หลังเลนส์ในดงลึก/ ปริญญากร วรวรรณ/ ‘ฟัง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวาง - ใบหูใหญ่ๆ ของกวางได้รับการออกแบบมาให้รับเสียงได้ดี แต่เมื่อได้ยินเสียง พวกมันจะใช้จมูกสูดกลิ่น เพื่อความแน่ใจอีกครั้ง

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ฟัง’

 

สิ่งหนึ่งที่ผมพบจากทำงานในป่า และเฝ้ารอสัตว์ป่าด้วยการแอบซ่อนตัวอยู่ในซุ้มบังไพรตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เป็นเวลานานๆ นั่นคือผมมีโอกาสได้เห็นสิ่งต่างๆ “เห็น” ด้วยการฟัง

ในป่ามีเสียงมากมายเกิดขึ้นตลอด เสียงของการสื่อสารระหว่างสัตว์ป่าชนิดเดียวกัน, ต่างชนิด เสียงลม เสียงต้นไม้ เสียงต่างๆ เหล่านี้เมื่อตั้งใจฟังก็จะได้ยิน

เสียง “จิ๊ก” เดียวค่อยๆ จาก นกหกเล็กปากแดงตัวหนึ่งทำให้เกิดเสียงดังตามมา ลำดับแรก คือเสียง “พรึบ” เกิดเพราะกลุ่มนกเขาเปล้า หรือนกมูมขยับปีกบินขึ้นพร้อมกัน เก้งเงยหน้า กระทิง, วัวแดงหันมองไป-มา เงยหน้าสูดกลิ่น หันหลังวิ่งเข้าชายป่า

เสียง “จิ๊ก” เบาๆ จากนกหกเล็กปากแดง คือเสียงเตือนให้รู้ว่า มีผู้ล่าเข้ามาในบริเวณ อาจเป็นเหยี่ยว, เสือ รวมทั้งคน

เช่นเดียวกับเสียงกระรอก เสียงนกระวังไพร เสียงกิ่งไม้หัก

เสียงต่างๆ เหล่านี้ทำให้ “เห็น” ได้โดยไม่ได้ใช้สายตา…

 

ครั้งที่ร่วมทีมกับนักวิจัยในสถานีวิจัยสัตว์ป่า มีหลายครั้งที่พวกเขาสอนให้ผมเห็นด้วยการดม

เดินไปตามด่าน ดมต้นไม้ข้างด่าน มีกลิ่นฉี่ที่เสือพ่น หรือที่เรียกว่าสเปรย์ไว้

เสือใช้ฉี่เป็นการสื่อสารในระหว่างเสือด้วยกัน เหมือนๆ รอยคุ้ยตะกุยดิน เพื่อบอกอาณาเขต บอกความเข้มแข็ง และบอกถึงความพร้อมกับการผสม

ปลอกคอติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุที่สวมอยู่ที่คอเสือ ทำให้นักวิจัยมีโอกาสเข้าใกล้ชิดเสือ รับรู้ถึงวิถีชีวิตของพวกมัน รู้ว่าเดินไปทางไหน ล่าอะไรเป็นเหยื่อได้ รู้ช่วงเวลาที่ตัวผู้และตัวเมียอยู่ร่วมกัน และแม้แต่เมื่อเสือคลอดลูกไว้ที่โพรงต้นไม้ ก็มีโอกาสได้พบ

เกือบทุกวัน ผมเดินตามผู้ช่วยนักวิจัย วันละหลายสิบกิโลเมตร

เดินและใช้วิธีเดียวกับเสือ คือ “เห็น” ด้วยการดม

 

จากที่เดินป่าวันละนับสิบกิโลเมตร ผมกลับมาใช้วิธีเดิมๆ นั่งนิ่งอยู่กับที่ ซ่อนตัวในซุ้มบังไพรแคบๆ วันละกว่า 10 ชั่วโมง รอให้มีตัวอะไรเข้ามา

เมื่อผมเปลี่ยนที่ทำงาน ว่าตามจริง นี่เรียกไม่ได้ว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงหรอก

แค่ผมกลับมาใช้วิธีทำงานแบบเดิมเท่านั้น รูปสัตว์ป่าของผมส่วนหนึ่งได้มาจากเฝ้ารอในซุ้มบังไพร รอให้สัตว์ป่าอนุญาตให้พบ

