นิธิ เอียวศรีวงศ์ | คู่ชีวิต

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมอยากเดาว่า ประเด็นโต้เถียงในสังคมไทยซึ่งจะมีชีวิตชีวามากขึ้นในช่วงนี้คือ พ.ร.บ.คู่ชีวิตให้สิทธิเสมอภาคอย่างแท้จริงแก่ LGBT ทางด้านการสมรสแล้วหรือยัง ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรแก้กฎหมายแพ่งให้รองรับจะทำให้เกิดความเท่าเทียมมากกว่าการออกกฎหมายเฉพาะขึ้นมา อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าต้องแยกกฎหมายนี้ออกจากกฎหมายแพ่งด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ซึ่งผมไม่ทราบว่าคืออะไร

ผมอยากนำบางประเด็นที่เป็นสำนึกใหม่หรือความรู้ใหม่ (แยกสองอย่างออกจากกันได้ยาก) ซึ่งเกิดขึ้นจากการศึกษา Gender Studies (ผมไม่ทราบว่าภาษาไทยแปลว่าอะไรแน่ คงจะ “เพศศึกษา” กระมัง) เพื่อทำให้เห็นว่า ความเท่าเทียมของ LGBT นั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อสังคมโดยรวม

รสนิยมทางเพศซึ่งถูกย่อว่า LGBT อาจอยู่กับมนุษยชาติมาตั้งแต่บรมสมกัลป์แล้ว แต่ก็เป็นเพียงชื่อของพฤติกรรม ไม่เคยเป็นอัตลักษณ์ของบุคคล กล่าวคือ ไม่มีใครบอกคนอื่นว่าตนเป็น LGBT หรือสังคมไม่ได้แยกคนมีพฤติกรรมชนิดนี้ออกเป็นคนอีกประเภทหนึ่งอย่างชัดเจน LGBT เพิ่งกลายเป็นอัตลักษณ์บุคคลในสมัยใหม่ไม่นานมานี้เอง

สังเกตไหมครับว่า สี่ตัวย่อนี้ไม่มีในภาษาไทย (ถึงมีก็ไม่ชัด เช่น คำว่ากะเทยในภาษาไทยนั้น หมายถึงอะไรแน่ก็ไม่ชัดนักนะครับ) แม้คำในภาษาอังกฤษที่ย่อมา บางคำก็เพิ่งบัญญัติใหม่ บางคำก็มีความหมายไม่ชัดมาก่อน (เช่น Gay จะเป็นชายก็ได้ หญิงก็ได้ แต่มาจำกัดความหมายให้เป็นชายอย่างเดียวในตัวย่อนี้) ตัว L เอามาจากเทพนิยายกรีก ซ้ำในระยะหลังก็ยังเห็นกันว่า LGBT ที่ใช้กันนั้นยังย่อไม่หมด บางคนว่าต้องเติม I เพื่อแทน “กะเทย” ตามความหมายเดิม คือคนที่ไม่อาจกำหนดเพศในทางชีววิทยาได้ ซ้ำยังอาจมีมากกว่านี้อีก บางคนจึงเสนอให้เติม Q ดีกว่า คือรวมทั้งหมดที่สังคมมองเห็นว่าเป็น queer (แปลก, ผิดเพศ, ผิดจากความเข้าใจทั่วไป)

โดยสรุปก็คือ ชื่อที่ใช้แทนอัตลักษณ์บุคคล ต้องยืมมาจากภาษาอื่นหรือนิยามคำกันขึ้นใหม่ LGBT จึงเป็นอัตลักษณ์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในโลกยุคใหม่นี้เอง

แม้แต่พฤติกรรมหรือรสนิยมทางเพศเอง บางตำราก็บอกว่า เกิดขึ้นน้อยมากในสังคมโบราณ หรือถึงเกิดแพร่หลายก็ไม่ใช่ “รสนิยมทางเพศ” ประจำตัวบุคคลอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน เช่น “เล่นเพื่อน” ในสังคมไทยแต่ก่อน มีความหมายเฉพาะกับเพศหญิง ซ้ำเกิดขึ้นในรั้วในวังเท่านั้น ไม่มีใครเคยได้ยินว่าเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ถึงในสังคมยุโรปเองก็เหมือนกัน ไม่ใช่สิ่งที่แพร่หลายทั่วไปในสังคม

คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ความหลากหลายของรสนิยมทางเพศเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความสัมพันธ์ทางเพศเกิดขึ้นนอกครอบครัว เช่นในรั้วในวังกรณีไทย หรือหลังเกิดการค้าขยายตัว, เมือง และปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปแล้ว เพศสัมพันธ์ในสังคมประเภทนี้หลุดพ้นจากครอบครัวออกมาเกือบจะโดยสิ้นเชิง

ส่วนรักร่วมเพศ (โดยมากระหว่างชาย) ซึ่งอาจแพร่หลายในบางสังคมโบราณ ก็ไม่ใช่รสนิยมทางเพศเสียทีเดียว เช่น ในสังคมกรีกโบราณ จุดมุ่งหมายที่แท้จริงไม่ใช่เพื่อแสวงหาความสุขทางกามารมณ์ แต่เพื่อสถาปนาอำนาจของ “ผู้ใหญ่” เหนือเด็กหนุ่มที่มาฝากเนื้อฝากตัว เป็นศิษย์หรือลูกน้อง กลายเป็นเรื่องจัดระเบียบสังคมไปโน่น

ในหลายสังคม เพศสัมพันธ์ที่หลากหลายเหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับ แต่ไม่ใช่ความผิดบาปอะไรเฉพาะของตนเอง มักรวมอยู่ในการทำผิดศีลธรรมทั่วไป เช่น ไม่ว่าจะ “เล่นเพื่อน” หรือมักมากในกามคุณมากผัวมากชู้ ก็ผิดศีลธรรมเหมือนๆ กัน ภาพเขียน “เล่นเพื่อน” ตามโบสถ์วิหาร มักเขียนปนอยู่กับกิเลสชนิดอื่น เช่น เมาเหล้า, ทะเลาะกัน, ขโมยกัน, นินทาว่าร้ายกัน ฯลฯ ในส่วนที่เรียกกันว่าภาพกาก เป็นส่วนหนึ่งของกิเลสที่หยาบของมนุษย์ ไปจนถึงการเอาชนะกิเลสได้อย่างหมดจดสิ้นเชิงในภาพผจญมารที่ฝาผนังหลังพระประธาน

ในยุโรปสมัยกลาง จะรักร่วมเพศหรือต่างเพศ หากทำเพื่อบำเรอความสุขส่วนตน โดยไม่มุ่งไปสู่การให้กำเนิดล้วน “บาป” เหมือนๆ กัน เพราะพระเจ้าประทานอวัยวะเพศมาเพื่อการเจริญพันธุ์ ไม่ใช่เพื่ออะไรอื่น

ความคิดว่ามีเพศสัมพันธ์ที่ “ปรกติ” กับ “ผิดปรกติ” เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 18 นี้เอง เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปอธิบายและกำหนดให้เกิดมีขึ้น ดังนั้น “ปรกติ” ของวิทยาศาสตร์จึงมีความหมายว่าเป็นไปตามธรรมชาติ และ “ผิดปรกติ” ย่อมหมายถึงฝืนธรรมชาติ สรุปก็คือชีววิทยาและวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามาแทนที่ “พระเจ้า” ในการกำหนดทั้งเพศและเพศวิถีเสร็จสรรพ

อย่างไรก็ตาม พร้อมกันไปกับการเอาเพศสัมพันธ์ออกไปจากครอบครัว และการที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ช่วงชิงคำอธิบายเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ไปถือครองแต่ผู้เดียวนี้ ก็ทำให้เกิดสำนึกอัตลักษณ์ของคนที่นิยมมีเพศสัมพันธ์ที่แตกต่างจาก “ปรกติ” ของวงการแพทย์ด้วย และอัตลักษณ์นี้ขยายกว้างขึ้น ทั้งในหมู่ผู้ที่ถืออัตลักษณ์นี้ และการยอมรับของคนอื่นว่าอัตลักษณ์นี้มีจริง และรวมเอาความหลากหลายต่างๆ ไว้มากขึ้นไปพร้อมกันด้วย

