มุกดา สุวรรณชาติ : New Normal ของการเมือง และการศึกษา

มุกดา สุวรรณชาติ

ความหมายของ New Normal เดิม จะพูดถึงในเชิงเศรษฐกิจ แต่หลังจากโรคระบาด covid-19 จะเป็นคำศัพท์ที่ใช้ทั่วไป ซึ่งหมายถึง วิถีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจนต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้อยู่ในมาตรฐานใหม่ ที่ปัจจุบันอาจจะยังเป็นที่ยอมรับหรือไม่ยอมรับ ในบางสังคม เช่น การใส่หน้ากาก เพื่อป้องกันหรือควบคุมการระบาดของเชื้อโรค

การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์บางอย่างให้คนส่วนใหญ่ยอมรับว่า นับแต่นี้จะต้องยึดถือมาตรฐานใหม่ สำหรับสังคมไทยมีมานานแล้ว ก่อนจะมี covid-19 โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร

การเมือง เศรษฐกิจ และ covid-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง แต่อะไรจะเป็นเรื่องชั่วคราว เป็นเพราะถูกบังคับ ไม่ใช่ New Normal จริง และอะไรจะเป็น New Normal ของแท้ ที่เราจะต้องปรับตัวในอนาคต

ในขณะที่บางโรงเรียนยังมีการกล้อนผมเด็ก ไม่ใช่เพราะมี parasite ประเภทเหาที่หัวเด็ก แต่น่าจะมีอยู่ในสมองคนทำมากกว่า

และนี่อาจเป็นตัวชี้วัดว่าทำไมระบบการศึกษาเราจึงล้าหลังกว่าประเทศต่างๆ

แต่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ในอนาคตอันใกล้เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของการเรียนการสอนซึ่งจะทำตำแหน่งครูผู้สอนหายไปหลายแสนตำแหน่ง

 

New Normal ในทางการเมือง

จะเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ยาวนานเรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน มีการสร้างมาตรฐานใหม่ว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องถูกต้อง ให้บุคคลและองค์กรต่างๆ ยอมรับ ใครต่อต้านการรัฐประหารผิด ถูกลงโทษ แต่แม้คนจะถูกจับ ถูกขัง ถูกปรับทัศนคติ ถูกฟ้องในข้อหาต่างๆ แต่คนจำนวนมากก็ยังไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและพยายามต่อต้าน

ส่วนที่ยอมรับการรัฐประหารมักจะเป็นคนองค์กรราชการ ทหาร ตำรวจ ศาล

ส่วนเด็กรุ่นใหม่วันนี้ ชูสามนิ้ว เรื่องรัฐประหารคงทำให้เด็กรุ่นใหม่ยอมรับไม่ได้ แต่การต้านรัฐประหารจะเป็น New Normal

รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 บังคับให้เกิด New Normal ของ ส.ส. เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้ง ที่ใช้บัตรใบเดียว แต่นับคะแนนได้ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปัญหาไม่ได้เกิดเพียงการคิดคะแนนและจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้รับ แต่ยังลามไปถึงการยุบพรรคย้ายพรรค สามารถเปลี่ยนเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือก ส.ส. เพราะต้องการพรรคที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย

แต่เมื่อเลือกแล้ว ส.ส.กลับย้ายไปอยู่พรรคการเมืองที่เชียร์เผด็จการได้

ระบบการซื้อขาย ส.ส.เพื่อย้ายพรรค จึงกลายเป็นวิถีชีวิตและแนวทางใหม่ของ ส.ส.

แต่จะดำรงอยู่ได้นานแค่ไหนขึ้นอยู่กับการต่อต้านของประชาชนและความสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่

การไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ที่ร่างขึ้นมาเอง อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ใหม่หลังการเลือกตั้ง 2562 ที่เห็นได้ชัด เช่น การถวายสัตย์ ซึ่งมีพิธีการและการกำหนดถ้อยคำซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลชุดนี้ได้ตัดประโยคที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดออกไป

ถ้าเรื่องนี้จะเป็น New Normal เมื่อปรับ ครม. การถวายสัตย์ครั้งต่อไป ก็จะเป็นแบบใหม่ที่ไม่เหมือนในรัฐธรรมนูญ

ในที่สุดก็ครบรอบหนึ่งปีของการตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แบบที่มีการเลือกจาก ส.ว. และ ส.ส. มีอะไรที่จะยึดถือเป็น New Normal ได้หรือไม่ เช่น การตั้งรัฐบาลที่ต้องใช้เวลานานกว่า 3 เดือน ซึ่งในอดีตใช้เวลาตั้งรัฐบาลประมาณ 1 เดือนเท่านั้น