พื้นที่อนุรักษ์อันเป็นแหล่งอาศัยเหมาะสมของสัตว์ป่าในโลกนี้เหลือไม่มาก

แต่ป่าบางแห่งก็มีขนาดเป็นล้านไร่ ยิ่งป่าผืนใดมีสภาพความสมบูรณ์มาก ประชากรสัตว์ป่ามีจำนวนมากก็จริง หมายความว่า ในป่าแห่งนั้นมีแหล่งอาหารมากด้วยมีอยู่ทั่วไป เช่นนี้ โอกาสจะพบเจอสัตว์ป่าไม่ง่ายดายนัก

สัตว์ป่าเดินทางไปที่ต่างๆ โดยมีอาหารเป็นตัวกำหนด พวกมันรู้ดีว่า ฤดูกาลใดจะไปที่ไหน ทั้งหมดเคลื่อนย้ายเป็นขบวน นำขบวนโดยช้าง ปิดท้ายขบวนด้วยนักล่า

แหล่งอาหารที่สมบูรณ์ เป็นที่ชุมนุมของสัตว์ป่า แต่ดูเหมือนว่า ที่ซึ่งสัตว์ป่าอยู่นั้น จะเป็นเขตห้ามคนเข้า เป็นเขตหวงห้าม พวกมันจะตื่นหนีทันทีเมื่อได้กลิ่นกายคน

สัตว์บางตัวปรับตัวเมื่อต้องอยู่ในป่าซึ่งคนพลุกพล่าน พวกมันมาที่ต้นผลไม้ที่เป็นอาหาร, เลี้ยงลูก, เดินบนถนน

ดวงตาฉายแววหวาดระแวง คล้ายเป็นสิ่งที่คนไม่เห็น

 

“เวลา” ของผมเดินช้าเมื่อทำงานอยู่ในป่า

วันหนึ่ง กระทิงฝูงที่มีสมาชิกกว่า 10 ตัว ลงมาในโป่งตั้งแต่บ่าย อ้อยอิ่งจนพลบค่ำ ฟ้ามืดก็ยังไม่ขยับไปไหน ผมรอจนสองทุ่มจึงค่อยๆ ออกจากซุ้มบังไพร

โป่งอยู่ในหุบ ผมเดินมาตามลำห้วยสายเล็ก ราว 40 นาทีจึงถึงด่านหลัก และเดินตามด่านมาอีกครึ่งชั่วโมง ก็ถึงแคมป์

บริเวณแคมป์ สว่างด้วยแสงจันทร์ในคืนแรมสองค่ำ วางสัมภาระ ก่อไฟ ใช้ข้าวสารหนึ่งกำมือใส่หม้อสนาม ใส่น้ำท่วมช่วงนิ้ว

แขวนหม้อสนามเหนือกองไฟ เปลวไฟลุกกำลังดี ฟืนจำนวนนี้พอให้ข้าวสุก และไฟจะอ่อนลง ผมใช้เวลานี้ลงไปอาบน้ำในลำห้วยที่ระดับน้ำไหลรินๆ

นกตบยุงเล็กส่งเสียง เก้งคงได้กลิ่นผม หรือควันไฟ มันร้องคล้ายเสียงหมาเห่าเป็นระยะๆ

ดวงจันทร์ทอแสงนวล เงาสะท้อนในขันน้ำ ดูคล้ายกับว่า ผมมีดวงจันทร์อีกดวงอยู่ในขันน้ำ

 

ก่อนกินข้าว ผมจะใช้มือสองข้างจับจาน หลับตา กล่าวชักชวนเจ้าป่าเจ้าเขามาร่วมกินอาหารด้วย ทำอย่างที่เพื่อนๆ ที่เป็นคู่หูปฏิบัติ

อยู่ในป่า รายล้อมด้วยความมืดมิด มีผู้มาร่วมกินข้าวด้วย ก็ไม่รู้สึกเงียบเหงาเกินไปนัก

แม้ว่าเมื่อลืมตา จะพบกับความจริงว่า นั่งอยู่ลำพัง

 

โลกของผมไม่กว้างหรอก แคบๆ ด้วยซ้ำ สิ่งที่ดีที่สุดในการอยู่ในซุ้มบังไพรแคบๆ ไม่เพียงจะทำให้รู้ว่า โลกข้างนอกกว้างใหญ่เพียงใด

แต่มันคือการได้ฟังอย่าง “ได้ยิน” กับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ

ได้ “เห็น” โดยไม่ใช้ดวงตา

ในฐานะที่เป็นแค่คนคนหนึ่ง

หลายครั้ง ผมก็ได้ “ฟัง” แต่ไม่ได้ยิน…