อัตลักษณ์เป็นที่มาของสิทธิ หากไม่มีสำนึกอัตลักษณ์ของตนเอง พฤติกรรมก็อาจดำเนินต่อไป โดยไม่มีตัวตนที่ชัดเจน จะถูกกดขี่ลิดรอนสิทธิ์อย่างไรก็ไม่อาจปกป้องตนเองได้ “ตุ๊ด” อาจมีคู่เคียงกับมนุษย์มานานแล้ว แต่ “ตุ๊ด” ไม่เคยเป็นอัตลักษณ์ที่คนอื่นต้องนับจนถึงสมัยใหม่ ความแปรเปลี่ยนจากพฤติกรรมอย่างเดียวมาเป็นอัตลักษณ์ด้วยจึงมีความสำคัญมาก

แต่เพศและเพศวิถีในความจริงตามธรรมชาติหลากหลายและสลับซับซ้อนกว่าที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ยึดกุมไว้มาก

งานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศของชายหญิงผิวขาวในสหรัฐเมื่อกลางศตวรรษที่แล้ว (รายงานคินซีย์) ชี้ให้เห็นว่า รักต่างเพศและรักร่วมเพศ ไม่ใช่สองขั้วที่ไม่สัมพันธ์กันเลย แท้จริงแล้วคนจำนวนมากล้วนเคยมีประสบการณ์รักร่วมเพศเข้มข้นบ้าง เจือจางบ้าง ในช่วงสั้นๆ บ้าง ยาวๆ บ้าง มากบ้างน้อยบ้างในชีวิตของตนมาทั้งชายและหญิง (ตามคำให้การของเขา) รักต่างเพศหรือรักร่วมเพศจึงไม่ใช่สองขั้วของพฤติกรรมทางเพศอย่างที่ชีววิทยาวาดภาพเอาไว้ แต่เป็นเส้นสืบเนื่องจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งครอบคลุมมนุษย์ไว้ทั้งโลก

ศาสตราจารย์คินซีย์และครอบครัวเป็นนักวิชาการ จึงนิยามรักร่วมเพศไว้ให้ชัดพอจะนับจำแนกได้ว่า เคยมีประสบการณ์ความสัมพันธ์จนถึงบรรลุจุดสุดยอด หากใช้นิยามที่ไม่เคร่งครัดถึงเพียงนั้น เช่น เคยมีประสบการณ์รู้สึกหลงใหลได้ปลื้มทางกาม (infatuate) กับคนเพศเดียวกัน ทั้งตัวหรือเพียงบางส่วนก็ตาม ตัวเลขของคนที่อยู่ตรงกลางในเส้นสืบเนื่องจากรักต่างเพศถึงรักร่วมเพศอาจมีมากกว่านี้อีกมาก

นิยามเพศหญิงหรือชายทางชีววิทยา แม้อาศัยคุณสมบัติตามธรรมชาติเช่นอวัยวะเพศ (รวมไปถึงข้างในเช่นกลไกการให้กำเนิดด้วย), โครโมโซม ฯลฯ ดูเหมือนเป็นหลักการแน่นแฟ้นที่ครอบคลุมธรรมชาติได้รัดกุมหมดจด เอาเข้าจริงก็ครอบคลุมธรรมชาติได้ไม่หมด ทั่วทั้งโลกมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เกิดมาโดยชีววิทยาไม่สามารถจำแนกเพศได้ชัด (ตรงกับคำว่ากะเทยในภาษาไทยเก่า และบัณเฑาะก์ในภาษาบาลี) เฉพาะในสหรัฐซึ่งมีสถิติกำเนิดชนิดนี้ดีหน่อย ประมาณว่ามีประมาณ 1 ในทุกๆ กำเนิด 1,500-2,000 คน

เด็กประเภทนี้ซึ่งถูกเรียกว่า intersex ถูกกำหนดเพศโดยแพทย์ (และครอบครัว) มาตั้งแต่เล็กก่อนที่เขาจะตัดสินใจเองได้ โดยการผ่าตัดและฉีดสารเคมีต่างๆ แต่หลายครั้งด้วยกันที่เพศซึ่งถูกกำหนดขึ้นนี้ไม่ตรงกับความต้องการของเขาในภายหลัง เกิดปัญหาในชีวิตตามมาไม่สิ้นสุด