การแจกเงินคนจนทุกเดือนผ่านในรูปบัตรสวัสดิการประชารัฐ จะถือเป็น New Normal ที่ต้องทำต่อไปในทุกรัฐบาลหรือไม่ เพราะทำติดต่อมาหลายปีแล้วและคนจนที่ขอรับบัตรก็เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี

สัปดาห์ที่ผ่านมา นายกฯ เดินสายพบสื่อ น.ส.พ. ประกาศจะบริหารงานแบบ New Normal ประชาชนที่เห็นนายกฯ บริหารมาแล้ว 6 ปี คิดว่าจะได้พบกับอะไร จะได้พบ ครม. New Normal หรือไม่

 

New Normal
ของระบบการศึกษา
ไม่ได้มีแค่เรื่องการสอน กับกล้อนผม

การเปลี่ยนแปลงเรื่องการเรียนการสอนในอนาคต

ปี 2562 ประเทศไทยมีเด็กซึ่งอยู่ในวัยเรียน (อนุบาล-ปริญญาตรี) ประมาณ 17 ล้านคน แต่เข้าสู่ระบบโรงเรียนประมาณ 11 ล้านคน (น้อยกว่าปี 2549 ที่มีเด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียน 15 ล้านคน)

วันนี้เรายังมีครูผู้สอนถึง 7 แสนคน ไม่นับผู้ที่สนับสนุนระบบการบริหารและการบริการด้านการศึกษาอีกหลายหมื่นคน

เรามีโรงเรียนและสถานศึกษาของรัฐประมาณ 35,000 แห่ง และของเอกชนประมาณ 5,000 แห่ง ที่รองรับเยาวชนของชาติให้เข้าสู่ระบบโรงเรียนในปัจจุบัน

แต่ในอนาคตเด็กจะเข้าสู่ระบบโรงเรียนน้อยลง และที่น้อยลงมากคือครูผู้สอนซึ่งอาจใช้เพียง 30% ของปัจจุบัน

โรงเรียนไม่เพียงเป็นที่ให้การศึกษา แต่ยังเป็นสถานที่เลี้ยงดูเด็กเล็ก และเป็นที่ให้เด็กยากจนได้มีอาหารรับประทาน เป็นที่ฝึกการเข้าสังคม และเป็นที่ฝึกการเข้าไปทำงาน ไปรับใช้ระบบเศรษฐกิจและการปกครอง ในแต่ละประเทศ แต่ระบบการเรียนจะเปลี่ยนตามโลก

New Normal ของระบบการศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้มาจาก covid-19 เท่านั้น แต่มาจากการพัฒนา ระบบสื่อสารที่ทันสมัย ระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำให้การค้นคว้าและเก็บข้อมูลสามารถนำมาสนองตอบได้อย่างรวดเร็ว

ปรากฏการณ์ที่ครูบางโรงเรียนตัดผมและกล้อนผมเด็ก โดยไม่สนใจระเบียบใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ คงจะต้องถือว่าระเบียบของกระทรวงศึกษาฯ เป็น New Normal

แต่ครูเหล่านั้นตามไม่ทัน แค่ทรงผมเด็กยังตามไม่ทันทั้งที่เรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมทั่วโลก ที่ปฏิบัติกันมานานมากแล้ว นับประสาอะไรจะให้ไปตามทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่กำลังเกิดขึ้นในระบบการศึกษา

ซึ่งจะขอทำนายไว้ตรงนี้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในไทยและทั่วทั้งโลก

 

การเรียนรู้ของคน
จะไม่จำเป็นต้องผ่านระบบโรงเรียน
ในทุกชั้นปีอีกแล้ว

ระบบโรงเรียนจะยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงวัยเด็กเล็ก ความสำคัญคือการเป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็กช่วยให้พ่อ-แม่ออกไปทำงานได้ สอนพูด อ่าน เขียน เบื้องต้น ทั้งยังเป็นที่พึ่งพาของเด็กยากจน

แต่ในขณะเดียวกันที่เด็กเรียนกับครู เด็กก็จะรับรู้จากสื่ออื่นๆ โดยเฉพาะสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านจอ ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่าเด็กเล็กมากยังสามารถใช้นิ้วจิ้มเพื่อให้ได้ภาพหรือเสียงที่ตนเองต้องการได้

เมื่อโลกเปลี่ยนไปเป็นแบบนี้ เด็กโตขึ้นก็จะสามารถเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในวิชาการต่างๆ ได้

