและสร้างความเจริญมั่งคั่งให้กับผู้คนในพื้นที่ได้แน่นอน

 

ฝ่ายผู้คัดค้านกลับมองคนละด้าน เห็นว่า โครงการนี้มีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัยในหลายประเด็นโดยเฉพาะพฤติการณ์ของภาครัฐเป็นไปอย่างรวบรัด เหมือนมัดมือชก

ในการเปิดเวทีถก “จะนะเมืองต้นแบบ” ศอ.บต. ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักสั่งระดมกำลังตำรวจจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายร้อยนายเข้าตรึงพื้นที่ก่อนวันจัดงานมาหลายวันแล้ว เมื่อถึงเวลางานให้เจ้าหน้าที่คัดกรองคนเข้าร่วมหลายชั้นป้องกันอีกฝ่ายเข้ามาป่วน

ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นหัวหอกของฝ่ายรัฐ บอกชาวบ้านว่า งานที่จัดขึ้นนั้นเป็นแค่รับฟังความเห็น ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผังเมืองและโครงการยังไม่ได้เริ่มดำเนินการใดๆ

อีกฝั่งของเมืองจะนะ กลุ่มผู้คัดค้านรวมตัวตั้งป้อมเรียกร้องให้ ศอ.บต.ยุติการเปิดเวทีเพราะเห็นว่า ศอ.บต.ใช้วิธีการ “ฟาสต์แทร็ก” ตั้งแต่แรกเริ่มเสนอโครงการไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปีที่ผ่านมา และ ครม.อนุมัติโครงการพร้อมกับจัดงบฯ ให้เมื่อเดือนมกราคมนี้เอง

กลุ่มฝ่ายคัดค้านแสดงความสงสัย ทำไมรัฐบาลอนุมัติโครงการและให้เงินงบประมาณก่อนจะเปิดเวทีถามความเห็นจากภาคประชาชน

รัฐบาลรู้ได้อย่างไรว่าต้องใช้งบประมาณ 18,000 ล้านบาท ในเมื่อยังไม่ได้ศึกษาว่าโครงการจะเกิดผลกระทบด้านใดบ้าง

หลักการสำคัญของการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ รัฐต้องชี้แจงให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลในเรื่องเหตุผลความจำเป็นและวัตถุประสงค์

 

ยังมีคำถามอีกหลายๆ ข้อที่ฝ่ายคัดค้านสงสัย เช่น ใช้หลักเกณฑ์อะไรที่มากำหนดให้ “จะนะ” เป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก

ทำไมสงขลาต้องมีท่าเรือน้ำลึกถึง 2 แห่ง ท่าเรือน้ำลึกจะนะแห่งใหม่มีรายละเอียดการก่อสร้างอย่างไร มีผลการศึกษากระทบทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางชุมชน ชาวประมงพื้นบ้านหรือทรัพยากรใต้ทะเลแล้วหรือยัง

ถ้าก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ควรต้องแจกแจงว่าจะมีอุตสาหกรรมประเภทใดบ้าง การวางระบบบำบัดของเสียหรือมลพิษเตรียมแผนไว้อย่างไร

มีการศึกษาถึงระบบการผลิตและผลลัพธ์โดยรวมที่มีต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นหรือระดับประเทศมากน้อยแค่ไหน

มีการศึกษาด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่เสียหายหรือถูกทำลายเพราะโครงการนี้หรือไม่ ประเมินแล้วจะมากน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ

หากมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ใน “จะนะ” รัฐบาลได้ศึกษาด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือยัง?

ฝ่ายคัดค้านยืนยันว่าไม่ได้ต่อต้านการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรือง แต่ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาโครงการอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเหมือนที่เกิดขึ้นในโครงการใหญ่ๆ เช่น โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด

 

อย่างที่ทราบๆ กัน อีสเทิร์นซีบอร์ดเกิดขึ้นเมื่อ 38 ปีที่แล้ว รัฐบาลในเวลานั้นทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อลงทุนทำท่าเรือน้ำลึก โรงงานปิโตรเคมี และเปิดให้ก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมหนักๆ อีกมากมาย

อีสเทิร์นซีบอร์ดได้รับเสียงชื่นชมของฝ่ายสนับสนุนว่าเป็นแหล่งสร้างความเจริญให้ท้องถิ่น ทำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล

แต่ผู้คนในวงการแพทย์และสิ่งแวดล้อมกลับมองต่าง เพราะเห็นว่าชาวบ้านในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดเผชิญกับชะตากรรมอันเลวร้ายอาศัยอยู่ท่ามกลางมลพิษมาโดยตลอด

โรงพยาบาลเต็มไปด้วยคนป่วยด้วยโรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้และอีกสารพัดโรค

ก่อนเกิด “อีสเทิร์นซีบอร์ด” พื้นที่บริเวณเหล่านั้นมีสภาพแวดล้อมธรรมชาติสวยงาม ทะเลสีคราม กุ้งหอยปูปลาอุดมสมบูรณ์ ชาวประมงยิ้มร่า

เมื่อโครงการเกิดขึ้น ชาวประมงหดหาย ปริมาณสัตว์น้ำลดลง ทะเลเปื้อนด้วยสารพิษ ขยะและของโสโครกที่ปล่อยออกจากท่อโรงงาน สภาพเมืองแออัดยัดเยียดไปด้วยโรงงาน ตึกอาคารคอนกรีต ผู้คนหลั่งไหลไปรวมตัวกันที่นั่น สังคมวุ่นวายด้วยสารพัดแก๊งค้ายาเสพติด กลุ่มโจร

จากผลการศึกษาในหลายสถาบันได้พิสูจน์แล้วว่า โครงการพัฒนาพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดมีผลกระทบในทางลบแทบทุกด้าน ส่วนผลบวก จะมีแค่เกิดการสร้างงาน คนมีรายได้สูงขึ้นและยกระดับการศึกษามากกว่าอดีต

ช่วงเวลาผ่านไป 30 ปี อีสเทิร์นซีบอร์ดรุมเร้าไปด้วยสารพัดปัญหาจนรัฐบาลยุคนั้นต้องงัดแผนการแก้ปัญหาครบวงจร ใช้เงินหลายพันล้านบาท

แผนดังกล่าว ไม่รู้ว่าได้ผลสำเร็จแค่ไหน เพราะไม่เคยมีข่าวเรื่องนี้ระแคะระคายออกจากฝั่งรัฐบาล มีแต่ข่าวลบๆ ออกมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นขยะพิษ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และสารพิษทะลักล้นพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด

 

ชาวจะนะซึ่งรักท้องถิ่น รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม จึงไม่อยากเห็น “จะนะ” ซ้ำรอยเหมือน “อีสเทิร์นซีบอร์ด”

พวกเขาเชื่อว่ารัฐบาลตั้งอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วยาม อีกไม่นานก็ดับไปตามวัฏจักรการเมือง แต่ประชาชนในพื้นที่จะอยู่คู่กับโครงการ ฉะนั้น จึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องรู้ข้อมูลโครงการเป็นเบื้องแรก

ทางออกถ้ารัฐบาลต้องการฝันให้ “จะนะ” เป็นเมืองต้นแบบที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน มั่งคั่ง ต้องเปิดกว้างรับฟังข้อมูล ความห่วงใยจากฝ่ายคัดค้านอย่างจริงใจและโปร่งใส