AFP PHOTO / Martin BUREAU

ไม่มีใครปฏิเสธว่า ปัจจัยทางชีววิทยามีส่วนกำหนดเพศเป็นหญิงหรือชายอยู่ด้วยแน่ แต่เพศหญิงหรือชายในชีวิตจริงของผู้คนนั้นกลับเป็นสิ่งที่สังคม-วัฒนธรรมประกอบสร้างขึ้น และเอาเข้าจริงสังคมเป็นปัจจัยที่กำหนด “เพศ” มากเสียยิ่งกว่าชีววิทยาด้วยซ้ำ แต่เรากลับให้ความสนใจต่อ “เพศ” ซึ่งสังคมประกอบสร้างขึ้นน้อย นี่คือเหตุผลที่ในการศึกษาเกี่ยวกับเพศ ภาษาอังกฤษจึงหลีกเลี่ยงคำว่า sex มาใช้คำที่ยืมจากไวยากรณ์ว่า gender แทน (เพื่อหลีกเลี่ยงนัยยะประวัติถึงกามารมณ์และชีววิทยา แต่เน้นการประกอบสร้างของสังคม)

ความเท่าเทียมทางเพศ จึงไม่ได้หมายความเพียงความเท่าเทียมระหว่างหญิง-ชายเท่านั้น (ไม่ว่าความเท่าเทียมระหว่างหญิง-ชายจะมีความสำคัญสักเพียงไร) แต่ต้องรวมถึงคนใน “เพศ” ต่างๆ อีกหลายอย่างด้วย ยิ่งเมื่อพวกเขามี (และเราก็ยอมรับว่ามี) อัตลักษณ์ของตนเอง ก็หมายความว่าเขาย่อมมีผลประโยชน์เฉพาะ, สถานะเฉพาะในทางสังคม-วัฒนธรรม และการเมือง และอะไรอื่นที่เฉพาะของ “เพศ” ของเขาอีกหลายอย่าง ซึ่งเราหรือสังคมทั้งหมดต้องให้ความเคารพอย่างเดียวกับที่เราเคารพ “เพศ” หญิงและชาย และเคารพนักการเมือง, ช่างตัดผม, แท็กซี่, ครู ฯลฯ ซึ่งมีอัตลักษณ์ของตนเองเหมือนกัน

สถาบันการสมรสในกฎหมายนั้นแต่เดิมมีจุดมุ่งหมายที่แคบมาก คือประกันการให้กำเนิดและความรับผิดชอบต่อสมาชิกใหม่ของสังคม ต่อมาก็ขยายจุดมุ่งหมายให้กว้างขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น เมื่อยอมรับสิทธิเท่าเทียมของหญิง-ชาย ก็ต้องให้หลักประกันสิทธิของฝ่ายหญิงในครอบครัวให้เท่าเทียมกับฝ่ายชาย

ในบัดนี้เมื่อเรายอมรับสิทธิเท่าเทียมระหว่าง “เพศ” ทุกชนิดแล้ว ก็จำเป็นต้องทำให้สถาบันการสมรสเป็นการรับรองสิทธิเสมอภาคของคนทุก “เพศ” ด้วย ส่วนจะใช้วิธีการแก้กฏหมายเกี่ยวกับสถาบันการสมรสเก่าหรือออกเป็นกฎหมายใหม่นั้น ก็แล้วแต่นักกฎหมายจะคิด แต่สิทธิของคนใน “ครอบครัว” ต้องเท่าเทียมกันทุกอย่าง เมื่อก่อนหญิง-ชายในคู่สมรสได้สิทธิอะไร คู่ชีวิตก็ต้องได้สิทธิอย่างนั้นด้วย

เช่นเดียวกับที่ผมเน้นย้ำอยู่เสมอแหละครับ คำถามสำคัญที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศไทยก็คือ “… มีไว้ทำไม” คนที่คิดจะแก้กฎหมายการสมรสเพื่อเปิดโอกาสที่เท่าเทียมแก่คนทุก “เพศ” ต้องเริ่มด้วยคำถามว่า “สถาบันการสมรสในกฎหมายมีไว้ทำไม”