เมื่อเด็กโตขึ้นจะแสวงหาการเรียนรู้เอง เราลองนึกภาพการเรียนการสอนที่มีครูที่เก่งมาก มีวิธีการสอนที่ดีเยี่ยมอธิบายได้ชัดเจนในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ สามารถเรียนผ่านสื่อทันสมัย ผู้เชี่ยวชาญแต่ละวิชาเหล่านี้ 1 คนสามารถสอนเด็กได้เป็นแสนคน เลือกเวลาเรียนได้ เรียนที่ไหนก็ได้ ความจำเป็นที่ต้องใช้ครูในระบบการเรียนแบบเก่าเป็นหมื่นเป็นแสนคนก็จะลดลงไปทันที เด็กในโลกใหม่เข้าสู่ New Normal จะเรียนจากครูผู้เชี่ยวชาญได้เกือบทุกวิชา เช่น การเรียนประวัติศาสตร์อาจใช้ภาพยนตร์สารคดี วิทยาศาสตร์ก็เช่นกัน เครื่องมือสื่อสารใหม่ จะเข้ามาแทนครูผู้สอน ซึ่งต่อไปจะลดลงไปเป็นจำนวนมาก

ส่วนวิชาการที่ต้องการการปฏิบัติ มีการทดลองในห้องปฏิบัติการ หรือการลงมือจริงเกี่ยวกับเครื่องจักรเครื่องยนต์ เกี่ยวกับการเกษตรเหล่านี้ ยังต้องการครูผู้สอนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งในอนาคตก็อาจจะไม่ใช่คนที่จบระดับสูง แต่จะเป็นผู้มีความรู้เฉพาะด้าน

ชั่วโมงเรียนในระบบโรงเรียนของเด็กอาจจะไม่มากมาย การเรียนบางอย่างทำที่บ้านได้

เรื่องทรงผมของเด็กวันนี้จึงไม่น่าจะนำมาเป็นประเด็นสำคัญ มันไม่ใช่เป้าหมายทางการศึกษา มีครูกี่คนที่กล้าไว้ผมทรงเดียวกับเด็ก

ถ้าตัวเองไม่ชอบก็อย่าบังคับเด็ก

ต้องถามตัวเองว่าวันนี้ปฏิบัติกับลูกอย่างไร ส.ส.พรรคก้าวไกลทำถูกแล้วที่ออกหน้าให้เด็ก

ส่วนสมาคมครูต้องวางแผนเพื่อทำงานในโลกที่กำลังเปลี่ยนเร็ว และดูแลครูไม่ให้ไปทำร้ายเด็ก โลกของเด็กในวันหน้าแข่งขันกันหนักมาก คนที่ล้าหลังจะกลายเป็นแรงงานธรรมดา ซึ่งไม่ใช่ความฝันของเด็กๆ และพ่อ-แม่

 

การปะทะทางความคิด
ผ่านสื่อในโลกโซเชียล มีเดีย

วันนี้ทางทีมงานได้รับข้อเขียนจากนักศึกษาไทยในเยอรมนี ที่พูดถึงการปะทะทางความคิด จึงขอตัดตอนมาให้อ่านตามเนื้อที่ที่จำกัด

“ไม่ใช่เรื่องง่ายของข้าพเจ้าเลยที่จะอธิบายคำว่า “กบในกะลา” ให้เพื่อนชาวเยอรมันเข้าใจ เพราะ “กะลา” นั้น ชาวยุโรปไม่ค่อยจะได้เห็น ส่วนใหญ่จะเคยเห็นแต่เพียงเปลือกสีเขียวด้านนอกกับเนื้อและน้ำมะพร้าวเท่านั้น แต่พอข้าพเจ้าอธิบายความหมายโดยลึกแล้วเพื่อนผู้ฟังชาวเยอรมันก็เข้าใจได้ไม่ยาก มิตรสหายท่านหนึ่งของข้าพเจ้าได้กรุณาอธิบายให้ฟังว่าภาษาเยอรมันก็มีคำเปรียบทำนองเดียวกันคือคำว่า

unter der K?seglocke leben แปลแบบภาษาชาวบ้านก็คือ “ใช้ชีวิตในฝาแก้วครอบชีส” ซึ่งหมายความว่า “คนที่อยู่แต่ในโลกของ ตัวเองจนไม่รู้ว่าเหตุการณ์หรือความเป็นจริงด้านนอกเป็นอย่างไร”

ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าต้องถกเถียงกับฝ่ายอนุรักษนิยมไทย ข้าพเจ้าจะพบเจอปัญหาในลักษณะข้างต้นมาโดยตลอด บ้างก็โมโหโกรธาจนถึงกับอาฆาตพยาบาทข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้ารื้อถอนชุดความคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง พยายามชี้ให้เห็นว่ากระบวนความคิดที่นำเสนอนั้นไม่เป็นไปตามหลักแห่ง “เหตุและผล”

(อันที่จริงข้าพเจ้าเองก็ถูกรื้อถอนวิธีคิดมาหลายครั้งต่อหลายครั้งและส่วนใหญ่ข้าพเจ้าจะเป็นผู้ร้องขอให้คนที่มีความคิดเห็นที่ต่างจากข้าพเจ้าช่วยให้คำวิจารณ์ว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าคิดเห็นอยู่นั้นเป็นเช่นไรข้าพเจ้าคิดว่าไม่เป็นเรื่องเสียหายแต่อย่างใดหากเราจะขอร้องให้ใครสักคนช่วย “แก้ไข” และ “วิพากษ์วิจารณ์” ชุดความคิดของเราข้าพเจ้าเชื่ออยู่เสมอว่า “ความใจกว้าง” จะทำให้เราพัฒนาความคิดของเราและทำให้เราเป็นมนุษย์ที่ยอมรับนับถือผู้ที่เห็นต่างจากเราได้)

ข้าพเจ้าอยากจะขอขยายความปัญหาข้างต้นโดยยกตัวอย่างจากสุภาษิตไทยสักเล็กน้อย เช่น “อาบน้ำร้อนมาก่อน”

อันที่จริง “ผู้ใหญ่” อาจจะถูกต้มด้วย “น้ำร้อน” จน “เปื่อย” เสียมากกว่าเพราะอาบเสียนานจนไม่รู้ว่า “น้ำร้อน” กับ “น้ำอุ่น” นั้นแตกต่างกันอย่างไร

รวมถึงสุภาษิตที่ว่า “ตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด” ในความเป็นจริงผู้ใหญ่อาจจะถือไม้หวดหมาเสียก่อนก็เป็นไปได้ถ้าลองให้เด็กถือไม้บ้าง “หมา” ก็คงกลัวจนไม่กล้ากัดเหมือนกัน คำถามคือ “ไม้นั้นศักดิ์สิทธิ์มาก” มากเสียจนไม่ควรที่จะอยู่ในมือของเด็กเลยเชียวหรือและถ้าหาก “เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด” นั้นจริงดั่งที่สุภาษิตว่าไว้โดยที่หากเปรียบ “ความท้าทายทางเศรษฐกิจ” ว่า เป็น “หมา” ตามสุภาษิตแล้วละก็ ประเทศไทยคงจะศิวิไลซ์มากกว่านี้ และเศรษฐกิจก็คงไม่พังด้วยมือของ “ผู้ใหญ่” ที่หลงอยู่ในอำนาจ ณ ขณะนี้

อันที่จริงแล้วทุกวันนี้ ก็มีตัวอย่างมากมายที่สอนมนุษย์เราว่า “วัยวุฒิ” ไม่ได้มาพร้อมกับ “ประสบการณ์ที่สั่งสมมาในชีวิต” เสมอไป

หรือแม้กระทั่งการที่ข้าพเจ้าเองเติบโตมาพร้อมกับประโยคที่ว่า “ระวังขี้กลากจะขึ้นหัว” ท่านผู้อ่านเองก็คงทราบดีว่าคำกล่าวข้างต้นเป็นแค่เพียงคำขู่ที่เลื่อนลอยเพื่อที่จะกดหัวของเราๆ ท่านๆ ไม่ให้ตั้งคำถามต่อสิ่งที่ดำรงอยู่มาอย่างช้านาน และถ้าหาก “ขี้กลากขึ้นหัวจริง” คนไทยหลายๆ ล้านคนที่ใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ณ ขณะนี้ก็คง “หัวล้าน” ไปหมดเสียแล้วกระมัง”

ทีมงานสรุปว่า คนที่คิดจะทำยุทธศาสตร์ 20 ปีต้องยอมรับว่าทำไม่ได้แล้ว แค่ 5 ปีก็ยังลำบาก

เช่น เราประเมินว่า อีก 10 ปี คนสูงอายุมีมาก แม้บุคลากรที่ใช้ในการเรียนการสอนลดลง แต่เราต้องไปเพิ่มบุคลากรด้านการรักษาพยาบาลให้มากขึ้น ซึ่งเราก็ยังไม่สามารถประเมินภัยจากโรคระบาดใหม่ว่าจะร้ายแรงและบ่อยแค่ไหน

ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ตกลงจะเกิดซ้ำอีกกี่ครั้ง กระทบอย่างไรทั้งในประเทศและระดับโลก

ชีวิตของประชาชนในวันข้างหน้าอาจจะพบ New Normal ซ้ำหลายครั้ง เราจึงต้องการผู้นำที่เปิดกว้างพร้อมปรับตัว เก่งพอที่จะพาประชาชนไปให้ถูกทาง ใช้อำนาจให้ถูกทาง มิฉะนั้นจะพากันไปตายหมด